ไผ่สีทอง


ที่ห้องผมมีทั้งโทรทัศน์แล้วก็วิทยุ  ซึ่งแน่นอนว่าผมฟังวิทยุมากกว่า  ไม่รู้ว่าเพราะอะไร  อาจเป็นเพราะสมัยตอนเรียน ม. ปลายผมใช้ชีวิตอยู่กับวิทยุมากกว่าโทรทัศน์ก็เป็นไปได้  ความผูกพันกับคลื่นวิทยุต่าง ๆ ก็เลยเกิดขึ้น  ยังจำได้ว่าสมัยเรียน ม. ปลาย  ทุกวันที่

31 ธันวา  หรือไม่ก็วันศุกร์สุดท้ายของเดือนธันวา  หรืออาทิตย์แรกของเดือนมกรา  ผมจะต้องลุ้นอยู่ตลอดว่าคลื่นที่ผมชอบ  ดีเจที่ผมชอบจะหายไปหรือเปล่า  สิ้นปี 46 คลื่น Love Fm. (ฉบับดั้งเดิมที่มีเพลงยุค 60 ให้ฟังในวันอาทิตย์)  ก็หายไป  ผมฟังวันสุดท้ายของคลื่นนั้นทั้งวัน  รู้ว่าเศร้า  แต่ก็อยากเก็บไว้เป็นความทรงจำ  สิ้นปี 47 รายการ Morning Post พร้อมกับคลื่น 98.5 ก็หายไป  (ตอนนี้รายการนี้กลับมาอีกครั้ง  แต่เวลาก็น้อยลงมาก)  ณ เวลานั้นผมรู้สึกได้เลยว่าพื้นที่ของเพลงเก่า ๆ ที่ผมชอบบนหน้าปัดวิทยุก็น้อยลงไปทุกที


นอกเรื่องไปซะนาน  สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ไดอารี่ของผมฟังก็คือวิทยุช่วยเปิดโลกของผมให้กว้างขึ้น  ผมได้ย้อนกลับไปในอดีตผ่านเพลงเก่า ๆ ที่ผมชอบ  ได้รู้ว่าเพลงอะไรประกอบภาพยนตร์เก่า ๆ เรื่องอะไร  ผมเป็นคนที่ชอบดูหนังไทยเก่า ๆ อยู่แล้ว  ฉบับที่เป็นเสียงภาค  หรือมีดนตรีแบบเก่า ๆ ส่วนมากหนังที่ผมชอบดูจะเก่ากว่าปี 2540 ก็ชอบฟังเพลงเก่านี่ครับ  เลยน่าจะชอบดูหนังเก่า ๆ ด้วย  ถึงจะเข้ากัน  เพราะเพลงหลายเพลงก็เป็นเพลงประกอบหนัง  ฟังแล้วทำให้เราอยากหาหนังเรื่องนั้น ๆ มาดู


สองสามวันก่อนได้ฟังเพลง "รักตรึงใจ"  ของคุณสกาวเดือน  หอรุ่งเรือง  ดีเจคลื่นวิทยุบอกว่าเพลงนี้ประกอบหนังเรื่อง "ไผ่สีทอง"  ผมชอบเพลงนี้  เลยพยายามหาหนังเรื่องนี้มาดู  แล้ววันนี้ผมก็ต้องขอบคุณ youtube ตลอดจนผู้ที่ upload หนังไทยรุ่นเก่า ๆ ไว้สร้างความบันเทิงให้กับผม  เพราะหนังพวกนี้หาดูยากเหลือเกิน


"ไผ่"  เป็นเด็กกำพร้า  ไม่รู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองคือใคร  แต่ก็สู้ชีวิตจนได้มาเรียนมหาลัยในกรุงเทพ  ต้องทั้งทำงานแล้วก็เรียน  งานที่ทำตอนแรกก็เป็นคนขับรถแท็กซี่  แต่จริง ๆ แล้วไผ่มีความฝันอยากเป็นนักประพันธ์  โดยเริ่มต้นจากการทำงานเป็นนักพิสูจน์อักษร  แล้วไผ่ก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านของเจ้านาย  ที่นั่นเอง  ไผ่ได้รู้ว่าเจ้านายของเขาเป็นพ่อของ "นิด"  เพื่อนร่วมมหาลัย  ไผ่ตั้งใจจะเขียนเรื่องยาวเรื่องแรก (เรื่องหมึกสีดำ)  ให้เสร็จที่นี่  ถึงตรงนี้ไดอารี่ของผมคงรู้แล้วว่าไผ่แอบรักนิด  ซึ่งตอนแรกก็เป็นแค่ความฝันเพราะฐานะที่ต่างกัน  แต่สุดท้ายนิดก็มีตัวตนในความเป็นจริง  เพราะนิดก็รักไผ่เช่นกัน  แต่เรื่องก็พลิกผันไปเพราะความวู่วามของไผ่เอง  ไผ่เข้าใจผิด  คิดว่าลูกพี่ลูกน้องที่มาจากอเมริกาเพื่อมาเยี่ยมนิดนั้นเป็นแฟนกับนิดและจะพานิดไปอยู่อเมริกา  ไผ่ย้ายออกไปโดยไม่ยอมฟังอะไร  ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้  (ผมมองไม่เห็นเลยไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน)  แต่ฟังจากเสียงโดยรอบคงไม่ใช่ที่ที่สบายแน่นอน  ไผ่กลายเป็นคนติดเหล้า  สุดท้ายเพื่อนที่กรุงเทพก็เอาความจริงไปบอกไผ่  แต่ก็สายไปซะแล้ว  เพราะไผ่เริ่มเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง  (น่าจะเป็นโรคเดียวกับฟักในเรื่องคำภิภากษาซึ่งอาจมีโรคอื่นเช่นโรคมะเร็งตับอะไรพวกนี้ร่วมด้วยก็ได้)  เขาเขียนเรื่องหมึกสีดำเสร็จเรียบร้อย  และได้รับรางวัล  วันที่นิดไปหาไผ่เพื่อเอารางวัลไปให้  เป็นวันสุดท้ายของชีวิตไผ่  ไผ่ขอให้นิดร้องเพลง "รักตรึงใจ"  ให้ฟัง  ฉากนี้เองที่ทำให้น้ำตาที่ผมพยายามกลั้นมาทั้งเรื่องมีอันต้องไหลออกมา  นิดร้องเพลงด้วยเสียงสั่นเครือ  ทำให้ผมอินจนร้องไห้ไปด้วย  เพลงยังไม่ทันจบ  ไผ่ก็หมดลมหายใจ  แล้วเรื่องนี้ก็จบลง  เพลงนี้เป็นตัวดำเนินเรื่องตลอดทั้งเรื่อง  แต่แต่ละช่วงเวลาในเรื่อง  ฟังเพลงนี้ก็จะให้อารมณ์ที่ต่างกัน  ครั้งแรกก็ได้อารมณ์คนที่แอบรัก  แต่สุดท้ายก็ได้อารมณ์เศร้า


เรื่องนี้ทำให้ผมเห็นประโยชน์ของการเป็นคนใจเย็น  ไม่วู่วาม  (ผมก็ใจเย็น)  เพราะมันเป็นเครื่องยืนยันได้แน่นอนว่าผมคงไม่ต้องเป็นเหมือนไผ่  หากไผ่ฟังนิดและไม่เข้าใจผิดกัน  ทั้งคู่ก็คงแต่งงานกันและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขไปแล้ว


ไดอารี่ของผมครับ  ทุกครั้งที่ดูหนังเศร้า ๆ ผมจะมีอารมณ์ที่อธิบายไม่ถูก  หลังจากที่ร้องไห้กับหนังเรื่องใดไป  ผมก็จะอินจนเศร้าไปพักนึง  แต่พอได้เขียนออกมาเป็นตัวอักษร  อย่างน้อยก็มีผู้ที่รับรู้เรื่องนี้แล้ว  เหมือนกับเรามีคนที่รับฟังเรา  ความเศร้าก็จะค่อย ๆ หายไป  มันหายไปเพื่อรอหนังเรื่องใหม่ที่จะมาเรียกน้ำตาของผมอีกครั้ง



ปล. เรื่องนี้ผมเขียนไว้ในไดอารี่เมื่อหลายเดือนก่อน  วันนี้มารู้จักสถานที่แห่งนี้  เลยอยากเอามาแบ่งปันให้ผู้อ่านทุกท่าน  สิ่งที่ผมไม่แน่ใจก็คือ ณ ตอนที่ท่านได้อ่านเรื่องนี้  ยังจะสามารถหาหนังเรื่องนี้ดูจาก Youtube ได้หรือเปล่า



หมายเลขบันทึก: 531567เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2013 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท