จุดยืนในการดำรงชีวิต...


ทุกท่านทุกคนต้องเบรกตัวเอง ต้องหยุดตัวเอง ปัญญาชนทั้งหลายนี้มันตายน้ำตื้นนะ มันตั้งอยู่ในความประมาท ถึงเวลานอนก็ไม่นอน ถึงเวลาทำงานก็ไม่ทำ มันติดมันหลง หลงทั้งคนใหญ่หลงทั้งคนเล็ก มันต้องหยุดตัวเองเบรกตัวเองนะ ทุกคนมันก็มีความอยาก มีความต้องการแต่มันต้องหยุดตัวเอง ตัดใจตัวเอง ฝืนตัวเอง ทนตัวเองไว้นะ


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุก ๆ คนให้พากันปฏิบัติธรรม เพราะชีวิตประจำวันของเราส่วนใหญ่เราไม่ได้ปฏิบัติธรรม เราพากันปฏิบัติตามจิตตามใจของตนเอง หรือว่าตามที่เราได้ประสบการณ์มาจากคุณพ่อจากคุณแม่จากเพื่อนฝูงจากครูบาอาจารย์ จากการที่เราได้เรียนรู้ค้นคว้า บางทีมันก็ถูกต้องตามธรรม บางทีมันก็ไม่ถูกต้องตามธรรม


พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเราทุก ๆ คนว่า "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส"  นี้เป็นโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ชีวิตเราทุก ๆ คนต้องมีหลักการต้องมีจุดยืนในการดำรงชีพ ท่านถึงให้เราทุก ๆ คน  เดินตามอริยมรรคคือหนทางอันประเสริฐ อันจะนำเราทุก ๆ คนเข้าสู่ความสุขความดับทุกข์ทั้งทางกายทางใจโดยอย่างเดียว ซึ่งก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลนั้นคือองค์พระพุทธเจ้า ศีลนั้นคือองค์พระธรรม ศีลนั้นคือองค์พระสงฆ์ ศีลนั้นได้แก่ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ถ้าเราเห็นคุณเห็นประโยชน์ในศีล ก็คือเห็นคุณ  เห็นประโยชน์ในพระพุทธเจ้า ที่เราทุก ๆ คนยังไม่รักศีล ยังไม่ชอบศีล ยังไม่ปรงใจในการรักษาศีลนี้คือ “เราพากันง่อนแง่นคลอนแคลนต่อคุณพระรัตนตรัย...”

พระรัตนตรัยได้แก่คุณธรรม คุณงามความดีที่จะนำเราสู่ความสุขความดับทุกข์

เราพากันกลัวศีล คิดว่าการรักษาศีลนั้นมันเป็นการลิดรอนสิทธิของเรา มันเป็นการขัดขวางการทำมาหากิน ขัดขวางการดำรงชีพของเรา เราพากันคิดอย่างนี้พระพุทธเจ้า  ท่านตรัสว่าเรามีความคิดเห็นผิด เข้าใจผิด

ศีลนั้นน่ะจะมาช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นมนุษย์...

มนุษย์แปลว่าผู้มีจิตใจสูง มนุษย์แปลว่าผู้ที่ทำแต่ความดี ถ้าเราเป็นคนอย่างนี้เราก็ทำทั้งดีทั้งชั่ว สะเปะสะปะ ไม่มีหลักการไม่มีจุดยืน เป็นคนไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์

ศีลจึงมาช่วยเราไว้ เพราะในโลกนี้ทุก ๆ คนนั้นรักคนผู้มีศีล ตัวเราก็รักเคารพ เพื่อนเราก็รักเคารพ พ่อแม่ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลก็รักเคารพคนมีศีล โดยเฉพาะตัวเรานี้เองสำคัญกว่าคนอื่น ถ้าเราเป็นคนมีศีลชื่อว่าเราเป็นคนรักเคารพตัวเอง เป็นคนช่วยเหลือตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

การรักษาศีลนี้นะถึงแม้มันจะขัดใจเรา ขัดอาชีพเราอะไร ๆ นี้ แต่มันก็ดีนะ ใจเรามันจะได้สงบ ใจเรามันจะได้เย็น

ศีลแปลว่าเป็นผู้ที่มีเมตตา เมตตาเยอะ ๆ เมตตามาก ๆ นะ รักคนอื่นสงสารคนอื่น ยินดีกับคนอื่นที่เค้าได้ดี เวลามันช่วยเหลือเขาไม่ได้ก็รู้จักอุเบกขาวางเฉย เพื่อจะไม่ให้ตัวเองมีทุกข์


ศีลนี้แปลว่าเป็นผู้อิ่ม ผู้พอ มีสตางค์มากก็พอ มีสตางค์น้อยก็พอ หรือไม่มีเลยก็พอ  เป็นผู้มีความสุข เป็นผู้ที่มาแก้ที่จิตที่ใจของตัวเองนะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะตั้งอยู่ ไม่ว่าอะไรจะดับไปก็เป็นผู้ที่รับได้ในประสบการณ์นั้น ในเหตุการณ์นั้น ๆ เพราะทุกอย่าง  ที่เกิดในชีวิตประจำวันของเราทุก ๆ คนเราจะไปเลือกไม่ได้ แล้วแต่อะไรมันจะเกิด

เป็นผู้ที่รู้จักรู้แจ้งโลก ไม่วิ่งตามความคิด ไม่วิ่งตามอารมณ์ ไม่วิ่งตามความอยาก  เป็นผู้ที่รู้จักพอนะ เป็นผู้ที่มีเศรษฐกิจพอเพียง คือมาเน้นที่จิตที่ใจของตัวเอง เพราะคนเราน่ะเป็นมหาเศรษฐีมันก็ไม่มีความสุขถ้าใจไม่สงบ ใจไม่รู้จักพอ เพราะเรามันชอบไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ว่าคนนั้นเขาร่ำเขารวย คนนั้นเขามียศถาบรรดาศักดิ์ เราไปเอาวัตถุเป็นที่ตั้ง  เอาลาภยศสรรเสริญเป็นที่ตั้ง สิ่งเหล่านั้นมันไม่ดีเลยนะ

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราสงบ เย็น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นผู้อิ่มผู้พอ  เป็นผู้มีความสุข  “เราพอใจในการเป็นผู้ให้ พอใจในการที่เสียสละ พอใจในการทำงาน  ไม่เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน”

คนเราน่ะถ้าเป็นคนที่เสียสละ เป็นคนขยัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันมีความสุข  ชีวิตของคนเราที่เกิดมามันมีความทุกข์มีความยากลำบากก็เพราะเป็นคนไม่เสียสละ  เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน

ทุกคนน่ะไม่อยากทำงาน อยากอยู่สบายกินสบาย หรือทำงานก็ทำงานให้มันง่าย ๆ สบาย ๆ ต้องติดแอร์ ต้องเป็นคนใช้เป็นคนสั่งคนอื่น อยากเป็นเถ้าแก่ อยากเป็นคุณหมอ  ไม่อยากถูกแดดถูกลม ไม่อยากทำเกษตรกรรม ไม่อยากทำอาชีพที่หนัก อย่างนี้นะ  ทุกคนคิดอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนเสียสละ ให้ทุกคนเป็นคนขยัน ถ้าเราเป็นคนเสียสละ  เป็นคนขยัน เป็นคนมีความสุขในการทำงานทุกคนจะรักเรา ทุกคนจะเมตตาเรา ทุกคนอยากจะเป็นเพื่อนกับเรา เพราะเรานี้มีประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวม ต่อสังคมประเทศชาติ

พระพุทธเจ้าท่านถึงให้ทุกคนเพิ่มความขยัน เพิ่มความรับผิดชอบ เป็นคนมีระเบียบ  มีวินัย มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ ที่เราเกิดมาแล้วมีความบกพร่อง  ก็เพราะสิ่งเหล่านี้แหละที่เราไม่ได้ปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  เอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อารมณ์ตัวเอง เอาแต่ความขี้เกียจขี้คร้านเป็นใหญ่เป็นหลัก พระพุทธเจ้าท่านสอนเราอย่างนี้นะ

นิสัยใจคอของเราน่ะมันติดมานานแล้ว ท่านให้เราพากันเข้าใจแล้วก็พากันมาแก้ไข  ถ้าเราไม่แก้ไขใครเค้าจะมาแก้ไขให้เรา มาปฏิบัติให้เรา ถ้าเราปล่อยไปนานปัญหามันก็ยืดเยื้อ มันเป็นไม้แก่ดัดลำบาก มันเป็นเรือลำใหญ่วิ่งในคลองเล็ก ๆ มันกลับตัวไม่ได้


ทุกคนถือว่าโชคดีมีพระพุทธเจ้า โชคดีมีพระธรรมคำสั่งสอน โชคดีมีพระอริยสงฆ์   ที่จะให้เราระลึกนึกถึงแล้วก็ปฏิบัติตาม แก้ไขปรับปรุงตัวเอง

คนเราน่ะทำความดีมันไม่ตายหรอก มันจะตายก็ตายเพราะคิดมากปรุงแต่งมาก  หาแต่วิธีร่ำวิธีรวยแต่ไม่อยากประพฤติไม่อยากปฏิบัติ ไม่อยากเสียสละ มีแต่จะพากัน  เดินทางลัด ซื้อหวยซื้อเบอร์ซื้อล็อตเตอรี่อะไรกันนะ คิดหาวิธีที่จะรวย แต่ไม่ได้คิดที่จะกลับมาแก้ไขตัวเองเพื่อเป็นคนมีศีล เพื่อเป็นคนที่มีความสุขในการเสียสละ

คนเราน่ะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าพากันแต่งหน้า แต่งตา แต่งตัว แต่งบ้าน แต่ก็พากันลืมแต่งจิตแต่งใจ แต่งกิริยามารยาท แต่งคำพูด ปรับปรุงคำพูด

คนเรามันต้องพัฒนากลับมาหาตัวเอง กลับมาแก้ไขตัวเองนะ พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น

เราอย่าไปโทษคนอื่น อย่าไปโทษสิ่งอื่น มันไม่ถูกต้องมันไม่ยุติธรรม เพราะว่าทุกสิ่ง  ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากกายวาจาใจของเรา ผลที่ออกมานั้นคือกรรมคือการกระทำของเรา ท่านถึงให้ทุก ๆ คนพากันกลับมาหาศีลหาธรรม พากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม  ถึงแม้มันจะเหนื่อยยากลำบากเพราะตัวเองต้องปรับตัวเอง ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศลให้ถึงพร้อม

ต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา คนเรามันชอบตื่นสายมันก็ต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา  ต้องตื่นแต่เช้าอย่าไปสนใจเรื่องความสุข ความขี้เกียจขี้คร้านมันเป็นอุปสรรคที่มาขัดขวาง  ให้เราผิดเพี้ยนไม่ตรงต่อเวลา

เวลานี้คือความจริงคือสัจธรรม เวลาเค้าไม่ได้รอคนนอนสบายนอนตื่นสาย  เค้าไม่เปิดโอกาสให้เราไปพูดไปคุยไปเล่นกับเพื่อนกับฝูง ไปสรวลเสเฮฮา เวลาเค้าก็เป็นเวลา เค้าก็ทำหน้าที่ของเค้าอย่างถูกต้อง ไม่เป็นไปตามใจใคร

เราต้องปรับนะ ปรับที่จิตที่ใจของเรา ต้องฝืนต้องอด ต้องทน ความอดความทนนั้นน่ะ ความฝืนนั้นเค้าเรียกว่าเป็นโอวาทปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่ามันจะคับแค้นใจ  มันจะอึดอัดเราก็ต้องอดทนต้องทน ถ้าไม่อดไม่ทน เราก็ไม่มีสติไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ต้องอดต้องทน ต้องฝืน ต้องเพียร พยายามปรับปรุงที่ตัวเรา ถึงจะได้ชื่อว่าเรารักตัวเอง เมตตาตนเอง เพื่อจะเพิ่มเรทติ้งของความเป็นมนุษย์ให้กับตัวเอง


ความเมตตาของเราทุก ๆ คนน่ะให้เราทุก ๆ คนมีเมตตามาก ๆ เมตตาคนอื่นสงสาร  คนอื่น เพราะในชีวิตประจำวันของเราน่ะ เรามีเมตตาน้อย น้อยมาก ๆ มันเลยอยู่ด้วยความเครียด ไม่มีความสุข เมตตาตนเองโดยนำตัวเองเข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม  เมตตาคนอื่น ๆ เขา

“ทุก ๆ คนก็ไม่อยากทำชั่ว ไม่อยากเป็นคนนิสัยไม่ดี ไม่อยากเป็นคนเห็นแก่ตัว”  ก็ให้เราคิดอย่างนี้ ถ้าเราไปเอาแต่ความสุข ความทุกข์เราจะเอาไปทิ้งไว้ไหน เพราะความสุขมันก็เป็นเรื่องกายของเรา เป็นเรื่องใจของเรา ความทุกข์มันเป็นเรื่องของกายของเรา  เป็นเรื่องใจของเรา

พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราปรับที่ใจของเรา ให้ใจของเรามีเมตตา ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ เป็นความแก่ เป็นความเจ็บ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามปรารถนาของเรา เป็นสิ่งที่จะต้องพลัดพราก อันนี้เป็นสมบัติของเราที่เราเกิดมาได้โลกนี้  เราก็ต้องได้รับสิ่งเหล่านี้เพราะมันเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ เราต้องรักเค้าชอบเค้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะตั้งอยู่ อะไรจะดับไป ถ้าเราไม่พอใจในความแก่ความเจ็บความตาย  ความพลัดพราก เราก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นคนขวางโลก “เพราะอาทิตย์มันขึ้น  ทางตะวันออกตกทางตะวันตก เราจะให้มันขึ้นทางตะวันตกแล้วก็ตกทางตะวันออก  มันเป็นไปไม่ได้”

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำจิตทำใจให้มันสงบ เย็น มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะ  พลัดพรากก็ช่างหัวมัน พยายามมาแก้ที่จิตที่ใจของเราให้ใจของเรามีความสุข ให้เรากินได้นอนหลับ ไม่ต้องไปคิดมาก คิดมากมันบาป คิดมากมันไม่มีประโยชน์ คิดมากมันทำให้เราเป็นโรคประสาท เราคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องไปคิด ฝึกเจริญเมตตาทั้งตัวเองและคนอื่น  พระพุทธเจ้าท่านเมตตาตรัสบอกเราอย่างนี้นะ

เรื่องคำพูดนี้สำคัญ เรื่องคำพูดนี้พระพุทธเจ้าท่านให้เราปรับปรุงคำพูด

ถือว่าคำพูดของเราทุก ๆ คนยังไม่ค่อยจะได้มาตรฐาน ท่านให้เราคิดก่อนพูด  ตั้งเจตนาไว้ให้ดีว่าคำพูดของเรานี้จะเอามาทำประโยชน์ให้กับตัวเองให้กับคนอื่น  

คำพูดของเราต้องให้มันมีแต่คุณ จะไม่เอาของไม่ดี ของเน่าของเสีย หรือว่าเอาลูกระเบิดออกจากคำพูดของเรา จะพยายามพัฒนาคำพูด แต่ก่อนน่ะเรามันถือว่าเป็นโรคประสาท มันอยากพูดอะไรก็พูดไปเลย ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา พูดจนเคยชิน  คนอื่นเค้าแย่แล้ว เค้ารับไม่ได้ แต่ตัวเองก็ว่าตัวเองปกติ ว่าตัวเองพูดออกจากจิตจากใจ  เราจะไปถืออย่างนั้นไม่ได้เพราะใจของเราไม่ใช่ใจของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ใจพระอรหันต์  ใจเรามันยังมันเป็นใจอันตรายอยู่ ใจที่จะต้องพัฒนาขัดเกลา

คำพูดนี้สำคัญมาก คนเราน่ะถ้าเราพูดดี พูดมีศีลมีธรรมทุกคนรักเรา อยากเป็นเพื่อนกับเรา เพราะทุกคนต้องการที่พึ่ง ต้องการเพื่อน

ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมทั้งหลายทุก ๆ คน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าต้องพากันปรับปรุงคำพูดของตัวเอง อย่าไปอายอย่าไปกระดากที่ฝึกพูดดี ๆ ทั้งน้ำเสียงทั้งกิริยามารยาท ให้ตั้งเจตนาที่จะฝึกตนนะ เพราะการพูดนี้สำคัญมาก แม้แต่เราจะพูดดี พูดเพราะ พูดสุภาพ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราพูดมากเกิน ถ้าเราพูดมากเกินเห็นหน้าใครก็มีแต่จะพูด ใครเค้าจะอยากมา  เป็นเพื่อนกับเรา เพราะเค้าเจอหน้าเราเค้าไม่ได้พูด มีแต่เราเป็นคนอื่น เราต้องสงบสติ  สงบอารมณ์ รู้จักฟังคนอื่น ให้คนอื่นเค้าได้พูดบ้าง ให้เค้าได้มีความสุขในการพูดบ้าง


คนฉลาดต้องรู้จักหยุดนะ อย่าไปพูดมากเกิน...

คนเคยพูดมากไม่ได้พูดมันก็แน่นหน้าอกนะ แน่นหน้าอกก็ไม่เป็น ให้มันมีเบรก มีสติ  มีสมาธิเสียบ้าง มันจะได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้าง มันจะได้อยู่กับตัวเองอยู่กับการงานบ้าง  มันอยู่ก็แต่พูด มันอยู่ก็แต่คุย มันอยู่ก็แต่เพื่อน มันอยู่กับตัวเองอยู่กับความสงบไม่เป็น  ใครพูดมากเกินพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำใจให้มันสงบ มันจะได้ไม่ต้องพูดมากเกิน

ถ้าเราไม่ได้พูดมากเราคิดว่าเราจะอยู่ได้อย่างไร...?

พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราอยู่กับการไม่พูดนั่นแหละ อยู่กับหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบายก็ได้ ถ้าเราพูดมากเกินมันก็ไม่ขลังค์ ไม่ศักดิ์ ไม่สิทธิ์ ความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของเรา  มันก็ไม่มี มันเป็นน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลง เหมือนภาษิตเค้าว่า

ถ้าเราไม่ฝึกตัวเองไม่พัฒนาตัวเอง ยิ่งแก่ไปเราก็ยิ่งมีปัญหานะ ลูกก็ไม่รักเรา  หลานก็ไม่รักเรา เค้าไม่ภูมิใจกับเรา เค้าไม่อยากอุปัฏฐากเค้าไม่อยากอยู่ใกล้แล้ว  เพราะเราเป็นกองเพลิง เป็นระเบิดที่จะบอมเค้า ที่จะจัดการเค้า เราเลยเป็นคนที่เข้ากับ  คนอื่นได้ยากลำบาก

บางคนก็น่าสงสารนะ เกิดมาก็เป็นคนเก่งคนฉลาดแต่เสียเพราะเป็นคนปากระเบิด  พูดขวานผ่าซากตรงไปตรงมา “คำพูดชอบเป็นฟ้าผ่าตอนกลางวันที่แดด ๆ นะ...”

ข้อนี้สำคัญ พระพุทธเจ้าท่านให้ทุก ๆ คนกลับไปแก้ตัวเอง อย่าไปเข้าข้างตัวเองนี้ใช้ได้ ว่าตัวเองมันเก่งมันพอตัวแล้ว

ความดีน่ะมันต้องดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งกาย ทั้งกิริยามารยาท กิริยามารยาทนี้ก็สำคัญ  เราฝึกกิริยาของเราอ่อนน้อมถ่อมตน ละมุนละไม มีความเชื่อมั่นในความดี มีความเชื่อมั่น  ในการกระทำของตน

กิริยามารยาทมันต้องเข้ากับผู้หลักผู้ใหญ่ได้ มันต้องเข้ากับเพื่อนได้ มันต้องเข้ากับคนผู้น้อยได้ มันต้องเข้าได้กับทุก ๆ คน ที่เราเข้าไม่ได้ก็เพราะเราเป็นคนมีทิฏฐิมีมานะ กิริยามารยาทของเรามันแข็งกร้าว มันก้าวกร้าว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นคนที่ไม่น่ารัก มันเข้าได้เฉพาะบางคน ต้องเข้าได้กับทุก ๆ คนกิริยามารยาทของเรา เพียงแต่เราอย่าไปทำ  ไม่ดี ความดีของเราต้องตั้งไว้ตลอด บางคนต้องการเข้ากับคนอื่นเค้าได้ เราไปทำชั่วเหมือนเค้าทำไม่ดีเหมือนเค้าเพื่อที่จะเข้ากับเค้าได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอันนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง มันทำให้เรทติ้งของเราตก “ให้ทุก ๆ คนเข้าใจว่าเราเป็นคนดีเป็นคนมีคุณธรรม  ก็ยังมาพูดกับคนที่ไม่ดีคนที่ไม่มีคุณธรรม”

นี้เป็นการเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เป็นการเดินตามรอยของพระบาทสมเด็จ  พระเจ้าอยู่หัว ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่แบ่งสีแบ่งพวก มีความเมตตากับทุก ๆ คน  เพราะทุก ๆ คนก็เป็นคนที่กำลังพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีจิตใจสูงกันทุก ๆ คน

พระพุทธเจ้าของเราท่านให้เราทุก ๆ คนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อย่าประมาทพลาดพลั้ง อย่าไปเผลอเลอ ให้ปรับจิตปรับใจปรับกายวาจาตลอดเลยนะ เดี๋ยวมันจะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะว่าปฏิปทาที่เราประพฤติปฏิบัติมันจะจำแนกเราไปในทางที่ดีเอง เราไม่อยาก  มันก็ได้ เพราะว่ามันจะเปลี่ยนแปลงเรา ให้เราทำไปปฏิบัติไป ความประมาทนี้ทำให้เราเสียหายนะ ประมาทนิดเดียวก็ทำให้ผิดพลาดนิดเดียว ประมาทมากก็ทำให้ผิดพลาดมาก

เราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ว่าความคิด ความคิดไหนไม่ดีก็อย่าไปคิดมัน  คำพูดไหนไม่ดีก็อย่าไปพูดมัน กิริยามารยาทอันไหนไม่ดีไม่เข้าท่าก็อย่าไปทำมัน  จะไปโน่นมานี่ก็ต้องดูให้ดี ๆ ไม่ใช่ใครชวนไปไหนหรือว่าอยากจะไปไหนก็ไป เป็นคนไม่หนักไม่แน่น ตั้งอยู่ในความประมาทมากเกิน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนี้มันไม่ดีนะ

ไม่ว่าการใช้เงินใช้สตางค์ของเรา เราก็ต้องระมัดระวัง ไม่ว่าอย่างนั้นเงินเดือนเรามากเท่าไหร่มันก็ไม่พอ เพราะเราตั้งอยู่ในความประมาท เราคิดไม่เป็นวางแผนไม่เป็น เค้าเรียกว่าเป็นคนลืมเนื้อลืมตัวลืมตน ลืมพ่อลืมแม่ เราจะตั้งอยู่ในความประมาทไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่ดี อย่าไปประมาท


โดยเฉพาะพวกเหล้าพวกเบียร์ พวกการพนัน หรือว่าเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่าเป็นอบาย เป็นนรกที่จะทำให้เราตกต่ำ เราอย่าได้พากันตั้งอยู่ในความประมาท ขนาดเราคิดว่าเราไม่ประมาทมันก็ยังประมาทอยู่นะ ต้องให้เข้าใจอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เรากลัว กลัวเราจะผิดพลาด เราไม่ต้องกลัว ถ้าเราใจดีใจสบาย  ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เดี๋ยวมันจะจัดการทุกอย่างในปัจจุบันไปด้วยความพอดีด้วยกายวาจาใจ “พยายามตั้งมั่นในความดีไว้ ทำอะไรก็เอาศีลเป็นหลัก”

ทุกคนเข้าใจนะเรื่องสมาธินี้ สมาธินี้แปลว่าความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนะ เป็นสิ่งที่ปราศจากนิวรณ์ทั้งหลายทั้งปวง

สมาธิแปลว่าปล่อยแปลว่าวางอะไรทุกอย่าง ยังเหลือแต่ความบริสุทธิ์ อย่างเรา  หายใจเข้าก็สบายหายใจออกก็สบายมันก็มีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ต้องฝึกหายใจเข้าให้สบาย  หายใจออกให้สบายไว้ทุก ๆ อิริยาบถนั่นแหละดีนะ เพราะจะได้เป็นบาทฐาน  ในชีวิตประจำวันของเรา ทำอะไรอยู่ก็อย่าลืมหายใจเข้าสบายออกสบาย

คนเราต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิมันไม่มีความสุข

อย่างเราทำอย่างนี้ เราทำงานอยู่ตรงให้ใจของเราอยู่ตรงนี้ มีความสุขกับการทำงานอย่างนี้เค้าเรียกว่าคนมีสมาธิ คนมีสมาธินี้เค้าเรียกว่าคนมีความสุข ความสุขทางจิตใจ  ที่มันดับทุกข์โดยอัตโนมัติตลอดเวลา มันเป็นการรีแลกซ์เป็นการผ่อนคลายไปในตัว  เป็นแอร์ใหญ่ที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจของเรา เราทำอะไรอยู่ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว

เราปฏิบัติธรรมก็คือทำจิตทำใจของเราให้มีสมาธิอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าที่บ้าน  ที่ทำงาน ที่เรามาวัด เราตั้งใจไว้ดี ๆ ตั้งเจตนาไว้ดี ๆ ว่าสมาธินี้มันเรื่องของเรา เรื่องจิตเรื่องใจของเรา เรื่องความสุขความดับทุกข์ของเรานะ

คนเราน่ะถ้าวิ่งไปภายนอกไม่ว่าบันเทิงอะไรต่าง ๆ หรือว่าการเล่นโทรศัพท์  การเล่นอินเตอร์เนท เฟซบุ๊คอะไรต่างๆ  อันนั้นมันวิ่งหาความร้อนนะ มันวิ่งหานรกหลุมเล็กหลุมใหญ่นะ มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ถ้าเราตามมันไปพระพุทธเจ้าท่านให้รู้เลยนะว่าอันนี้คือนรก มันทำให้เราได้รับทุกข์แน่นอน ให้เอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้งานอำนวยความสะดวกสบาย ไม่ใช่เอามาเล่นมาหลง เรามีสมาธิอยู่กับสิ่งเหล่านี้ มีสมาธิในการเล่นโทรศัพท์ อย่างนี้มันจะมีปัญหานะ มันเป็นสิ่งเสพติดไปเสียแล้ว

ทุกท่านทุกคนต้องเบรกตัวเอง ต้องหยุดตัวเอง ปัญญาชนทั้งหลายนี้มันตายน้ำตื้นนะ มันตั้งอยู่ในความประมาท ถึงเวลานอนก็ไม่นอน ถึงเวลาทำงานก็ไม่ทำ มันติดมันหลง  หลงทั้งคนใหญ่หลงทั้งคนเล็ก มันต้องหยุดตัวเองเบรกตัวเองนะ ทุกคนมันก็มีความอยาก  มีความต้องการแต่มันต้องหยุดตัวเอง ตัดใจตัวเอง ฝืนตัวเอง ทนตัวเองไว้นะ

เป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อเพื่อนบ้าง ว่าตัวเองแย่  เล่นแต่โทรศัพท์ เล่นแต่อินเตอร์เนท เฟซบุ๊ค ไอแพด ไอโฟน ใจมันไม่สงบ


ถึงเวลานอน...พระพุทธเจ้าท่านให้เรานอนไม่ต้องพากันมาดูโทรทัศน์ อินเตอร์เนทเฟซบุ๊ค ให้กราบพระ ไหว้พระ สวดมนต์ ทำใจให้มันรวม ทำใจให้เป็นหนึ่ง สร้างคุณธรรม  คุณงามความดีแล้วนอนไม่ต้องคิดอะไร เรื่องร่ำเรื่องรวยเรื่องจน มันจะเสียศักยภาพในการพักผ่อนของเรา พวกนี้แหละจะทำให้ศักยภาพของเรามันจะไม่เต็มไม่สมบูรณ์

ทุก ๆ คนต้องวางแผนตัวเองนะเรื่องการบังคับตัวเองในการนอน ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเป็นปัญหายืดเยื้อ นึกว่าตัวเองแน่ไม่ได้นะ นึกว่าตัวเองไม่ติดไม่ได้นะ ถ้ามันไม่ติด  มันไม่ทำหรอก ที่มันทำอยู่แสดงว่ามันติดมันหลง มันงมงายเสียแล้วนะ

ตอนเช้าก็ต้องบังคับตัวเองตื่นตั้งแต่เช้ามันจะได้ไหว้พระสวดมนต์ อาบน้ำแต่งตัว  เตรียมอาหาร เพื่อจะได้ไปทำงานเพื่อจะได้เสียสละต่อ

ชีวิตของเราทุก ๆ คนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เรารับผิดชอบอย่างนี้ เสียสละอย่างนี้  มีความสุขในการทำความดี มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขที่ไม่ได้ทำตามใจตัวเอง  เป็นคนมีศีลมีธรรม มีคุณธรรมอย่างนี้นะ

เราจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติธรรมะ รักธรรมะ ชอบธรรมะ ชีวิตจิตใจของเรา  จะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

การบรรยายธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้ก็พอเห็นสมควร  แก่เวลา ขอจบไว้เพียงเท่านี้


พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

เช้าวันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 531082เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2013 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2013 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท