พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา (๒)



ดังที่เล่าไว้ในกรอบก่อนหน้านี้ว่า ได้เห็นหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการหลวง ณ สโมสรอ่างขางเมื่อวานนี้ ซึ่งรวบรวมประวัติไว้เป็นอย่างดี ดีกว่าในเว็บไซด์ของโครงการ ที่ว่าดีกว่าก็คือน่าอ่านกว่า ผมก็เหมือนกับคนหลายๆคนที่ไม่ค่อยชอบอ่านอะไรที่เป็นราชการนัก จึงพยายามคิดแรลลี่ศาสตร์พระราชาขึ้น และค่อยๆทำไปตามกำลังความสามารถ

เรื่อง ‘อันสุกรนั้นไซร้’ ก็มีอยู่ในหน้า ๒๗-๒๘ แต่ถามว่าผมชอบอันไหน ผมชอบฉบับเดิมมากกว่า มีอรรถรสกว่า ฉบับเดิมนั้นพอเดาได้ว่าพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ไอบีเอ็ม ที่หัวพิมพ์เหมือนลูกกอล์ฟ วิ่งไปตามแคร่ การออกแบบให้แคร่พิมพ์ไม่ต้องวิ่งสมัยนั้นก็สุดยอดเทคโนโลยีแล้ว สำนักงานไหนๆรวมทั้ง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ฯที่ผมทำเอกสารเผยแพร่กันในยุคนั้นก็ต้องใช้เครื่องพิมพ์ชนิดนี้ พิมพ์ลงบนกระดาษไข และนำไปทำสำเนาที่เราเรียกว่า ‘โรเนียว’ ทำใบปลิวประท้วงรัฐบาลสมัยนั้นก็พิมพ์แบบนี้

ผมจึงขอประทานกราบทูลขออนุญาติถ่ายทอดไปเรื่อยๆ เอกสารทั้งหมดมี ๑๑ หน้า ตอนนี้ถ่ายทอดไปแล้วถึงหน้าที่ ๔

ตอนที่ ๒ อาจจะไม่ค่อยสนุกเหมือนสุกรนั้นไซร้เท่าใดนัก แต่ทำให้เห็นภาพของการต่อสู้ทางการเมือง หรือที่ทางราชการเรียกว่า ‘ภัยคอมมิวนิสต์’ ซึ่งมีเบื้องหลังอันสลับซับซ้อนเหลือคณานับ...

ขอเชิญอ่านต่อนะครับ...

==================

(ต่อจากตอนที่ ๑)

จะเล่าเรื่องหมอ ต้องชี้แจงก่อนว่า ทางภาคเหนือของประเทศไทยเรานั้น ทางการทหารเขาแบ่งเป็นสามจะเล่าเรื่องหมอ ต้องชี้แจงก่อนว่า ทางภาคเหนือของประเทศไทยเรานั้น ทางการทหารเขาแบ่งเป็นสามเขต คือ 

เขตเขียว แปลว่าปลอดภัย ไม่มีคอมมิวนิสท์ก่อกวน(สะกดตามเอกสารต้นฉบับ) เขตแดง เขตอันตราย คอมมิวนสิท์ชุม มีการยิงปะทะกันบ่อยๆ เขตที่สามคือ เขตเหลืองซึ่งบางทีก็ปลอดภัย ในเขตเขียวนั้น หน่วยแพทย์อาสาในสมเด็จพระบรมราชชนนีออกไปรักษาชาวเขาอยู่ทุกวันเสาร์ แต่เขตแดงและเหลืองไม่มีหน่วยแพทยัใดไปปฏิบัติการ ตำรวจภูธรชายแดนมีความเห็นว่า ในด้านจิตใจแล้ว เขตแดงและเหลือง คือน่านและตะวันออกของเชียงรายมีความสำคัญ เพราะผู้ก่อการร้ายแข็งขัน เที่ยวหลอกลวงและชักชวนให้ชาวเขาเป็นพรรคพวก ฝ่ายเราควรจะต่อต้านโดยให้ความช่วยเหลือยามเจ็บไข้ เป็นต้น ถ้าหน่วยแพทย์ที่ช่วยเหลือนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแล้ว ชาวเขาก็จะรู้สึกซาบซึ้ง ได้ผลดียิ่งขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อความทราบถึงพระกรรณหน่วยแพทย์พระราชทานก็บังเกิดขึ้น หน่วยแพทย์พระราชทานออกทำงานวันจันทร์และอังคาร อาทิตย์เว้นอาทิตย์ 

วันหนึ่งจะไปหมู่บ้านชาวเขาหรือหมู่บ้านคนเมืองที่ห่างไกลการคมนาคมสองแห่ง โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหารอากาศเป็นพาหนะ แต่ละครั้งจะมีแพทย์สองคน คนหนึ่งมักจะไปจากกรุงเทพฯเป็นอาสาสมัครที่เป็นข้าราชบริพารด้วยคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักคุ้นเคย แพทย์อีกคนหนึ่งจะเป็นหมอจาเชียงใหม่ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ จากโรงพยาบาลน่านหรือพะเยา ผู้ซึ่งได้เข้าเฝ้าแล้วทุกคน นอกจากนี้ยังจะมีสุภาพสตรีข้าราชบริพารไปจ่ายยาด้วยอีกสองคน เหตุผลที่ใช้ทีมอย่างนี้ก็เพื่อจะให้เป็นหน่วยแพทยัในพระองค์อย่างแท้ๆนั่นเอง

ผมควรจะกล่าวถึงห้วยเดื่อ บนดอยหลวง จังหวัดเชียงราย หน่วยแพทย์พระราชทานได้ไปที่นี่แล้วสองครั้ง ห้วยเดื่อเป็นหมู่บ้านเย้า ครั้งแรกที่เราไปมีคนไทยอยู่ประจำที่นั่นหนึ่งคน เป็นตำรวจชายแดน ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาไทยให้เด็กเย้า ผมยังจำได้ ครูคนนี้บอกว่าเขาอยู่โดดเดี่ยวอย่างนี้รู้สึกหนาวๆร้อนๆ เพราะคอมมิวนิสท์มาติดต่อเกลี้ยกล่อมพวกเย้าอยู่เสมอ การที่เราไปที่นั่นทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ เพราะพวกเย้าเองบอกว่ารู้สึกจับใจที่พระเจ้าอยู่หัวอุตส่าห์นึกถึงพวก “เฮา” ส่งหมอมาช่วย

ต่อมาไม่นาน ผู้ว่าราชการเชียงรายก็ถูกยิงตาย ห่างจากห้วยเดื่อประมาณ ๒ กิโลเมตร เมื่อเร็วๆนี้เรากลับไปห้วยเดื่ออีกครั้งหนึ่ง เฮลิคอปเตอร์แวะลงที่กองบัญชาการที่เชียงของ เพื่อถามสถานการณ์ นายพลที่นั่นบอกผมว่า เราไม่ควรไป เพราะไม่ปลอดภัย เมื่อสองวันมานี้ก็ถูกผู้ก่อการร้ายล้อมยิงอีก แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ ถ้าบินไปใกล้ก็โดนยิง แต่เรานัดตำรวจชายแดนและชาวบ้านเอาไว้แล้ว ถ้าเราไม่ไปตามพูด โดยไม่มีเหตุผลที่ดีพวกเย้าจะคิดอย่างไร และคอมมิวนิสต์เล่า?

ในที่สุดเราก็ตัดสินใจจะไป ไม่ใช่เพราะกล้าหาญ แต่เพราะทราบว่าเหตุการณ์รุนแรงเกินไปแล้วตำรวจชายแดนจะต้องบอกเลิกมาแน่ เฮลิคอปเตอร์ไปด้วยกันกับเราอีกลำหนึ่งทงหน้าที่คุ้มกัน นำเราลงอีกลำก็บินโฉบ วนเวียนอยู่ พร้อมที่จะยิงโต้ตอบคอมมิวนิสต์ เมื่อเราลงเรียบร้อยแล้ว ทั้งคู่ก็บินกลับเชียงของ ระยะทางบิน ๗ นาที ทั้งๆที่ไม่มีใครยิงใครเลย แต่ผมก็ต้องยอมรับว่าขณะนั้นใจเต้นผิดปกติ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นที่เห็นเด็กนักเรียนเย้าที่ต้ังแถวต้อนรับเราอยู่นั้น แต่ละคนมีของกำนัลเล็กๆน้อยๆให้เช่น น้ำเต้าใส่น้ำ หรือผ้าปักผืนเล็กๆเป็นต้น

อีกอย่างหนึ่งผู้หญิงเย้าเมื่อมารับยาก็ถอดแหวนเงินจากนิ้วของตนยื่นให้ผู้จ่ายยาของเรา จะให้เงินตอบแทนก็ไม่ยอมรับ ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้เรารู้สึกจับใจแล้ว ยังแสดงด้วยว่า งานของหน่วยแพทย์พระราชทานมีผล อย่าลืมว่าห้วยเดื่ออยู่ใกล้กำลังส่วนสำคัญของคอมมิวนิสต์และถูกโจมตีบ่อยๆ จบเรื่องหมอ (ยังมีต่อ...)


หมายเลขบันทึก: 532847เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุขสันต์วันปีใหม่สงกรานต์ มีความสุขมากๆนะคะ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท