เรื่องเล่าของ ครูทองใบ ขันสมบัติ ตัวอย่างการเรียนรู้ผ่านโครงการ ที่เด็กต้องผ่านปัญหาจริงของการทำงาน


วันที่ 27  มีนาคม 2556 แม่อุ้ม หรือ ครูทองใบ ขันสมบัติ ครูโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร จ.ร้อยเอ็ด นำเรื่องเล่าให้ผมอ่าน ..... ขอบคุณแม่อุ้มมากครับ อ่านแล้วมีความสุขมาก เลย อยากนำมาแบ่งปันไว้ในบันทึกนี้
.... วันที่ 1 เมษายน  2556  ผมได้เจอท่านในการประชุมฯ อีกครั้ง เลยขออนุญาตท่านแล้วครับ ......  

เรื่องมีอยู่ว่า.....

..........ก่อนการเข้าค่ายลูกเสือ – ยุวกาชาด....ข้าพเจ้าเป็นครูที่ปรึกษาผู้เรียนห้อง ม.๓ ข จำนวน  ๓๐ คน มีนางสาวพรนภา  มีนาภา (ไอซ์) เป็นหัวหน้าห้อง ข้าพเจ้าได้มอบหมายให้ผู้เรียนจัดกิจกรรมการแสดงร่วมกัน  โดยกำหนดว่า ทุกคนต้องได้ร่วมกิจกรรมที่กำหนดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย  การแสดงรอบกองไฟ  การประกอบอาหารและรับประทานอาหารร่วมกัน  ครูนัดประชุมเพื่อให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกัน  ให้แบ่งหน้าที่กันทำ  โดยครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ และให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ จากการสังเกต หัวหน้าห้องเรียกประชุม  เรื่องการประกอบอาหารก่อน  มีการโหวดเสียงและขอมติที่ประชุม  เมื่อที่ประชุมเห็นชอบ  เลขาก็ทำหน้าที่จดบันทึก  ครูชื่นชมห่าง ๆ หลังจากนั้นร่วมกันวางแผนการจัดกิจกรรมการแสดงรอบกองไฟ  กำหนดเนื้อเรื่อง แบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างมีความสุข  ....... ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไรจึงเดินไปสังเกตด้านนอก จากนั้นประมาณ  ๑๕  นาที  ผ่านไป  ข้าพเจ้าเห็น นายสมปอง (นามสมมติ)  สมาชิกคนหนึ่งในห้องเดินออกจากห้องที่ฝึกซ้อมการแสดง  หน้าตาไม่พอใจ  มองดูครูแล้วรีบแต่งกายเรียบร้อย เดินหนีไปที่สนาม  .....  เมื่อผิดสังเกต ข้าพเจ้าจึงเดินเข้าไปในห้อง ทุกคนหยุดการแสดง  นั่งเงียบ ๆ ข้าพเจ้าถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น.....ทราบว่า...นายสมปองไม่พอใจเพื่อนที่สั่งงานและตำหนิเล็ก ๆ น้อย ๆ ....ครูให้ข้อคิด ...ข้อตกลงของเราคือ  ทุกคนต้องร่วมมือกันเป็นองค์กรเดียวกัน....ปัญหามันอยู่ที่ไหน?....ทุกคนนิ่ง.....มีผู้เรียนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ก็หนูแค่พูดว่าให้ไปยืนเป็นคนที่สามเพราะตัวเล็ก และเตี้ย”  เขาบอกว่า “เรื่องมากไม่แสดงก็ได้ แล้วเดินออกไปทันที”  ข้าพเจ้าให้ข้อคิดผู้เรียนกลุ่มที่เป็นผู้นำ  “พวกเรามีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้สมปองเข้าใจและให้ความร่วมมือ  งานเราจะสำเร็จหรือไม่  ไอซ์ (พรนภา) หัวหน้าห้องลอง ประชุม แล้วหาวิธีการพูดดูนะคะ”  ทุกคนรับปากจะทำให้สมาชิกในห้องเป็นหนึ่งเดียวให้ได้โดยเฉพาะสมปอง  จากนั้นเหลือเวลาอีก ๒ วัน จะมีกิจกรรมค่ายพักแรม  คุณครูจึงขอพบและชมการแสดงเบื้องต้น  ลูก ๆ ในห้องบอก “พวกเราพร้อม ๑๐๐ % ที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คุณครูไม่ต้องห่วงรอชมการแสดงของพวกเรานะคะ”  ข้าพเจ้าก็ยังหวั่น ๆ จริงหรือที่ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้  จึงรอ....จนถึงวันนั้น..วันที่มีกิจกรรมค่ายพักแรมลูกเสือ – ยุวกาชาด  ลูก ๆ ห้อง ม.๓ ข : ๑๐๐ % มีหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงรอบกองไฟ  การประกอบอาหาร  การรับประทานอาหาร  ดูทุกคนมีความสุขมาก ทุกกิจกรรมจะมี  นายสมปอง  ร่วมด้วยอย่างมีความสุข..... เมื่อสิ้นสุดค่ายพักแรม..คุณครูประเมินความพร้อม  ความร่วมมือของห้อง ม.๓ ข ปรากฏว่า ผลการประเมินพฤติกรรม และการแสดง ยอดเยี่ยม มีคุณภาพเหมาะสมกับวัย ทุกคนมีส่วนร่วม  ทุกคนมีความสุข  มีความสามัคคีในหมู่คณะ....ข้าพเจ้า...จึงถามถึงวิธีการเชิญชวนเพื่อนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทำอย่างไร...ไอซ์ (พรนภา)  หัวหน้าห้อง ....บอกครูได้ทันทีว่า..เราน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดกิจกรรม  โดยถามถึงปัญหาและสิ่งที่จะตามมาเมื่อเราขาดความสามัคคี  นายสมปอง ยังไม่เข้าใจ  แต่ทุกครั้งในการฝึกซ้อมก็จะมีนายสมปองร่วมด้วย  ดูแลในส่วนที่ตัวเองมีความถนัด และชอบ  คือ  เครื่องเสียง, เตรียมห้อง เตรียมเปิดเพลงให้กับเพื่อน ๆ อย่างไม่เกี่ยงงอน” ข้าพเจ้าพอใจมาก จึงสรุปให้ลูก ๆ ฟังอีกครั้งว่า “หลักพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเรารู้จักนำมาปรับใช้ในกิจกรรม  หรือการดำเนินชีวิต จะทำให้ทุกคนผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างงดงาม ทุกคนมีคุณค่า งานมีคุณภาพนี่ล่ะคือความสุข”


ผมอ่านแล้ว ขอตั้งข้อสังเกตและตีความ ดังนี้ครับ

  1. สังเกตว่า ครูทองใบ ไม่กระโดดเข้าไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือจัดการความขัดแย้งนั้นทันที แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสจัดการกับปัญหาต่างๆ ตามหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง  ท่านเพียงแค่ ให้ข้อคิดว่าและตั้งคำถามว่า “พวกเรามีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้สมปองเข้าใจและให้ความร่วมมือ  งานเราจะสำเร็จหรือไม่  ไอซ์ (พรนภา) หัวหน้าห้องลอง ประชุม แล้วหาวิธีการพูดดูนะคะ”......
  2. สังเกตไหมครับ ว่า การทำตามข้อ 1.  เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะต่างๆ เยอะมาก โดยเฉพาะทักษะการทำงานเป็นทีม การยอมรับผู้อื่น  
  3. สังเกตไมไหมครับ ว่า นายสมปอง ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง และเพื่อนๆ ก็ยอมรับความสามารถของเขาด้วย
  4. สังเกตไหมครับ ว่า ครูทองใบ มีความสุขมาก กับการทำงานของท่าน 
  5. สังเกตไหมครับ ว่า ผมก็มีความสุขมากเช่นกัน...ฮา

ขออนุโมทนาบุญกับครูเพื่อศิษย์ แม่อุ้ม ทองใบ ขันสมบัติ ด้วยครับ

ต๋อย




หมายเลขบันทึก: 532226เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2013 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท