หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ...



การประพฤติการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนพากันลดมานะ  ละทิฏฐิ อย่าได้ถืออัตตา อย่าได้ถือตัวถือตน ให้ทุกคนเคารพในพระธรรม


ทุก ๆ คนนั้นน่ะ มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตนมาก แต่ส่วนใหญ่เราไม่รู้ตัว...

ถ้าเราเป็นคนมีความรู้มากก็ยิ่งมีอัตตาตัวตนมาก หรือเราบวชมาหลายพรรษา  เราก็ยิ่งมีอัตตาตัวตนมาก  หรือว่าเรามีการคลุกคลีกันเป็นหมู่เป็นคณะ เราก็พากันลืมตัว  ขาดการเคารพ ขาดการคารวะ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราตั้งไว้ในการเคารพ การคารวะ

ดูตัวอย่างพระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา  พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย เวลาท่านพูดด้วยกันท่านยังประนมมือทุกครั้งเลยนะ


ในพระวินัยน่ะ พระพรรษามากกว่ากันถ้ามีที่นั่งที่อื่นเค้ายังไม่ให้นั่งเก้าอี้ยาวเดียวกัน ต้องนั่งเก้าอี้อื่น ๆ อีก ถ้านั่งเก้าอี้ด้วยกันถือว่ายกตัวเสมอกัน ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องพระธรรมพระวินัย

บางทีพวกเราก็ลืมไปนะ บางทีเราพูดกับครูบาอาจารย์ เราก็ลืมประนมมือ  บางทีครูบาอาจารย์นั่งอยู่เราก็ยืนพูด บางทีหนักไปอีก สามเณรก็มานั่งเก้าอี้ยาว  ตัวเดียวกับพระ ทั้งที่ที่นั่งอื่นก็พอมีอยู่ แต่ทีนี้ก็ยังหนักอีก โยมก็มานั่งเก้าอี้เดียวกับพระอีก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราทิ้งพระธรรมพระวินัย เราพากันลืมตัว ขาดความเคารพ  ขาดความคารวะ

พระบางวัดเค้าไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยอย่างเคร่งครัด เจ้าอาวาสนั่งอยู่พื้น มัคทายกหรือว่าญาติโยมก็นั่งเก้าอี้ บางทีพระนั่งอยู่พื้นสามเณรก็นั่งบนเก้าอี้  ถ้าทำอย่างนี้ถือว่าขาดการเคารพ ขาดการคารวะ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสบอกเราทั้งหลายว่า “เราอย่าลืมตัวนะ” ยิ่งเราอยู่ใกล้  พระบวชก่อน หรือว่าท่านองค์นั้นเป็นครูบาอาจารย์ ต้องสำรวมระวังในกายวาจาใจ  เวลาท่านพูดกับแขกกับญาติกับโยมหรือว่ากับพระรูปอื่นนั้น ท่านก็ไม่ให้เราไปพูดแทรก  พูดสวนนะ ถ้าเราอยากพูดเราอยากเสริมให้เกิดความเข้าใจเราก็ต้องอดต้องทนเอา  นอกจากท่านขอให้เราพูด

เรื่องทิฏฐิมานะนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราลดมานะละทิฏฐิ เข้าได้กับทุก ๆ คน ถ้าเราเป็นคนถือทิฏฐิถือมานะ เราจะเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นเค้าไม่ได้ สาเหตุที่เราเข้ากับเค้าไม่ได้ก็เพราะว่าเราเป็นคนถือทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตน เราอย่าไปถือว่าเราดีกว่าเขา  เก่งกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าด้อยกว่าเขา เราต้องเป็นคนไม่มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน

คนที่ถือทิฏฐิมานะเขาจะมีโลกส่วนตัว ถือเงินเป็นพระเจ้านะบางคน

ดูประเพณีต่างประเทศบางประเทศ บ้านใกล้เรือนเคียงกันเค้าก็ไม่สนใจกัน เขาถือว่าเขามีความรู้มีความสามารถ มีเงินมีสตางค์ เวลาป่วยเค้าก็มีเงินไปหาหมอ “เขาถือทิฏฐิมานะอัตตาตัวตนจนเป็นประเพณีกันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งประเทศ...”

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราอย่าให้มีทิฏฐิมานะ อย่าให้มีอัตตาตัวตน ทุกคนต้องไม่ถือตัวถือตน ทุกคนต้องมีความรักความเมตตาความสงสาร

พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันพิจารณาตนเองนะ ว่าทำไมตนเองถึงเข้ากับคนอื่น  เค้าไม่ได้ ทำไมตนเองถึงเข้ากับคนอื่นยาก คบได้เฉพาะบุคคล มันจะเป็นเพราะเรามีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตนมากมั๊ย...?

เพราะว่าคนเรานี้นะ มันสั่งสมกรรมคือการกระทำมาตั้งหลายภพหลายชาติ  แต่ตัวเองไม่รู้ตัว แล้วก็ไปว่าคนอื่นไปโทษคนอื่นนะ ตามความเป็นจริงแล้วเรื่องคนอื่นนั้น  ไม่สำคัญหรอกนะ เรื่องคนอื่นก็เป็นเรื่องของเค้า ถึงอย่างไรเราก็ต้องมาแก้ที่ตัวเรา  มาแก้ที่ใจเรา มาแก้ที่กิริยามารยาทของเรา “ต้องหายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิให้ได้...”

คนเราทุก ๆ คนน่ะมันมีความอยากมาก มันมีทิฏฐิมานะมาก มีอัตตาตัวตนมาก  ทุกคนมันอยากรวยจริง ๆ มันโลภมากจริง ๆ มันต้องการมากจริง ๆ มันอยากจะได้แต่สิ่งที่ดีๆ ไม่ได้คำนึงถึงบาปบุญ คุณธรรม ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดีเรื่องชั่วเลย

พระพุทธเจ้าท่านบอกเราสอนเรา การที่เรามีความโลภ มีความอยาก มีความต้องการนั้น มันมีทุกข์ มันวิ่งเข้าหาความทุกข์ ท่านให้เราทุกคนพากันขยัน พากันเสียสละ พากันรักษาศีล ปฏิบัติศีล ถ้าเราขยัน เราเสียสละ เรารักษาศีล เราไม่ต้องการรวยมันก็รวยนะ เราไม่ต้องการบรรลุธรรมมันก็ได้บรรลุธรรม

เบื้องต้นให้พากันขยัน พากันเสียสละ พากันทำข้อวัตรปฏิบัติรักษาศีล ทำใจให้มันสงบ ทำใจให้มันเย็น เราไม่อยาก เราไม่โลภ ทุกอย่างมันจะดีเอง อย่าได้พากันเผาตัวเองนะ  ยังไม่ตายก็พากันเผาตัวเองแล้ว

เราพากันมาประพฤติปฏิบัติ ทำไปเรื่อย ๆ ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เราอย่าไปต้องการผลประโยชน์ ผลประโยชน์เราไม่ต้องการมันก็ได้อยู่แล้ว คนเราทำกรรมอย่างไรมันก็ได้รับผลของกรรมนั้น ๆ

ความชำนิชำนาญในการกระทำของเราแต่ละคนนั้นมันไม่เหมือนกัน...

ทุกท่านทุกคนพระพุทธเจ้าท่านให้เรากันดูตัวเอง ต้องหยุดตนเอง ต้องแก้ไขตัวเอง  ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะแก้ไขตัวเองไม่ได้ ถึงอย่างไรเราก็ต้องจัดการตัวเองให้ได้ อย่าปล่อยให้ตัวเองคิดผิด อย่าปล่อยให้ตัวเองทำผิด

การคิดผิดการทำผิดนี้คือการทำร้ายตัวเองนะ การทำร้ายคนอื่นมันก็ยังไม่บาปเท่ากับการทำร้ายตัวเองนะ การทำร้ายคนอื่นถือว่าบาปน้อยกว่าทำร้ายตนเอง ถ้าเราคิดผิด  เราพูดผิด เราทำผิดนี้แหละเป็นบาปมาก มันเจ็บมาก

ทุกท่านทุกคนพระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสมาธิที่แข็งแรง ถ้าสมาธิไม่แข็งแรงนี้ “ไม่ได้” สมาธินี้ต้องแข็งแรง ถ้าเราจะคิดผิดนี้ก็ “ไม่คิด” ให้มันตายดีกว่า ถ้าเราจะพูดผิดก็เหมือนกัน  “ไม่พูด” ให้มันตายดีกว่า ถ้าเราจะทำผิดนี้ก็ “ไม่ทำ” ให้มันตายดีกว่า

การประพฤติการปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาชีวิตเข้าแลกนะ  เราต้องตายจากบาปจากกรรม เราต้องตายจากสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกไม่ต้อง

เดี๋ยวนี้น่ะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับพวกเราว่า “พวกเรายังไม่ปฏิบัติเดินตามรอยพระพุทธเจ้า” เรายังชอบตามใจตัวเอง แล้วก็ยังชอบอารมณ์ของสวรรค์ ชอบความสุข  อยู่ดีกินดี สบายยยย มีเกียรติมียศ มีหน้ามีตา ถ้าเราเป็นญาติโยมก็พอที่จะให้อภัย  แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์องคเจ้า เป็นคุณแม่ชี้นี้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมเพื่อไปสวรรค์ หรือว่ายังยินดี  ในอามิสต่างๆ  พระพุทธเจ้าท่านถือว่ายังไม่ได้ตามเดินรอยของพระพุทธเจ้า ถือว่ายังไม่ได้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์

การประพฤติการปฏิบัติน่ะ เราทำไปสม่ำเสมอเหมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นตอนเช้า  แล้วก็ตกตอนเย็น ทำสม่ำเสมออย่างนั้น ไม่มีคำว่าขี้เกียจขี้คร้าน ไม่มีคำว่ามีอุปสรรคใด ๆ  ฝนจะตกแดดจะออก หน้าร้อนหน้าหนาวก็สม่ำเสมออยู่อย่างนั้น

การประพฤติการปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราทำสม่ำเสมอทุกวัน มันต้องดีขึ้นแน่นอน ถ้าเราทำดี ๆ วันนี้ พรุ่งนี้เราก็ต่อไปอีกมันก็ยิ่งดี ถึงพรุ่งนี้ก็ทำต่อไป วันต่อ ๆ ไปมันก็ยิ่งดี สม่ำเสมอไปเรื่อย


เราดูความขาดตกบกพร่องของเรา เรารู้เท่าทันกิเลสของเรา ความอยากของเรา ความผิดทางกายวาจาใจของเรา ถ้าเรารู้ทันเค้า เราก็มีโอกาสที่จะแก้ไขได้ไปเรื่อย ๆ นะ  ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จมันก็ต้องมีอยู่ที่นั่น โลกนี้จะไม่ว่างจากคุณธรรม  คุณงามความดีสำหรับผู้มีความเพียร

พระพุทธเจ้าท่านให้เราอดเราทน เราก็ต้องอดต้องทนนะ อดทนเอาถ้ามันจะตายก็ให้มันตาย “ถ้าเราไม่อดไม่ทน สมาธิมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อสมาธิมันไม่มี ปัญญามันจะมาจากที่ไหน...?” คนไม่มีสมาธินี้ปัญญามันไม่มีนะ ต้องอดทนไว้ก่อนขยันไว้ก่อน  เราจะทำพอเป็นพิธีนี้ไม่ได้นะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำจริง ๆ

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราสนใจว่าพระองค์นั้นปฏิบัติหรือเปล่า พระองค์นี้ปฏิบัติหรือเปล่า โยมคนนี้ปฏิบัติมั๊ยท่านไม่ให้สนใจอย่างนั้น เขาจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ช่างหัวเขา

เราพยายามฝึกตัวเราน่ะ อยู่กับตัวเองฝึกหายใจเข้าก็ให้มันสบาย ฝึกหายใจออกก็ให้มันสบาย อย่าไปสนใจอะไร ๆ ฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายอย่างเดียว เรานั่งสมาธิก็ฝึกหายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย เราเดินจงกรมก็ฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายอย่างเดียว

เราทำอะไรก็ฝึกลมหายใจนั่นแหละ ฝึกลมหายใจเข้าสบายออกสบาย เราจะได้ฝึก  อยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับหายใจเข้าสบายออกสบาย เพราะอันนี้เป็นการฝึกจิตฝึกใจ  ให้ใจของเรามันสงบ ใครจะไปใครจะมาใครอยู่เราก็ไม่ต้องไปสนใจ ฝึกอานาปานสติ  ฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายไปเรื่อย

เราทำไปเราก็อย่าไปสงสัยไปว่าฝึกหายใจเข้าสบายออกสบายมันจะได้อะไร เราจะได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับลมเข้าอยู่กับลมออกเพราะคนเราเวลาเจ็บไข้ไม่สบายมันจะไปวิ่งไปเที่ยวมันก็ไม่ได้หรอกนะ มันเหลือตั้งแต่ลมหายใจเท่านั้นแหละ

เมื่อเราไม่ฝึกหายใจเข้าสบายออกสบาย เราก็จะไม่มีเครื่องอยู่

การอยู่กับลมหายใจนี้ดีนะ ทำให้เราตัดสิ่งภายนอก ตัดโลกภายนอก ตัดดีตัดชั่ว ตัดสุขตัดทุกข์ออกจากจิตจากใจของเรา ตัดอดีตตัดอนาคต ไม่ได้ ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น มีแต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ

หายใจเข้าก็สบายหายใจออกก็สบาย มีความสุขมีความสงบอยู่กับลมเข้าลมออก  ให้สบาย

ฝึกเรื่อย ๆ ฝึกทุกวัน ฝึกจนใจของเราสงบใจของเราเย็น เป็นการพัฒนาจิตใจของเราให้เจริญ เป็นการพัฒนาจิตใจของเราให้ก้าวหน้านะ ถ้าใจของเราไม่สงบมันก็คิดแต่จะไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ คิดจะไปคุยกับคนโน้นคนนี้

เราอดเอาทนเอา เราไม่ต้องไปพูดไปคุยหรอกนะ เพราะเราพูดมามากคุยมามากแล้ว ไปมามากแล้ว เที่ยวมามากแล้ว มันไม่มีอะไรดีหรอก อารมณ์มันหลอกเราไปเฉยๆ  แต่เราก็ไม่รู้จักจดรู้จักจำ “เจ็บแล้วก็ไม่ยอมหลาบ...”

ฝึกจิตใจของเราให้มันหยุดให้มันสงบอย่างนี้แหละ เราอย่าไปคิดว่า เราต้องไปปฏิบัติ  ที่โน่นที่นี่ พระพุทธเจ้าท่านให้เราปฏิบัติที่จิตที่ใจของเรานี้แหละ

ความสงบมันไม่ได้อยู่ที่กายหรอกนะ เราไม่รู้จักความสงบเฉยๆ  เรากำลังหลงอารมณ์วิ่งตามอารมณ์ เมื่อเราไม่ทำตามอารมณ์ จิตใจของเรามันก็หยุด จิตใจของเรามันก็สงบ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนสนใจในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตัวเองนะ

วันหนึ่ง ๆ เราพยายามประพฤติปฏิบัติให้มันได้มากที่สุดนะ เราไม่ต้องให้ใครมาบังคับเรา เราต้องพยายามบังคับตัวเอง ที่เรามาอยู่วัดมาประพฤติปฏิบัติก็เพื่อให้สถานที่นั้นบังคับเรา เพื่อให้ครูบาอาจารย์บังคับเรา

พระพุทธเจ้าท่านให้เรายินดีในการฝึกตัวเองบังคับตัวเอง ไม่ต้องให้คนอื่นบังคับ คนเรามันต้องรับผิดชอบ กายมันโตแล้วใจก็ต้องให้มันโตด้วย ยังต้องให้เค้าบังคับตลอด  มันก็ไม่ถูก พยายามบังคับตัวเองเข้าหาเวลาเข้าหาข้อวัตร ต้องปรับตัวเองมาก ๆ

ทุก ๆ คนเค้าก็คอยดูเรานะในการประพฤติปฏิบัติของเราน่ะ อยากเห็นเราเป็น  ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ แม้แต่ตัวเราเองก็อยากเห็นตัวเองว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่ออยากเห็นตัวเองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัตินะ

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พ่อแม่ครูอาจารย์ที่ฝากมาให้เราทุก ๆ คนก็เห็นสมควรแก่เวลา ขอสมมติยุติไว้เพียงเท่านี้


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

ค่ำวันพฤหัสดีที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 531819เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2013 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2013 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คำสอนมีประโยชน์โดยแท้ครับ ท่านอาจารย์ ;)...

ขอบคุณที่แบ่งปันธรรมคติและวิถีปฏิบัติค่ะ....

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท