Licensing of Copyrights & Private International Law
บทนำ
รัฐสมาชิกของความตกลงทริปส์ (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPs) มีพันธะกรณีที่จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อตกลงดังกล่าวโดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนชาติกับคนต่างชาติ เช่น หลัก MFN, หลัก NT เป็นต้น
การให้คุ้มครองในงานอันมีลิขสิทธิ์ กรณีที่มีการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นเกิดขึ้น กฎหมายที่นำมาใช้คือกฎหมายของประเทศที่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นได้รับความคุ้มครอง ซึ่งก็ใช้หลักดินแดนนั่นเอง
แต่หลักดินแดนเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการตอบปัญหา กรณีที่เป็นการเคลื่อนย้ายลิขสิทธิ์(Copyrights Transfering) ที่มีลักษณะระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายลิขสิทธิ์สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
- การโอนสิทธิ (Assignment) : หมายถึง การโอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง
- การให้ใช้สิทธิ (Licensing) : หมายถึง การอนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้
แม้ว่า การโอนสิทธิ และ การให้ใช้สิทธิ จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ในมุมมองของกฎหมายขัดกันจะมองว่าเป็นมีความแตกต่างกัน ในเนื้อหา กล่าวคือ กรณีที่เป็นการให้ใช้สิทธิจะอยู่ภายใต้กฎหมายแห่งสัญญา (Contract Law) แต่กรณีที่เป็นการโอนสิทธิจะอยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyrights Law)
ซึ่งหากมองในแง่มุมของกฎหมายขัดกันลงไปอีก ก็จะพบว่า นอกจากจะต้องแบ่งแยกในแง่มุมของสัญญาและความเป็นเจ้าของในลิขสิทธิ์อันเกิดจากการโอนแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเนื้อหาและแบบแห่งสัญญาในการเคลื่อนย้ายลิขสิทธิ์ดังกล่าวด้วย และกรณีจะเป็นเช่นไรหากในสัญญาการเคลื่อนย้ายลิขสิทธิ์มิได้กล่าวถึงกฎหมายที่จะบังคับใช้แก่สัญญาไว้
Licensing of Copyright & Thai Conflict of Laws
ตามกฎหมายขัดกันของไทย ว่าด้วยหนี้สัญญา (มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481) ซึ่งในมาตรา 13 วรรคแรก เป็นเหมือนการวางลำดับของการใช้กฎหมาย (Priority of Law) โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
-
วินิจฉัยตามเจตนาของคู่สัญญา ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย
-
หากวินิจฉัยตามเจตนาไม่ได้ ก็ต้องใช้กฎหมายสัญชาติร่วมกันของคู่สัญญา
-
หากใช้กฎหมายสัญชาติร่วมกันไม่ได้ ก็ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาได้ทำขึ้น
จะเห็นได้ว่า มาตรา 13 วรรคแรก ยอมรับจุดเกาะเกี่ยวที่ตายตัว ซึ่งแตกต่างจากนานาประเทศที่ยอมรับจุดเกาะเกี่ยวที่ใกล้ชิดที่สุดของนิติสัมพันธ์
ซึ่งหากในสัญญาอันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ (Copyright Contract) ที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ มิได้มีการตกลงถึงกฎหมายที่จะบังคับใช้แก่สัญญา กฎหมายที่บังคับใช้แก่สัญญาจะเป็นกฎหมายใด หากกฎหมายขัดกันว่าด้วยสัญญายังยอมรับจุดเกาะเกี่ยวที่ตายตัว
เนื่องจากสัญญาอันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นั้นมีความซับซ้อนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างสัญญาอันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นั้นมีหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภทคือ
- สัญญาโอน (Transfer Contract) สัญญาประเภทนี้มีวัตถุประสงค์ในการโอนซึ่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น สัญญาอนุญาติให้ใช้สิทธิ ซึ่งจะมีเงื่อนไขแห่งการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินก้อน (Lump Sum) หรือค่าบำเหน็จ (Royalty) ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ตามกฎหมายขัดกันของไทยก็คงใช้ กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาได้ทำขึ้น (กรณีที่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดกฎหมายที่บังคับแก่คดีไว้ และคู่สัญญาไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน)
- สัญญาหาประโยชน์ (Exploitation Contract) สัญญาประเภทนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อหาประโยชน์ในลิขสิทธิ์นั้น ซึ่งประเภทของการหาประโยชน์ในลิขสิทธิ์นั้น มีหลายแบบ เช่น การพิมพ์เผยแพร่ การนำออกให้เช่า(กรณีโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายที่บังคับใช่แก่สัญญาก็คือสัญญา กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาได้ทำขึ้น ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริง สัญญาหาประโยชน์ที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศนั้น สัญญาจะทำในประเทศหนึ่ง แต่การนำลิขสิทธิ์ไปหาประโยชน์จะทำในหลายๆ ประเทศ การที่กฎหมายขัดกันไทยบัญญัติให้นำกฎหมายแห่งถิ่นที่ทำสัญญามาบังคับก็ย่อมไม่สอดคล้องนัก เนื่องจากการนำไปหาประโยชน์ของผู้ได้รับอนุญาติให้ใช้สิทธิจะต้องปรับไปตามพื้นที่ และลักษณะของประเทศ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการค้ามากที่สุด ดังนั้นจุดเกาะเกี่ยวที่เหมาะสม ก็น่าจะยืดหยุ่นได้ ควรใช้จุดเกาะเกี่ยวที่ใกล้ชิดที่สุดของนิติสัมพันธ์
- สัญญาผลิต (Production Contract) สัญญาประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เช่น กำหนดว่าจะผลิตหนังสือ ซีดีเพลง ได้กี่สำเนา เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายขัดกันของไทย ก็คงใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่เกิดสัญญาบังคับอีกเช่นกัน ทั้งๆ ที่ถิ่นที่ผลิตก็จะกระจายไปตามประเทศต่างๆ การใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่เกิดสัญญามาใช้บังคับแก่กรณีที่มีการผลิตในหลายๆ ประเทศ ก็คงจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงนัก
อีกทั้งสัญญาดังกล่าวข้างต้นไม่จำต้องแยกเป็นสัญญาหลายฉบับ ซึ่งในสัญญาฉบับเดียว อาจมีเงื่อนไขของสัญญาทั้ง 3 ประเภทอยู่ก็ได้ ซึ่งทำให้สัญญาอันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เกิดความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้น ด้วยลักษณะของสัญญาอันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวหลายจุด ทำให้กฎหมายขัดกันว่าด้วยสัญญาของไทย ซึ่งยอมรับจุดเกาะเกี่ยวตายตัว ทำให้กฎหมายขัดกันว่าด้วยสัญญาของไทยไม่เหมาะแก่การปรับใช้กับสัญญาที่ซับซ้อนเช่นนี้
กฎหมายขัดกันว่าด้วยสัญญาจึงสมควรที่จะยอมรับจุดเกาะเกี่ยวที่ใกล้ชิดที่สุดของนิติสัมพันธ์ตามแบบอย่างนานาประเทศหรือไม่ จึงสมควรที่จะพิจารณาอย่างจริงจังได้แล้ว เพื่อพัฒนากฎหมายขัดกันของไทยให้มีประสิทธิภาพและสอคล้องกับความก้าวหน้าของโลก
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย นินนาท บุญยะเดช ใน Private International Law
คำสำคัญ (Tags)#ทรัพย์สินทางปัญญา#กฎหมายระหว่างประเทศ#สัญญา#ลิขสิทธิ์#กฎหมายขัดกัน#คดีบุคคล#licensing#ปัญหาของกฎหมายขัดกันไทย#สัญญาอันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์#copyright_contract
หมายเลขบันทึก: 52237, เขียน: 27 Sep 2006 @ 23:58 (), แก้ไข: 21 Jun 2012 @ 14:04 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 2, อ่าน: คลิก
ก่อนอื่นก็ต้องพิจารณาถึงนิติสัมพันธ์เสียก่อน
ต่อมาก็ต้องพิจารณาว่าจะนำกฎหมายใดมาใช้บังคับ
ในกรณีนี้น่าจะเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนและเอกชน ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลจึงต้องนำกฎหมายขัดกันของคู่ความที่กล่าวอ้างนิติสัมพันธ์นั้น
ถ้าเป็นประเทศไทยก็ต้องนำกฎหมายขัดกันไทยมาใช้บังคับเว้นแต่จะมีสนธิสัญญา
ซึ่งก็ต้องดูตาม ทริปส์ นั่นแหละคะ