(32) รู้ได้อย่างไรว่า 'อาหารจืด'


“พี่ขอแบบง่ายๆ แบบเราจะสอนญาติทำอาหารจืดให้ผู้ป่วย เมื่อปรุงอาหารเสร็จให้ลองชิมดู หากใครๆ ชิมแล้วร้องออกมาว่า “จืด” เป็นเสียงเดียวกัน นั่นแหละ อาหารจืดละ!"

..ง่ายนิดเดียว ชิมดูก็รู้ เด็ก ป.4 ยังตอบได้เลย

แล้วมันยุ่งยากซับซ้อนยังไง ถึงต้องตั้งเป็นคำถามด้วย ก็มันยาก.. ตรงที่ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่ดิฉันดูแลอยู่นั้นมีสภาพร่างกายและจิตใจเสื่อมมากแล้ว ไม่ค่อยรู้เรื่อง จะบอกว่าปวดท้อง ปวดหัว ปวดตัว หรือปวดใจก็ไม่ได้ ต้องการอะไรก็บอกไม่ได้ บอกรสชาติหวานมันเค็มก็ไม่ได้เช่นกัน ดิฉันพยาบาลจิตเวชจึงต้องเป็นหูเป็นตา เป็นทุกอย่างแทนผู้ป่วย รวมทั้งเป็นลิ้นด้วย เพราะทำหน้าที่ชิมอาหารเฉพาะโรคของผู้ป่วยทุกวัน

วันหนึ่งๆ ดิฉันต้องชิมอาหารหลายประเภท นายสถิตย์ สัมพันธ์เพ็ง หรือ 'นายหลอด' ลูกน้อ งตัวดี เคยค่อนขอดดิฉันว่า “พี่.. ชิมอาหารเสร็จ ไปกินข้าวเปล่าสักจาน แล้วตามด้วยน้ำอีก 1 แก้ว ก็อิ่มพอดี .. ประหยัด!"

สัปดาห์ก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่เข็นรถอาหารมาถึงหน้าอาคาร ดิฉันก็ชิมอาหารตามปกติ ชิมมาเรื่อยๆ จนถึง “อาหารจืด" ชิมแล้วต้องหยุดชะงัก เพราะลิ้นดิฉันบอกว่า “อาหารไม่จืด"

ไม่ได้การ! เปลี่ยนวิธีชิมใหม่ดีกว่า ชิมอาหารโปรตีนสูงกับอาหารจืดสลับกันไปมา หลายรอบ ดูเหมือนรสอาหารสองประเภทนี้ไม่แตกต่างกันเลยนะ! ในรายละเอียดนั้นช่วยกันชิมหลายคน ผลการชิมปรากฏว่า “อาหารจืดเค็มกว่าอาหารโปรตีนสูง" 3 คน “อาหารโปรตีนสูงเค็มกว่าอาหารจืด" 3 คน โภชนากรรีบสรุปว่า

“คะแนนเสียงเท่ากัน เพราะฉะนั้นอาหารจืดไม่เค็ม กินได้" ดิฉันรีบทักท้วงว่าสรุปแบบนี้ไม่ได้ จืดก็คือจืด ไม่จืดก็คือไม่จืด ไม่ใช่เรื่องของการโหวตเสียงข้างมาก!

โภชนากรก็พยายามอธิบายเชิงวิชาชีพว่าเธอคำนวณปริมาณเกลือในอาหาร และลดเกลือลงครึ่งหนึ่งตามหลักการแล้ว เมื่อดิฉันถามถึงปริมาณเกลือที่ผสมในเนื้อสัตว์บด รวมทั้งปริมาณเกลือในน้ำปลาร้า เธอตอบว่า “ลืมไป" ดิฉันจึงชิงสรุปเข้าข้างตนเองว่า

“พี่ขอแบบง่ายๆ แบบเราจะสอนญาติทำอาหารจืดให้ผู้ป่วย เมื่อปรุงอาหารเสร็จให้ลองชิมดู หากใครๆ ชิมแล้วร้องออกมาว่า “จืด" เป็นเสียงเดียวกัน นั่นแหละ อาหารจืดละ!"

เห็นไหม ..ง่ายนิดเดียว ชิมดูก็รู้ เด็ก ป.4 ยังตอบได้เลย (จำเอาไว้ อย่านำหลักประชาธิปไตยมาใช้ผิดที่ผิดทางนะจ๊ะ).

หมายเลขบันทึก: 535233เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2015 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณ tuknarak ที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท