แนวทางการพัฒนาโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาให้มีคุณภาพอย่างมีความสุข


แนวทางการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ

             แนวทางการพัฒนาโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาให้มีคุณภาพอย่างมีความสุข

                                     ..................................................................................

   ด้วยความเชื่อที่ว่า “ โรงเรียนดี ผู้บริหารดี”  การที่จะพัฒนาโรงเรียน ให้มีคุณภาพและมีความสุข  ผู้เกี่ยวข้องทุกคน  ทุกฝ่าย  ต้องรู้และเข้าใจ ในความหมายของคำว่า “คุณภาพ”และ “ความสุข”  ว่า  คุณภาพ หมายถึง  ผลงานที่ได้มาตรฐาน  คุณค่าที่เหมาะสมกับความต้องการ  กระบวนการผลิตตามระบบควบคุมคุณภาพ  ความคงทนในผลงานและมีความน่าเชื่อถือสร้างการยอมรับในชื่อเสียง  หรืออาจหมายถึง  การดำเนินงานที่เป็นไปตามข้อกำหนดที่วางไว้  อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้รับบริการและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างเหมาะสม  ส่วนนิยามและความหมายของคำว่า  การประกันคุณภาพการศึกษา  หมายถึง คุณลักษณะที่พึงประสงค์  ตามปณิธานและภารกิจ   ส่วนความสุข  หมายความถึง  การมีอารมณ์ในทางบวก   ความพึงใจในชีวิตรวมถึงปราศจากอารมณ์ทางลบหรือความเศร้าโศก   มีผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ความสุขเกิดจาก  การได้รับการยอมรับนับถือจากผู้อื่น  ได้แก่ คำติชม  การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล  ความสำเร็จในหน้าที่การงาน  ความรู้สึกสบายใจรู้สึกผ่อนคลาย  การบรรลุเป้าหมายของชีวิตได้รับคำวิจารณ์ที่ปรารถนา  รวมทั้ง มีสุขภาพกายดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนั้นมี ความสุขเกิดจากการได้รับการยอมรับนับถือในการยอมรับการกระทำ  ดังนั้น  การบริหารโรงเรียนให้มีคุณภาพและบุคลกรมีความสุข  ควรมีหลักการ  ดังนี้  

  1.  ผู้บริหารต้องมีความมุ่งมั่น  มีความรู้และทำความเข้าใจในการสร้างคน สร้างครู  รู้งานวิชาการและ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาโรงเรียน

  2.  คุณครูและผู้เกี่ยวข้อง  ต้องมีความรู้  ความเข้าใจ ในงานที่จะทำ  ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง

  3.  ดำเนินการตามแผนพัฒนาโรงเรียน  มีความตระหนักในภาระสำคัญ  ได้รับการฝึกอบรม  มีการติดตาม สนับสนุนและประเมินอย่างต่อเนื่อง 

  4.  ทบทวนผลการปฏิบัติงาน  วิเคราะห์ผลดีหรือเสีย  ด้วยใจเป็นธรรม  ส่วนที่ดี คงไว้ทำต่อไปให้ยั่งยืน   

 5.  ปรับปรุงวิธี และหาแนวทางปฏิบัติงาน ที่ยังไม่ได้ผลตามเป้าหมาย เสียใหม่  หรือปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ แล้วดำเนินการต่อไปให้สำเร็จ และยั่งยืน

  6.  นำนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรหน่วยงานต้นสังกัดและชุมชน 

ขั้นตอนและแนวทางในการดำเนินการ  มีดังต่อไปนี้ 

  1.  ผู้บริหาร จะต้องศึกษาหาความรู้จนมีความรู้ความเข้าใจ ที่แท้จริงในแนวทางวิธีการ จัดทำแผนยุทธศาสตร์

  2.  ประชุมครูในโรงเรียน เพื่ออธิบาย ความจำเป็นที่ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาโรงเรียน ให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ รวมทั้งจัดหาเอกสารสำหรับการศึกษาหาความรู้ ให้แก่ครู  (เป็นการส่งเสริมให้ครูเป็นนักอ่านด้วยอีกทางหนึ่ง)  โดยให้เรียนรู้  วันละ 1 – 2 เรื่อง  เพื่อให้ครูได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  มีเวลาพิจารณาคิดทบทวน

  3.  มอบหมายให้ครู  ช่วยกันพิจารณาข้อดี ข้อด้อย ของโรงเรียน  แล้วจึงร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์   เป็นยุทธศาสตร์  ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน และให้ถือเป็นวาระแห่งโรงเรียนที่ต้องร่วมมือกันทำทั่วทั้งโรงเรียน

  4.  ยุทธศาสตร์ที่ทำในครั้งแรก ไม่ควร เกิน  1 ยุทธศาสตร์ เพราะในแต่ละยุทธศาสตร์ อาจมีหลายกิจกรรม อาจจะไม่สำเร็จแม้แต่กิจกรรมเดียว  หรือสำเร็จแต่ไม่ยั่งยืน  เช่น  ยุทธศาสตร์สร้างวินัยนักเรียน  กำหนดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดวินัยแก่นักเรียนเพียง 2 เรื่อง  ได้แก่  กิจกรรมการรักความสะอาดและกิจกรรมวินัยการอ่าน-เขียน (ทั่วทั้งโรงเรียน)

  5.  ครูจับกลุ่มกัน ในชั้นที่อยู่ใกล้กัน จะได้ปรึกษาหารือ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มย่อยที่มีนักเรียนและงานตามเป้าหมายใกล้เคียงกัน  ร่วมมือกันทำงานร่วมแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อยๆ  ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

  6.  มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ  

    6.1 -  กลุ่มย่อย ๆ ระดับชั้นแต่ละระดับ ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง  อย่างน้อย สัปดาห์ละ  1 ครั้ง

    6.2   กลุ่มใหญ่  อย่างน้อย  2 สัปดาห์ต่อ  1  ครั้ง

    6.3   และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการนิเทศภายใน ที่ตั้งขึ้นเฉพาะยุทธศาสตร์ เดือนละ 1 ครั้ง

    ทั้งนี้  ให้เป็นการประชุมแบบกัลยาณมิตร  ครูร่วมประชุมอย่างมีความสุข  กล้าวิจารณ์ สิ่งที่คิดว่าควรแก้ไขอย่างไม่มีอคติใด ๆ  กล้ารับคำวิจารณ์และปรับปรุงแก้ไข อย่างมีความสุข

  7.  ก่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์  ควรขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และรายงานความก้าวหน้า อย่างน้อยภาคเรียนละ  1  ครั้ง

  8.  หากยุทธศาสตร์ใด  มีความจำเป็นที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียน เพื่อให้ช่วยเป็นกำลังเสริมยุทธศาสตร์ หรือการกำกับติดตามนักเรียนในความปกครอง  ควรมีการประชุมขอความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย เช่น  ขอให้ผู้ปกครองกำกับให้นักเรียน ได้อ่านคำสำคัญทบทวนที่บ้าน อย่างน้อย คืนละ  3 เที่ยว  หรือคัด คำศัพท์ คำสำคัญ วันละ  2  เที่ยว  ส่งคุณครูทุกวัน เป็นต้น

  9.  มีการประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้า ของงาน ผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้าน หรือกระจายเสียง ช่วงเช้า เข้าแถว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  กรณีที่มีผลสำเร็จเกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน

  10.  เสร็จสิ้นกิจกรรมตามยุทธศาสตร์และสรุปวิธีการดำเนินการ  ขั้นตอนการดำเนินการ เผยแพร่ เพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นการแสดงออกซึ่งความภาคภูมิใจ ของทุกคน

 

เงื่อนไขความสำเร็จ

1.  ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จากหน่วยงานต้นสังกัด หรือจากชุมชน อย่างเหมาะสม

2.  มีการร่วมนิเทศ  ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างผู้บริหารต้นสังกัด เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่

การศึกษา หรือ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่เกี่ยวข้อง

  3. ครูทุกคนในโรงเรียน ต้องเป็นคนที่เปิดใจกว้าง  ยอมรับในงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารโรงเรียน  ให้ไปศึกษาหาความรู้  กล้านำเสนอยุทธศาสตร์ที่ควรพัฒนา ต่อที่ประชุมครู รวมทั้งยอมรับที่จะดำเนินการร่วมกัน

4.  ผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับโรงเรียนตามที่ร้องขอ  

5.  ยกย่อง  ให้เกียรติ  มอบเกียรติบัตร  ในวันสำคัญ ๆ เช่น วันวิชาการ  วันครู  ทำให้ครู ผู้บริหารมีความภาคภูมิใจ ในความสำเร็จ ทำกิจกรรมใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง 


หมายเลขบันทึก: 532383เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2013 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2013 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท