(27) KMA พระศรีมหาโพธิ์ ภาค 3


(1) กำแพงคน .. เราสร้างกำแพงคน (ที่ผู้ป่วย 'ยอม' ) แทรก/คั่นระหว่างผู้ป่วยที่ 'คิดว่าใหญ่' กับ 'อยากใหญ่' เพื่อลดโอกาสเสี่ยง .. ลดโอกาสหลบหนีไปพร้อมกัน (2) กำแพงธรรม .. ผู้ป่วยทั้งหมดมานั่งรวมกันเพื่อฟังนิทานธรรมะก่อนนอน ผู้ป่วยท้ังหลายจะมีอารมณ์สงบ ลืมความใหญ่ของตนเองจนหมดสิ้น

ในการ ประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ KMA นำไปสู่ LO ระยะที่ 2 จัดขึ้นที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์นี้ ดิฉันเกริ่นไว้ในภาค 1 และ 2 แล้วว่ามีเรื่องเล่าที่เป็น Best Practice จำนวนมาก หากไม่ใช้คำถามนำ ชวนให้คิด เล่าสู่กันฟัง แล้วช่วยกัน 'จับประเด็น'ก็จะไม่ทราบว่าเรื่องใดใช่หรือไม่ใช่ KM วันนี้ดิฉันจะนำเสนอ Best Practice ผู้ป่วยในนะคะ

  1. ฟฟลฟ

กรณีที่ 2 Best Practice : กำแพงคน กำแพงธรรม

คุณอรสา ศรีเสริม พยาบาลวิชาชีพ เป็นตัวแทนหอผู้ป่วยจิตเวชในระยะ sub acute หรือผู้ป่วยสงบลงมากแล้ว ที่นี่จึงไม่ค่อยมีปัญหาจากพฤติกรรมรุนแรงมากนัก แต่จะมีปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาทกันของผู้ป่วย และปัญหาผู้ป่วยพยายามหลบหนีแทน การทะเลาะวิวาทกันของผู้ป่วยที่นี่ไม่รุนแรงเพราะเขาสามารถควบคุมตนเองได้มากขึ้นแล้ว แต่มันเกิดขึ้นบ่อยมาก ถ้าสำหรับพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยจะ 'ยอม' ได้อย่างสนิทใจ มีคนอธิบายคำนี้ว่า 'มันแพ้ทางกัน' อธิบายแล้วทำให้สับสนมากขึ้นหรือเปล่าคะ แต่สำหรับผู้ป่วยด้วยกันละก็ 'ไม่มีทาง' ที่จะยอมให้กัน มันเหมือนสัญชาตญาณของการรวมกลุ่มของคนจะมีผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเขาจะรู้กันอยู่ในที สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออก

ครั้งแรกคุณอรสานึกไม่ออกเช่นกันว่าอะไรคือ KM ของหน่วยงาน เธอเล่าเรื่องราวย่อๆ ให้ฟัง แล้วสรุปตอนท้ายว่า "พี่ .. มันเป็น CQI นะ เป็น KM ด้วยไหม" คนอื่นๆ ที่พอจะจับประเด็นได้ก็ช่วยกันถามเธอว่า "มันเป็นปัญหาของใคร" (สะท้อนที่มาของปัญหา ว่าเกิดจากการวิเคระห์ปัญหาร่วมกันหรือไม่, KM ต้องมีการเรียนรู้ร่วมกัน) "แอบทำคนเดียวหรือเปล่า" (สะท้อนการมีส่วนร่วมของทีมงาน, KM เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วย) "รู้ได้อย่างไรว่าต้องทำแบบนี้" (ที่มาของแนวทางแก้ไขปัญหา) "ทดลองวิธีการแรกก็สำเร็จเลยหรือ เคยทำวิธีอื่นมาก่อนไหม" (สะท้อนว่ามีการลองผิดลองถูกจนได้วิธีที่ดีที่สุดแล้วจึงสรุปออกมาเป็นผลงาน เป็นการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก) และ ... ถามไปเรื่อยๆ คุณอรสาที่ตอบคำถามด้วยสีหน้าชื่นบาน .. นานเข้า หน้าเธองอเข้าเรื่อยๆ จะถามอะไรกันนักกันหนา ลำพังช่วยกันทำก็เหนื่อยพอแล้ว มาตอบคำถามวันนี้เหนื่อยกว่าอีก น้องเอ๋ย.. อย่างนี้นี่ละเขาเรียกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พวกเราสมาชิกกลุ่ม 2 รู้สึกประหนึ่งว่าได้ทำเรื่องนี้มากับมือ! มันเป็น Best Practice ที่ Best ที่สุดในกลุ่มนี้เลยทีเดียว

เรื่องราวโดยสรุปคือ ช่วง 5 - 6 เดือนก่อน มีปัญหาผู้ป่วยทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงการรวมกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมด 30-40 คน เพื่อรอรับประทานอาหาร และช่วงรวมกลุ่มรอรับประทานยาก่อนนอน ปัญหาอีกอย่าง คือ ผู้ป่วยพยายามหลบหนี ซึ่งเกิดในระยะเวลาเดียวกันทั้ง 2 ช่วง ทีมพยาบาลที่นี่ (รวมผู้ช่วยเหลือฯ ด้วย) จึงนัดประชุมเพื่อระดมสมองหาทางแก้ไขปัญหา ประชุมกันอยู่หลายครั้ง จนได้แนวทางแก้ไขปัญหา 2 กิจกรรมใหญ่ๆ คือ

(1) กิจกรรม 'กำแพงคน' สำหรับอาหารมื้อเช้า-กลางวัน-เย็น จะกำหนดจุดรวมผู้ป่วย แล้วแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง/ผู้ปวยที่ 'คิดว่าใหญ่' กับคนที่ 'อยากใหญ่' เอาไว้ห่างๆ กัน (คำในเครื่องหมาย ' ' ดิฉันนิยามเองเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น) แล้ววางตัวบุคลากรในจุดเสี่ยง อย่าเพิ่งเครียดนะคะ สรุปแล้วเราสร้างกำแพงคน (ที่ผู้ป่วย 'ยอม' ) แทรก/คั่น ระหว่างผู้ป่วยที่ 'คิดว่าใหญ่' กับ 'อยากใหญ่' เพื่อลดโอกาสเสี่ยง จึงลดโอกาสหลบหนีไปพร้อมกัน ก็เรามั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของเราวิ่งเร็วกว่า ถ้าลุกขึ้นวิ่งซึ่งๆ หน้าเท่านั้นนะ!

(2) กิจกรรม 'กำแพงธรรม' กิจกรรมนี้ต้องให้เครดิตคุณหนูสินธิ์ เจริญศรี ผู้ฝักใฝ่ในธรรม ผู้ช่วยเหลือฯ ของที่นี่ พยาบาลสังเกตว่าหากคุณหนูสินธิ์ เข้าเวรบ่าย เขาจะพาผู้ป่วยทั้งหมดมานั่งรวมกันเพื่อฟังนิทานธรรมะก่อนนอน ผู้ป่วยท้ังหลายจะมีอารมณ์สงบ ลืมความใหญ่ของตนเองจนหมดสิ้น ไม่มีใครเดินไปมาวุ่นวาย ไม่มีใครถามว่าเมื่อใดจะได้กลับบ้าน จึงเสนอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำกิจกรรมนี้ก่อนนอนทุกวัน เพิ่มเติมจากการสวดมนต์ก่อนนอนตามปกติ ถึงจะทำได้ไม่ดีเท่าคุณหนูสินธิ์แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ ด้วยเชื่อว่าทุกคนจะพัฒนาฝีมือให้ทัดเทียมผู้ฝักใฝ่ในธรรมได้ในไม่ช้า

ภายหลังการทดลอง 3 เดือน Output : (1) เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันของผู้ป่วยในช่วงนี้เท่ากับศูนย์ (2) เหตุการณ์ผู้ป่วยพยายามหลบหนีในช่วงนี้เท่ากับศูนย์ Impact : (มีแต่ทางบวก) (1) จำนวนผู้ฝักใฝ่ในธรรมเพิ่มขึ้น (2) ระบบงานชัดเจนขึ้น มีประสิทธภาพมากขึ้น Outcome : ยังไม่ได้ประเมินเพราะเพิ่งสรุปโครงการ

ดิฉันขอให้คุณอรสา เขียนเพิ่มอีก 1 ข้อ ในประเด็นของ KM คือ ............................... อันนี้มอบหมายให้เธอไปเติมเป็นการบ้าน แล้วส่งงานที่หัวหน้าหอผู้ป่วย เพื่อประเมินการเรียนรู้ของผู้ที่ตนส่งเข้ามาเป็นตัวแทน!

อันที่จริงโครงการนี้มีกิจกรรมเดียว คือ กิจกรรมกำแพงคน แต่กำหนดกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง ดิฉันขออนุญาตคุณอรสานำมาเขียนเป็น 2 กิจกรรมให้ชัดเจนขึ้น แล้วตั้งชื่อให้ใหม่ว่า กิจกรรมกำแพงธรรม เพื่อชี้ให้เห็นถึงการนำ Tacit knowledge ในตัวสมาชิกออกมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมพัฒนา ดูเหมือนคุณอรสาจะพึงพอใจ

ดีละ .. อนาคตดิฉันจะรับตั้งชื่อเรื่อง ชื่อลูก และชื่อกิ๊กด้วยเสียเลย จะได้มีรำไพ่พิเศษบ้าง

หมายเลขบันทึก: 533790เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2013 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท