ประเมินสถานะของอเมริกาในทศวรรษหน้า


เพื่อนๆคนไทยหลายคนถามผมเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของอเมริกาในอนาคตที่ควรจะ เห็นและควรจะเป็น อย่างน้อยก็ในช่วงราวประมาณอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า โดยเหตุที่ปัจจุบันมีดาราหน้าใหม่อย่างจีน หรือไม่ก็อินเดีย สังกัดค่ายตะวันออกขึ้นมามีอิทธิพลต่อชาวโลกในด้านต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะที่เด่นๆเห็นจะได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงหรือด้านการทหาร

ในช่วงที่ผ่านมาสื่อหลายสำนักและบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ถึง ประเด็นนี้กัน เพื่อประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ในระดับองค์กร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งย่อมจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการจัดลำดับความสำคัญ ในการร่วมทำธุรกิจ(deal) ในสาขาต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน

  ขณะที่ในปัจจุบันเองนั้น บทบาทของอเมริกา ยังถือว่า มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดชะตากรรมของโลก

  นอกเหนือไปจากความเสื่อมถอยทางด้านเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงต่างๆที่ผ่านมา กระทั่งถึงแม้ในเวลานี้ จนเป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันวิตก วิจารณ์ สำแดงทัศนะต่อความเป็นไปในอเมริกา ที่เชื่อมโยงออกไปถึงโลกหรือประเทศต่างๆ

  ในด้านของความมั่นคง กรณีเหตุการณ์การสังหารโอซามา บิน ลาเดน ในปากีสถาน เมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงบทบาทของอเมริกาในโลกสมัยใหม่ อันหมายถึงประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยี  ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สำแดงถึงความมีอิทธิพลของอเมริกาต่อประเทศ อื่นๆ แม้จะมีการมองกันหลายแง่หลายมุมทั้งเชิงลบและเชิงบวก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกปัจจุบัน “ความขัดแย้งในเรื่องลัทธิ อุดมการณ์รูปแบบสมัยใหม่”ยังคงมีอยู่ ขณะที่อเมริกายังคงรูปแบบการเผยแผ่อุดมการณ์ทุนนิยมเสรีเอาไว้ไม่เปลี่ยน นับแต่ยุคสงครามเย็นที่ผ่านมา

  ผมอยากประเมินภาพและความเป็นไปของอเมริกาในโลกปัจจุบันและอนุมานคาดการณ์แบบ สรุปคร่าวๆ ถึงอนาคตในช่วงอีกราว 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า เท่าที่เห็นจากประสบการณ์ของตัวเองและมองผ่านการวิเคราะห์จากมุมของสื่อ ต่างๆ 

  1. ในด้านการเมือง ทั้งในและนอกประเทศ อเมริกาน่าจะยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมเกมการเมืองของโลกอยู่ โดยมีเหตุผลเนื่องมาจาก สภาพการเมืองภายในประเทศที่นิ่งอยู่ตัว จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไปแล้วนั้น  เปรียบเทียบกับจีน ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งที่ขึ้นมาท้าทายอิทธิพลด้านนี้ของอเมริกา เห็นได้ว่า การเมืองของจีน ยังไม่ถือได้ว่ามั่นคงอย่างแท้จริง ยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่อีกส่วนหนึ่ง ทั้งในเรื่องความเห็นแย้งของประชาชนส่วนหนึ่งต่อแนวอุดมการณ์ของพรรค คอมมิวนิสต์ที่แม้ดูเหมือนว่าศูนย์อำนาจใหญ่ของจีนแห่งนี้ จะเปิดโอกาสให้ทุนเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาได้มากขึ้นก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ นโยบายหรือการควบคุมก็ยังมาจากศูนย์กลาง ขณะเดียวกันจีนก็ยังมีความขัดแย้งภายในกรณีการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังไม่หายไป ดังนั้นการที่จะไปทำหน้าที่หรือบทบาทในต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ นับว่าไม่ง่ายนักสำหรับยักษ์ใหญ่เอเชียแห่งนี้ ขณะที่อเมริกามีประสบการณ์ด้านนี้มายาวนาน โดยเฉพาะการสะสมข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนกลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญนำมาใช้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดถึงการสามารถนำมาใช้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง

  1. ในด้านความมั่นคง เป็นที่ทราบกันดีว่า อเมริกามีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงในระดับโลก ทั้งในเรื่องการทหาร และเรื่องในเชิงข้อมูลต่างๆ หมายถึงการจัดตั้งองค์กร ทั้งในส่วนภายในของอเมริกาเองและองค์กรภาคีนานาชาติ ตามข้อสนธิสัญญาความร่วมมือต่างๆ ซึ่งช่วยเสริมให้การดำเนินการในประเด็นความมั่นคงเป็นไปอย่างมีระบบ และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายจีนนั้น  ยังไม่มีหน่วยงานในและต่างประเทศที่ทำงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะงานด้านข้อมูลเชิงลึกโดยตรง ทั้งในส่วนลับและในส่วนไม่ลับ  เรื่องนี้เข้าใจว่า ทางฝ่ายจีนกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้เกิดหน่วยงานตามรูปแบบที่ ว่านี้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทัดเทียมกับอเมริกา ที่ผ่านมาแม้ว่า ทางฝ่ายจีนจะได้ ใช้คนเพื่อทำงานด้านข้อมูลสำคัญๆ เช่น งานจารกรรม อยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ถือว่า เป็นกระบวนงานเท่าที่ควรจะเป็น 

  3. ในด้านเทคโนโลยี ทั้ง 2 ประเทศ มุ่งแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะทั้งเทคโนโลยีด้านการทหาร การบินและอวกาศ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอื่นๆจำนวนมาก เพื่อก้าวให้ทันประเทศตะวันตก ซึ่งมีอเมริกาเป็นแกนนำ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเทคโนโลยีสามารถพัฒนาให้ตามทันกันทันได้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลาที่นานพอสมควร ขณะเดียวกันอเมริกาเองก็พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีล้ำหน้ามากขึ้นไปอีกจาก ฐานเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ หลายๆเทคโนโลยี ที่อเมริกาพัฒนารุดหน้าไป แต่ยังคงเก็บไว้เป็นความลับ

  4. ในด้านเศรษฐกิจ  เป็นประเด็นขึ้นๆลงๆ หลายคนมองว่า โลกของตะวันออกโดยเฉพาะ จีนกับอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจโต(ตามฐานประชากร)มากกว่าประเทศอื่นๆ จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต โดยทั้ง 2 ประเทศมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการลงทุน สูงมากที่สุด ขณะที่เศรษฐกิจของอเมริกา ในช่วงราว 4-5 ปีที่ผ่านมาตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ทำให้มองกันว่า บทบาทของอเมริกาทางด้านนี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความอ่อนแรงจากการนำประเทศเข้าสู่สงครามในอาหรับทั้งอิรักและอาฟฆา นิสถาน รวมทั้งประเทศอื่นๆหลังจากสถานการณ์ใน 2 ประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม  นั่นเป็นเพียงการประเมินตามสูตร หรือมาตรฐานโดยทั่วไป วัดจากมูลค่าของจีดีพี  การนำเข้าและส่งออก รวมทั้งระบบการไหลเข้าออกของเงิน ตามอย่างวิธีการปกติ หากยังไม่รวมถึงสินค้าหลายตัว ที่อเมริกาค้าขายอยู่ตลอดช่วงที่ผ่านมาโดยไม่ผ่านระบบศุลกากร หรือผ่านตามท่าต่างๆ เช่น สินค้าทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าลิขสิทธิ์ สินค้าการศึกษา สินค้าอาวุธ และสินค้าซึ่งเป็นตัววัฒนธรรมอเมริกัน ซึ่งจำหน่ายออกไปทั่วโลก นอกเหนือไปจากบทบาทการกำกับในส่วนของภาคการเงินของโลกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ครั้งล่าสุดที่ธนาคารกลางอเมริกา(เฟด) พิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเพิ่มในตลาดเงินจำนวนหลายแสนล้านเหรียญ หลังจากที่ประเทศประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในเวทีโลกอย่างมากถึงกระทบกับประเทศต่างๆ ส่วนหนึ่งของผลกระทบส่งถึงจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ในเวลานี้ครอบครองพันธบัตรสกุลยูเอสดอลลาร์ไว้มากที่สุด ทำให้พันธบัตรดังกล่าวมูลค่าตก  ทั้งนี้เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่สามารถพิมพ์เงินออกมา โดยไม่ต้องอิงฐานทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และทุนสำรองทองคำ เหมือนประเทศอื่นๆ จนอาจกล่าวได้ว่าอเมริกา ใช้ระบบการเงินควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก ขณะที่จีน ยังต้องใช้เวลานานอีกหลายปี กว่าที่จะสามารถพัฒนาระบบการเงินให้ไปถึงขั้นนี้ได้

ขณะเดียวกัน โดยเหตุที่จีน เป็นประเทศที่มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขั้นแรกสูงสุด จึงยังจำเป็นต้องอาศัยตลาดใหญ่เพื่อระบายสินค้า และอเมริกายังเป็นตลาดสำคัญในการรองรับสินค้าจากจีน  เรื่องนี้จึงเป็นไปในทำนองต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพากันและกัน

  5. ในด้านวัฒนธรรม  การเผยแพร่วัฒนธรรมของอเมริกันเป็นไปอย่างแพร่หลายผ่านสื่อประเภทต่างๆ ความจริงวัฒนธรรมเอเชีย โดยเฉพาะจีนเองก็มีแนวโน้มการเผยแพร่ที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพียงแต่ยังมีจำนวนสื่อและระบบการตลาดที่เป็นรองฝ่ายอเมริกัน ต่อไปคาดว่าจะสามารถพัฒนาได้มากขึ้น ประเด็นวัฒนธรรมมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงถึง “อิทธิพลครอบงำ” ความคิดและจารีตของชาติอื่นๆ เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

  เหตุผลกว้างๆเท่าที่ได้ประมวลมาดังกล่าวน่าจะเป็นเครื่องชี้วัดได้บางส่วน ว่า อเมริกาในทศวรรษหน้า จะเป็นอย่างไร  และที่สำคัญ ประเทศไทยควรกำหนดท่าทีอย่างไรต่อบรรดาประเทศที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อโลกได้ อย่างถูกต้อง การให้น้ำหนักในการสัมพันธ์ด้วยอย่างเข้าใจบนฐานข้อเท็จจริงทั้งหมด

  ผมเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ คงเข้าใจว่า เราน่าจะต้องดีลกับค่ายแต่ละค่ายของประเทศมหาอำนาจใหม่ได้ถูกต้องอย่างไร รวมถึงภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ในยามที่โลกต่อเชื่อมถึงกันทั้งหมด มากกว่ายุคใดๆที่ผ่านมา…


หมายเลขบันทึก: 532225เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท