วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและแนวการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานแบบพอง-ยุบ


๑.  การอบรมกลุ่มผู้ปฏิบัติใหม่ ระยะเวลา  ๑ วัน

  สาระสำคัญ  สาระสำคัญที่ผู้ปฏิบัติใหม่ควรรู้ในระยะเวลาเพียง ๑ วัน ได้แก่  ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ ความหมายและความสำคัญของวิปัสสนากรรมฐาน  อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  หลักธรรมพื้นฐานที่เกื้อกูลต่อการฝึกปฏิบัติในระยะเริ่มต้น เช่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔  ไตรสิกขา  ขันธ์ ๕ (รูป-นาม)  อายตนะ(ทวาร-อารมณ์) และไตรลักษณ์ เป็นต้น  ต่อจากนั้น ก็ควรรู้ควรเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเจริญวิปัสสนา (วิธีตามดูรู้เห็นรูปนาม) ระเบียบวิธีในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการปฏิบัติในอิริยาบถต่างๆ 

  แนวทางการฝึกอบรม  ควรมีการจัดแบ่งช่วงเวลา ๑ วัน ออกเป็น ๔ ช่วง  ดังนี้

  ๑) ช่วงเตรียมพร้อม  เน้นสร้างความเข้าใจสาระพื้นฐานและเสริมแรงศรัทธาในการปฏิบัติ มุ่งให้รู้ว่าปฏิบัติอะไร  ทำไมต้องปฏิบัติ และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยวิธีการบรรยายและเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย  (ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง)

  ๒)ช่วงซักซ้อม เน้นการสาธิตวิธีการปฏิบัติในอิริยาบถต่างๆ  ทั้งยืน เดิน นั่ง  นอน  และการกำหนด “หนอ” การฝึกซ้อมการตามเห็นอาการ “พอง” และ “ยุบ” ของท้อง โดยให้ผู้รับการอบรมลองปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติ  (ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง)

  ๓)ช่วงปฏิบัติ เน้นให้ผู้รับการอบรมได้รับประสบการณ์ฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเองในทุกอิริยาบถ โดยพระวิปัสสนาจารย์เป็นผู้นำฝึกปฏิบัติ  คอยสังเกตและแนะนำตามสมควร  (ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง )

  ๔) ช่วงประเมินและสรุป เน้นให้ผู้รับการอบรมได้ประเมินตนเองตามกรอบเป้าหมายที่ทางฝ่ายพระวิปัสสนาจารย์กำหนดไว้ สรุปผลการปฏิบัติและซักถามข้อสงสัยต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน หากไปฝึกปฏิบัติต่อด้วยตนเองจะได้ปฏิบัติได้ถูกหลัก(ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

๒. การอบรมกลุ่มผู้ปฏิบัติเก่า(เคยปฏิบัติ) ระยะเวลา  ๑  วัน

  สาระสำคัญ  สาระสำคัญที่ผู้ปฏิบัติเก่าควรเข้าใจหรือควรทบทวนความเข้าใจ ในระยะเวลาเพียง ๑ วัน ของการฝึกอบรม ได้แก่  การตระหนักความสำคัญและเข้าใจสาระของการปฏิบัติศีล(โดยเฉพาะหลักศีล ๘) อันเป็นพื้นฐานของการเจริญสมาธิและปัญญา  ความเข้าใจในวิปัสสนาภูมิ  คือ  ขันธ์ ๕  อายตนะ ๑๒  ธาตุ ๑๘  อินทรีย์ ๒๒  อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒  ความเข้าใจในกฎไตรลักษณ์  ความสามารถในการตามดูตามเห็นอาการ พอง-ยุบ  การแยกแยะรูป-นาม และเห็นสภาวะเกิดและดับของรูป-นาม  รวมทั้งมีประสบการณ์ในการตามดูรู้เห็นในอิริยาบถย่อยให้มากขึ้น

  แนวทางการฝึกอบรม  ควรมีการจัดแบ่งช่วงเวลา ๑ วัน ออกเป็น ๔ ช่วง  ดังนี้

  ๑) ช่วงเตรียมพร้อม  เน้นสร้างความตระหนักคุณค่าแห่งศีล ปฏิบัติศีลด้วยความรู้ความเข้าใจ สร้างเสริมความเข้าใจเรื่องวิปัสสนาภูมิ  และไตรลักษณ์  (ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

  ๒)ช่วงซักซ้อม  เน้นการสาธิตวิธีการตามเห็นอาการ “พอง” และ “ยุบ” แยกแยะรูป-นาม  รวมถึงการตามดูรู้เห็นอิริยาบถย่อยและอารมณ์ต่างๆที่มากระทบ โดยให้ผู้รับการอบรมลองปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติ  (ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

  ๓)ช่วงปฏิบัติ  เน้นให้ผู้รับการอบรมได้รับประสบการณ์ฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเองในทุกอิริยาบถ  ตามที่ได้ฝึกซ้อมปฏิบัติโดยมีพระวิปัสสนาจารย์เป็นผู้นำฝึกปฏิบัติ  คอยสังเกตและแนะนำตามสมควร  (ใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง )

  ๔) ช่วงประเมินและสรุป  เน้นให้ผู้รับการอบรมได้ประเมินตนเองตามกรอบเป้าหมายที่ทางฝ่ายพระวิปัสสนาจารย์กำหนดไว้ สรุปผลการปฏิบัติและซักถามข้อสงสัยต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน (ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

ประเด็นปัญหา: สำหรับผู้ปฏิบัติแล้วไม่เห็นอาการพอง-ยุบ ?

พระวิปัสสนาจารย์จะต้องให้ผู้มีปัญหาการปฏิบัติลองจับอาการพอง-ยุบด้วยกายสัมผัส เช่น อาจใช้มือสัมผัสท้อง ให้สัมผัสอาการพอง-ยุบจนคุ้นชิน และฝึกนึกกำหนดหมายอาการพอง-ยุบนั้นไว้ แล้วค่อยๆ ลองระลึกรู้ด้วยจิต ตามดูรู้เห็นอาการพอง-ยุบ สลับกับการสัมผัสด้วยมือ จนสามารถเห็นอาการพองยุบได้ หากพยายามหลายครั้งแล้วยังไม่เห็น ก็อาจจะให้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถให้ผ่อนคลาย ดูอาการเคลื่อนไหวส่วนอื่นทางกายที่เห็นชัดหรือเดินจงกรม เพื่อให้จิตคุ้นชินกับการตามดูรู้เห็นอาการทางกายไว้ แล้วค่อยมาฝึกตามดูอาการท้องพอง-ยุบต่อ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นอาการพอง-ยุบโดยธรรมชาติ

๓. การอบรมอุบาสกอุบาสิกา  ระยะเวลา ๓ วัน

สาระสำคัญ  สาระสำคัญอุบาสกอุบาสิกา(ผู้คุ้นเคยกับการเข้าวัดปฏิบัติธรรม) ควรเข้าใจหรือควรทบทวนความเข้าใจ ในระยะเวลา  ๓ วัน ของการฝึกอบรม ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามนัยมหาสติปัฏฐานสูตร วิปัสสนูปกิเลส ๑๐  การปรับอินทรีย์เพื่อประสิทธิผลของการปฏิบัติ  การยกจิตจากภาวะฌานสู่วิปัสสนาและการแก้ปัญหาสภาวธรรมต่างๆ

  แนวทางการฝึกอบรม  ควรมีการจัดแบ่งช่วงเวลาในแต่ละวัน(ของทั้ง ๓ วัน) ออกเป็น ๓ ช่วง  ดังนี้

  ๑) ช่วงเตรียมพร้อม  เน้นให้ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้สาระสำคัญของมหาสติปัฏฐานสูตร วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ และหลักอินทรีย์ ๕ รวมทั้งกรณีตัวอย่างของปัญหาในการปฏิบัติ โดยพระวิปัสสนาจารย์บรรยายและยกตัวอย่างตามสมควร  (ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

  ๒)ช่วงปฏิบัติ  อาจแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคเช้า เน้นปฏิบัติกับพระวิปัสสนาจารย์ โดยให้ผู้รับการอบรมได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเองในทุกอิริยาบถ มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถตามเหมาะสม  เช่น นั่งบัลลังก์ละ ๓๐ นาที เดินจงกรม ๑๕ นาที นั่ง ๑ ชั่วโมง เดินครึ่งชั่วโมง สลับกันไป เป็นต้น ในขณะที่พระวิปัสสนาจารย์ก็อาจแนะนำหลักการปรับอินทรีย์ควบคู่ไปกับการปฏิบัติด้วย  (ใช้เวลาประมาณ ๒  ชั่วโมง ) และภาคบ่ายเน้นให้ผู้ปฏิบัติ ฝึกปฏิบัติตามอัธยาศัย เลือกสถานที่ซึ่งเหมาะสมกับจริตของตนภายในบริเวณที่กำหนดไว้ (ใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง)

  ๓) ช่วงประเมินผลและปรับปรุง  พระวิปัสสนาจารย์บรรยายสะท้อนผลการสังเกตการณ์ปฏิบัติและปัญหาการปฏิบัติของผู้เข้ารับการอบรมเพื่อให้ผู้รับการอบรมทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน และแนะนำแนวทางแก้ปัญหาตามหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง  จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้รับการอบรมได้ซักถามข้อสงสัยในการปฏิบัติตามสมควร  เปิดโอกาสให้สำรวจผลการปฏิบัติของตนเองโดยการประเมินตนเองตามกรอบเป้าหมายที่ทางฝ่ายพระวิปัสสนาจารย์กำหนดไว้  สรุปผลการปฏิบัติประจำวันและฝึกปฏิบัติเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติต่อตามอัธยาศัย (ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง)

  (*หากเป็นวันสุดท้ายของการอบรมก็ใช้เวลาประเมินผลและสรุปช่วงภาคบ่ายก่อนจบกิจกรรมประมาณ ๑ ชั่วโมงแล้วเน้นให้ไปปรับปรุงการปฏิบัติต่อตามโอกาสอันควรหลังการผ่านการอบรมไป) 

ประเด็นปัญหา: หากผู้ปฏิบัติได้ฌานมาก่อนแล้ว จะสอนการเดินจงกรมและนั่งภาวนาอย่างไร?

  ผู้ที่ได้ฌานมาก่อน เวลาปฏิบัติมักจะเข้าฌานได้ง่าย และฌานก็เป็นประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนา เพราะฌานเป็นที่พักของจิต ทำให้จิตมีพลัง ปลอดโปล่งโล่งสบาย  แต่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป้าหมายมิใช่เพื่อฌาน แต่คือวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น พระวิปัสสนาจารย์จะต้องแนะนำวิธีการปรับอินทรีย์ การถอยฌานเพื่อให้สภาวะจิตสามารถพิจารณารูปนามในปัจจุบันขณะได้ (ซึ่งอาจแนะนำไว้ก่อนการปฏิบัติหรือขณะปฏิบัติก็ได้ตามสมควร) โดยอาจให้ยกขันธ์ ๕ ขึ้นสู่การพิจารณาตามหลักไตรลักษณ์ ให้เห็นสภาวะเกิดดับ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของขันธ์ และทรงวิปัสสนาด้วยองค์คุณแห่งการปฏิบัติ (อาตาปี  สติมา สัมปชาโน) โดยพยายามมีสติ ระลึกรู้ ตามดูรู้เห็นอาการพอง-ยุบ ในอิริยาบถนั่ง  อาการเคลื่อนไหวในอิริยาบถอื่นๆ รวมทั้งสภาวธรรมที่ปรากฏแก่กายและจิตอย่างต่อเนื่อง 

๔. การอบรมเด็กและเยาวชน อายุ ๑๐-๑๕ ขวบ กรณีเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ระยะเวลา ๑ วัน

สาระสำคัญ  สาระสำคัญที่เด็กและเยาวชนในช่วงอายุ ๑๐- ๑๕ ขวบ  (กรณีเป็นผู้ปฏิบัติใหม่) ควรรู้ในระยะเวลาเพียง ๑ วัน ได้แก่  หลักพื้นฐานของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ประโยชน์(ที่เป็นรูปธรรม)ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และอานิสงส์ที่สำคัญที่เข้าใจได้ง่ายและส่งเสริมศรัทธาในการปฏิบัติได้ (อาจมีเรื่องเล่าหรือกรณีตัวอย่างเพื่อสร้างแรงจูงใจใฝ่ปฏิบัติตามสมควร)  นอกจากนี้ ควรเข้าใจหลักธรรมพื้นฐานที่เกื้อกูลต่อการฝึกปฏิบัติในระยะเริ่มต้น เช่น การสำรวมอินทรีย์  การมีสติและสัมปชัญญะ  รูปนาม  และความเข้าใจไตรลักษณ์เบื้องต้น(สภาวะเกิดดับของสรรพสิ่ง) เป็นต้น และควรรู้ควรเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเจริญวิปัสสนาเบื้องต้น(สำหรับเด็ก) ซึ่งอาจเน้นอิริยาบถหลัก คือ การนั่งและการเดินจงกรมระยะต้นๆ  สลับกัน

แนวทางการอบรม  เน้นให้เรียนรู้อย่างมีความสุข และจูงใจให้เห็นคุณค่าของการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน มีการผ่อนหนัก ผ่อนเบาตามสมควรแก่สถานการณ์  โดยหลักการอบรมอาจเริ่มต้นจากการเล่าเรื่องจูงใจ ให้ลองจับอาการพอง-ยุบ  สาธิตการเดินจงกรมระยะที่ ๑  และให้ลองปฏิบัติควบคู่กับการสาธิต ในระยะเวลาสั้น แต่ต้องควบคุมให้สำรวมอินทรีย์  มีวินัยในการปฏิบัติ ไม่รบกวนผู้อื่นและให้ชื่นชมแบบอย่างที่ดีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติ และมีการประเมินผลการปฏิบัติ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ปฏิบัติดีได้แสดงความรู้สึกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่อาจจะยังปฏิบัติได้ไม่ดีได้พยายามต่อไป (การอบรมเยาวชนในระยะเริ่มนั้น ควรมีเป้าหมายหลักคือ การสร้างศรัทธาในการปฏิบัติและความตระหนักในคุณค่าของการปฏิบัติให้ได้)

๕. การอบรมเด็กและเยาวชน อายุ ๑๐-๑๕ ขวบ กรณีเป็นผู้ปฏิบัติเก่า ระยะเวลา ๑ วัน

  สาระสำคัญ  การอบรมเยาวชนที่เคยผ่านการฝึกปฏิบัติมาแล้วนั้น ควรเน้นการรักษาศรัทธาให้มั่นคง ส่งเสริมวิริยะในการปฏิบัติให้เกิดการต่อเนื่อง พัฒนาความรู้ความเข้าใจหลักธรรมต่างๆ ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น เช่น หลักไตรสิกขา ขันธ์ ๕ อาตยนะ ๑๒ และอินทรีย์ ๕ เป็นต้น และส่งเสริมให้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติขั้นสูงยิ่งๆ ขึ้นไป  เช่น ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติอิริยาบถต่างๆ เพิ่มขึ้น ฝึกตามดูอิริยาบถย่อยมากขึ้น ยกจิตสู่การตามพิจารณาฐานที่ละเอียดมากกว่ากาย ได้แก่ เวทนา  และจิตมากขึ้น  การเดินจงกรมอาจสอนให้เรียนรู้ระยะที่ ๒ – ๓ ตามสมควร

  แนวทางการอบรม  เน้นให้ความรู้เพิ่มเติม และต่อยอดการปฏิบัติมากกว่าระยะต้น

 

๖. การอบรมเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระยะเวลา ๑ วัน

  สาระสำคัญ  นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อยู่ในช่วงอายุที่เป็นวันเรียนรู้ ใฝ่รู้อย่างมีเหตุผล ในระยะเวลา ๑ วันของการอบรมจึงควร เน้นสาระสำคัญ คือ ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แบบพอง-ยุบ หลักวิชาการสมัยใหม่ที่สะท้อนคุณค่าและประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐาน  หลักธรรมสำคัญที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ เช่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔  ไตรสิกขา  ขันธ์ ๕ (รูป-นาม)  อายตนะ(ทวาร-อารมณ์) และไตรลักษณ์ เป็นต้น  ต่อจากนั้น ก็ควรรู้ควรเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเจริญวิปัสสนา (วิธีตามดูรู้เห็นรูปนาม) ระเบียบวิธีในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการปฏิบัติในอิริยาบถต่างๆ 

  แนวทางการอบรม ควรแบ่งช่วงการอบรมเช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติใหม่ ซึ่งในช่วงเวลา ๑ วัน ควรแบ่งออกเป็น ๔ ช่วง  ดังนี้

  ๑) ช่วงเตรียมพร้อม  เน้นสร้างความเข้าใจสาระพื้นฐานและเสริมแรงศรัทธาในการปฏิบัติ โดยการสร้างศัรทธาด้วยหลักวิชาการสมัยใหม่ และหาบุคคลตัวอย่างที่มีชื่อเสียงและปฏิบัติธรรมมาสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติ  ที่สำคัญต้องมุ่งให้รู้ว่าปฏิบัติอะไร  ทำไมต้องปฏิบัติ และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยวิธีการบรรยายและเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัย  (ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง)

  ๒)ช่วงซักซ้อม  เน้นการสาธิตวิธีการปฏิบัติในอิริยาบถต่างๆ  ทั้งยืน เดิน นั่ง  นอน  และการกำหนด “หนอ”  การฝึกซ้อมการตามเห็นอาการ “พอง” และ “ยุบ” ของท้อง โดยให้ผู้รับการอบรมลองปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติ  (ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง)

  ๓)ช่วงปฏิบัติ  เน้นให้ผู้รับการอบรมได้รับประสบการณ์ฝึกปฏิบัติจริงด้วยตนเองในทุกอิริยาบถ  โดยพระวิปัสสนาจารย์เป็นผู้นำฝึกปฏิบัติ  คอยสังเกตและแนะนำตามสมควร  (ใช้เวลาประมาณ  ๓ ชั่วโมง )

  ๔) ช่วงประเมินและสรุป  เน้นให้ผู้รับการอบรมได้ประเมินตนเองตามกรอบเป้าหมายที่ทางฝ่ายพระวิปัสสนาจารย์กำหนดไว้ สรุปผลการปฏิบัติและซักถามข้อสงสัยต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน หากไปฝึกปฏิบัติต่อด้วยตนเองจะได้ปฏิบัติได้ถูกหลัก(ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

 

  ประเด็นปัญหาเพิ่มเติมของกลุ่มที่ ๔-๕-๖ อาจมี ดังนี้

  ปัญหาสำคัญ  เนื่องจากเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจมีอินทรีย์อ่อน (ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย  สติน้อย สมาธิสั้น ปัญญาทางธรรมด้อย) ทำให้การปฏิบัติไม่บรรลุเป้าหมายได้ 

  แนวทางแก้ไข  คือ ต้องพยายามสร้างแรงจูงใจด้วยการยกกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ทันสมัย ให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติและให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการปฏิบัติให้มาก จากนั้น ต้องควบคุมสภาวะความสงบของกลุ่มให้ได้ โดยนำระเบียบวินัยมากำหนดให้ชัด กึ่งบังคับ(แต่ต้องมีเหตุผลประกอบที่ชัดเจนและเน้นให้เป็นกติกาที่ยอมรับและเข้าใจร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น) จากนั้น ค่อยๆสังเกตและปรับการฝึกปฏิบัติตามสมควร หากคนใดมีปัญหามาก อาจช่วยแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลเพื่อพัฒนาการปฏิบัติให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

  โดยสรุป คือ ต้องสร้างศรัทธา วางกติกา เสริมปัญญาและพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป


หมายเลขบันทึก: 534325เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2013 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท