Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วิธีวิทยาเพื่อกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ


          การกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นงานปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านงานทะเบียนราษฎร วิธีวิทยาในเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ  โดยหลักกฎหมายนี้ รัฐมักจะกำหนดสถานะบุคคลในเบื้องต้นโดยกฎหมายสัญชาติ ผลของการกำหนดนี้ ก็จะทำให้ทราบว่า ใครเป็นคนชาติ (National) ? ใครเป็นคนต่างด้าว (Alien) ?

            ในกรณีของประเทศไทยก็เช่นกัน การกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยในเบื้องแรก ก็ทำโดยกฎหมายสัญชาติ และเราก็มีแนวคิดเหมือนสากลนิยมที่ยอมรับคนสัญชาติไทยในสถานะที่ดีกว่าคนต่างด้าว 

             เราจะทราบได้อย่างไรว่า มนุษย์คนใดบ้างเป็นคนสัญชาติไทย ? 

             โดยวิธีวิทยา เราจะต้องมีการตรวจสอบ ๓ ขั้นตอน กล่าวคือ 

             ในขั้นตอนแรก เราต้องตรวจสอบว่า มนุษย์ผู้นั้นได้มาซึ่งสัญชาติไทยแล้วยัง ? ซึ่งการจะมีสัญชาติไทยได้ ก็เพราะมนุษย์ผู้นั้นมีข้อเท็จจริงอันครบองค์ประกอบที่จะมีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ? และกฎหมายที่มีผลกำหนดการได้สัญชาติ ก็คือ กฎหมายที่มีผลในขณะที่มีการกล่าวอ้างการได้สัญชาตินั้น อาทิ หากเราต้องการทราบว่า ครอบครัวอภิสกุลไพศาลมีสัญชาติไทยหรือไม่ ? เราก็จะต้องเริ่มต้นตรวจสอบข้อเท็จจริงของครอบครัวอภิสกุลไพศาลว่า มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่ ? และจุดเกาะเกี่ยวที่มีนั้นจะนำไปสู่การได้สัญชาติไทยหรือไม่ ? และมีพยานหลักฐานใดบ้างที่อาจนำไปสู่การพิสูจน์สัญชาติไทยนั้นได้หรือไม่ ?

            แม้จะฟังได้ว่า ได้สัญชาติไทยแล้ว ก็จะต้องมาพิจารณาว่า มีข้อเท็จจริงที่ทำให้เสียสัญชาติไทยแล้วหรือยัง

             และหากเสียสัญชาติไทย ก็จะต้องมาพิจารณาว่า มีข้อเท็จจริงที่ทำให้กลับคืนสัญชาติไทยหรือไม่ ? ตั้งแต่เมื่อใด ?

              โดยผลของวิธีวิทยาดังกล่าว จะทำให้เราได้ข้อสรุป ๔ ประการ กล่าวคือ (๑) มนุษย์ที่ไม่เคยได้สัญชาติไทย ก็สรุปได้เลยว่า เป็นคนต่างด้าว โดยไม่ต้องสืบข้อเท็จจริงอะไรอีกต่อไป (๒) มนุษย์ที่ได้สัญชาติไทยและไม่เคยเสียสัญชาติไทย ก็สรุปได้เลยว่า เป็นคนสัญชาติไทย (๓) มนุษย์ที่ได้สัญชาติไทยแล้วและเสียแล้ว ผลลัพธ์ ก็คือ มนุษย์คนนี้จะมีสถานะเป็นคนต่างด้าว และ (๔) มนุษย์ที่ได้สัญชาติไทยแล้วและเสียแล้ว แต่กลับคืนสัญชาติไทยแล้ว ผลลัพธ์ ก็คือ มนุษย์คนนี้จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย

หมายเลขบันทึก: 52671เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2006 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท