พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา (๑)



บันทึกแรลลี่ศาสตร์พระราชา-๒๔ มีนาคม ๒๕๕๖-สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง--เมื่อวานนี้คณะของแรลลี่ศาสตร์พระราชาได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางอย่างเป็นทางการในวันแรก โดยมี พี่จำรัส และ คุณมนตรี นำชม เจ้าหน้าที่ทั้งสองท่านนี้มีหน้าที่นำชมคณะต่างๆตามปรกติ พี่จำรัสอาจจะพูดน้อยกว่าคุณมนตรี แต่ก็เป็นผู้เคยถวายงานเรื่องการปลูกดอกคาร์เนชั่นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณ บ้านขอบด้ง มาแล้ว ส่วนคุณมนตรีนั้นช่างพูดมาก ไม่ต้องจดเลย พอแกเปิดเทป (หมายถึง เริ่มพูด) ก็ฟังได้จนหลับเลย คุณมนตรีได้มอบไฟล์ภาพหายากรวมทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ถ่าย ได้มอบเอกสารหายากมาให้สองฉบับ ซึ่งผมคิดว่าอ่านได้อย่างสนุกสนาน และได้ความรู้ต่อพระราชกรณียกิจ เพื่อปูทางเข้าสู่ความเข้าใจศาสตร์พระราชา ในการรักษาความสมดุลของการพัฒนาประเทศ

โดยจะขอเริ่มถ่ายทอดคำบรรยายของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งบรรยายต่อสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิคและอาเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๖ ขอประทานกราบทูลขออนุญาตไว้ ณ ที่นี้...

(ประการหนึ่ง-หากผมใช้ราชาศัพท์คำใดผิด ขอเพื่อนๆช่วยกันแก้ไขเข้ามาด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง)

=======================

ประธาน และผู้มีเกียรติทั้งหลาย

เรื่อง “พระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ควรจะเริ่มต้นด้วยกระแสพระราชดำรัสต่อสโมสรโรตารี กรุงเทพ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ซึ่งผม (หมายถึง ม.จ.ภีศเดช รัชนี) ขอแปลเป็นไทย ดังนี้

“เดือนก่อนนี้ เรา (หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ) อยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม เราขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงบนไรฝิ่นซึ่งออกดอกสพรั่ง เราออกเดินไป ๔๕ นาที ถึงหมู่บ้านแม้วชื่อ แม่สาใหม่ หมู่บ้านนี้อยู่ลงเขาไปจากบ้านแม่สาเดิมไม่ไกล ที่บ้านแม่สาใหม่เราเปิดสถานีอนามัยน้อยๆขึ้นชั่วคราว และปฏิบัติงานเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง นอกจากนี้เรายังเอาลูกหมูอย่างดีไปด้วย ๓ ตัว สำหรับขยายพันธุ์ พร้อมด้วยอาหารสำหรับหมูนั้น เจ้าหน้าที่เกษตรไปกับเราด้วยนายหนึ่ง และเริ่มบรรยายเรื่องการเลี้ยงสัตว์และการเกษตรโดยใช้คำง่ายๆ การบรรยายค่อๆกลายเป็นการอภิปราย ซึ่งทั้งฝ่ายแม้วและฝ่ายเราต่างก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงหมูให้ได้ผลดีที่สุด กล่าวถึงวิธีปลูกถั่ว ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลังสำหรับหมู”

ตอนนี้ผม (ม.จ.ภีศเดช รัชนี) จะขอแทรกภาคผนวก โดยอธิบายว่าทำไมเจ้าหน้าที่เกษตรที่รับสั่งถึง จึงใช้คำง่ายๆกับชาวเขา ผมยังจำได้ว่าทาี่หมู่บ้านแรกที่เขาบรรยายนั้น เขาไม่ได้ใช้คำง่ายๆเลย เขาว่าอย่างนี้ “อันสุกรนั้นเราต้องให้อาหารเป็นจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย” ซึ่งก็น่าเห็นใจอยู่ เพราะเขาเป็นข้าราชการ ต้องใช้ศัพท์ทางราชการอย่างเรียบร้อย โดยเฉพาะต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ทรงเกรงว่าชาวเขาจะนึกว่าชาวเราหมายถึงหมาน้อยธรรมดา จึงทรงแปลว่า

“หมูน่ะ...ต้องให้มันกินให้อิ่ม”

ต้องทรงเป็นล่ามแปลไทยเป็นไทยอยู่สามสี่เที่ยว เจ้าหน้าที่เกษตรจึงปรับระดับภาษาได้ใหม่ บรรยายโดยใช้คำง่ายๆ เช่น จะว่าหมูท้องเสีย ก็ไม่กล่าวว่าหมูท้องเสีย แต่ใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมากว่านั้น เป็นต้น แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องหมู ผมต้องขอจัดการเรื่องหมอให้เสร็จ ผมสังเกตเห็นว่า ในที่นี้ มีบุคคลคณะแพทย์ที่พระราชทานให้ไปช่วยชาวเขาอยู่อย่างน้อยหนึ่งคนโดยเฉพาะ คนที่บังเอิญอยู่บ้านเดียวกัน ถ้าพูดถึงเรื่องหมูก่อนแล้ว ก็อาจเข้าใจผิดนึกว่าผมเห็นหมูสำคัญกว่าซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะอัตราที่เขาใช้ซื้อขายกันบนดอยนั้น ภรรยาคนหนึ่งมีค่าเท่ากับหมูหนึ่งตัว ไก่สองตัว และเงินเหรียญอีกหนึ่งเหรียญ วันหนึ่งขณะเสด็จพระราชดำเนินอยู่บนดอยปุย มีแม้วเดินขึ้นเขาสวนมาสองคน คนหน้าเป็นผู้ชาย เดินตัวเปล่า คนหลังเป็นผู้หญิง บรรทุกของเต็มตะกร้า สุภาพสตรีในขบวนเสด็จฯ เห็นเข้าก็ต่อว่า ว่า

“แหมไม่เป็นสุภาพบุรุษเลย ทำไมเดินตัวเปล่าแล้วให้ผู้หญิงบรรทุกของหนักๆ”

แม้วชายตอบว่า เขาซื้อมา หมูหนึ่งตัว ไก่สอง แล้วเงินอีกหนึ่งเหรียญ ต้องใช้ให้คุ้ม”

(ยังมีต่อครับ...แต่ตอนนี้หมดเวลาพิมพ์แล้ว...๘.๐๕ น.)


หมายเลขบันทึก: 532843เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

      ...... ขอบคุณมากค่ะ .... สุขสันต์วันสงกรานต์ .....


      


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท