บันทึกวันพักร้อน จากเยาวชนคนละคร



มีโอกาสได้ติดตามงานเยาวชนจากโครงการ “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ทั้งจากโลกออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ชุมชนละคร http://www.plian.in.th ,เครือข่ายนักละครชุมชนใน “Facebook ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” กระทั่งมิติออฟไลน์จากเทศกาลงานต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั้งหมดเป็นหลักฐานทำให้รู้ว่าแม้ระหว่างที่ โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีพี่เลี้ยงคือกลุ่มสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จะพัก (ชั่วคราว) หลังจบโครงการในระยะที่4(ธันวาคม 2555 –กุมภาพันธ์ 2556ไป แต่หัวใจของเยาวชนที่รักศิลปะด้านการสื่อสารอย่างละครชุมชนมิได้หยุดนิ่งตาม


งานแรกที่แบ่งความประทับใจเริ่มจาก กิจกรรมแบ่งปันสร้างสุขสำหรับทุกวัย ในชื่องาน "สามแพร่ง facestreet" ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 16-17 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้นอกจากจะมีแก่นหลักคือการเปิดประวัติศาสตร์ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพผนึกเข้ากับศิลปะร่วมสมัยแล้ว เวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้นักละคร ทั้งละครข้างถนน ละครเร่ ละครหุ่น ละครใบ้ ละครเงา จากเครือข่ายละครกรุงเทพฯ นิทานคิดแจ่มจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ละครหุ่นมือพระจันทร์เสี้ยวการละคร ฯลฯ เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง และแน่นอนว่าเยาวชนจากโครงการละครเปลี่ยนแปลงก็ไม่พลาดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนๆจากทีมข้าวนึ่ง, ทีมละครเชียงดาว, ทีมตะขบป่า, ซิบการละคร สมาชิก ต่างขนมุกการแสดงมาใส่กันแบบไม่ยั้ง 


น้องคนหนึ่งในกลุ่มละครเชียงดาว บรรยายความรู้สึกในกระดานข่าวของชุมชนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะท้อนความรู้สึกครั้งนี้ว่า  “ดีใจที่คณะละครข้าวนึ่งเชียงดาว เข้ามาร่วมงานที่กรุงเทพ พื้นที่นี้ดีจังนับว่าเป็นงานที่มีความหลากหลายทางศิลปะเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น ละคร ดนตรี วาดรูป งานฝีมือ ละครหุ่นเงา ละครหุ่นเชิด ฯลฯ เยอะแยะมากมายจนเลือกดูไม่หมด เมื่อเรากลับมาทบทวนชื่อของงานอีกครั้ง "พื้นที่นี้ดีจัง" เราว่ามันตอบโจทย์ นอกจากเรานำผลงานของเราออกมาสู่สายตาสังคมแล้ว เรายังได้เปิดตาชื่นชมผลงานของคนอื่น ซึ่งเรารู้สึกว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นเวทีให้ศิลปินทั้งหลายมาแชร์กัน และนำสิ่งที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับงานศิลปะของตัวเอง และหลังจากงานเลิกเราเชื่อว่าทุกคนไม่ได้กลับตัวเปล่า แต่ทุกคนกลับไปพร้อมกับความเหนื่อยล้าที่อิ่มเอมใจ”


หรือยังขาประจำอย่างกลุ่ม “มะนาวหวาน” จ.สงขลา ที่มี “เอียด”สิทธิพงศ์ สังข์เศรษฐ์ ก็ไม่พลาดที่จะนำเรื่อง “ครูย้อย” ที่บอกเล่าความเป็นไปในชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา มาเล่าให้กับผู้สนใจ กลางกรุงเทพให้ได้รับทั้งสาระและความบันเทิงไปคราเดียวกัน  พื้นที่งาน "สามแพร่ง facestreet" จึงเป็นที่รวมตัวของกลุ่มนักละครเยาวชน (อีกครั้ง) โดยไม่ได้นัดหมาย อีกประเด็นที่น่าสนใจคือสังเกตได้ถึง “ความคิด”ที่วันนี้แต่ล่ะคนล้วนเติบโตขึ้น ซึ่งแน่ว่าปรากฎให้เห็นในงานของพวกเขา ตัวอย่างจากทีม “ตะขบป่า” จ.นครราชสีมา เจ้าของผลงานเรื่อง “ดงพญาไฟ”ที่ก่อนหน้านี้บอกเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเมื่อพัฒนาไปถึงระดับที่พอใจแล้ว พวกเขาผลิตละครเรื่องใหม่ทันทีภายใต้ชื่อว่า “ทุกข์ขัง” เปรียบเหมือนว่าหลังสำรวจและตั้งคำถามกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปแล้ว หนนี้พวกเขากลับมาสู่การตั้งคำถามในจิตใจตัวเอง และผูกโยงเข้ากับหลักความคิดทางศาสนา ชวนคนดูตั้งคำถามกับตัวเองไปพร้อมๆกันด้วย


งานละครของพวกเขาจึงเติบโตไปอีกขั้น ไม่รวมไปถึงกระดานข่าวชาวชุมชนละคร http://www.plian.in.th ที่เผยแพร่งานของกลุ่มมะขามป้อม ที่หนนี้ยกพลไปจัดแสดงละคร “เรื่องเงาะ” และร่วมกระบวนการฝึกซ้อมกับเยาวชนต่างชาติกันถึงประเทศฮ่องกง ดังนั้นหากกลับมาจงอย่าแปลกใจเมื่องานของพวกเขามีมิติที่มากขึ้นกว่าเดิมไปอีก ระหว่างที่กิจกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงพักร้อน (ชั่วคราว) ดูเหมือนพวกเขาจะไม่เลือกที่จะอยู่นิ่ง ซ้ำยังมุ่งพัฒนาตัวเองไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา

หมายเหตุ ภาพจาก Facebook ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง


หมายเลขบันทึก: 531439เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2013 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2013 07:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท