ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยนายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร


ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ

จะทำให้เจอรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง แต่หลายคนไม่รู้ว่าควรตรวจคัดกรองด้วยวิธีไหนดี นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ-นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งนรีเวช รพ.จุฬาภรณ์ มีคำอธิบาย



นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า 

สิ่งสำคัญในการตรวจมะเร็งปากมดลูก เราไม่ได้อยากเจอมะเร็ง แต่อยากเจอรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง คือ มีเซลล์ผิดปกติที่กำลังจะเป็นมะเร็ง หากไม่รักษาก็กลายเป็นมะเร็ง


ความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ที่ปากมดลูกแบบดั้งเดิม หรือ “แป๊ปสเมียร์” ประมาณ 50%  การตรวจเซลล์ปากมดลูกแบบแผ่นบาง (liquid base cytology) ร่วมกับการตรวจหาชนิดของการติดเชื้อเอชพีวี ความไวประมาณ 99%โอกาสหลุดแค่ 1% ที่พูดไม่ได้หมายความว่าการตรวจแป๊ปสเมียร์ไม่ดี เพียงแต่ว่า การตรวจเซลล์ปากมดลูกแบบแผ่นบาง และการตรวจหาชนิดของการติดเชื้อเอชพีวีดีกว่า แต่ราคาแพงกว่า


ทั้งนี้ในปัจจุบันบ้านเรา ใช้วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยการตรวจแป๊ปสเมียร์ ไม่ได้เป็นแบบแผ่นบาง ซึ่งมีราคาถูก แต่แบบแผ่นบางราคาอย่างต่ำ  600 บาทขึ้นไป  ถ้าตรวจหาชนิดของการติดเชื้อเอชพีวีราคาประมาณ 1,500 บาท รวมแล้วตรวจแบบแผ่นบางและตรวจเอชพีวีประมาณ 2,000 บาท  โดยทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น


ควรตรวจหาการติดเชื้อเอชพีวีทุกปีหรือไม่?

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ถ้าตรวจแป๊ปสเมียร์แผ่นบาง และตรวจหาชนิดการติดเชื้อเอชพีวี ให้ตรวจซ้ำทุก 5 ปี โอกาสเป็นมะเร็งใน 5 ปีน้อยกว่า 1 ใน 1,000 คน คุ้มค่าแน่นอน แต่การตรวจหาการติดเชื้อเอชพีวีไม่ได้ตรวจในคนไข้อายุต่ำกว่า  30 ปี  เพราะเชื้อเอชพีวีในคนอายุน้อยกว่า 30 ปีเจอบ่อย แต่ไม่มีอะไร เราจะใช้ตรวจคัดกรองจริง ๆ ในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป

ผู้หญิงที่ควรไปตรวจมะเร็งปากมดลูก คือ อายุ 21 ปีขึ้นไป มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้วจากนั้นอีก 3 ปีควรไปตรวจ เพราะเชื่อว่าการติดเชื้อเอชพีวีกว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูกใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี


ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นมะเร็งได้หรือไม่?

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ต้องถามว่าไม่มีจริงหรือเปล่า โดยทฤษฎีต้องมีถึงจะเป็นมะเร็งปากมดลูก อย่างการดำเนินโครงการบำเพ็ญพระกุศล “โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปาดมดลูกแนวใหม่” ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทำวิจัยในสตรีไทย 4,487 ราย ในจำนวนนี้มีคนที่อ้างว่าเป็นสาวบริสุทธิ์ประมาณ 10 คน แต่กลับตรวจเจอเชื้อเอชพีวี  ถามไปถามมาจึงยอมรับว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ครั้งหนึ่งตอนอายุ 20 ปีแล้วก็ไม่มีอีก 


เพราะฉะนั้นประวัติเรื่องการไม่มีเพศสัมพันธ์เชื่อยาก การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวก็ติดเชื้อเอชพีวีได้  หรือไม่มีเพศสัมพันธ์เลยในทางทฤษฎีก็อาจติดเชื้อเอชพีวีได้ เช่น ติดจากมือ จากเล็บไปหยิบจับอะไร แต่จะต้องมีแผลเชื้อไวรัสจึงเข้าไปได้ ก็เหมือนโรคเอดส์ต้องมีแผลที่ช่องคลอด

 
คนที่ติดเชื้อไม่ต้องกังวล เพราะอย่างที่บอกติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่หาย ใน 100 คน 95 คนหายเอง ส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นมะเร็ง  ไม่ได้แปลว่าติดเชื้อแล้วเป็นมะเร็งเสมอไป อย่ากังวลจนเกินเหตุ  โดยทฤษฎีเหมือนเราเป็นหวัดติดเชื้อไวรัส เราไม่ได้ให้ยาต้านไวรัสหวัดก็หายเอง เชื้อเอชพีวีก็เหมือนกัน

ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย จะช่วยลดการติดเชื้อ รักษาร่างกายให้แข็งแรง

ภูมิคุ้มกันจะกำจัดได้เอง  ยังไม่มีคำแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสเอชพีวีแต่อย่างใด



(ขอบคุณ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ฯ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์ X-RAYสุขภาพ)

ด้วยความปรารถนาดี   กานดา แสนมณี


หมายเลขบันทึก: 534762เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

               ขอบคุณมากค่ะที่นำเรื่องดีๆ  มาบอกกล่าว

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท