กรณีศึกษา : เด็กชายลีซอ เด็กชาวเขาไร้รัฐไร้สัญชาติ เชื้อสายอาข่า


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีเด็กชายลีซอ เด็กชาวเขาไร้รัฐไร้สัญชาติ เชื้อสายอาข่า

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 ซึ่งแก้ไขปรับปรุงวันที่ 13 เมษายน 2556

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

กรณีศึกษานี้เป็นเรื่องจริงที่ได้จากการลงพื้นที่อบรมและรับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของหมู่บ้านแม่น้ำโขง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

---------------------------------

กรณีศึกษานี้จะใช้ในการนำเสนอเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรมภายใต้ “โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ (Training of Hard Core Team on knowledge of the Right to legal Personality : For Networks of National Child Protection Committee)” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25– 26 เมษายน 2556 ณ โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร

---------------------------------

เด็กชายลีซอ เป็นเด็กชาวเขาเชื้อสายอาข่า เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 ในสวนชา ตำบลสวนสัตว์ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เด็กชายลีซอเกิดจากบุพการีชาวเขาเชื้อสายอาข่าซึ่งตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ด้วยเหตุที่เด็กชายลีซอเกิดในพื้นที่ห่างไกลและเกิดนอกโรงพยาบาล รวมถึงการที่บุพการีของเด็กชายลีซอ กลัวว่าหากเดินทางออกไปนอกสวนชาจะถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี ประกอบกับความไม่รู้กฎหมาย ความไร้การศึกษา และการไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เมื่อเด็กชายลีซอเกิดโดยการทำคลอดจากคนงานชาวเขาเชื้อสายอาข่าในสวนชา จึงไม่มีการจัดทำหนังสือรับรองการเกิดจากผู้ทำคลอด และภายหลังบุพการีของเด็กชายลีซอก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้กับเด็กชายลีซอที่อำเภอแม่ลาน้อย

ทั้งนี้ แม้โดยข้อเท็จจริงเด็กชายลีซอจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการเกิด (เกิดในประเทศไทย) แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกเอกสารทางทะเบียนรับรองจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดดังกล่าว และเมื่อปรากฏว่าเด็กชายลีซอไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก เด็กชายลีซอจึงตกอยู่ในสภาวะความไร้รัฐไร้สัญชาติ

เมื่อพิจารณาความเป็นมาของบุพการีของเด็กชายลีซอ พบว่า รุ่นปู่ย่าตายายของเด็กชายลีซออพยพหนีความยากจนมาจากประเทศพม่า ซึ่งบิดาของเด็กชายลีซอ เกิดประมาณปี พ.ศ. 2516 และมารดาของเด็กชายลีซอ เกิดประมาณปี พ.ศ. 2524 ทั้งสองเป็นคนชาวเขาเชื้อสายอาข่า และอ้างว่าตนเกิดในสวนที่ตำบลสวนสัตว์ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย อย่างไรก็ดี บิดาและมารดาของเด็กชายลีซอไม่เคยได้รับการแจ้งเกิด และไม่เคยไปดำเนินการจัดทำหนังสือรับรองการเกิดที่อำเภอแม่ลาน้อย

ทั้งนี้ แม้ว่าบุพการีของเด็กชายลีซอจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการเกิด (เกิดในประเทศไทย) แต่ก็ไม่ปรากฏเอกสารทางทะเบียนรับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันบุพการีของเด็กชายลีซอก็ไม่สามารถสืบหาหมอตำแยผู้ทำคลอด และไม่สามารถสืบหาชาวบ้านในสวนที่รู้เห็นการเกิดของตนได้เลย นอกจากนี้ เมื่อปรากฏว่าบุพการีของเด็กชายลีซอไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก บุพการีของเด็กชายลีซอจึงตกอยู่ในสภาวะความไร้รัฐไร้สัญชาติ

ระหว่างที่ครอบครัวเด็กชายลีซออาศัยอยู่ที่ตำบลแม่ลาน้อย บิดาและมารดาของเด็กชายลีซอ หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการรับจ้างทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง อย่างไรก็ดี บิดาและมารดาของเด็กชายลีซอไม่เคยไปดำเนินการขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครองเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว  (ท.ร.38/1) และไม่เคยไปดำเดินการขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2550 ครอบครัวของเด็กชายลีซอย้ายมาอยู่ที่ตำบลดอยเต่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากญาติของมารดาของเด็กชายลีซอซึ่งอพยพมาอยู่ก่อนติดต่อและชักชวน โดยเล่าว่า ที่ตำบลดอยเต่ามีพื้นที่เพียงพอให้ทำสวนทำไร่เลี้ยงชีพและสร้างบ้านอาศัย นอกจากนี้ยังสามารถเพาะปลูกกาแฟหรือรับจ้างทำงานให้ไร่กาแฟได้ ซึ่งงานลักษณะนี้มีรายได้ดี เมื่อมาอาศัยอยู่ที่ตำบลดอยเต่าบิดาและมารดาของเด็กชายลีซอจึงหาเลี้ยงครอบครัวโดยทำสวนทำไร่และรับจ้างเป็นคนงานในไร่กาแฟ

ต่อมาปี พ.ศ. 2554 เด็กชายลีซอได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนบ้านดอยเต่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในปีนั้นโรงเรียนได้ทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  (แบบ 89) ให้แก่เด็กในสถานศึกษาทุกคน ซึ่งเด็กชายลีซอได้รับการสำรวจในครั้งนี้ด้วย แต่จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ยังไม่ปรากฏว่าเด็กชายลีซอได้รับบัตรสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนแต่อย่างใด

บิดาของเด็กชายลีซอได้เก็บสำเนาแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  (แบบ 89) ของเด็กชายลีซอไว้ ซึ่งมีรายละเอียดบันทึกว่า

(1) เด็กชายลีซอ เกิดวันที่ 1 มกราคม 2547 เพศชาย

(2) เด็กชายลีซอ เกิดที่บ้าน ซอย 7 ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่สะเรียง ประเทศไทย

(3) เด็กชายลีซอ มีบิดาชื่อ นายนคร เกิดปี พ.ศ. 2516 อาชีพทำไร่ อาศัยอยู่หมู่ 3 ซอย 7 ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 เข้าประเทศไทยโดยทางด่านแม่ฟ้าหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

(4) เด็กชายลีซอ มีมารดาชื่อ นางอัญชลี เกิดปี พ.ศ. 2524 อาชีพทำไร่ อาศัยอยู่หมู่ 3 ซอย 7 ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 เข้าประเทศไทยโดยทางด่านแม่ฟ้าหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

อย่างไรก็ดี สำเนาแบบสำรวจดังกล่าวยังไม่ปรากฏคำสั่งและผลการดำเนินการของนายทะเบียน ดังนั้น เด็กชายลีซอ จึงไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลทางทะเบียนราษฎรไทย และตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

จากการข้อเท็จจริงข้างต้น มีประเด็นทั้งปัญหาสถานะบุคคลของเด็กชายลีซอที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ประการแรกการให้ความช่วยเหลือกับสิทธิในสถานะบุคคล กล่าวคือ การขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติของครอบครัวของเด็กชายลีซอ จะต้องดำเนินการอย่างไร

ประการที่สองการที่สำเนาแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) ของเด็กชายลีซอ ระบุว่าเกิดที่ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ข้อเท็จจริงเด็กชายลีซอ เกิดในสวนชาที่ตำบลสวนสัตว์ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีผลกระทบต่อการพิสูจน์สิทธิของเด็กชายลีซอหรือไม่ อย่างไร

ประการที่สาม หน่วยงานใดมีหน้าที่ต้องเข้ามาจัดการปัญหาสถานะบุคคลของเด็กชายลีซอ และคุ้มครองสิทธิของเด็กชายลีซอตามกฎหมาย


หมายเลขบันทึก: 532882เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท