คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ : ผู้นำความก้าวไกลสู่สหกรณ์


สหกรณ์ก้าวไกลต้องอาศัยความสามัคคีระหว่างอำนาจผู้นำสหกรณ์ทั้งสองฝ่าย

                                          แม้ว่าเส้นทางการเข้าสู่อำนาจในการดำเนินการสหกรณ์ให้ประสบผลสำเร็จ ของบุคลากรสองฝ่ายในสหกรณ์ จะมีที่มาแตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าเป็นผู้นำที่สำคัญของสหกรณ์ คือ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ได้อำนาจเข้ามาบริหารสหกรณ์โดยการเลือกตั้งของสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ ได้อำนาจมาจากการจัดจ้างของคณะกรรมการฯ ให้เข้ามาทำหน้าที่ จัดการธุรกิจ  ตามภารกิจของสหกรณ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์  แม้ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันในการเข้าสู่อำนาจ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า เข้ามาในสหกรณ์เพื่อที่จะมาทำบทบาทหน้าที่นายจ้างลูกจ้าง แต่เข้ามาเพื่อคุณธรรมตามพุทธภาษิตที่ว่า “ สุขา  สังฆัสสะสามัคคี “ ความสามัคคี นำสุขมาสู่หมู่คณะ  และ “พลัง สังฆัสสะสามัคคี” ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้พลังถึงแม้บางครั้งจะมีการแตกต่างกัน แต่ถ้ายึดถือภาษิตนี้แล้ว จะไม่เกิดการแตกแยก เพราะมุ่งเป้าที่ไปประโยชน์โดยตรงของสหกรณ์คือ  การจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบรรดาสมาชิก ตามอุดมการณ์ ค่านิยม และหลักการสหกรณ์  สิ่งแรกที่เป็นข้อเท็จจริงก็คือ ความแตกต่างในเรื่องระยะเวลาที่อยู่กับสหกรณ์ หรือทำงานกับสหกรณ์  คณะกรรมการฯ มาอยู่ในสหกรณ์หรือเข้ามาบริหารงานสหกรณ์ในระยะเวลาสั้น ตามที่กฎหมายของสหกรณ์กำหนด มีอายุการครองตำแหน่งเพียง วาระละ 2 ปี และไม่เกิน 2 วาระ  และต้องเว้นวรรค 1 ปี บางคนเว้นปีเดียวก็ได้รับการเลือกกลับเข้ามาอีก แต่บางคนไม่ใช่ ทำให้การทำงานขาดการติดต่อ ประสบการณ์ก็ขาด ๆ เกิน ๆ  ต่างกับฝ่ายเจ้าหน้าที่สหกรณ์ อยู่คู่กับสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มเข้ารับหน้าที่ตำแหน่งและทำงานกับสหกรณ์ไปยาวนานแสนนาน จนกว่าจะเบื่อแล้วลาออกไป หรือเกิดอุบัติเหตุถูกให้ออก หรืออยู่เพราะรักความเป็นสหกรณ์จนปลดเกษียณอายุการทำงาน ได้มีโอกาสเห็นการทำงานของคณะกรรมการฯ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ว่าใครเป็นอย่างไร มีลักษณะนิสัยใจคอเช่นไร  และในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ก็ ทำงานแบบไม่มีวาระ มีโอกาสสะสมเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับตัวเองได้แข็งแกร่งขึ้นจากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปี และหลาย ๆ ปี จนมีความช่ำชองมากกว่ากรรมการที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดำรงตำแหน่งทางบริหาร ที่มีเวลาค่อนข้างจำกัด  อันนี้หมายรวมถึงเวลาที่มานั่งทำงานที่สำนักงานสหกรณ์ด้วย กรรมการจะมาทำงานที่สหกรณ์ ก็ตามที่ได้รับมอบหมายหรือมีเหตุจำเป็น เพราะไม่ใช่พนักงานประจำ มีเฉพาะค่าตอบแทนในการทำงานไม่มีเงินเดือนให้ เพราะเข้ามาในลักษณะสมัครใจอาสาเข้ามาทำงานเพื่อสมาชิกสหกรณ์โดยส่วนรวม  ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการต้องมาทำงานที่สำนักงานสหกรณ์เป็นประจำทุกวัน ตามคติวิสัยของมนุษย์เงินเดือน มีระยะเวลาอยู่ในสหกรณ์ยาวนาน ต้องมาทำงานทุกวันที่สหกรณ์เปิดทำการ วันละ 8 ถึง 10 ชั่วโมง  สำนักงานสหกรณ์แทบจะเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์  และสหกรณ์ก็เป็นครอบครัวที่ใหญ่โต เจ้าหน้าที่สหกรณ์ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และใช้เวลาที่ยาวนานทำงานร่วมกัน ขึ้นอยู่กับความอดทน อดกลั้น ความจงรักภักดี อาศัยความสามัคคี  ที่มีให้กับองค์กรสหกรณ์  ดังนั้นคณะกรรมการฯ ในฐานะฝ่ายบริหาร จะต้องส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น รวมไปถึง การสนับสนุนให้มีสวัสดิการ ช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่ฯ และครอบครัว  ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ ก็ต้องซื่อสัตย์ สามัคคี มีวินัย  ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ และทั้งสองฝ่ายต้องไม่ระแวงซึ่งกันและกัน  อันจะก่อให้เกิดความเสียขวัญกำลังใจ และเกิดการแยกความสามัคคี  จะเห็นได้ว่าจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละฝ่ายในเรื่องระยะเวลานั้นอาจจะลดทอนการทำงานได้                                                                                          

                        ส่วนด้านประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกันมากน้อยไม่เท่ากันนั้น  ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ  หากทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และร่วมมือช่วยเหลือกัน ดังอุดมการณ์สหกรณ์ที่พยายามบ่มเพาะให้ สมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ในขณะเดียวกัน กรรมการสหกรณ์ ที่เข้ามาใหม่และรักสหกรณ์ ก็ต้องศึกษาเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ร่วมกัน  เพื่อให้ได้รับกรเชื่อถือศรัทธาและได้รับเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการในคราวต่อไป และได้อยู่คู่กับสหกรณ์ได้นาน ๆ  ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ก็เช่นกัน ถ้ารักสหกรณ์และรักที่จะอยู่กับสหกรณ์นาน ๆ จนเกษียณอายุการทำงาน ก็จะต้องเรียนรู้ ปฏิบัติงานในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างประสบการณ์ ต้องขยันพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ให้สามารถทำงานได้ในทุกหน้าที่หรือตำแหน่งงาน  เพื่อที่จะรับตำแหน่งอื่น ๆ ในสหกรณ์ได้  เพราะสหกรณ์เองก็มีนโยบายหมุนเวียนงานให้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ทุกคนได้มีประสบการณ์ และเรียนรู้งานในตำแหน่งอื่นที่นอกเหนือจากงานในตำแหน่งของตนเอง                                                                                                                         

                        ประการสุดท้ายความรู้และวุฒิภาวะของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะความรู้ทั้งฝ่ายจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน และความรู้ที่จะต้องทำให้เกิดก็คือความรู้ทางโลกที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการบริหารจัดการสหกรณ์ให้ประสบผลสำเร็จ อันได้แก่ความรู้ที่จะทำให้ธุรกิจสหกรณ์มีความเป็นสหกรณ์อย่างแท้จริง ทั้งสองฝ่ายต้องมีความเข้าใจความเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง ศึกษา หลักการสหกรณ์ ค่านิยม และอุดมการณ์สหกรณ์และทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าการค้า การลงทุน และการทำธุรกิจแตกต่างจากธุรกิจอื่นอย่างไร แล้วนำเข้ามาดำเนินการทุกด้านร่วมกับความรู้ที่เป็นศาสตร์เป็นทฤษฎีวิชาการทั้งทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม ทุกครั้งที่เข้ามาทำงานบริหารจัดการสหกรณ์  ขอให้ยึดหลักการ ไม่ใช่ยึดหลักกูจะทำอะไรก็ได้  นอกจากนี้จะขาดเสียไม่ได้ก็คือความรู้ทางธรรม ที่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดกับทุกฝ่ายเพื่อความสุขในการทำงาน  การอยู่ร่วมกัน และสร้างความสันติสุขให้กับชุมชนสหกรณ์  อันได้แก่ คำสอนทางศาสนา จริยธรรม ได้แก่ ความเห็นอกเห็นใจกัน ความเคารพนบนอบ อ่อนน้อมถ่มตน และการให้เกียรติระหว่างกันและกันความซื่อสัตย์สุจริต

                      สังคมเรียกร้องหาคุณธรรม สังคมต้องการคนดี คนเก่ง และอยากเห็นคนในองค์กรหรือในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  สหกรณ์ก็ต้องพัฒนาคนสหกรณ์ให้มีคุณลักษณะเช่นว่านี้  โดยธรรมชาติของสองสิ่งที่ว่าดีกับเก่งจะอยู่ในคน ๆ เดียวกันนั้นหายาก  คนดีแต่ไม่เก่งเราสามารถพัฒนาได้ แต่ถ้าสหกรณ์ได้คนเก่งแต่ไม่ดี โอกาสที่สหกรณ์จะล่มจมได้มีมาก สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรในสหกรณ์ทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะประกอบอาชีพ หรือทำการงานอะไร  ที่ไหนก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะต้องทำงานร่วมกับคน กับคณะบุคคล สิ่งที่ทุกคนต้องเจอก็คือ ปัญหา และอุปสรรคที่จะมาลดทอนความราบรื่นหรือเรียบง่ายของชีวิตการทำงาน อยู่เสมอ  ด้วยเหตุผลนี้บุคลากรสหกรณ์ทุกคนทั้งสองฝ่าย ต้องอาศัยสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสร้างความร่วมมือร่วมใจ สร้างความสามัคคี และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังพุทธภาษิตที่ว่าไว้เบื้องต้น ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันมีความสุข เมื่อบุคลากรมีกำลังใจดี มีความสุขกับการทำงาน ก็จะเกิดการบริการที่ดีที่เป็นเลิศ สมาชิกสหกรณ์ก็จะเกิดความประทับใจ พึงพอใจในการทำงานฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ก็จะเกิดความรักความศรัทธาต่อสหกรณ์ในที่สุด

                                                                          *********


หมายเลขบันทึก: 534718เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท