การเรียนรู้กับการใช้ชีวิต


    ผมว่า “การเรียนรู้ “ นั้นมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ยิ่งต่อไปในอนาคตแล้ว“ การเรียนรู้ “ ยิ่งจะมีความจำเป็นจนเรียกได้ว่า ต้องใช้ชีวิตอยู่กับ “ การเรียนรู้ “ ให้ได้ เหมือนกับเราจำเป็นต้อง ทานอาหารทุกวัน เลยทีเดียว

  เมื่อพูดถึงตรงนี้  หลายๆคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่าแล้ว การเรียนรู้ นั้นสำคัญกับชีวิตของเราเพียงใด คำตอบคือสำคัญตั้งแต่เราเกิดเลยทีเดียว เราเรียนรู้ ที่จะดูดนมแม่ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด เรียนรู้ที่จะร้องให้พ่อแม่รู้ว่า เราหิว , หรือร้องไห้เมื่อเราขับถ่ายออกมาแล้วรู้สึกไม่สบายตัว , เรียนรู้ที่จะหัดพูด , เรียนรู้ที่จะอ่านออกเขียนได้ ในช่วงที่เข้าโรงเรียน หลังจากนั้นเราก็เรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ จนเราเติบโต และทำงาน

  เคยมีคนบอกผมว่า การเรียนรู้ ของคนเรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด ตอนยังเป็นเด็กเล็กๆ ผมก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากเท่าไรนัก แต่พอเริ่มเติบโตขึ้น เริ่มทำงาน ทำให้ผมเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า การเรียนรู้ ไม่มีวันสิ้นสุดจริงๆ ต้องเรียนรู้ที่ต้องใช้ชีวิตกับเพื่อนร่วมงาน ต้องอ่านหนังสือเพิ่ม ต้องเรียนเพิ่ม ถึงแม้เรียนจบแล้ว ถ้าเราหยุดที่จะเรียนรู้ แค่นี้ก็นับได้ว่าเราถอยหลังไปแล้วหลายก้าว เพราะ สังคม , เทคโนโลยี และอีกหลายๆอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่าง ก้าวกระโดด ถ้าเราหยุดอยู่กับที่ก็เหมือนกับเราเดินถอยหลัง หรือล้าหลังไปนั่นเอง

  ทั้งนี้ การเรียนรู้ที่ผมจะกล่าวถึงนั้น ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงแค่ในหนังสือ เท่านั้นแต่ยังเป็นการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้ชัด ผมขออนุญาต แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 2 แบบ คือ

1)  การเรียนรู้ภาคทฤษฏี คือการเรียนรู้จากการเรียน , การอ่าน , การฟัง , การพูด และการคิด เพื่อทำให้มีโอกาสได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ ในการใช้ชีวิต ในที่นี้ รวมถึง ข่าวต่างๆ หรือ เกล็ดความรู้ที่จะช่วยพัฒนาให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้น

2)  การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ คือการเรียนรู้โดยการลงมือทำทั้งในสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือ การกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น

  ผู้อ่านบทความนี้  ลองทบทวนดูสิครับ ว่า ตั้งแต่ที่เราเรียนจบมา จนเริ่มทำงาน มีวันนี้เราหยุดเรียนรู้และคิดว่า ความรู้ที่เรามีอยู่เหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้วหรือไม่  ถ้ายังไม่แน่ใจ ลองดูได้จากชีวิตประจำวัน ว่ามีอะไรบ้างที่เพื่อนๆของเราพูดแล้วเรายังงงๆอยู่ว่าเขากำลังพูดอะไรกัน ถ้างงบ่อยครั้งนั้นหมายความเราอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมบ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในทุกๆเรื่องที่ทุกๆคนต้อง และเราต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย เราแค่เพียงต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างร่วมสมัย

  สำหรับท่านใดที่คิดว่าไม่รู้ว่าจะเริ่มเรียนรู้ให้มากขึ้นอย่างไร ผมขอแนะนำว่า ก่อนอื่นลองหากิจกรรมที่อยากทำมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ลองทำสักที มาลองทำดู  หรือ ลองหาหนังสือดีๆสักเล่มที่อยากจะอ่านมาตั้งนานแล้วแต่ไม่มีเวลาอ่านสักที มาลองอ่านดู แค่นี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วครับ 


คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 532328เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2013 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2013 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

1. เป็นไปได้ไหมครับที่คนเราจะมีความรู้ติดตัวบางอย่างมาพร้อมการเกิด (สัญชาตญาณ สัญญา-ความจำ ชาตะ-เกิด ญานะ-ความรู้) เช่น การดูดนมแม่

2. นอกจากการเรียนเพื่อ 'รู้' (ทฤษฎี) และเพื่อ 'ทำ' แล้ว ยังมีการเรียนรู้ด้านเจตนคติ (พัฒนาจิตวิญญาณ) อีกอย่างหรือเปล่าครับ

เห็นด้วยกับความคิดเห็นของ คุณ สุรเชษฐ ครับ และขออนุญาตเพิ่มเติมดังนี้ครับ

สิ่งมีชีวิต นั้น มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ( เรียกว่าพรสวรรค์ติดตัว น่าจะพอได้นะครับ ) แต่สุดท้ายแล้ว หลังจากที่มีพรสวรรค์ดังกล่าวแล้ว เราส่วนใหญ่ก็จะค่อยๆฝึกฝนทักษะดังกล่าวจากการทำซ้ำ โดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กเริ่มมีการส่งเสียงร้องถี่ขึ้น เมื่อตัวเองเริ่มโตขึ้น เพราะ เริ่มรู้ว่าเมื่อหิว และ มีการร้องเสียงดังเกิดขึ้น แม่ก็จะวิ่งมาให้นม หลังจากนั้น เมื่อเด็กไม่สบายเนื้อ สบายตัว ก็จะเริ่มร้องอีกครั้ง เพราะได้เริ่มเรียนรู้จากสัญญาณชาตญาณ ว่า ถ้าร้อง แม่จะต้องมา ดังตัวอย่างการทดลอง ของ Burrhus Frederic Skinner นักจิตวิทยาชาวอเมริกา ผู้คิดค้นหลักการเรียนรู้แบบ Operant Condition Chamber และ Skinner Box ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเสริมแรง และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น โดยทำการทดลองให้หนูตัวหนึ่งที่หิว อยู่ในกรงที่มีกระแสไฟฟ้า และมีคานยกสำหรับกดให้อาหาร เมื่อหนูบังเอิญไปแตะโดนคานโยกก็จะได้รับอาหารต่อจากนั้นหลายๆครั้ง หนูก็จะเริ่มสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการกดการกับการได้รับอาหาร เป็นต้นครับ

ส่วนเรื่องการเรียนรู้ด้านเจตนคตินั้น ถ้าหมายถึงมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า ทัศคติ นั้น ผมว่าเป็นการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันและอนาคตมากครับ บางคนอาจจะคิดว่าทัศคติไม่สามารถเรียนรู้กันได้ แต่จริงๆแล้วก็มีนักวิชาการมากมายที่กล่าวถึง เรื่อง การปรับทัศคติ ให้มองโลกแง่บวก ซึ่งผมคิดว่าเราเรียนรู้ และสามารถฝึกฝนได้ครับ      

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท