"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

หลักตรวจสอบความเชื่อในทางพุทธศาสนา(อีกครั้ง)


เรื่องของความเชื่อ หรือความเคารพศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งของผู้คน ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัว ชุมชน สังคม และวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด เราผู้เป็นนักศึกษา(ตลอดชีพ)ควรจะมีหลักในการตรวจสอบว่าสิ่งใดเชื่อได้สิ่งใดเชื่อไม่ได้เอาไว้บ้าง

๖/๐๕/๒๕๕๖

   **********

            โบราณได้กล่าวเอาไว้ว่า…คำพูดของคู่ความในคดีหนึ่ง  ของการทูตที่มาเจรจาความเมืองหนึ่ง ของพ่อค้าขายสินค้าหนึ่ง ของหนุ่มที่กำลังรักหญิงสาวหนึ่ง…อย่าพึ่งเชื่อให้มากเกินไป  ถ้าพินิจตามข้อความดังกล่าวแล้วก็เห็นว่ามีความเป็นจริงได้สูงทีเดียว  ความเชื่อมีหลายระดับ ความเชื่อเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ตอนที่ยังไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีการพิสูจน์ถึงความจริงของเรื่องนั้น ๆ   เช่น คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าเราสลักชื่อลงในแตงกวาแล้วโยนลงแม่น้ำกัปปะ(ภูติชนิดหนึ่ง)ก็จะไม่ทำร้ายเรา (วิกิพีเดีย) ความเชื่อเกิดจาก “ความกลัว” หรือ “ความไม่รู้จริง” แถวบ้านผมเมื่อก่อนนี้ เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง ทำให้เกิดความกลัว  ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะหาปืน “อีแก๊ป”  ออกมายิงขึ้นไปบนท้องฟ้า  โดยเชื่อว่าจะเป็นการยิงขู่หรือไล่ “พระพาย” (ลม) ให้หนีไป โดยปืนที่ใช้ยิงนั้นจะไม่ใส่กระสุนตะกั่ว ใส่แต่ “ดินปืน” กับ “เฝ่า” หรือฝอยมะพร้าวที่ขยี้ละเอียดเป็นเส้นๆ อุดดินปืนไม่ให้ไหลย้อนออกมาทางปากกระบอกปืน เท่านั้น  พอยิงได้สักครู่พายุฝนฟ้าคะนองก็มลายคลายความรุนแรงลง ทำให้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

           คติเรื่องความเชื่อหากมองย้อนกลับไปตามประวัติทางศาสนาแล้วจะเห็นว่า “ศาสนาพราหมณ์” คือ ต้นกำเนิดของความเชื่อต่าง ๆ ทำให้มีการแพร่ขยายลัทธิความเชื่อไปสู่ดินแดนต่าง ๆ ไปพร้อมกับพระพุทธศาสนา แม้ว่าในประเทศอินเดียพระพุทธองค์พยายาม “ปรับ” หรือ “เปลี่ยน” แนวความคิดและแนวความเชื่อต่าง ๆ  ให้กับพุทธบริษัทสี่แล้วก็ตาม  แต่ก็หาได้เอาชนะแนวความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาพรามหมณ์ได้ทั้งหมด   โดยมองจากสังคมไทยนี่แหละไม่ต้องไปมองอื่นไกล

                              

                                  

          ความเชื่อ มีชื่อทางพุทธศาสนาว่า “ศรัทธา”  เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยสติปัญญา  ไม่ใช่เชื่ออะไรไปเรื่อยเปื่อย  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหลาย ๆ หมวดที่ขึ้นต้นด้วย “ศรัทธา”  มักจะลงท้ายด้วย “ปัญญา” เสมอ เพราะต้องมี “ความรู้” คอยกำกับ “ความเชื่อ” อยู่เสมอจึงจะไม่หลงความเชื่อ  เช่น สัมปรายิกัตถประโยชน์๔   เวสารัชชกรณธรรม๕  พละ๕  อริยทรัพย์๗  เป็นต้น หลักธรรมดังกล่าวมา จะขึ้นต้นหรือเริ่มข้อแรกด้วย “สัทธา”(บาลี)  ก่อน และจะลงท้ายคอยกำกับไว้ด้วย “ปัญญา” ทุกครั้ง  ไม่เชื่อก็ลองไปหาอ่านหรือศึกษากันดูได้

         ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ต้องไม่เชื่ออย่างงมงาย การเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ หรือเชื่อแบบมิจฉาทิฏฐิ  ก็ถือว่าผิดหลักการแล้ว หลักความเชื่อที่นำมากล่าวถึงและอ้างเทียบเคียงกันบ่อย ๆ คือที่มาจาก เกสปุตติยสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตหรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งที่เข้าใจทั่วไปว่า “กาลามสูตร” ๑๐ ประการ  พระธรรมปิฏก(ศาสตราจารย์พิเศษ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (นามเดิม:ประยุทธ์ อารยางกูร) หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป.อ. ปยุตฺโต" ) เขียนเทียบหลักการนี้เอาไว้ ๓ ภาษา ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ดังนี้

        “...กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10  (หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ  ที่ตรัสไว้ใน  กาลามสูตร — how to deal with doubtful matters; advice on how to investigate a doctrine, as contained in the Kalamasutta)

     

       1. มา อนุสฺสเวน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา — Be not led by report)

       2. มา ปรมฺปราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา — Be not led by tradition)

       3. มา อิติกิราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ — Be not led by hearsay)

       4. มา ปิฎกสมฺปทาเนน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ — Be not led by the authority of texts)

       5. มา ตกฺกเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก — Be not led by mere logic)

       6. มา นยเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน — Be not led by inference)

       7. มา อาการปริวิตกฺเกน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล — Be not led by considering appearances)

       8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว — Be not led by the agreement with a considered and approved theory)

       9. มา ภพฺพรูปตาย (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ — Be not led by seeming possibilities)

       10. มา สมโณ โน ครูติ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา — Be not led by the idea, ‘This is our teacher’)

         ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

          สูตรนี้ ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติยสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาลามะนั้นเป็นชาวเกสปุตตนิคม..”

         หลักเทียบเคียงดังกล่าวมาท่านไม่ได้ห้ามว่า “ไม่ให้เชื่อ” แต่ท่านใช้คำว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะ..”  หรือบางแห่งอาจจะใช้คำว่า  “อย่าพึ่งเชื่อ เพราะ..”  แทนก็ได้  ประเด็นสำคัญอยู่ที่บรรทัดท้าย ๆ ที่ว่า

         “...ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น(หรือสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น) เป็น อกุศล...(เช่น อกุศลมูลก็ ความโลภอยากได้  ความคิดประทุษร้าย  ความหลงไม่รู้จริง)

         ...หรือเป็นกุศล...(เช่น กุศลมูลก็จะตรงข้ามกับอกุศลมูล ไม่คิดอยากได้  ไม่คิดประทุษร้าย  ไม่หลงงมงาย)  

         …เป็นการกระทำที่มีโทษ... (การกระทำที่มีโทษตามหลักพุทธ คือ การทำชั่ว หรือ อกุศลกรรม ๓ ประการ คือ ๑.การกระทำชั่วทางร่างกาย เช่น การฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์  การลักทรัพย์สมบัติข้าวของของผู้อื่น การประพฤติผิดในกามหรือในลูกเมียของผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกเมียตน    ๒. การกระทำชั่วทางวาจาหรือทางคำพูด  ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดคำหยาบคาย การด่า การใช้คำไม่สุภาพ  การพูดให้คนเกิดการแตกแยกทะเลาะวิวาทเรียกในปัจจุบันว่า "เสี้ยม" และการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระหาประโยชน์มิได้     ๓. การกระทำชั่วทางใจ ได้แก่การคิดชั่วต่าง ๆ  เช่น คิดอยากได้เงินทองข้าวของของผู้อื่น  คิดแค้นมุ่งทำร้ายเพื่อน คู่อริหรือผู้อื่น  คิดเห็นในทางที่ผิด ( เช่น  คิดว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ พระสงฆ์ศาสนาไม่มีความสำคัญ  พระมหากษัตริย์ไม่มีบุญคุณอะไรกับเรากับประเทศชาติบ้านเมือง  คิดว่าบาปไม่มีจริง บุญไม่มีจริง เป็นต้น การคิดแบบนี้เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ  ถือเป็นบาปอย่างร้ายแรงในทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน

        หรือเป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ... (เช่น การกระทำที่ตรงข้ามกับอกุศลกรรม ๓ ข้อดังกล่าวมา คือ เว้นจากการทำชั่วทางร่างกาย  เว้นจากการทำชั่วทางวาจา และเว้นจากการทำชั่วทางใจ  หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าการกระทำตามหลักบุญกุศลทางพุทธศาสนา คือ การให้ทาน  การรักษาศีล และ การเจริญภาวนา พยายามกำจัดอกุศลมูลเบื้องต้นให้บรรเทาเบาบางลงไปให้ได้ เป็นต้น)

         ...เป็นต้นแล้ว...  แสดงว่ายังมีหลักตรวจสอบอื่นอีกที่ท่านพระธรรมปิฎกยังเขียนหรือบอกไม่หมด แนะให้ไปหาอ่านพระสูตรตัวเต็มครับ

         ...จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น” 

       ทั้งหมดที่กล่าวมา คือหลักการตรวจสอบพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับหลักความเชื่อเบื้องต้น   สิ่งที่เราเชื่อนั้นส่งผลต่อการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นไปในทางใด เป็น อกุศล หรือ กุศล   มีโทษหรือ  ไม่มีโทษ  ฯลฯ ต่อบุคคล  ต่อสังคม ส่วนรวมหรือไม่ 

        ยกตัวอย่างข้อที่ ๑๐ เกี่ยวกับครูอาจารย์ของเรา  ตามที่มีข่าวออกสื่อต่าง ๆ เห็นพระรูปหนึ่งใช้เท้าเหยียบพระพุทธรูป มีการถีบเก้าอี้ เตะถ้วยชาม กระทืบโต๊ะอาหาร  ใช้คำพูดไม่สุภาพ  เราเห็นว่าการกระทำของท่านเป็นอกุศลกรรมแสดงออกถึงโทสะจิต ไม่เหมาะสมต่อสมณสารูป  ก่อให้เกิดผลกระทบ(มีโทษ)ต่อคณะสงฆ์  (มีโทษ)ต่อชาวพุทธที่เคารพนับถือพระศาสนาจนเป็นเดือดเป็นแค้นแทน  เราเองในฐานะที่เป็นศิษย์ของพระรูปดังกล่าว  เรายังเห็นและมีความเชื่อว่า “ท่านเป็นพระดี”  เป็นพระที่น่าเคารพกราบไหว้ น่าโอบอุ้มหวงแหนอยู่อย่างเดิม  อย่างนี้ชื่อว่าเป็นความเชื่อที่เข้าตามหลักการในข้อนี้คือ “ปลงใจเชื่อเพราะว่าอย่างไรท่านก็เป็นครูอาจารย์ของเรา”  ไม่เสียหายอะไรมาก  ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง “สิ่งควรละ(เว้น)”  ไม่ใช่ “สิ่งควรถือปฏิบัติตาม”  ทุกคนควรมีหลักความเชื่อในการเทียบเคียงตรวจสอบและถือปฏิบัติตามในข้ออื่น ๆ  ก็ลักษณะคล้ายกันนี้

         เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของ หลักความเชื่อ หรือ วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย ดังกล่าวมา ขอนำบทกลอนที่ ประพันธ์โดย อาจารย์ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ตัดเอาตอนที่ตรงกันมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการจดจำ ทำความเข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคมหรือส่วนรวมในโอกาสต่อไป ดังนี้

            หนึ่ง..... ฟังตามกันมาอย่าได้เชื่อ

            สอง..... ทำกันทุกเมื่อ...เชื่อไม่ได้

            สาม..... ตื่นข่าวป่าวมาอย่าเชื่อไป

            สี่........  อย่าไว้ใจแม้แต่ตำรา

            ห้า....... อย่าเชื่อเพราะเดาเอาเองเล่น

            หก....... กะเกณฑ์คาดคะเนไว้ล่วงหน้า(อนุมาน)

            เจ็ด...... เพราะนึกตรึกตรองหรือตรวจตรา

            แปด..... เพราะว่าต้องตามธรรมเนียมตน

            เก้า...... อย่าเชื่อเพราะเพื่อ...ควรเชื่อเขา

            สิบ......  ครูเราแท้ ๆ มาแต่ต้น

            ก็ใช่จัก เชื่อได้ น้ำใจคน      จงเชื่อผล เชื่อเหตุ สังเกตเทอญ.

          ตอนท้ายอาจารย์ให้ความสำคัญกับหลักการสำคัญ  ๓ อย่าง คือ  การสังเกต  การดูที่ต้นเหตที่เกิด  และดูที่ผลลัพธ์ ที่ได้มา   จะทำให้เราสามารถสาวไปหาความรู้ที่แท้จริงได้พร้อมกับตรวจสอบความเชื่อกับข้อความที่ว่า   “...ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น...”   ถ้าพิจารณาตรวจสอบใคร่ครวญด้วยสติปัญญาหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองเป็นที่ยอมรับแล้ว ว่าสิ่งนั้น(ธรรมเหล่านั้น) เป็นกุศล(สิ่งที่ดี สิ่งที่ฉลาด สิ่งที่งดงาม เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เป็นการกระทำที่ช่วยยกระดับจิตใจให้ดีขึ้น) และไม่มีโทษ(ไม่เกิดผลร้ายต่อตนเองและสังคม) เราควรปฏิบัติตามนั้น  หากเป็นไปในทางตรงข้าม คือ อกุศล และก่อให้เกิดโทษต่อตนเองและสังคมรอบข้าง  เราควรละหรือเว้นในสิ่งนั้น ๆ เสีย   

อย่าลืม   “...ธรรมะใด ๆ ก็ไร้ค่า  ถ้าไม่ทำ...(ปฏิบัติตาม)”

หมายเลขบันทึก: 534902เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Hello.

I like what you wrote here. I feel much that we should go beyond the 10 points (see วรภัทร์ ภู่เจริญ : เรา สอน "กาลามสูตร" ไม่ครบ ตามพระไตรปิฎก  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/120363).

I wrote 3 aspects of Gaalaamasutta --briefly-- in Belief: Is Learning (a kind of) Believing? (PSE)
http://www.gotoknow.org/posts/473288 .

Another aspect of this sutta (and as in many other suttas) is the 'repetition' (coded by the use of ' ไปยาล     ฯลฯ   peyyaala'). Repetition is the key to practicing Buddhism. We have to do good things not once (as in Western 'success') but over and over (till it becomes 'habit' to do good things). Each time we repeat (the process loop), we also collect data, review conditions, and consider possible options/possibilities, before we commit our resources (including energy and time).

This aspect of the Buddha's Teachings can be considered a foundational tenet for modern scientific processes. (Not 'how Buddhism compares well with Science' But 'how Science follows Buddhism' ;-)


  • อาจารย์ sr ครับ ขอบคุณที่เข้ามาให้คำแนะนำ เพิ่มเติมความรู้ให้กับบันทึกนี้ ถือเป็นเกียรติสำหรับผมเป็นอย่างมากครับ
  • เรื่องนี้คงจะเป็นอย่างที่อาจารย์เสริมให้นั่นแหละครับ เพราะเราเรียนรู้หรืออ่านทำความเข้าใจกับครูบาอาจารย์กันตาม ๆ กันมา จนมีการจับโน่นชนนี่ โดยลืมอ่านหรือมองที่บริบทโดยรวมของพระสูตรไป หรือจะกล่าวว่าอ่านไม่จบพระสูตรก็ว่าได้ โดยเฉพาะตรงไปยาลหรือที่เขียนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นั้น ยิ่งพากันมองข้ามไป หากไปอ่านในพระอภิธรรมก็จะยิ่งกว่านี้มากครับ 
  • เพราะเราไม่สอนให้เน้นย้ำในการปฏิบัติกันตั้งแต่เล็กหรือตั้งแต่เด็กจนเป็นนิสัย พอโตขึ้น ความฝังจำหรือฝังใจจึงไม่อยู่ได้นาน  พอโตขึ้นจึงกลายพันธุ์เป็นคนใหม่
  • เห็นด้วยที่เราไม่ควรนำเอาหลักการทางพุทธศาสนาไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์หรือตามวิทยาศาสตร์  แต่ควรจะทำให้วิทยาศาสตร์มาตามหลังพุทธศาสตร์ให้ได้
  • เรื่องทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ผมเองคงแสดงความคิดเห็นอะไรได้ไม่มากหรอกครับอาจารย์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท