กินอยู่อย่างไรให้ไตอยู่ดีโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย


กินอยู่อย่างไรให้ไตอยู่ดี

ปัจจุบัน พบว่า การกินอาหารส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์โดยตรง เรียกว่า กินอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น หากเราเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว กิจวัตรประจำวัน รวมทั้งเลือกกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากจะมีสุขภาพที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางป้องกันโรคที่ดีด้วยและถึงแม้นว่าจะ เป็นโรค เราก็ยังต้องเลือกกินให้ถูกกับโรคที่เป็น เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนและอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิต

กินแบบไหนช่วยป้องกันโรคไต

หนึ่งในโรคที่มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารและพบบ่อยในคนไทย คือ โรคไตวายเรื้อรัง โดยผู้ที่เป็นโรคไตส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด และอาหารที่ไม่สะอาด

ซึ่งการรับประทานอาหารให้ห่างไกลโรคไตนั้น ควรเริ่มจากตัวเราก่อน

โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารจากที่เคยรับประทานอาหารในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกาย (ดูได้ง่าย ๆ คือน้ำหนักตัวจะเริ่มเพิ่มขึ้น เสื้อผ้าคับ) ก็ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ และคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น หวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีกะทิ เพื่อป้องกันโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสู่โรคอื่นๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตเรื้อรังที่ตามมา นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้


เมื่อเป็นโรคไตควรกินอยู่อย่างไร ชะลอไตพัง
 
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว ก็ควรระมัดระวังไม่ให้โรครุนแรงไปมากกว่าเดิม นอกจากการทานยาตามที่แพทย์สั่ง และการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดอย่างสม่ำเสมอแล้ว อาหารก็มีส่วนช่วยบำบัดอาการของโรคไตได้ หากเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม จะช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ได้

 
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตด้วยการฟอกเลือด หรือการล้างไตทางช่องท้อง
อาจเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลงรวมทั้งมีการสูญเสียสารอาหาร ระหว่างฟอกเลือด และการล้างไตทางช่องท้อง อาทิ โปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมร่างกาย และสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกกินอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

 
โดยผู้ป่วยโรคไตจะต้องรับการประเมินภาวะโภชนาการ ซึ่งได้แก่ น้ำหนักตัว ผลทางชีวเคมีของเลือด เช่น อัลบูมิน (วัดโปรตีนในเลือด) การประเมินอาการทางคลินิกและการประเมินการบริโภค และนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษานักกำหนดอาหาร/นักโภชนาการ เพื่อจะได้กำหนดปริมาณและรับประทานอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับภาวะที่ร่างกาย ต้องการของแต่ละบุคคล ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ไขมันที่ดี รวมทั้งผักและผลไม้แต่ต้องกินในปริมาณที่แนะนำ เช่น ผลไม้อาจกินเงาะได้ไม่เกินวันละ 8 ผล แต่ควรงดเมื่อผลทางชีวเคมีของโพแทสเซียมในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ในขณะเดียวกันสารอาหารโปรตีนที่พบมากในเนื้อสัตว์ต้องรับประทานให้เพียงพอ


โดยเน้นบริโภคปลา เพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ ในผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องควรกินให้ได้ 4-6 ช้อนโต๊ะต่อมื้อหรือเท่ากับ 3 กล่องไม้ขีดไฟกล่องเล็ก หรือ ไพ่ 1 สำรับ และกินไข่ขาววันละ 2 ฟอง การจัดอาหารให้น่ารับประทาน และดัดแปลงเมนูให้หลากหลาย จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้ “ไข่ขาว” ดัดแปลงเป็นอาหารหลากเมนู ไม่ว่าจะเป็น ซูชิไข่ขาว ฮ่อยจ๊อไข่ขาว หรือ ไส้กรอกอีสานไข่ขาว และอื่น ๆ นอกจากนี้การใช้วุ้นเส้น มาใช้ในตำรับจะช่วยให้ท้องอิ่ม น้ำตาลขึ้นได้อย่างช้า ๆ และเพื่อให้ได้พลังงานตามที่กำหนด


ควรกินอาหารที่ปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง ย่าง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมันในการปรุงอาหาร ประเภทผัด จะต้องเป็นน้ำมันที่ดีคือ มีไขมันไม่อิ่มตัว เนื่องจากเรากินน้ำมันด้วย ควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองผสมกับน้ำมันรำข้าวในสัดส่วน 1 : 1 สำรับ เพื่อลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ ส่วนน้ำมันปาล์ม ใช้สำหรับอาหารประเภททอด โดยหลังทอดเสร็จแล้วควรใช้กระดาษซับเอาน้ำมันออก ก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญช่วยยืดอายุให้ยืนยาวมากยิ่งขึ้น


ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ อีกทั้งเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม ปลาส้ม กุนเชียง รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีรสเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม รวมทั้งอาหารทะเลแช่แข็งด้วย เพราะอาหารเหล่านี้มีเกลือแร่ที่ชื่อโซเดียม ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าการกินโซเดียมเกินกว่าที่กำหนดมีผลต่อความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดต่าง ๆ เสื่อมได้ง่ายขึ้น 


ที่สำคัญควรระวังโซเดียม จากเครื่องปรุงที่ใช้ในการปรุงรสอาหาร อาทิ เกลือ น้ำปลา น้ำตาล ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเติมลงในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติตามที่เราต้องการ แต่ร่างกายไม่ได้มีความต้องการ จึงต้องจำกัดปริมาณให้อยู่ในความเหมาะสม มิฉะนั้นการปรุงรสอาหารตามใจปากอาจเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็น อันตรายต่อ ความดันเลือด ระบบหัวใจ และระดับแคลเซียมในเลือด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้


 
แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเพิ่มรสชาติได้โดยการใช้สมุนไพรช่วยในการปรุงรส เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ผักชี ขิง ใบแมงลัก เป็นต้น นอกจากนี้ควรลดการกินขนมเบเกอรี่ ขนมปัง ซึ่งใช้ผงฟูซึ่งมีโซเดียมแฝงอยู่ นอกจากนี้ผงฟูยังมีเกลือแร่ชื่อฟอสฟอรัสซึ่งมีผลต่อกระดูกเปราะในผู้ป่วยไต เรื้อรังถ้ากินมากเกินไป


ควรลดน้ำตาลทรายและอาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ ฉู่ฉี่ ก๋วยเตี๋ยวแขก ข้าวซอย ของหวานที่มีกะทิข้น เช่น ขนมปลากริมไข่เต่า ผลไม้เชื่อมซึ่งมีผลต่อไขมันในเลือดชื่อ ไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองและอาหารที่ย่อยยากและชิ้นใหญ่ ไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ กินให้พอเหมาะกับกิจกรรม
 
นอกจากนี้ ควรจำกัดน้ำดื่มเมื่อมีอาการบวม โดยดื่มน้ำปริมาณเท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวันที่ขับออกมา บวกกับน้ำ 500 ซีซี หลีกเลี่ยงการดื่ม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณค่อนข้างสูง งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเบา ๆ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า กล้ามเนื้อแข็งแรง และควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และเลี่ยงภาวะตึงเครียดต่าง ๆ ที่จะทำให้สุขภาพจิตเสื่อมลง ถ้าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถปฏิบัติตัวได้ดังกล่าวก็สามารถอยู่อย่างมี คุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้นเป็นโรคไตเรื้อรัง

 
 " ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย

   นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ "


 


(  ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ )


คนใกล้ตัว หรือคนรู้จัก มีใครใกล้จะเป็นโรคไตหรือเป็นแล้ว เราควรให้กำลังมากๆ ฝากแนะนำบอกต่อด้วยนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี   กานดา แสนมณี

หมายเลขบันทึก: 535321เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้ค่ะ

เป็นบันทึกที่น่าสนใจมากๆ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ นี้นะคะ^^

ขอบคุณบันทึกเพื่อสุขภาพค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ดา

  • ตอนนี้น้องหันมาสนใจเรื่องสุขภาพ  และดูแลตัวเองมากขึ้นค่ะ
  • อาจเป็นเพราะวัยเราที่มากขึ้น  ตรวจร่างกายประจำปีไม่ได้แล้ว
  • ต้องตรวจทุก ๆ  6 เดือน  ตอนนี้ ไตยังไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ
  • แต่ "ตับ" ชักเริ่มมีปัญหา  เมื่อมี "ไขมัน"  เริ่มเข้ามาตีตราจอง
  • ตอนนี้จึงต้องระวังเรื่อง ตับ  เป็นพิเศษ ค่ะ  

จะบอกต่อพี่สาว ย้ำเตือนเพราะเขาเป็นโรคไตอยู่ค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

สวัสดีค่ะพี่ดา

ขอบคุณสำหรับบันทึกเรื่องนี้ค่ะ โดยส่วนตัวไม่ทานเค็มอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าคุณพ่อเสียชีวิตด้วยอาการไตวาย ทำให้มีตัวอย่าง 


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท