ตอบแบบสอบถาม… รางวัลสุดคะนึง… ที่ใครๆ ก็ทำได้


ผู้เขียนได้รับเมล์แบบสอบถามจากอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง มาร่วมสัปดาห์แล้ว

ยังไม่มีโอกาสได้เขียนส่งสักที…วันนี้อ่านในบันทึก พบว่า..อาจารย์ได้ทวงถามแล้ว

จึงถือโอกาส ตอบสด ผ่านสังคมประเทืองปัญญาแห่งนี้

เพราะผู้เขียนเชื่อว่า…. ความคิดความอ่านของผู้เขียน อาจไม่แตกต่างมากมักกับสมาชิกในสังคมแห่งนี้





ตอนที่ 1 : ผู้เขียน มีอายูระหว่าง 41-50 ปี เพศชาย วุฒิการศึกษาขั้นสูงสุด ป.บัณฑิต สาขาการพัฒนาระบบสารสนเทศสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ตอนที่2 : คำถามปลายเปิด ที่อาจารย์ขีดเส้นใต้ไว้ว่า …กรุณาเขียนให้มากนิดหนึ่ง

วันนี้ผู้เขียนตอบสด… มีไม่มีตำราและเอกสารอ้างอิงใด ๆ … แต่คำตอบที่อาจารย์ได้รับคือความรู้สึกที่ออกมาจากใจของผู้เขียนทั้งหมด


    1. ท่านรู้จัก Gotoknow.org ได้อย่างไร
    2. ท่านสมัครเป็นสมาชิกGotoknow.org ได้อย่างไร

เมื่อกว่า 6 ปี ที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนได้ สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูล เพื่ออ้างอิง การศึกษา บทความวิชาการ และงานวิจัยของผู้เขียน คำสำคัญที่ผู้เขียน สืบค้นจาก Google ปรากฏรายการออกมาให้ผู้เขียนเห็น และนำพาให้ผู้เขียนเข้าไปอ่าน มีหลายๆบทความที่ตรงตามความต้องการของผู้เขียน และหนึ่งในหลาย ๆ บทความนั้น เป็นบทความที่อยู่ใน website : GotoKnow และหลาย ๆบทความที่ผู้เขียนได้อ่านนั้น เป็นบทความของผู้เขียนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามาถ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปกล่าวอ้างอิงในบทความและงานวิจัยของผู้เขียนได้


นานวันเข้า เมื่อเข้าไปอ่านบันทึกต่างๆ ใน websiteแห่งนี้มากขึ้น ผู้เขียนเริ่มคุ้นเคย หลังจากที่ได้อ่านบันทึกของผู้รู้หลาย ๆ ท่าน รวมทั้งการตอบโต้แสดงความคิดเห็นไปมา ระหว่างกัน ของสมาชิกภายในชุมชนแห่งนี้


ผู้เขียนรับรู้ถึงความเป็นกันเอง ความคุ้นเคยกันจากภาษาที่เขียนโต้ตอบกันไปมา website แห่งนี้ใช่ว่าจะน่าเบื่อหรือหนักอึ้งทางด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวไม่? บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้อ่านบันทึกน่ารัก หวานแหวว มีจินตนาการที่สวยงามของสมาชิกในชุมชนที่หลาย ๆ ท่านเขียนทิ้งไว้ สำนวนภาษาที่ใช้น่าอ่าน น่ารัก.. น่าพูดคุยสนทนาด้วย หรือบางบทความที่ผู้เขียนได้เข้าไปบางท่านอาจใช้ ภาษาที่มุทะลุดุดัน ตรงไปตรงมา หรือเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากสังคม ขอบอกตรงว่า ๆ ผู้เขียนเกิดความชอบความหลากหลายทางความคิดจากสังคมแห่งนี้มาก


เมื่อเริ่มคุ้นเคย ก็เริ่มชอบ… จากการเป็นนักอ่านที่ชอบอ่านความคิดของคน ชื่นชมใครบางคนในชุมชนแห่งนี้

โอ้โห! ทำไมเค้าถึงเขียนดีจัง เขียนได้น่าอ่าน และชวนติดตาม ภาษาที่ใช้ก็ชวนคิด อยากแสดงความคิดเห็นบ้างจังเลย

ความสนใจที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกในชุมชนแห่งนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้น




3. ท่านมีวิธีการเขียนเรื่องเล่า(Best Practice) โดยมีแรงจูงใจในการเขียนมาจากอะไร

ความที่เป็นสมาชิกใหม่ ในสังคมที่มีผู้มีความรู้มากมายเช่นนี้ การเริ่มเขียน จึงไม่ใช่สิ่งง่าย


อุ๊ย!เราจะเขียนอะไรดีนะ ถึงจะมีคนอ่าน คิดไปถึงขนาดนั้นเลยทีเดียว

เท่าที่จำได้….. ใหม่ ๆ ก็เริ่มจากบทกลอนอะไร ประมาณนี้… เพราะเขียนง่าย และคิดว่าจะมีคนอ่านบ้างหรอกนะ เขียนไปเขียนมาเริ่มมีคนอ่านเพิ่มขึ้น จำได้สมัยนั้น เป็นความทรงจำแรก ๆ ที่ประทับใจ สมาชิกรุ่นบุกเบิกของสังคมแห่งนี้ หลาย ๆ ท่านให้ความเมตตา เข้ามาให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ขจิต ศน.แอ๊ด ครูคิม คุณครูต้อย คุณเสียงเล็กๆ คุณปลายฟ้า คุณอ้อยควั้นชายแดนใต้ ครูป้อม คุณครูพรรณา ผิวเผือก คุณครูวรางค์ภรณ์ เนื่องจากอวน คุณพอลล่า ครูกานท์ อาจารย์ was คุณปู ณ อันดามัน ครูปู คุณเบดูอิน ครูอ้อย แซ่เฮ คุณเอก จตุพร คุณชาดา หน้าตาดี คุณมนัญญา หน้าตาเฉย ครูแป๋ม คุณครูธรรมทิพย์ ฯลฯ รวมทั้งสมาชิกที่มีสถานภาพการเป็นสมาชิกใหม่ ใกล้เคียงกัน เช่น คุณหยั่งราก ฝากใบ(คุณคนไม่ราก) คุณศิลา คุณเดย์ คุณก้านกอ กอก้าน ฯลฯ นี่คือแรงจูงใจที่สำคัญทีเดียวที่ ทำให้ผู้เขียน อยากเขียน อยากเล่าบางสิ่งบางอย่างของผู้เขียนผ่านบันทึก และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ…ผู้เขียนได้มิตรภาพที่ผู้เขียนรู้สึกและรับรู้ได้จากกัลยาณมิตรในชุมชนแห่งนี้หลาย ๆ ท่านที่ทิ้งถ้อยคำ ตัวอักษรและภาษาไว้เป็นกำลังใจให้ผู้เขียน ไม่ว่า..จะเป็นบางเรื่องบางประเด็นที่ผู้เขียนเขียนผ่านบันทึกด้วยความรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ หรือแม้กระทั่งความเสียใจ


นี่หรือเปล่านะ ….ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้อ่านและได้เขียนบันทึกในแบบฉบับของผู้เขียน มาถึงทุกวันนี้



4. ท่านมีเทคนิคในการเขียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแบ่งปันความรู้หรือประสบการณ์อย่างไร

พูดถึงเทคนิคการเขียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น…. ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้รู้ที่มากด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือประสบการณ์ที่มากมายในการทำงานแต่อย่างใดไม่ การเขียนบันทึกของผู้เขียนจึงเป็นไปโดยธรรมชาติของผู้เขียนเอง... รู้สึกอย่างไร ก็เขียนไปเช่นนั้น

ที่สำคัญผู้เขียนมองว่า…การได้เขียนในสิ่งที่อยากเขียน ได้เล่าในสิ่งที่อยากเล่า มันเป็นอะไรที่ง่ายสำหรับผู้เขียน มากกว่าจะเขียนบันทึกทางวิชาการ ที่ผู้เขียนไม่สันทัด (ที่จริงความรู้ของผู้เขียนนั้นมีไม่มากพอต่างหากล่ะ.. ที่จะเขียน สู้การเป็นผู้อ่านที่ดีในความใคร่รู้ ของผู้เขียนต่อมุมมองของผู้รู้..ไม่ได้)

เมื่อเรามีมุมมองในชีวิตของเราแบบนี้ การได้เขียนจากมุมมองชีวิตตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนชอบที่จะเขียนทิ้งไว้ในบันทึก ผ่านสังคมประเทืองปัญญาแห่งนี้


อะไรที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วตกผลึกทางความคิดจากประสบการณ์ของชีวิตแบบนี้.... เป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบเขียนมากกว่าการเขียนเชิงอื่นใด?

และนี่คือ...คำตอบของผู้เขียน ที่อยากให้อาจารย์ขจิตและสมาชิกในชุมชนแห่งนี้รับทราบด้วยเช่นกัน


5. ท่านคิดว่าท่านมีวิธีการเขียนหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกต่อยอดความรู้ได้อย่างไร

วิธีการเขียนหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกต่อยอดความรู้นั้น ผู้เขียนไม่อยากจะพูดเลยนะครับว่า…ผู้เขียนไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ชัดเจน และพูดได้เดี๋ยวนั้น แต่หากย้อนกลับไปดูบันทึกหลาย ๆ บันทึกที่ผู้เขียนเขียนทิ้งไว้ ผู้เขียนชอบขมวดปมคิดของผู้เขียนเอง การขมวดสิ่งสำคัญ ๆ ที่อยู่ในใจของผู้เขียนและถ่ายทอดเป็นภาษาเขียนทิ้งท้ายไว้ในแต่ละบันทีกนี่กระมัง? น่าจะเป็นประเด็นการต่อยอดทางความคิดที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้บ้าง สำหรับผู้อ่านที่เข้ามาอ่านบันทึกของผู้เขียน


ผู้เขียนรู้สึกเช่นนั้นครับ




6. ท่านคิดว่ารางวัลสุดคะนึงมีผลต่อการเขียนของตนเองหรือสมาชิกหรือไม่ อย่างไร

ผู้เขียนรู้สึกว่า…ผู้เขียนโชคดีเสียมากกว่า ที่ได้รับความเมตตา สงสาร จากคณะกรรมการตัดสินรางวัลสุดคะนึง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ตัดสินมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับผู้เขียน ทั้ง ๆ ที่สังคมประเทืองปัญญาแห่งนี้มีผู้รู้ และผู้มีประสบการณ์ชีวิตมากมายเหลือเกิน ที่เขียนบันทึกทิ้งไว้ให้สมาชิกในสังคมประเทืองปัญญาแห่งนี้ได้อ่านได้ติดตามกัน


หากรางวัลสุดคะนึงที่ผู้เขียนได้รับในครั้งนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกของสมาชิกท่านอื่นท่านใดก็ตาม ผู้เขียนกลับรู้สึกขอบพระคุณ ที่ท่านได้เห็นคุณค่าในของบันทึกน้อย ๆ ที่ผู้เขียนเขียนด้วยใจ ด้วยความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน ผ่านสังคมประเทืองปัญญาแห่งนี้

แค่นี้….ผู้เขียนก็รู้สึกเป็นเกียรติมากพอแล้ว ที่ท่านกรุณาสละเวลามาอ่าน มาเยี่ยมชม ฝากข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น และที่สำคัญคือ... การส่งมอบกำลังใจให้กับผู้เขียน

เพราะนี่คือ.... รางวัลอันทรงเกียรติในชีวิตของผู้เขียนที่มองมีค่าในความรู้สึก..... แก้วแหวนเงินทองหรือของมีค่าอื่นใดก็มิอาจเทียมได้




ผู้เขียนขอขอบพระคุณสังคมประทืองปัญญาแห่งนี้อีกครั้ง ที่ให้โอกาสผู้เขียนได้ทำในสิ่งที่ผู้เขียนรักเป็นชีวิตจิตใจทั้งการอ่านและการเขียน


คุณงามความดีของบันทึกนี้… หากมี ผู้เขียนขอมอบตอบแทนสังคมแห่งนี้เช่นกัน


พงศ์เพชร์ แสงศรี

นามปากกา....แสงแห่งความดี

11 พฤษภาคม 2556

เวลา 13.53 น


p/p

หมายเลขบันทึก: 535630เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2014 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

บันทึกที่ได้อ่านจากเจ้าของบล็อกนี้ เป็นธรรมชาติและงดงามเสมอ 

ขอบคุณเรื่องราวดี ที่เขียนให้ได้อ่านเสมอมา ขอบคุณค่ะ คุณแสง 

มีโอกาสผ่านไปทางนั้นจะขอแวะไปกินผักเหรียงนะคะ:)

ก่อนอื่น ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง.....

อ่านแล้ว คึดถึงเจ้าของบล็อกทันที ได้ติดตามท่านบ่อย

และน่าจะได้เจอกันเร็วๆนี้นะครับ

เพราะผมได้รับการบ้านมาจากท่าน อ.ขจิต เหมือนกัน

.....

ด้วยความเกรงใจ อ. ขจิตค่ะ ได้แบบสอบถามก็รีบตอบ นำส่งทางเมล์ ได้อ่านของคุณแสงแล้วช่างน่าสนใจในการเขียนที่สบายๆ แต่ได้สาระมากๆค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปัน 


สวัสดีค่ะ...ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ คุณแสง..........

เป็นบันทึกที่นุ่ม   นวล  ชวนอ่าน  ชวนคิด  ชวนติดตาม

ขอบคุณพี่แสงมากครับ  สุดยอดมากๆๆ 

ติดต่อพี่หนุ่มร้อยเกาะได้หรือยังครับ  พี่หนุ่มตามหาคุณแสงอยู่ครับ...

มาชื่นชมค่ะอาจารย์

ขอบคุณคุณหนูรีมากนะครับ

ยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติ นะครับ

จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการทำขนมกับคุณหนูรีให้ดวงใจด้วยครับ


ขอบคุณคุณหนุ่มน้อยเกาะมากนะครับ

..

ช่วงนี้ยุ่ง ๆ เรื่องการเดินทางกลับต่างจังหวัดของลูกชายคนโต 

หากทิ้งช่วงเวลา สัก ประมาณปลาย ๆ เดือน พค ก็คงดีนะครับ

ขอบคุณคุณหนุ่มฯ มากนะครับ



ประทับในนามปากกา " แสงแห่งความดี " เสมอมาค่ะ

ดิฉันไม่ได้รู้จักตัวจริงของท่านนะคะ 

แต่รู้จักผ่านบทบันทึกหลายๆ บันทึกในบริบทต่างๆ  ผ่านความงดงามของถ้วยคำและความหมาย

ให้แง่คิดเชิงบวกที่สร้างสรรค์ค่ะ

เป็นกำลังใจให้กับบทบันทึกต่อๆ ไปเรื่อยๆ นะคะ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท