การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย


การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย

  สำหรับแนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย ที่จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยให้สัมฤทธิ์ผล รวมทั้งนำไปสู่การปฏิรูประบบต่างๆ ของสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนโดยรวมและสังคมไทยเติบโตด้วยความแข็งแกร่ง อันจะช่วยให้ประเทศชาติมีความสงบสุขและพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป ซึ่งสามารถสรุปรายละเอียดได้ ดังต่อไปนี้

  1.เสริมสร้างธรรมาภิบาลให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคมไทย  ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ปลูกฝังจิตสำนึกการดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุผล ยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกัน ตระหนักในสิทธิหน้าที่เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งมีอุดมการณ์ ค่านิยมที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และธรรมาภิบาลให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชน และผู้นำในสังคมทุกระดับเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม โดย

  1.1 สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบ เสรีภาพ และความเสมอภาค เกิดจิตสำนึกในการป้องกันดูแลและมีส่วนร่วมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ผ่านสื่อทุกประเภทด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เข้าใจง่าย โดยภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ และจัดสรรเวลาออกอากาศที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้แก่รายการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล รวมทั้งสอดแทรกในรูปแบบข่าว ละคร บทเพลง และการละเล่นพื้นบ้าน

  1.2  สนับสนุนสถาบันและหน่วยงานการศึกษา ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนจัดทำหลักสูตรวิชาการจัดกิจกรรม ฝึกอบรม เวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่าด้วยการเสริมสร้างปลูกฝังค่านิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตย และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

  1.3  ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน บ้าน สถาบันทางศาสนา โรงเรียน สังคม และสื่อต่างๆ ในการปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อให้เด็กและเยาวชน ตระหนักและเชื่อมั่นในในหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งหลักการประชาธิปไตย

  1.4  จัดทำคู่มือจริยธรรมของประชาชนและเยาวชน เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนใช้เป็นกรอบยึดถือปฏิบัติในการดำรงชีวิต และสถานศึกษาใช้ประกอบการเรียนการสอน

  1.5 สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล เพื่อให้สามารถพัฒนากรอบความคิด หลักการ แนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

  1.6 สนับสนุนให้มีพื้นที่สาธารณะทางสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระดมความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และร่วมติดตามตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการประเทศ และการกำหนดนโยบายสาธารณะ

  2. พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสังคมทุกระดับให้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมไทย โดย

  2.1 พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำตามระบอบประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล ที่พร้อมรับการตรวจสอบและรับฟังความเห็นจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เพื่อสามารถถ่ายทอดและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ชุมชน และท้องถิ่นทุกระดับ รวมทั้งส่งเสริมยกย่องผู้นำที่มีพฤติกรรมความเป็นประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล เป็นตัวอย่างเผยแพร่แก่สังคมและมีบทลงโทษทางสังคมเมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นต้นแบบที่ดีงามของเยาวชนสืบต่อไป

  2.2 สร้างกลุ่มแกนนำในระดับครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งสร้างเยาวชนธรรมาภิบาลในโรงเรียนและชุมชน โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มองค์กรเครือข่ายทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรณรงค์สร้างกระบวนการเรียนรู้ ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างธรรมาภิบาล

3. เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้สามารถเข้าร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้ภาคประชาชนเข้าถึงอำนาจการตัดสินใจตามหลักประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความสมดุล สามารถมีบทบาทในกระบวนการตรวจสอบให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ลดการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิผลบนพื้นฐานของการยอมรับและการไว้วางใจกัน

อ้างอิง : ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ www.ldd.go.th/Thaihtml/05022007/PDF/PDF01/011.pdf‎

หมายเลขบันทึก: 534862เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท