ปกิณกะคดีควาย :นายฮ้อยยุคสุดท้าย (๒)


เรื่องเก่าที่เกือบจะถูกลืม
"นายฮ้อยหมู ทำหน้าที่รับซื้อหมูจากชาวบ้านไปส่งในเมือง นอกจากเก็บหมูตามหมู่บ้านทีละตัวสองตัวแล้ว เขายังยกพวกไปซื้อหมูจากพวกภูไท ซึ่งอยู่แถวภูพานในจังหวัดกาฬสินธุ์และสกลนคร หมูภูไทเป็นหมูผอม บางตัวก็ยังไม่ได้ตอน พวกนายฮ้อยจะนำมาขุนให้อ้วนเสียก่อนจึงจะขายได้"

ชาวบ้านในภาคอีสานจะไม่ค่อยเรียกนายฮ้อยอย่างเต็มยศกันสักเท่าไร ส่วนมากจะเรียกสั้นๆเช่น สมมุติว่านายฮ้อยชื่อ นายคำ, นายสงกา, นายบุดดาก็จะเรียกว่า ฮ้อยคำ ฮ้อยสงกา ฮ้อยบุดดา เป็นต้น

ยังมีนายฮ้อยอีกพวกหนึ่งเรียกว่า นายฮ้อยเกวียน (หรือนายฮ้อยเกียนตามสำเนียงอีสาน) นายฮ้อยพวกนี้จะเทียบเท่ากองคาราวานในหนังคาวบอยตะวันตก ต่างกันก็ตรงที่เกวียนฝรั่งจะเทียมด้วยม้า ส่วนเกวียนอีสานจะเทียมด้วยวัว หรือควาย ส่วนใหญ่จะใช้วัวคู่ ที่เป็นเพศผู้มีลักษณะตัวใหญ่แข็งแรง ทั้งคู่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก บางทีเหมือนอย่างกับฝาแฝดเลยทีเดียว ที่สำคัญจะต้องมีส่วนสูงเท่ากัน เพราะเมื่อให้เข้าเทียมเกวียนขนาบข้างคู่กันแล้ว จะไม่ทำให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง การเดินทางก็ราบรื่นทั้งวัวและคนขับรวมถึงคนนั่งหรือสินค้าที่บรรทุกไปด้วย

บางทีก็ใช้ควายเทียมเกวียน ซึ่งเกวียนที่ใช้ควายจะมีลักษณะแตกต่างจากเกวียนที่ใช้วัว โดยเกวียนใช้ควายนี้บางท้องถิ่นจะเรียกว่า ล้อ ซึ่งล้อนี้มีกงล้อที่ใหญ่ แข็งแรงบึกบึนเป็นพิเศษ รอบกงล้อหรือกงเกวียนนี้ (ด้านสัมผัสกับพื้นดิน) จะประกบด้วยแผ่นเหล็กจนรอบวงเลย ตัวล้อ (เกวียนที่ใช้ควาย) จะไม่มีการตกแต่งมากจะใช้เพื่อการบรรทุกหนักหรือสมบุกสมบันโดยเฉพาะ เนื่องจากควายแข็งแรงกว่าวัว การลุยพื้นที่ที่ทุลักทุเลเช่นดินโคลน ทางทุรกันดาร ควายจะไปได้ดีกว่าแต่เสียอยู่อย่างที่ไปได้ช้าและไม่สง่างามเหมือนเกวียนเทียมด้วยวัว ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้เกวียนเทียมวัวก็เหมือนรถปิคอัพ ส่วนล้อหรือเกวียนเทียมควายก็เหมือนรถหกล้อหรือรถสิบล้อนั่นเอง

พวกนายฮ้อยเกวียน ก็เปรียบเหมือนเถ้าแก่รถสิบล้อในสมัยปัจจุบัน แต่กองเกวียนสมัยก่อนจะมีสีสันกว่าขบวนสิบล้อมากนัก เพราะก่อนที่จะตั้งกองเกวียนแต่ละครั้งจะมีการวางแผนกันอย่างดี ว่าจะได้เกวียนจากบ้านไหนบ้าง วันดีหรือไม่ จะรวมกันที่ทุ่งไหนก่อนออกเดินทาง สินค้าซึ่งจำเป็นของป่า เช่น หนังสัตว์ น้ำมันยาง ขี้ไต้ ครั่ง นุ่น พริก ปลาร้า ปลาย่างรมควัน ฟักทอง ข้าว ไหม ปอ ป่าน ยาสูบ (ยาหวั่นเส้น) ดอกฝ้ายแก่นคูน หมาก พูล สมุนไพร ผ้าทอมือ และของหัตถกรรมพื้นบ้านอื่นๆ จะรวบรวมได้จากไหนบ้างมากน้อยเท่าใด ใครเป็นนายทุนจ่ายเงินก่อน ในราคาเท่าใดจึงจะเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต และมีกำไรคุ้มค่ากับการเดินทางไกลและความเสี่ยง ใครที่นำสินค้าไปก่อนจ่ายทีหลัง มีความน่าเชื่อถือสักเท่าไร จะเสียชื่อเสียงของหัวหน้าหรือนายกองคาราวานหรือไม่ อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการจับปลาล่าสัตว์เป็นอาหารระหว่างเดินทางจะเอาปืนแก็ปของใครปืนลูกซองของใคร กี่กระบอก มีดดาบ พลุ หน้าเก้ง (หน้าไม้) หน้าทื่น (ธนู) ว่าวสะนูหวายไว้ชักฟังเสียงยามค่ำคืน ครก (ส่วนมากใช้ครกไม้ เพราะจะทนทาน ตกก็ไม่แตกไม่ต้องระวังมาก) หม้อดิน กระบอกใส่น้ำ (บั้งทิง) หรือน้ำเต้า มีดทำครัว สวิง แห เบ็ด สำหรับหาปลา หวด หรือมวยนึ่งข้าวเหนียว ปลาร้า พริกป่น พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ ยาสูบ เสื่อสาด บางทีก็ไม่ต้องใช้ผ้าขาวม้าแทน หมอนก็ไม่ต้องหนุนแขนหรือท่อนไม้ เหล็กไฟป๊ก (หินเหล็กไฟ ที่ใช้จุดไฟแทนไม้ขีดไฟ) ใครเป็นคนรวบรวมและทำอาหารเลี้ยงพรรคพวกก็จะวางแผนกันอย่างดี

ที่ขาดไม่ได้สำหรับกองเกวียนคือ เครื่องดนตรีที่สำคัญ คือ แคน ซุง ซอ และขลุ่ย จะได้บรรเลงยามพักนอนที่ไหน เป็นเครื่องประโลมใจพอให้คลายคิดถึงบ้าน (หรือบางทีอาจจะเพิ่มความคิดถึงเป็นทวีคูณก็ได้)

เนื่องจากกองคาราวานจะมีเกวียนคราวละหลายสิบเล่ม บางขบวนใหญ่เป็นร้อยเล่ม การเดินทางจะต้องหาฤกษ์ยามโดยให้พระที่คนเคารพนับถือดูฤกษ์ให้หรือบางทีก็ให้หมอดูประจำตำบล ที่เคยดูฤกษ์ให้คราวก่อนๆ ปรากฏว่าเรียบร้อยราบรื่นดี ก็จะให้ดูให้อีก หรือให้เป็นเจ้าประจำกันไปเลย เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีนัดหมายรวมกองคาราวานหรือกองเกวียนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนาตีนบ้าน ที่เกี่ยวข้าวไปแล้วและพื้นดินแห้งดีแล้ว จะเป็นที่นาของใครก็สำคัญเหมือนกัน เพราะว่ากว่าจะออกเดินทาง วัว - ควาย เป็นร้อยๆมารวมกันอยู่ กว่าจะพร้อมที่จะออกเดินทางได้อย่างน้อยก็ใช้เวลาเลี้ยงในทุ่งนานั้น เป็นสัปดาห์ หรือบางทีอาจจะรอความพร้อมหรือรอฤกษ์ดี รวมทั้งรอฉีดวัคซีนและดูอาการสัตว์ นานกว่านี้ก็มี ซึ่งสิ่งที่จะเป็นผลพลอยได้คือ ขี้วัว ขี้ควายจำนวนมหาศาล นั่นก็หมายถึงว่า ฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป ที่นาแปลงนั้นจะกลายเป็นนาดีหรือนางามไปโดยปริยาย ดังนั้นผู้เป็นเจ้าของนาถ้าไม่ใช่หัวหน้านายฮ้อยก็มักจะเป็นผู้ที่เสนอสิ่งตอบแทนให้อย่างงาม เช่น ช่วงพักอยู่ก่อนออกเดินทางจะให้เป็ดไก่เป็นอาหารแก่กองคาราวานกี่ตัว หรือให้เหล้าโท (สาโท) กี่ไหก็ว่าไป

การเดินทางไปค้าขายด้วยกองเกวียนนี้ส่วนมากจะเดินทางไปในหน้าแล้งที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ได้นำข้าวขึ้นยุ้งฉางเรียบร้อยแล้วและมีการเอาบุญกุ้มข้าวหรือบุญคูญลานข้าวเรียบร้อยแล้ว การเดินทางในช่วงนี้สะดวกหลายประการ

เช่น

ประการที่หนึ่ง เมื่อเดินทางไปตามทุ่งนาที่โล่งๆ การเดินทางก็สะดากไม่ต้องเสี่ยงกับการเหยียบย่ำต้นข้าว แถมยังจะมีฟางข้าวและตอซังเหลืออยู่ตามไร่จำนวนมาก เป็นอาหารสำหรับวัว ควายเทียมเกวียนได้เป็นอย่างดี

ประการที่สอง ฝุ่นไม่คลุ้งมาก แม้ดินจะแห้งแล้ว แต่ก็ยังมีความชื้นอยู่บ้าง

ประการที่สาม ช่วงนี้น้ำตามแหล่งน้ำห้วย หนอง บึง หรือตามสระน้ำในไร่นายังมีมากอยู่ สามารถใช้เป็นน้ำกิน น้ำอาบ ได้ทั้งคนและสัตว์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารการกินได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นหอย ปู กุ้ง ปลา กบ เขียด และผักต่างๆ ตามแหล่งน้ำ เช่น เทา (สาหร่ายสีเขียวในน้ำ) ผักบุ้ง ผักกระโดน ผักพายและผักกะเฉดก็ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

ประการที่สี่ อากาศไม่ร้อนมากนัก วัว ควายสามารถเดินทางได้ระยะไกลๆ

ประการที่ห้า เมื่อเดินทางเข้าเขตป่าดงพงไพร ใบไม้ก็กำลังผลิใบ เป็นอาหารอย่างดีทั้งคนและสัตว์ เขาเล่าว่าพวกนายฮ้อยจะรู้ดีว่าพืชอะไรกินได้ พืชอะไรกินไม่ได้ ถ้ากิน จะกินส่วนไหน ทำอย่างไรจึงจะอร่อย พืชชนิดใดเป็นสมุนไพร พืชชนิดใดเป็นพิษ เขาจะรู้ดี หรือพืชบางชนิดไม่ค่อยคุ้นเคยเพราะลักษณะป่าแตกต่างจากป่าที่บ้านเกิด ก็จะสอนกันต่อๆว่า ถ้าพืชใดวัวควายกินได้ให้คนกินได้เลยรับรองไม่เบื่อแน่

ก่อนออกเดินทางนอกจากจะดูฤกษ์ดูยามแล้ว ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆอีกตามความเชื่อของคนในท้องถิ่นด้วย เช่น การสู่ขวัญ ผูกข้อมือ แต่งแก้ แต่งบูชา (สะเดาะเคราะห์) บอกกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน หรือรับเครื่องรางของขลังจากผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อทำพิธีแล้วจะไม่ให้กลับเข้าไปนอนในหมู่บ้าน การหลับนอนร่วมเพศกับเมียคืนก่อนออกเดินทางถือเป็นสิ่งต้องห้าม (หรือ คะลำ) และในขบวนนายฮ้อยมักจะไม่มีผู้หญิงเดินทางไปด้วย (เว้นแต่กรณีจำเป็นจริงๆ)

การเดินทางไปค้าขายด้วยเกวียนนี้มีทั้งในระยะใกล้ เช่น ต่างอำเภอ หรือจังหวัดใกล้เคียงกัน และในระยะไกลเช่นจากภาคอีสานตอนบนและตอนกลางไปถึงสระบุรี ที่นิยมไปมากที่สุดเห็นจะเป็นที่จังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช เพราะที่นี่จะเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน นายฮ้อยหรือพ่อค้าก็จะมีทั้งจากภาคอีสานตอนบนหรือตอนกลางลงไปโคราช และพ่อค้าจากโคราชนำสินค้าบรรทุกเกวียนขึ้นมาขายทางตอนบน

จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย

หมายเลขบันทึก: 52537เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท