การเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์


การศึกษาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เน้นการสอนนักเรียนสายวิทย์มากเกินไป ไม่ค่อยเอาใจใส่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนที่จะเติบโตไปมีอาชีพที่ไม่ใช่สายวิทยาศาสตร์ โดยที่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิตที่ดีของตน ในแบบที่ใช้ความรู้ทางอ้อม ไม่ใช่ใช้โดยตรง

การเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์  

บทความเรื่อง Outside the Pipeline : Reimagining Science Education for Nonscientists  ลงพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับScience Education  บอกเราว่า การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่จะไม่เรียนต่อไปสู่วิชาชีพสายวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  เพราะเป้าหมายของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการดำรงชีพ ในยุคปัจจุบัน  สำหรับคนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์  แตกต่างจากเป้าหมายในอดีต

บทความเสนอความท้าทายใหญ่ ด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กสายศิลป์ และสายอาชีวะ  ที่ไม่ใช่วิชาชีพสายวิทยาศาสตร์ ๓ ข้อ

1.  ช่วยให้นักเรียนค้นหาว่า วิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตของตนเองเป็นอย่างไร  ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันที่ซับซ้อนได้อย่างไร  โดยให้นักเรียนได้เรียนจากของจริง สภาพจริง ที่อาจยังไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อย่างแจ่มชัด ได้ทั้งหมด 

2.  ให้นักเรียนได้เข้าใจความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์  เนื่องจากสังคมปัจจุบันเต็มไปด้วย ข่าวการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือข่าวโฆษณาสินค้าที่อ้างอิงวิทยาศาสตร์  ซึ่งเชื่อถือได้บ้าง เชื่อถือไม่ได้บ้าง  เพื่อไม่ให้ถูกหลอก คนทุกคนจึงต้องมีความสามารถในการตรวจสอบ ความน่าเชื่อถือของข่าวนั้นๆ ได้

3.  ให้นักเรียนพัฒนาความสนใจทางวิทยาศาสตร์ในระยะยาวของตนเอง  โรงเรียนควรส่งเสริมความสนใจเฉพาะด้านของนักเรียน  ส่งเสริมงานอดิเรก  เพื่อสั่งสมพัฒนาทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ความสนใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายข้อ ๓ นี้  เช่นการมีงานอดิเรกสะสม ฟอสซิล  สะสมแมลง

การศึกษาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน เน้นการสอนนักเรียนสายวิทย์มากเกินไป  ไม่ค่อยเอาใจใส่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนที่จะเติบโตไปมีอาชีพที่ไม่ใช่สายวิทยาศาสตร์  โดยที่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม  และต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิตที่ดีของตน  ในแบบที่ใช้ความรู้ทางอ้อม  ไม่ใช่ใช้โดยตรง  เช่นใช้พัฒนาสุขภาพของตน  ใช้กำหนดจุดยืนทางการเมือง  เศรษฐกิจ  การพักผ่อนหย่อนใจ  และอาชีพ  โดยมีคนเสนอคำว่า เป็น “คนนอกที่มีความรู้ความสามารถ (competent outsider)

หลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ต้องผลิต คนนอก” ที่มีความสามารถค้นหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์  นำมาตีความ ใช้ประโยชน์ต่อชีวิตของตนได้ 

ผมขอเพิ่มเติมว่า ในสังคมไทยเราเวลานี้มีการโฆษณาขายสินค้าเชิงวิทยาศาสตร์แบบเกินจริงมากมาย  และมีคนจำนวนมากหลงเชื่อ ก็เพราะขาดพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับดำรงชีวิตในยุคนี้ ไม่ให้ถูกหลอกลวง

คนทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์อย่างไร

ผลการวิจัยบอกว่า คนทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์แตกต่างจากที่เราคิด อย่างมากมาย

·  คนต่างกลุ่มตีความวิทยาศาสตร์แตกต่างกัน  เช่นการตีความผลการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด ของคน ๓ กลุ่ม ได้แก่ คนกลุ่มที่เป็นนักเรียกร้องการดูแลคนเป็นโรค Alzheimer, บริษัทลงทุนทางไบโอเทค, และ กลุ่มศาสนา  น่าจะตีความแตกต่างกันมาก  อาจถึงขนาดต่างขั้วกัน  ผลการวิจัยบอกว่า ในสรอ. คน ๖ กลุ่มอายุ ตีความข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกแตกต่างกัน

มีหลาย สาธารณชน” ในเรื่องวิทยาศาสตร์ 

·  วิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว  แต่มีหลาย วิทยาศาสตร์”  มีวิธีคิด วิธีพิสูจน์ความจริง และจารีตประเพณี แตกต่างกัน

·  คนทั่วไป มีปฏิสัมพันธ์กับบางส่วน หรือบางปรากฏการณ์ของวิทยาศาสตร์  เพื่อเป้าหมายจำเพาะบางอย่างของตน เท่านั้น   ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ทั้งหมด

การทำความเข้าใจเป้าหมายใหม่ของการศึกษาวิทยาศาสตร์

การศึกษา ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนในบ้านเมือง  เป้าหมายของการเรียนวิทยาศาสตร์ จึงต้องคำนึงถึงความต้องการของคนทั่วไป ตามที่ระบุในหัวข้อก่อนหน้านี้  และต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย  เพื่อให้วิทยาศาสตร์สนองตอบชีวิตประจำวันที่ไม่เป็นไปตามตำรา  และอยู่กับเรื่องแปลกๆ  ดังต่อไปนี้

·  มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์  : เปลี่ยนจากรู้จักตำรา ไปเป็นรู้จักค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ที่ตนต้องการ  เมื่อนักเรียนเติบโตออกไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็งอกงามเพิ่มพูนขึ้น  เมื่อเขาเผชิญปัญหาที่ต้องใช้ความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ เขาจะต้องแปลตัวปัญหาในชีวิตประจำวัน เป็นประเด็นหรือคำถามทางวิทยาศาสตร์  แล้วค้นหาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นั้นทาง อินเทอร์เน็ต  แล้วจะต้องประเมินว่า จะเชื่อหรือใช้ความรู้ชิ้นไหน  และจะนำความรู้ที่เลือกไปดำเนินการอย่างไร 

ในกรณีเช่นนี้ ความสามารถในการตั้งคำถามมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ยกตัวอย่าง เกษตรกรต้องการรู้ว่าการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างที่ใช้กันอยู่ในชุมชนของตนจะมีอันตราย หรือปลอดภัยแค่ไหน  จะต้องมีความสามารถตั้งคำถามที่เหมาะสม ได้แก่ ยาฆ่าแมลงชนิดไหน  ใช้มากน้อยแค่ไหน ที่อันตรายมาก  อันตรายอย่างไร  มีวิธีวัดที่แม่นยำว่าลูกๆ ได้รับในอากาศหายใจ และในน้ำ ในปริมาณเท่าไร   แล้วต้องตั้งคำถามสู่ชีวิตจริง ว่าใคร/หน่วยงานไหน จะช่วยวัดระดับยาฆ่าแมลงในน้ำ  คำถามต่อไปคือ ฉันจะทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลงได้

จะเห็นว่า การเรียนแบบท่องจำเนื้อหาจะไม่ทำให้เด็กมีทักษะในการตั้งคำถามเหล่านั้น  วิธีเรียนที่จะให้ทักษะในการตั้งคำถาม คือ PBL (Project-Based Learning) 

·  มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์  : เปลี่ยนจากปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ไปเป็นมีความสามารถตัดสินว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์  คำว่า ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” เป็นคำที่ต้องตีความ   โดยตั้งคำถามเชื่อมโยงกับ “การตั้งคำถามทางวิทยาศาสตร์”  (scientific inquiry)  และการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแจกแจงออกได้เป็นขั้นตอนที่จำเพาะ ได้แก่ การสร้างโมเดล  การขยายความจากข้อมูลหลักฐาน  การสื่อสารผล

แต่นั่นเป็นปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์  คนทั่วไปไม่ได้มีชีวิตเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แบบนั้น  ที่อาจเรียกว่า แบบ คนใน”  คนส่วนใหญ่เป็น “คนนอก” วงการวิทยาศาสตร์  ที่บทบาทสำคัญที่สุดคือการพิจารณา และตัดสินด้วยตนเอง ว่าคำโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อค้นพบ หรือหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์ น่าเชื่อถือหรือไม่   เป็นการตัดสินโดยที่ตนไม่มีความรู้ ในเรื่องนั้นๆ  แต่ใช้หลักฐานอ้างอิง เช่น ชื่อเสียงของผู้ให้ข่าว  หน่วยงานต้นสังกัด  แหล่งตีพิมพ์  และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ยิ่งนับวัน ข่าวเหล่านี้ก็เชื่อถือได้ยากขึ้น เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพันอย่างยุ่งเหยิง   นักเรียน/นักศึกษา สายที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์จึงควรได้เรียนรู้ระบบการเผยแพร่ผลงาน ทางวิทยาศาสตร์หลากหลายรูปแบบ  รวมทั้งวิธีประเมิน หรือทำความเข้าใจ ความน่าเชื่อถือของการเผยแพร่แต่ละรูปแบบ และแต่ละพฤติกรรมของการเผยแพร่

วิธีการเรียนแบบ SSID (Socio-Scientific Issue Discussion)  โดยครูออกแบบวงอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นในหมู่นักเรียน  ในเรื่องปัญหาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์  เพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจมายาด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์  และปัญหาเชิงจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน 

·  เห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์  : เปลี่ยนจากมีแนวคิดเชิงบวกต่อวิทยาศาสตร์   เป็นเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างจริงจังและต่อเนื่อง   ทำโดยจัดการเรียนรู้แบบส่งเสริมความสนใจเฉพาะตัวของนักเรียนแต่ละคน  โดยใช้เครื่องมือ ๓ ตัว คือ  (๑) จัดการเรียนรู้แบบ Project-Based และ Place-Based  (๒) ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์, ชมรมกิจกรรมหลังเวลาเรียน  จัดให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจของตน  (๓) จัดให้นักเรียนเล่นเกมวิทยาศาสตร์ เช่น FoldIt, GalaxyZoo

การจัดการเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อ คนนอก” แบบใหม่

เพื่อฝึกนักเรียนให้เติบโตไปเป็น “คนนอกที่มีความรู้ความสามารถ”  นักเรียนต้องได้เรียน/ฝึก (๑) ฝึก ค้นหาและตีความความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน และเป็นชีวิตจริง  (๒) ฝึกตัดสินว่าข่าวสารประชาสัมพันธ์ หรือข้อกล่าวอ้างทางวิทยาศาสตร์ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยพิจารณาตามเหตุผลหรือจารีตทางวิทยาศาสตร์ และพิจารณาตามความน่าเชื่อถือทางสังคม  (๓) เพื่อให้เป็นคนรัก และเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ตลอดชีวิต  ให้โอกาสออกไปเรียนรู้ตามความสนใจของตน ในกิจกรรมภายนอกโรงเรียน  แม้กิจกรรมนั้นจะต้องขาดเรียนในชั้นเรียนตามปกติ

การจัดการเรียนการสอนต้อง เน้นการเรียนแบบ PBL, SSID (Socio-Scientific Issue Discussion), และ การค้นคว้าตามความสนใจของนักเรียน (interest-driven student exploration)

การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ต้องได้สมดุลระหว่างการเรียนรู้ ๒ แบบ  คือ การเรียนสำหรับนักเรียนที่จะเรียนต่อสายวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (pre-professional science education)  กับแบบ การเรียนสำหรับ คนนอก” (science education for non-scientists)

วิธีการจัดการเรียนรู้ตามที่ระบุในบันทึกนี้ ยังต้องการการวิจัยอีกมาก  โดยเฉพาะการวิจัยวิธีการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชีวิตจริง  ในเรื่องราวของสังคมที่มีความไม่ชัดเจน ไม่มีถูก-ผิด

ในบริบทการศึกษาไทย มีการริเริ่มทดลองวิธีจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ มากพอสมควร  แต่ยังไม่ได้ทำแบบโครงการวิจัย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับ คนนอก”  ที่จะให้มีผลให้คุณระยะยาวในชีวิตอนาคต   เพื่อให้วงการศึกษาไทย และสังคมไทย เอาชนะเป้าหมายระยะสั้นทางการศึกษา  ให้หันไปให้คุณค่าต่อเป้าหมายระยะยาวในชีวิต ของลูกหลานของตนมากกว่า 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ Non-scientists.pdf 

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 534870เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 04:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 04:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท