ระบบอุปถัมภ์ ตอนที่ 1 ความหมาย


เมื่อวันที่ 3 เมษยน 2556 ผมได้คุยกับร้อน ร้อนบอกว่าการจะพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของเราต้องไม่มีการคอรัปชั่น และระบบอุปถัมภ์ ผมแย้งว่าระบบอุปถัมภ์บางส่วนก็เป็นของดี เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้องเหมือนร้อนกับผม แต่ที่นี้ระบบอุปถัมภ์คืออะไร ระบบอุปถัมภ์มีส่วนทำให้เกิดการคอรัปชั่นจริงหรือ ผมว่าผมน่าจะลองทบทวนคำว่าระบบอุปถัมภ์ ประเภทของระบบอุปถัมภ์ วิวัฒนาการของระบบอุปถัมภ์และดูว่าระบบอุปถัมภ์เอื้อให้เกิดการคอรัปชั่นจริงหรือไม่

ระบบอุปถัมภ์คืออะไร

     ระบบอุปถัมภ์ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The patron-client system เป็นระบบที่อยู่ในสังคมจารีตนิยม ซึ่งได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฯลฯ ระบบอุปถัมภ์เกิดจากความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ในแง่ทรัพย์ศฤงคาร สถานะ และอำนาจ (wealth, status and power) แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งได้แก่ จิตใจ ศีลธรรมและจริยธรรม ผู้อุปถัมภ์ (patron) จะเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเอื้ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งในอำนาจทางการเมือง ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม และสำหรับบางกรณีผู้อุปถัมภ์คือบุคคลเป็นที่เคารพนับถือในคุณความดี สามารถให้ความรู้สึกที่ดีกับผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ มีลักษณะคล้ายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ส่วนผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องอาศัยผู้อุปถัมภ์เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าว รวมทั้งส่วนที่เป็นบวกในทางจิตใจ เป็นทั้งที่พึ่งในทางวัตถุและในทางจิตใจ ในกรณีของสังคมไทยนั้นผู้อุปถัมภ์จะต้องมีบารมี ซึ่งความหมายได้แก่ การเป็นที่ยอมรับว่ามีลักษณะเป็นผู้นำ สามารถอุปถัมภ์ผู้ตามได้ ขณะเดียวกันผู้ตามก็หวังพึ่งผู้อุปถัมภ์ทั้งผลประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าวมารวมทั้งกรณีทางจิตใจด้วย    โดยกว้างๆ กล่าวได้ว่าระบบนี้เป็นระบบความสัมพันธ์ที่บุคคลสองฝ่ายที่มีสถานภาพทางสังคมไม่เท่าเทียมกัน แต่อยู่ด้วยกันได้เพราะมีลักษณะต่างตอบแทนกันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีความเป็นเพื่อนระหว่างกันอยู่ด้วย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากความใกล้ชิด หรือความความสัมพันธ์ในเชิงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน โดยจะมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง(Vertical affiliation) เนื่องจาก ผู้อุปถัมภ์กับผู้รับอุปถัมภ์จะมีฐานะไม่เท่าเทียมกันเสมอ เพราะถ้าฐานะเท่ากันจะไม่เกิดผลใดๆ จากการอุปถัมภ์ จากความสัมพันธ์ที่อยู่ในแนวตั้ง และตั้งอยู่ในความสัมพันธ์ส่วนตัว ทำให้ขาดเสถียรภาพ ถ้าผู้อุปถัมภ์ตายลงจะทำให้กลุ่มแตกแยกทันที

     ในการนี้ ฝ่ายผู้อุปถัมภ์มีทรัพยากรในครอบครองมากกว่า เช่น มีทรัพย์สิน เงินทอง ที่ดิน อำนาจ มากกว่า จึงสามารถให้การอุปการะและคุ้มครองแก่ผู้รับการอุปถัมภ์จากการถูกกดขี่จากผู้อื่น และจากอันตรายต่างๆ ได้ ส่วนผู้ได้รับการอุปถัมภ์ก็ตอบแทนด้วยการให้ความนิยมชมชอบ ให้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับแผนการร้ายของผู้อื่น และเป็นฐานที่ให้การสนับสนุนทางการเมืองต่อผู้อุปถัมภ์ ในความสัมพันธ์ที่นี้หมายถึง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ = ใครใหญ่กว่าใคร ความสัมพันธ์เชิงตลาด = การแลกเปลี่ยนที่ต่างฝ่ายหยิบยื่นให้ ความสัมพันธ์เชิงศีลธรรรม = บุญคุณ และการตอบแทนคุณ ด้วยความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงนำมาซึ่งความสัมพันธ์ในลักษณะเชิงอำนาจมากขึ้น = เกรงกลัว เกรงใจ ความสัมพันธ์เชิงตลาด = ความสมัครใจ ความสัมพันธ์เชิงศีลธรรม = ความชอบธรรม และผลบั้นปลายก็คือ ความจงรักภักดี

      เมื่อบุญวาสนาของผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ขึ้นอยู่กับความอุปถัมภ์ของผู้อุปถัมภ์ เมื่อผู้อุปถัมภ์สิ้นบุญลงตัวเองก็พลอยสิ้นบุญวาสนาไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี กรณีที่หนึ่งคือ การที่ผู้อุปถัมภ์สิ้นบุญวาสนา ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ก็ตกระกำลำบาก กรณีที่สอง ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ถูกทำลายล้างจนสิ้นหรือตีจาก ทำให้ผู้อุปถัมภ์หมดการสนับสนุนก็จะสิ้นบุญวาสนาไปด้วย

     ในกรณีของผู้อุปถัมภ์หรือผู้ที่มีบุญวาสนาในสังคม อันประกอบด้วย อำนาจ ทรัพย์ศฤงคาร และสถานะทางสังคมนั้น ในขณะที่สังคมกำลังเคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง อาจจะโหยหาผู้มีบารมี คือผู้มีศีลธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เสมือนหนึ่งคนกำลังจมน้ำที่พยายามคว้าขอนไม้ ใบหญ้า หรืออะไรก็ตามที่ลอยน้ำมา ถ้าหาตัวบุคคลที่เป็นมนุษย์ไม่ได้ก็จะวิ่งไปหาสิ่งที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นสะท้อนถึงสภาวะจิตใจที่ต้องโหยหาผู้อุปถัมภ์เพื่อการอยู่รอดในการดำรงชีวิต และการรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณ เพื่อจะได้มีความหวังและมีที่พึ่ง

     แน่นอนว่า "การอุปถัมภ์" มีอยู่ 2 ด้านเสมอ นั่นคือ 1. เป็นสิ่งที่สังคมสากลมีกันเป็นปรกติในการรับรู้ที่ว่าด้วย การช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในสิ่งที่ช่วยเหลือกันได้อย่างสมเหตุสมผล เช่น การช่วยยกของ ให้ยืมปากกา ช่วยทำแผล ฯลฯ 2. แต่ในขณะเดียวในระบบสังคมมีสังคมที่ได้สร้างหรือสถาปนา (establish) "ระบบอุปถัมภ์" (The patron-client system) ที่มาพร้อมกับอำนาจแฝง (latent power) ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบต่างตอบแทนโดยหวังผลประโยชน์ที่ตามมาจากกระบวนการของระบบดังกล่าว สิ่งเหล่านี้นั้นได้สะท้อนถึงการ ดูถูก ดูแคลน ศักดิ์ศรีในตัวของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น ระบบว้าก และระบบ "เทิดทูน" อาวุโส ระบบจารีตนิยม การโยกย้ายตำแหน่ง วัฒนธรรม รวมถึงอำนาจของภาษา ฯลฯ อันเห็นได้กว่าการสร้างระบบอุปถัมภ์นั้นมีมิติของอำนาจที่มากกว่าการอุปถัมภ์ช่วยเหลือที่เป็นการกระทำที่มาจากความเห็นอกเห็นใจปกติของเพื่อนมนุษย์อันซึ่งอาจไม่ต้องการผลประโยชน์จากการช่วยเหลือในสิ่ง ๆ นั้น

หนังสืออ้างอิง

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. ระบบอุปถัมภ์. http://dc401.4shared.com/doc/HqI5aRHM/preview.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. ปัญหาโครงสร้างประเทศไทย: ระบบอุปุถัมภ์. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=art19&date=09-04-2009&group=2&gblog=1 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

ลิขิต ธีรเวคิน. ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000135236 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

สามหนุ่ม.ปัญหาระบบอุปถัมภ์ (Spoil System) มีผลประทบต่อกเมืองไทย. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=385823 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

Aum Neko. ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ในสายงานราชกาการเมืองของคณะรัฐศาสตร์. http://prachatai.com/journal/2012/11/43706 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

อำพัน  ถนอมงาม.ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยhttp://amphuntha.blogspot.com/ เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง.ปฏิรูป ประเทศไทย ปฎิรูปอะไร?.  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=619854 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556


หมายเลขบันทึก: 532522เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2013 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2013 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท