ยูเอ็นเอชซีอาร์หวั่นผู้อพยพพม่าทะลักเข้าไทยอีกระลอก


กรุงเทพ (5 เม.ย. 56)- ยูเอ็นเอชซีอาร์ กรุงเทพ เร่งฟื้นฟูศูนย์ลี้ภัยบ้านแม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังเหตุการณ์ไฟใหม่ครั้งใหญ่เมื่อ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เผยเกาะติดสถานการณ์การเมืองในพม่าอย่างใกล้ชิด หวั่นผู้ลี้ภัยทะลักเข้าไทยมากขึ้น ขณะที่ “คนโรฮิงยา” ยังเคว้ง เพราะประเทศที่ 3 ไม่ยอมรับ

  นายคริสตอฟ เกลนนิสชั่น (Christophe Glenission) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการระดมทุนประจำภูมิ

(Senior Regional Private Sector Fundraising Officer)  กล่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์)มีความเป็นห่วงสถานการณ์ศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยหลายแห่งที่อยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่า  เนื่องจากอาจมีผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น

  ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมยังกำลังดำเนินไป จนลุกลามกลายเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่ กลายเป็นเหตุการณ์จลาจลในหลายเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลพม่าต้องประกาศเคอร์ฟิวส์

  “สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่เป็นที่แน่นอน เพราะเหตุการณ์ในพม่าเปลี่ยนแปลงตลอด ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้  เรามีศูนย์ฯถึง 9 แห่งในประเทศไทย แม้มีทุนช่วยเหลือจากส่วนของยูเอ็นเอชซีอาร์ แต่ก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากคนไทย หรือคนในประเทศด้วย โดยเฉพาะศูนย์แม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ที่ประสบกับเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อเร็วๆนี้ เรากำลังเร่งฟื้นฟูศูนย์กันอยู่” นาย Glenission กล่าว

  นาย Glenission กล่าวด้วยว่า ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีจำนวนมาก  เฉพาะค่ายแม่สุรินที่เดียวมีจำนวนประมาณ 4,000 คน และยังคงได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อยู่ โดยการรับบริจาคเงินเป็นไปตามระเบียบของการจัดสรรเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ ที่ระบุไว้ว่า หากได้รับเงินบริจาคจากประเทศเจ้าของพื้นที่ที่ศูนย์อพยพนั้นตั้งอยู่ ก็ให้ใช้เงินบริจาคนั้นช่วยเหลือศูนย์ผู้อพยพในประเทศนั้น

  “ในประเทศไทยมีศูนย์ผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ศูนย์ มีผู้อพยพจำนวนหนึ่ง รอเดินทางไปประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย  ซึ่งเราก็ทำตามความประสงค์ของผู้อพยพเหล่านั้น หากผู้อพยพมั่นใจว่าสามารถเดินทางกลับบ้านและอยู่อย่างปลอดภัยเราก็ดำเนินการให้ แต่หากยังต้องการอยู่ในศูนย์ ในประเทศไทยต่อไป ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ก็มีค่าใช้จ่าย  โดยเฉพาะศูนย์แม่สุริน เราต้องการสร้างที่พักทดแทนที่พักที่เพลิงเสียหายไป เป็นการด่วน” นาย Glenission กล่าว

  ส่วนประเด็นผู้อพยพชาวโรฮิงยาในประเทศไทย ซึ่งลี้ภัยการเมืองมาจากรัฐยะไข่ของพม่า นาย Glenission กล่าวว่า ขณะนี้ชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในศูนย์ลี้ภัยต่างๆในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง และยูเอ็นเอชซีอาร์อยู่ระหว่างการประสานงานกับประเทศที่ 3 เพื่อให้รับผู้อพยพชาวโรฮิงยา แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับการช่วยเหลือผู้อพยพชาติพันธุ์นี้ เพราะยังไม่มีประเทศใดแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการว่าจะรับตัวผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ไปตั้งถิ่นฐาน(Resettlement)ในประเทศของตน

  ก่อนหน้านั้น (3 เม.ย. 56) นาย Glenission ได้เดินทางไปรับมอบเงินจำนวน 200,000 บาท จากพระสุธีธรรมา นุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) โดยเงินที่ได้รับบริจาคจากมจร. จะนำไปใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า เวชภัณฑ์ และการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในค่าย เช่น  บ้านพักผู้อพยพ เป็นต้น  โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ศูนย์แม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน

  พระสุธีธรรมานุวัตร กล่าวว่า เงินที่มอบให้ยูเอ็นซีอาร์ แม้เป็นจำนวนไม่มาก แต่เป็นการแสดงถึงน้ำใจกับผู้อพยพที่ลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทยและกำลังประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์แม่สุริน เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้ทราบข่าวจากสื่อบางสำนัก ขณะที่การช่วยเหลือครั้งนี้ยังถือเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมของชาวพุทธ อย่างเช่น หลักพรหมวิหาร 4 อีกด้วย

  “การให้ความช่วยเหลือผู้อพยพเกิดจากความปรารถนาในลักษณะการแสดงออกซึ่งความกรุณา โดยเฉพาะการครองชีวิตของภิกษุเพศที่ว่าโดยหลักการของพระพุทธศาสนาแล้วจะต้องอุทิศตนเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนทั่วไปเท่าที่สามารถช่วยได้  และการช่วยเหลือดังกล่าว ไม่จำกัดชาติพันธุ์ หรือศาสนา  เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมเหมือนกันหมด” พระสุธีรรมานุวัตร ซึ่งเคยเป็นไกด์ให้กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา และเจ้าชายฟิลิป แห่งเบลเยี่ยม กล่าว

  สำหรับเหตุเพลิงไหม้ที่ศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่สุริน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 37 ราย และมีผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัย 2,300 คน

  ข้อมูลของยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า ศูนย์อพยพหรือศูนย์ผู้ลี้ภัยแม่สุริน มีจำนวนผู้ลี้ภัยจำนวน 3,826คน จดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์แล้ว 1,705 คน ศูนย์แบ่งพื้นที่เป็น คุ้มๆ จำนวน 4 คุ้ม แต่ละคุ้มมีประมาณ 100 หลังคาเรือน  

  ยูเอ็นเอชซีอาร์เริ่มดำเนินการในประเทศไทยโดยคำเชิญของรัฐบาลไทยในปีพ.ศ. 2518 สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยนับแสนคนจากประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในภูมิภาคอินโดจีน ช่วงเวลานั้น มีผู้ลี้ภัยกว่า1.3 ล้านคนอยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทยเป็นเวลาหลายปี

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 113,000 คน และผู้ที่ลงทะเบียนขอลี้ภัยอีก 12,500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ชาวกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงแดงจากประเทศพม่า ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด รัฐบาลไทยดูแลบริหารที่พักพิงทั้งหมด โดยความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เอ็นจีโอ และยูเอ็นเอชซีอาร์ โดยยูเอ็นเอชซีอาร์มีบทบาทหลักในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อให้มีสภาพ ความเป็นอยู่ที่มั่นคงปลอดภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาระหว่างที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

  น.ส.จำลองลักษณ์ สุจริตจันทร์ ในฐานะตัวแทนของนิสิตมจร. กล่าวว่า การบริจาคเงินให้กับยูเอ็นเอชซีอาร์ดังกล่าว นับว่าสมความประสงค์ของผู้บริจาค เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนและเพื่อนๆ ได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินทางไปบริจาคเงินและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นถึงศูนย์ผู้ลี้ภัยด้วยตัวเองที่แม่ฮ่องสอน แต่ทราบว่าทางการไม่อนุญาต  จึงได้พยายามหาหนทางอื่นเพื่อให้ความช่วยเหลือ การบริจาคให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ครั้งนี้จึงเป็นการบริจาคให้กับองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลในเรื่องผู้ลี้ภัยโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่น

  ทั้งนี้  ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้มีหนังสือ HCR/BKK/PSFR/012  วันที่  3 เมษายน ค.ศ.1013ลงนามโดย Mireille Girard –ตัวแทนของยูเอ็นเอชซีอาร์  ขอบคุณบัณฑิตวิทยาลัย มจร. สำหรับการบริจาคเงินครั้งนี้  โดยองค์กรของสหประชาชาติแห่งนี้จะนำเงินบริจาคดังกล่าว ไปใช้ดูแลเด็ก สตรี คนพิการ ตลอดถึงคนสูงอายุในศูนย์ลี้ภัย จำนวน 9 แห่งในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ศูนย์ฯกำลังดำเนินการหลายโครงการ เช่น การฝึกอาชีพให้กับผู้ลี้ภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย  การสอนภาษา เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์เพลิงไม้ที่ศูนย์บ้านแม่สุริน ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ สามารถนำเงินที่ได้รับบริจาคครั้งนี้ ไปให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยตรงได้ทันที 

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ รายงาน


หมายเลขบันทึก: 532221เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท