การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา: อีสานตอนบน_43 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี ร้อยเอ็ด (ขยับปรับแผนฯ)


วันที่ 8 มีนาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน ปศพพ. อีสานตอนบน ร่วมกับโรงเรียนพี่เลี้ยง เชียงขวัญพิทยาคม ไปเยี่ยมศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี ร้อยเอ็ด  เพื่อร่วมกับ ผอ.อนงค์ และคุณครู สร้างความรู้ความเข้าใจ และปรับแผนการขับเคลื่อนต่อไปในภาคเรียนหน้า ..... 

ผมเห็นจุดเด่นและโอกาสของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี ร้อยเอ็ด หลายจุด ดังนี้ครับ

  1. เป็นโรงเรียนประจำ จึงมีเวลาที่ครูอยู่กับนักเรียนมากกว่าโรงเรียน ทั่วไป  ที่นี่อยู่กันเป็นครอบครัว โรงเรียนไม่ใช่เพียงโรงเรียน แต่เป็น "บวร"..... วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์ เกี่ยวกับกลยุทธศาสตร์การศึกษา ของรัฐบาลปัจจุบัน หลังการบรรยาย มีผู้อำนวยการท่านหนึ่งลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่า... "ท่านที่เคารพรู้หรือไม่ว่า ปัญหาของการศึกษาเราเป็นอย่างไร จะแก้ให้ตายก็ไม่มีวันสำเร็จ ตราบใดที่ ลูกไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เกือบ 80 เปอรเซ็นต์ เด็กอยู่กับยายตา ที่ไม่แม้มีเวลาหรือความรู้ที่จะช่วยดูแลหรือสังสอน....... ผมนึกถึงวิธีแก้ไขทางเดียวที่ทำได้ คือ ครูต้องเป็นมากกว่าครู คือ โรงเรียนประจำ หากทำให้ดี ที่นี่จะเป็นต้นแบบได้.....
  2. มีทรัพยากรทางกายภาพสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้อย่างยิ่ง 
  3. มีพื้นฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ที่เข้มแข็ง นักเรียนมีระเบียบวินัย

ผมตั้งใจ (BAR) ว่าจะชวนคุยเรื่อง การจัดการเรียนรู้ ให้ครูทุกคนเห็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

สิ่งหนึ่งที่ยากที่สุดของการทำงานขับเคลื่อน คือ การทำให้ "ครูเห็นกระบวนการ" เกือบทุกครั้ง ที่ผมนำกิจกรรมร่วมกับครู จะออกแบบกระบวนการ หรือออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ เสมอ .... แต่กิจกรรมแต่ละอันความจริงแล้ว ได้เรียนรู้และปรับประยุกต์มาจากหลายที่ๆ ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมมา กิจกรรมที่ผมหยิบมาปรับใช้ (แบบสดๆ) ที่ศึกษาสงคเราะห์ฯ คือกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากเวทีประชุมเมื่อกลางเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว อ่านบันทึกได้ที่นี่ครับ 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่คุ้นชิน ไม่ได้ยิน หรือไม่เคยเห็น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง เปลี่ยนบรรยากาศให้แปลกไปกับแบบเดิมที่กลุ่มเป้าหมายเคยชินอยู่ โดยทั่วไป จะจัดเก้าอี้คู่กับโต๊ะ จัดเป็นหน้ากระดานเรียงกันบ้าง จัดเป็นหมู่เป็นกลุ่มบ้าง  วิธีที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนบรรยากาศกัน ก็คือ จัดเก้าอี้เป็นวงกลม ซึ่งจะมีข้อดี ตรงที่ทุกคนจะมองเห็นกันและกันได้เกือบทั้งวง กว่า 270 องศา ของมุมหน้าหน้าไปมาจะเจอคนในวง และคนนั่งจะเขียนกระดาษหรืออะไรลำบาก ทำให้รวมสมาธิได้ง่าย ฯลฯ

เมื่อทุกคนอยู่ในวง(วงเก้าอี้ล้อมรอบ) ผมให้สัญญาณให้ทุกคนเดินไปแบบไร้จุดหมาย  เสียงสนทนาดังขึ้นแทบจะทันทีที่ทุกคนเริ่มเดิน เหมือนกับผมบอกให้คุยกันยังไงยังงั้น ผมคิดว่าในวินาทีนั้น หลายคนคงจะสงสัย ความคิด และคำถาม "หมุนติ้ว" ในหัวของตนเอง ใครที่ไม่ใช่นักเรียนรู้ อาจมีความคิดเชิงลบมาแทรกว่า "...ทำทำไม ช่างไร้สาระ เสียจริง...."   แต่คนที่พร้อมจะเรียนเสมอ อาจกำลัง สงสัย คอยดูว่า "เอ๊ะ ตานี่จะพาทำอะไร แปลกดี".....แต่จะมีสักกี่คนหรือไม่ ที่เห็น ความสงสัย หรือ อาการไม่เปิดใจของตนเอง......หากเห็นตรงนี้ ก็เริ่มมีคนที่เห็น "กระบวนการ" แน่นอน

เมื่อเดินไปสักครู่ ผมบอกผ่านไมค์ให้ทุกคน "หยุดครับ" "ท่านอยู่ใกล้ใครที่สุด ให้ถามคำถามที่อยากถามทันที 1 หนึ่งคำถาม ตามด้วยการสลับกันตอบทันที ...... หากใครเห็นความ "ประหม่า" ไม่รู้จะถามอะไรดี..... การตั้งคำถามและการตอบคำถามแบบทันทีทันด่วนแบบนี้ใช้บ่อยที่สุดในการสอนส่งเสริมทักษะการคิด โดยเฉพาะการคิดขั้นสูงที่ใช้ในการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ผมเองเน้นว่าการตั้งคำถามคือสิ่งแรกๆ ที่เราต้องฝึก ความจริงผมไม่กล้าบอกตรงๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็แล้วแต่ว่า สิ่งที่เราต้องฝึกก็คือ "ฝึกให้เราคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณาญาณ" ซึ่งก็จะได้จากที่เราฝึกตั้งคำถาม และหาคำตอบ (จากการปฏิบัติ) นั่นเอง

สักครู่ต่อมา... ผมให้สัญญาณครู ให้เตรียมคำถามไว้ในใจ  เมื่อได้สัญญาณว่าหยุด ให้ถามคำถามนั้นกับคนที่อยู่ใกล้สุด หากสังเกตให้ดี เราจะเห็นความแตกต่างของความรู้สึกของเราเอง ระหว่างการถามคำถามที่เตรียมไว้ กับถามคำถามแบบทันที ใครเห็นความแตกต่างนี้ ก็นับได้ว่าเริ่มเห็นกระบวนการเช่นกัน ....คำถามที่ถามทันทีในขณะสนทนา (หรือที่เราเรียกเป็นคำสวยหรูว่า ปะทะหน้างาน) จะได้รับอิทธิพลจากคนฟัง....นั่นคือความแตกต่างที่สำคัญเมื่อเราคุยกับนักเรียนและออกแบบการเรียนการสอนแบบสดๆ กับการทำแผนการสอนแล้วยึดตามนั้นแบบ "ติดกรอบ" กรอบในที่นี้ก็คือแผนของตัวเองนั่นเอง.....

การเดินครั้งถัดมา ให้ลองกลั้นลมหายใจ  เมื่อเดินไปต้องไม่หายใจ จะหายใจได้อีกทีก็เมื่อกลับมาถึงจุดที่ยืนเมื่อเริ่มเดิน..... กิจกรรมนี้ ไม่ได้บอกว่า หัามพูด เพียงแต่กำหนดว่าไม่ให้หายใจเวลาเดิน  ไม่รู้ว่ามีครูคนใดหรือไม่ที่สังเกตเห็นเหมือนผมว่า ไม่มีใครพูดเลย... ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะการไม่หายใจ คือสภาวะ "ไม่ปกติ" ความไม่ปกติ จะทำให้เราจดจ่อสติไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือเราอาจเรียกว่า ตั้งใจเป็นพิเศษ เลยลืมพูดไป....  หากเห็นตรงนี้ .... จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสามารถในการใช้ "ปฏิสัณถารเชิงบวก" กับนักเรียน

กิจกรรม "อ่างปลาประยุกต์"  ที่เชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่ทางโรงเรียนจัดไว้ ให้เดินมาออกมา นั่งในเก้าอี้วงเล็ก ที่จัดไว้ตรงจุดกลางวงใหญ่  โดยคุยกันเรื่อง "อุปนิสัยพอเพียงคืออะไร"  คุยกันไปคุยกันมา ปรากกฏณ์ ว่า สิ่งที่ได้ ไม่ใช่ อุปนิสัยพอเพียงที่ต้องการ .... เป็นสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ความคาดหวังจริงของครูที่นี่ นั่นคือ อยากให้นักเรียนศึกษาสงเคราะห์ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ.... 

เราลุยงานกลุ่มกันตลอดบ่าย ตามโจทย์ที่ได้จากที่อยากให้เด็ก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ว่า "เราจะจัดการเรียนรู้อย่างไร ให้เด็กคิดเป็น สื่อสารได้ มีคุณธรรม และมีความสุข".... ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มนำเสนอกัน


จากการนำเสนอและสทนากลุ่มใหญ่ในตอนบ่าย ผมขอสรุปเป็นข้อสะท้อน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการขับเคลื่อนฯ ดังนี้ครับ

  1. ระวังอย่าหลงติดหล่มอยู่เพียงคำถามที่ว่า "จะจัดหรือทำฐานการรู้กี่ฐาน อย่างไรดี" เพราะคำตอบที่ถูกไม่มีตายตัว.... อยากให้อ่านบล็อกเรื่อง "3 เชื่อม" จะได้หลักการชัดว่าควรจัดการอย่างไร 
  2. การจัดการรู้ตามหลักปรัชญาฯ  ที่ท่านอาจารย์ฉลาด อธิบายนั้น แจ่มแจ้งยิ่งนัก กลับไปดูอีกรอบได้ที่นี่ครับ 
  3. สิ่งที่ทางครูเห็นตรงกันคือ พัฒนาทักษะการคิด และอยากให้นักเรียนกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ผมอยากเน้นหนักๆ ตรงนี้ครับ ว่า
    • เด็กกล้าคิด เพราะเขามั่นใจในตนเอง
    • เด็กจะมั่นใจในตนเอง ก็ต่อเมื่อเขาภูมิใจในตนเอง
    • เด็กจะภูมิใจในตนเอง เมื่อเขารู้สึกว่า "ฉันทำได้" "ฉันคิดเองได้" "ฉันเป็นคนสำคัญในทีม"
    • ดังนั้น ครูเรา ต้องเปลี่ยนมาใช้ "ปฏิสัณถารเชิงบวก"
    • ครูจะทำ "ปฏิสัณถารเชิงบวก" ได้ก็ต่อเมื่อ "ครูหันมาเรียนรู้ความรู้สึกและความคิดตนเอง"
    • นั่นคือ ครูควร เจริญสติภาวนา หรือ ศึกษาจิตศึกษา หรือ จิตตปัญญาศึกษา หรือ เรียนรู้ภายในตนเอง
  4. หากท่านเชื่อกฎของกรรม เรื่องเหตุและผล มีเหตุ ย่อมมีผล มีผลย่อมมีเหตุ ผมมีข้อสรุปดังนี้ครับ
    • เด็กจะคิดเก่ง ต้องได้ฝึกคิด
    • เด็กจะได้ฝึกคิด ครูควร "ตั้งคำถาม" (ไม่ใช่เน้นบอกให้จำ สั่งทำตามคำบอก)
    • ครูจะเก่งตั้งคำถาม ครูต้องได้ฝึกตั้งคำถาม
    • ครูจะได้ฝึกตั้งคำถาม เมื่อครูสอนแบบ PBL
    • ครูจะสอนแบบ PBL ให้ได้ผลดีที่สุดต้องทำ PLC
  5. ผมเสนอว่า อาจารย์คมกฤตย์ ครูแกนนำขับเคลื่อน ควรทดลองใช้หลักสูตร 3PBL ในการขับเคลื่อนดูครับ ผมเสนอดังนี้ครับ
    • อย่างน้อยครูแต่ละช่วงชั้น หรือที่จัดแบ่งเป็นกลุ่ม ได้ร่วมกันถอดบทเรียนกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
    • ควรหาครูแกนนำให้เจอให้เร็วที่สุด
    • ทำ PLC วงนอก กับโรงเรียนอื่นๆ อาจผ่านทางบล็อกหรือ facebook  เรามีห้องชื่อ "ครูเพื่อศิษย์อีสาน"
  6. ผมต้อง กราบขออภัย ท่าน ผอ.อนงค์ ที่ได้เขียนความเห็นที่ ที่เกินเลยความจริงไป แต่ผมยืนยันกับท่านได้ทุกเมื่อว่า ทำไปด้วยความจริงใจ ครับ





หมายเลขบันทึก: 532742เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2013 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กิจกรรมอาจารย์ทำได้ดี สิ่งที่อยู่ในใจครูส่วนมากก็คือ สมรรถนะของเด็กที่สามารถดึงจากตัวเขาออกมาให้ได้จะมากหรือน้อยครูต้องมีเทคนิคพิชิตใจเด็ก ความหวังของครูคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท