สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 8: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคการปกครองของราชวงศ์กลันตัน


      ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่17ปัตตานีเข้าสู่ยุคแห่งความตกต่ำ ด้วยปัจจัยจากการแบ่งแยกพื้นที่ ความแตกแยกของดินแดน และวิกฤตผู้นำไร้รัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ ตลอดจนการไม่มีผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัตตานีประสบปัญหาด้านความไม่สงบทางการเมือง และความเสื่อมทางเศรษฐกิจ ก่อนการตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยามในปี พ.ศ. 2328 ปัตตานีกลายเป็นรัฐขนาดเล็ก เสื่อมกำลังอำนาจและอิทธิพล แม้ว่าปัตตานีจะถือโอกาสประกาศความเป็นเอกราชให้แก่รัฐของตนเองภายหลังที่สยามถูกยึดครองโดยพม่าก็ตาม แต่ในที่สุดสยามก็ได้มีความพยายามรวบรวมการปกครองประเทศของตนเองอีกครั้ง ความพยายามนี้ประสบความสำเร็จโดยพระเจ้าตากสินในการขับไล่การยึดครองของพม่าที่อยุธยา นอกจากนี้บรรดาเจ้าเมืองที่ได้ก่อกบฏถูกปราบปรามลง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสยามกับปัตตานี ก็คือการใช้กำลังอำนาจในการยึดครอง เป็นความสัมพันธ์ในฐานะเจ้าประเทศราช อันหมายถึงการสิ้นสุดแห่งความรุ่งเรือง และอดีตอันเป็นอิสระของรัฐปัตตานี

      การสิ้นพระชนม์ของอาลง ยูนุส เมื่อ พ.ศ.2272ถือว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์กลันตันที่มีต่อปตานีระยะหนึ่ง และเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้บัลลังก์ของราชสำนักมลายู-อิสลามปตานีต้องว่างลงนานถึง47ปี 

     

ขณะนั้นสยามติดพันการรบกับพม่าและได้สูญเสียเอกราชให้แก่พม่า ปัตตานีได้ตั้งตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกับชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงได้มีการรวบรวมปัตตานีเข้ามาอยู่ในการปกครองของสยามอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2319 จึงได้มีการแต่งตั้งให้สุลต่าน มูหัมมัด ปกครองปตานีต่อมาในยุคนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคสมัยแห่งการปราบปรามหัวเมืองมลายูอย่างจริงจัง สยามได้โจมตีปัตตานีในปี พ.ศ. 2328 สมเด็จกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาราชบังสัน ได้ยกทัพสยาม ราว ๒๐,๐๐๐ คนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งใช้เรือใบสำเภามีพลแจว รุกเข้าไปยังเมืองตานี กลันตัน ตรังกานู เคดาห์(เกอดะห์หรือไทรบุรี) และปีนัง (เกาะหมาก) ทำให้ปัตตานีเข้าอยู่ในอาณาจักรสยามอีกครั้ง สุลต่านมะหะหมัดหนีไปเมืองรามัณห์และสิ้นพระชนม์ในสนามรบ วังเจ้าเมืองและ มัสยิดกรือแซะอันศักดิ์สิทธิ์ถูกเพลิงไหม้ ต่อจากนั้นกองทัพสยามได้นำชาวปัตตานี และชาวมลายูทางใต้จำนวนนับแสนคนมาอยู่รอบกรุงเทพ คนมลายูพวกนี้ได้เป็นกำลังสำคัญในการขุดคลองแสนแสบเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงทหารไปยังกัมพูชา เมื่อขุดคลองเสร็จก็ตั้งบ้านเรือนทำนาเลี้ยงแพะวัวควาย และขายข้าวหมกไก่ โรตี มะตะบะ อยู่ในบริเวณสองฟากคลองแถบหนองจอก มีนบุรี และ แปดริ้ว จนถึงปัจจุบัน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงตั้ง ตนกู ลับมิเด็น (ตนกูละมีดีน หรือ ตนกู เกาะมะรุดดีน)ซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานีเก่า เป็นรายาหรือเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ แต่ให้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าเมืองสงขลา ส่วนพระยาไทร พระยากลันตัน และ พระยาตรังกานู นั้นขอร่วมเป็นขัณฑสีมาต่อกรุงเทพฯ โดยดี
      ปืนใหญ่ที่กองทัพไทยนำลงเรือสำเภามาจากปัตตานีในสมัยนั้น มีสองกระบอกด้วยกันคือกระบอกที่มีชื่อว่า "ศรีปัตตานี" กับ "กับศรีนาฆารา" ปืนใหญ่ที่ ชื่อ"ศรีนาฆารา ได้ตกลงไปในน้ำทะเลที่ท่าเรือหน้าเมืองปัตตานีระหว่างการขนส่งขึ้นเรือ ส่วนปืนใหญ่ "ศรีปัตตานี"ยาว 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 นิ้วกึ่ง กระสุน 11 นิ้ว หล่อด้วยสำริดนั้น ได้จารึกนามลงไว้ที่กระบอกปืนว่า “พระยาตานี” โดยตกแต่ง ลวดลายท้ายสังข์ขัดสีใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพ

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.


หมายเลขบันทึก: 526044เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2013 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2013 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท