การวัดความเจนจัดช่ำชองด้านวิทยาศาสตร์


ต้องประเมินที่พฤติกรรมของผู้เรียน ว่าทำอะไรได้ การวัดต้องเคลื่อนจากวัดพฤติกรรมที่คลุมเครือ เช่น “รู้” “เข้าใจ” ไปสู่พฤติกรรมที่ชัดเจนขึ้น เช่น “วิเคราะห์” “เปรียบเทียบ” “อธิบาย” “โต้แย้ง” “ยกตัวอย่าง” “ทำนาย” “สร้างโมเดล” เป็นต้น

การวัดความเจนจัดช่ำชองด้านวิทยาศาสตร์

บทความเรื่อง Proficiency in Science : Assessment Challenges and Opportunities  ลงในวารสาร Science ฉบับ Science Education  เป็นความท้าทาย และเป็นโอกาส ว่าจะพัฒนาวิธีวัดอย่างไร  ทั้งในระดับตัวบุคคล คือนักเรียนเป็นรายคน  และวัดตัวระบบการศึกษา ว่าได้สร้างความเจนจัดทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ประชากรของประเทศในระดับไหน

ผมตีความต่อว่า เป็นความท้าทายต่อการกำกับดูแลระบบการศึกษาไทย ว่าเวลานี้เราใช้การประเมินเพื่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง หรือใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์   

เรื่องการประเมิน (assessment) เป็นความท้าทายเสมอ  เพราะไม่มีสูตรตายตัวว่าจะประเมินอย่างไร  และยิ่งการประเมินสถานการณ์ที่เลื่อนไหล (dynamic) ด้วยแล้ว ยิ่งท้าทาย  คือหมายความว่าไม่หมูนั่นเอง

บทความนี้มีรายละเอียดเชิงเทคนิคมาก  เขาบอกว่า มีความท้าทายใหญ่ ๓ ประการ

1.  จะออกแบบการประเมินที่น่าเชื่อถือ ที่สะท้อนภาพบูรณาการ ๓ มิติ ได้อย่างไร : ปฏิบัติการ (practices),  หลักการที่สะท้อนภาพรอบด้าน (cross-cutting concept),  และ แนวคิดที่เป็นแกนในด้านวิทยาศาสตร์ (core ideas in science) NGSS (Next Generation Science Standards) ของ สรอ. บอกความคาดหวังว่าต้องการให้เกิดสมรรถนะอะไรบ้าง  ซึ่งจะนำไปสู่โจทย์วิจัยได้มากมาย

2.  การใช้ผลการประเมิน เป็นหลักฐานบอกความก้าวหน้าของความเจนจัดในด้านวิทยาศาสตร์ ในนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึง ม. ๖  นี่คือโอกาส และความท้าทายให้ทำงานวิจัย  เพราะเรายังไม่มีวิธีการประเมินที่ได้จากการทดลองในสถานการณ์จริง  ว่าความเชื่อและข้อกำหนดต่างๆ นั้น  เมื่อนำไปประยุกต์ใช้จริงๆ แล้ว ได้ค่อยๆ สร้างความเจนจัดช่ำชองด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็ก ตามลำดับขั้นของพัฒนาการของเด็ก จริงๆ หรือเปล่า  สร้างได้แค่ไหน  ควรปรับวิธีคิดอย่างไร 

3.  การสร้างเครื่องมือและระบบสารสนเทศ สำหรับครูใช้ผลการประเมินในการส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียน   การประเมินเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และของกระบวนการ “อำนวย” การเรียนรู้ ของศิษย์  เราต้องการการวิจัยและการพัฒนาเครื่องมือประเมินเพื่อประโยชน์ของ “ครูเพื่อศิษย์” ใช้ในการทำหน้าที่อำนวยการการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมั่นใจว่าจะได้ผล  

โปรดสังเกตนะครับ ว่า การประเมินคือส่วนหนึ่งของวงจร PDCA  ครูผู้จัดการเรียนรู้ ต้องการเครื่องมือมาช่วยให้ตนทำวงจร PDCA ที่มีพลัง และมีคุณภาพ  และระบบประเมินที่แม่นยำ และที่ครูใช้งานง่าย จะช่วยให้ครู “จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อศิษย์” ได้อย่างมีคุณภาพ  เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์ อย่างแท้จริง  ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ครูตามที่นายสั่ง 

คำถามคลาสสิคที่ควรถาม และช่วยกันตอบคือ การทดสอบทั้งหลายที่ใช้กันอยู่นั้น เพื่อใคร  เพื่อใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของเด็ก (ที่จัดโดยครูเพื่อศิษย์)  หรือเพื่อแสดงผลงานของคนในกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   

ในด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เราต้องการเครื่องมือวัดความเจนจัดช่ำชอง (proficiency) ด้านวิทยาศาสตร์  ทั้งของระบบ และของบุคคล (นักเรียน) สำหรับใช้เป็นสารสนเทศป้อนกลับ (feedback information) ให้ครู (และผู้บริหารระบบ) ใช้ในการปรับปรุงงานของตน

กล่าวเช่นนี้ คล้ายๆ เป็นการบอกทางอ้อม ว่าที่เราทำงานอยู่ในเวลานี้ คล้ายๆ ตาบอดคลำช้าง  หรือคล้ายๆ ตาบอดต้องการคลำช้าง แต่ไพล่ไปคลำม้า  เพราะเราไม่มีระบบประเมินความช่ำชองทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง   และทึกทักเอาเองว่า ระบบประเมิน ที่ทำอยู่นี้ ดีแล้ว

บทความนี้ระบุชัดเจนว่า ผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ไม่สะท้อนความรู้และทักษะเพื่อปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง  โดยที่ปฏิบัติการจริงด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่การใช้เหตุผล การโต้แย้ง และการตั้งคำถาม ในทางวิทยาศาสตร์  ผมขอย้ำว่า บทความนี้บอกว่าผลงานวิจัยสะท้อนชัดเจนว่า  ผลการเรียนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ตั้งแต่อนุบาลจนระดับปริญญาตรี คนที่สอบได้คะแนนดี อาจไม่มีคุณสมบัติการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี 

 หลังจากอ่านบทความอย่างละเอียด และไตร่ตรองอย่างเข้มข้น  ผมติดใจประโยคสุดท้ายของบทความ  ที่สะท้อนว่า เป้าหมายสำคัญของระบบการประเมิน คือเครื่องมือประเมินสำหรับครูใช้ ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตน  เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งที่ตนควรได้เรียน  ตีความอีกชั้นหนึ่งว่า การประเมินต้องบูรณาการอยู่กับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน  บูรณาการอยู่กับการเรียนรู้ประจำวันของนักเรียน  ไม่ใช่เป็นกิจภายนอก สำหรับควบคุมโรงเรียน ควบคุมครู หรือควบคุมนักเรียน 

กล่าวใหม่ว่า การประเมิน (assessment) ต้องเพื่อการปรับปรุง classroom instruction เป็นหลัก  ไม่ใช่เพื่อการควบคุมโดยหน่วยเหนือเป็นหลัก

ลองคิดดูว่า ระบบการประเมินผลการศึกษาของไทยเดินถูกทาง หรือเดินผิดทาง

เขายกตัวอย่างโครงการประเมินใหญ่ระดับชาติ และระดับนานาชาติ คือ การประเมินตามกฎหมาย No Child Left Behind ของ สรอ., การประเมิน US NAEP (National Assessment of Education Progress), และการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment)  การประเมินอันแรก ไม่สอดคล้องกับแนวทางที่แนะนำโดย NGSS  ในขณะที่การประเมินสองรายการหลังดีกว่ามาก  โดยเฉพาะการใช้หลักการพัฒนาวิธีการประเมินอย่างต่อเนื่อง 

หลักการที่สำคัญคือ ต้องประเมินที่พฤติกรรมของผู้เรียน ว่าทำอะไรได้  การวัดต้องเคลื่อนจากวัดพฤติกรรมที่คลุมเครือ เช่น “รู้” “เข้าใจ” ไปสู่พฤติกรรมที่ชัดเจนขึ้น เช่น “วิเคราะห์”  “เปรียบเทียบ”  “อธิบาย”  “โต้แย้ง”  “ยกตัวอย่าง”  “ทำนาย”  “สร้างโมเดล” เป็นต้น  โดยผมขอเพิ่ม “ตีความ”  “ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จำเพาะ และอธิบายผล”  “อธิบายความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับทฤษฎี ...”

ผมติดใจภาพที่ ๒ ในบทความ ที่แสดงตัวอย่างข้อสอบแบบ short constructed reponse items  ที่ถือเป็นข้อสอบที่ดี สามารถวัดความจัดเจนช่ำชองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง  แตกต่างจากข้อสอบแบบ selected-response items  ต้องเข้าไปดูในบทความเองนะครับ จึงจะเข้าใจ

ในทางเทคนิค สรุปได้ว่า ยังไม่มีวิธีการประเมินการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ถือว่าเป็นวิธีมาตรฐาน  สามารถตรวจสอบผลการเรียนรู้อย่างแม่นยำ ว่าเดินไปถูกทางหรือไม่  จะทำให้ศิษย์ได้เรียนทักษะ และความรู้วิทยาศาสตร์ตามเป้าหมายหรือไม่   จึงเป็นโอกาสดียิ่งสำหรับการวิจัยและพัฒนา  แต่จะต้องมีวิธีวิจัยที่ซับซ้อน  เขายกตัวอย่าง  special issue on assessment ในวารสาร  J of Research on Science Teaching, SimScientists, ScienceASSISTments, BioKids, สำหรับให้ไปค้นคว้าต่อ  

วิจารณ์ พานิช

๓ พ.ค. ๕๖  



หมายเลขบันทึก: 534708เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พยายามอ่านของ NSSG อยู่ค่ะท่านอาจารย์ อาจจะด้วยความอ่อนดอยทางภาษา จึงเพิ่งทำความเข้าใจได้ในเบื้องต้น ได้อัพโหลดไว้ที่ http://www.slideshare.net/ssuser6bc347/next-generation-science-standards-2 รอเพื่อนครูมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

พยายามอ่านของ NGSS อยู่ค่ะท่านอาจารย์ อาจจะด้วยความอ่อนด้อยทางภาษา จึงเพิ่งทำความเข้าใจได้ในเบื้องต้น ได้อัพโหลดไว้ที่ http://www.slideshare.net/ssuser6bc347/next-generation-science-standards-2 รอเพื่อนครูมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท