เนื้อหานิทรรศการ “ก้าวพอดีที่เพลินพัฒนา” : ๑๐ ปี หน่วยวิชาคณิตศาสตร์ (๒)



ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน  มีการเปลี่ยนแปลงแนวการเรียนการสอนมาสู่แนวทางของ Open Approach และครูทำงานร่วมกันในกระบวนการของ Lesson Study  รูปแบบการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้มีทั้งส่วนเหมือนและส่วนเพิ่มเติมจาก Active Learning ที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม


Open Approach และ Lesson Study เป็นปฏิบัติการที่ต้องทำควบคู่กันไป เนื่องจาก Lesson Study เป็นระบบและกระบวนการพัฒนาครูที่เน้นความสำคัญกับการทำงานร่วมกับทีม ให้คุณค่ากับการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกัน โดยให้ครูสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันไปบนหน้างานจริง โดยมีห้องเรียนเป็นโจทย์


ในขั้นเตรียมการสอน  ทีมทำงานประกอบด้วยครูผู้สอนและโค้ชที่ช่วยกันออกแบบแผนการเรียนการสอน สื่อ อุปกรณ์ วิธีการเขียนกระดาน คาดการณ์แนวคิดและคำตอบที่อาจเกิดขึ้นในชั้นเรียน วางแผนการใช้กระดานลำดับความรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน


ระหว่างการเรียนการสอน ทีมช่วยกันสังเกตการณ์ชั้นเรียน ดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล เข้าใจแนวการเรียนของแต่ละคน และนำผลจากการสังเกตการณ์กลับมาสะท้อนผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเรียนรู้และพัฒนานักเรียน ทีมทำงานครู ชั้นเรียน ส่วน Open Approach คือการเรียนการสอนที่ครูเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ผ่านกระบวนการและโจทย์สถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนได้แก้ปัญหาด้วยแนวคิดและวิธีการอันหลากหลาย โดยมีขั้นตอนในชั้นเรียน ได้แก่

๑.  ขั้นแนะนำและแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ เปิดประเด็นในเกิดความสนใจและทบทวนสิ่งที่เคยเรียนรู้มาแล้วในคาบเรียนก่อนหน้า

๒.  ขั้นเปิดประเด็นโจทย์ ให้เงื่อนไขหรือสถานการณ์ปัญหาที่เหมาะสม และมีความต่อเนื่องกับความรู้สะสมของนักเรียน ลักษณะโจทย์ต้องไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป เสมือนการข้ามแม่น้ำที่ต้องมีระยะที่พอดีให้พอได้มีอารมณ์ตื่นตัว เกิดความพยายามที่จะทำให้สำเร็จ อาจเพิ่มการท้าทายเพื่อกระตุ้นได้ด้วย

๓.  ขั้นแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ ส่งเสริม ดูแล เอาใจใส่ ให้นักเรียนสร้างความรู้ขึ้นเองได้ บรรยากาศมีสมาธิ มีพลังในการดิ้นรนแก้ปัญหา ระหว่างที่นักเรียนแก้ปัญหาทีมครูจะสังเกตการณ์และจดบันทึกแนวทางการเรียนรู้ รวมถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างละเอียด

๔.  ขั้นนำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะในขั้นนี้นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้ฝึกการสื่อสารโดยใช้ภาษาคณิตศาสตร์ ครูมีหน้าที่กระตุ้นการสื่อสาร และการถ่ายทอดความรู้ โดยใช้คำถาม นักเรียนได้รู้จักหน้าที่การเป็นผู้พูดเพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้ขอตนเองและผู้ฟังการเรียนรู้จากเพื่อน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาจากโจทย์สถานการณ์ด้วยแนวคิดและวิธีการอันหลากหลาย

๕.  ขั้นสรุป ส่งเสริมให้นักเรียนได้ร่วมกันประมวล สังเคราะห์ สรุปความรู้โดยบันทึกลงในสมุดและได้ทดสอบความเข้าใจโดยการทำโจทย์สถานการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันหรือต่อยอดเพิ่มเติม รวมถึงการประเมินตนเองและตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของตนเองในครั้งต่อไป


หลังการเรียนการสอน  ทีมทุกคนที่เข้าสังเกตการณ์ในแต่ละชั้นจะมาสะท้อนผลอย่างเป็นกัลยาณมิตร ประเด็นสำคัญที่ทุกคนจะร่วมกันสะท้อนคือ กระบวนการในห้องเรียนและการเรียนรู้ของนักเรียน บรรยากาศในช่วงเวลานี้ทุกคนในทีมจะมานำเสนอต่อวงเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาชั้นเรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นความเข้าใจในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ที่จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการปรับปรุงแผนการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น  และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  


เมื่อมีการสะท้อนผลครูผู้สอนจึงต้องรับฟังความคิดเห็นของทีมเพื่อพัฒนาการสอนของตนเอง ทั้งในเรื่องการดำเนินการสอน การตั้งคำถามให้ก่อการเรียนรู้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ  การสะท้อนผลไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านห้องเรียนที่สำเร็จเท่านั้น แต่สามารถทำได้กับห้องเรียนทุกห้องเรียน ด้วยกระบวนการนี้ครูทุกคนก็จะสามารถเกิดการเรียนรู้ร่วมไปกับผู้เรียนได้


นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เรียนรู้เข้มข้นของครู นั่นก็คือ การเปิดชั้นเรียน (Open Class) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อครูมีความพร้อมและมีความสมัครใจให้ตนเอง ตลอดจนถึงชั้นเรียนที่ตนดำเนินกระบวนการเรียนรู้อยู่เป็นพื้นที่เรียนรู้


กลุ่มครูที่มาเข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียน ได้แก่ ครูผู้สอน ครูคู่วิชา ทีมครูหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ โค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญ และครูคนอื่นที่สนใจร่วมเรียนรู้ ทุกคนจะได้ร่วมเตรียมแผนการเรียนการสอน ร่วมสังเกตการณ์ชั้นเรียน หลังจากการเรียนการสอนจะมีการสะท้อนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อจบการเปิดชั้นเรียนทุกครั้ง จึงก่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นมากมาย 


ในการเปิดชั้นเรียน การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่เคยซ้ำรูปแบบ ค้นพบได้ทุกขณะ เกิดขึ้นกับทุกคน สิ่งที่เคยคิดว่ายากแล้วก็ยังมีสิ่งที่ยากกว่า บางเรื่องก็เหมือนเส้นผมบังภูเขา บางคาบที่มีการวางแผนก็ต้องใช้ทั้งทีมช่วยคิดเหมือนการต่อจิ๊กซอว์


การที่ทีมทำงานนำสิ่งที่เป็นอุปสรรคมาพัฒนาต่ออย่างจริงจัง  และการรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนครูผู้เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ครูที่เข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนมีพลังที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  หากเมื่อใดที่มีคนท้อแท้ กำลังใจจากทีมจะช่วยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ทุกคนที่ร่วมทำงานการเปิดชั้นเรียนมาด้วยกันจึงได้รับความรัก ความอบอุ่นรวมถึงพลังใจในการทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อไปจากพลังกลุ่ม


ผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิด

จากแนวการเรียนการสอนเป็นแบบ Open Approach และครูทำงานร่วมกันแบบ Lesson Study  คือ นักเรียนมีแรงบันดาลใจ เกิดฉันทะในการเรียนรู้ ได้รับรู้การเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง สามารถแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ในสถานการณ์และเงื่อนไข เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันจนเข้าถึง Concept และแก่นคุณค่าของความรู้ ด้วยกระบวนการที่หลากหลายจากการเรียนรู้ทั้งของตนเองและของผู้อื่น โดยอาศัยการถ่ายทอดด้วยภาษาคณิตศาสตร์ ครูได้พัฒนาตนเองบนหน้างานประจำ มีการจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพตามความถนัด


จากยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หน่วยวิชาคณิตศาสตร์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หากพิจารณาตั้งแต่ต้นแล้วจะเห็นว่าการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนเพลินพัฒนา มีแนวทางที่คล้ายๆ กัน หากแต่ช่วงหลังมีแนวทางและกระบวนการที่ชัดเจนขึ้น ทำให้นักเรียนและครูได้พัฒนาตนเอง เรียนรู้จากประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง


เรียบเรียงโดย

คุณครูโน้ต สุมนา  แทนบุญช่วย

๔๖๐๓๙

หัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชาคณิตศาสตร์


หมายเลขบันทึก: 532136เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2013 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2013 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วคิดถึงเพลินพัฒนามากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท