Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

เรื่องราวชวนคิด... จากดินแดนพระศาสนา!!


เจริญพร  สาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ห้วงเวลาระหว่างนี้ จนถึงวันที่ ๓  มีนาคม ๒๕๕๖ อาตมาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในประเทศอินเดีย  โดยนำพระภิกษุที่เข้าโครงการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เดินทางไปศึกษาดูงาน จำกัดพื้นที่อยู่ที่ราชคฤห์ นาลันทา  และสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ ณ มหาโพธิวิหาร พุทธคยา ทั้งนี้มีพระธรรมเมธาจารย์  พระธรรมปาโมกข์ เป็นประธานพระภิกษุสงฆ์ รวมเบ็ดเสร็จ ๗๕ รูป  ที่เข้าร่วมฟังสวดศีลปาฏิโมกข์ เมื่อวันมาฆบูชาที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ณ พระวิหารเวฬุวัน  อันเป็นมหาวิหาร หรือวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา  ที่พระเจ้าพิมพิสารได้น้อมถวายเป็นที่ประทับและที่พักของพระผู้มีพระภาคเจ้า  และพระสงฆ์สาวก โดยคำกล่าวถวายที่ว่า...

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอน้อมถวายพระราชอุทยานเวฬุวันนั้น  แด่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ขอพระ  องค์ได้โปรดรับไว้ซึ่งพระอารามด้วยเถิด"

นับแต่บัดนั้นมา  จึงได้มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุสาวกรับอารามที่ศรัทธาญาติโยมสร้างถวายได้  ดังคำบาลีที่ว่า

อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํวันมาฆบูชาในชมพูทวีป (อินเดีย) ณ พระมหาวิหารเวฬุวัน  ประจำปีนี้ จึงยิ่งใหญ่กว่า ๓ ปีที่ผ่านมา โดยมีพระนานาชาติชาวอิน เดีย (ทั้งที่บวชจริง มีปลอมแทรกเสริมอยู่ด้วย) ร่วม ๒๐๐ ชีวิต มาเสริมทัพ  มีการประกอบศาสนกิจตั้งแต่เช้ามืดของวันใหม่ ณ พระคันธกุฎี ของพระผู้มีพระภาคเจ้า  บนภูเขาคิชฌกูฏ  ต่อเนื่องด้วยการบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์จำนวนหลายร้อยรูปที่มาพร้อมกัน  และออกเดินเท้าจากภูเขาคิชฌกูฏสู่พระมหาวิหารเวฬุวัน โดยมีวงขบวนดนตรีของ

นักเรียนในท้องถิ่นราชคฤห์ พร้อมนักเรียนชาย-หญิง รวม ๓๐๐ ชีวิต  เข้าร่วมขบวนธรรมยาตราด้วย นับว่าเป็นภาพที่สวยงาม สะอาด  ควรแก่ความเจริญเติบโตแห่งศรัทธาจิตของผู้พบเห็น

สิ่งที่สำคัญในงานมาฆบูชาประจำปีนี้คงจะได้แก่ ความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย  ไม่ว่าจะเป็นด้านรัฐบาลไทย และรัฐบาลอินเดีย ผ่านสถานทูตทั้ง ๒ ประเทศ  ตลอดจนองค์กรต่างๆ และประชาชนในท้องถิ่น  จึงทำให้ได้รับเอกสารอนุญาตให้ใช้สถานที่พระวิหารเวฬุวันจัดงานมาฆบูชาปี พ.ศ.๒๕๕๖  และการอนุญาตให้พระธรรมทูตเข้ารับการศึกษาอบรมในเขตพระมหาวิหารเวฬุวันได้  ซึ่งโดยปกติจะห้ามมิให้ใช้เป็นสถานที่พักแรม  นับว่าเป็นมหาอานิสงส์อย่างยิ่งของพระภิกษุสงฆ์ที่เข้ารับการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) รุ่นนี้ โดยมีหัวหน้าวิปรัฐบาลแห่งรัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย  มากล่าวต้อนรับ ร่วมกับบุคคลสำคัญจากทางอินเดียหลายท่าน เช่น นายรัตนากา ไกรกวัต  ซึ่งทำหน้าที่ Chief Information  Commissioner แห่งรัฐมหาราษฎระ, นายอรุณ คาปูร์  ตลอดจน ดร.บาซันต้า บิดารี หัวหน้านักโบราณคดี แห่งลุมพินี ประเทศเนปาล ฯลฯ

การจัดงานมาฆบูชาประจำปีพุทธ ศักราช ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๔ นี้  ซึ่งรวมอยู่ในการศึกษาดูงานฝึกอบรมพระธรรมทูต (ธ) ฯลฯ  จึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งต่อการสืบสานศาสนกิจ เผยแผ่ศาสนธรรม  สืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนา แม้จะต้องลงทุนในหลายๆ ด้าน แต่ก็คุ้มค่ายิ่ง  อย่างยากจะประมาณ หากกล่าวถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อพระพุทธศาสนา  ซึ่งจะหมุนกงล้อสืบเนื่องอายุต่อไป เพื่อการอนุเคราะห์โลก... นี่คือกิจกรรมดีๆ  ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ณ ถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา... ที่สาธุชนควรได้รับทราบ เพื่อกระทำการอนุโมทนา...

แม้อาตมาไม่สามารถเล่าให้ฟังได้ทุกเรื่อง  เพราะมีมากเรื่องที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาอันสำคัญดังกล่าว  แต่เพียงแค่ที่กล่าวเล่ามาก็น่าจะนำมาสู่ความซาบซึ้งปีติยินดีแก่ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา... เพื่อแสดงให้เห็นข่าวสารที่มิใช่มีแต่ด้านลบที่มักปรากฏให้รับทราบอยู่เนืองๆ  ในเรื่องราวด้านไม่ดีที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา จนศรัทธาถดถอยกันไปเป็นแถบๆ  แวดวงพระพุทธศาสนา

จริงๆ แล้ว มิว่ายุคใดสมัยใดข่าวสารเรื่องราวต่างๆ ในศาสนาย่อมมีทั้งสองด้านเสมอ  จึงขึ้นอยู่กับการรู้พินิจพิจารณา แยกให้ออกระหว่าง บุคคล... องค์กรพระศาสนา  และพระธรรมคำสั่งสอน อันเป็นตัวพระพุทธ ศาสนาที่แท้จริง!! ซึ่งตัวพระพุทธศาสนานั้นเป็นอมตธรรม เที่ยงแท้ ไม่เคยแปรเปลี่ยน ไม่ว่ากาลใดสมัยใด  แตกต่างไปจากบุคคลและตัวองค์กรพระศาสนาที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัยอิงอาศัยกัน  ทั้งนี้ เมื่อใดบุคคลในพระพุทธศาสนาเสื่อมถอย ขาดคุณภาพ ห่างไกลคุณธรรมความดี  องค์กรหรือสถาบันพระศาสนาก็จะเศร้าหมองตกต่ำถึงสูญสิ้นไปได้ ซึ่งมิได้หมายความว่า  ตัวพระพุทธศาสนา อันได้แก่พระธรรมวินัย จะเสื่อมสูญหรือเศร้าหมอง!! และแม้ว่าในความรุ่งเรืองเจริญเติบโตเข้มแข็งมั่นคงของบุคคลในพระศาสนาและสถาบันพระศาสนา  ก็มิได้มีผลส่งเสริมให้ตัวพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ผุดผ่องไปมากกว่าที่เป็นอยู่  จึงไม่ต้องห่วงใยตัว พระ พุทธธรรม ที่ตรัสแสดงไว้ดีแล้ว  อันมีอเนกอนันต์ในคุณประโยชน์จากความบริสุทธิ์บริบูรณ์  ในความหมายแห่งพระธรรมคำสั่งสอน ตลอดจนถึงพยัญชนะอักษรรูปศัพท์แห่งพระธรรม... นี่คือเหตุผลอันสำคัญยิ่ง ที่พระผู้มีพระภาคมิได้มอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง  ทำหน้าที่แทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ได้ทรงประกาศสถาป นาพระธรรมวินัย ทำหน้าที่แทนพระ องค์  ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยที่เราตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว  บัญญัติไว้ดีแล้ว ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ  เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว

นี่คือ เหตุผลสำคัญอย่างยิ่งของพระ พุทธองค์ต่อการไม่ทรงมอบหมายให้บุคคลใด  ทำหน้าที่เป็นศาสดาแทนพระองค์ ซึ่งมิได้หมายความว่า พระองค์ไม่วางพระหฤทัย  แต่เพราะความไม่เที่ยงแท้แปรปรวนเปลี่ยนไปของสังขารธรรมทั้งหลาย  อันต้องมีความเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา ไม่เปลี่ยนไปจากความ เป็นอย่างนี้  ในขณะที่อำนาจแห่งพระธรรมวินัย นั้น เป็นอำนาจธรรมที่เหนือสังขารธรรม แสดง  ความเป็นสัจธรรมแห่งโลกวิสัยที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง  ประกาศความเป็นจริงของโลกในรูปของ "ธรรมนิยาม" ที่เป็นเช่นนี้ เป็นอย่างนี้  ในทุกกาลสมัย เรียกว่า เป็นธรรมที่ไม่ตาย เที่ยงแท้ มั่นคง  ไม่อยู่ในเงื่อนไขแห่งความเปลี่ยนแปลงผันผวนไปตามกระแส  จึงทรงสถาปนาพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์

จึงไม่ต้องไปแปลกใจ หากจะมีบุคคลใดๆ กระทำอะไรเพี้ยนๆ ผิดๆ ไปจากพระธรรมวินัย  เพราะท่านเหล่านั้นยังไม่ถึงความเป็น "ตถาคต" นั่นหมายถึง  ยังไม่ได้รับการสถาปนาเป็น "องค์พุทธะ" ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมวินัยที่เข้าถึงกระแสชีวิตรวมลงสู่กระแสจิต จนรู้... ตื่น... เบิกบาน จึงไม่แปลกหากท่านเหล่านั้นจะหวั่นไหวกับกระแสแห่งโลก  หลงใหลได้ปลื้มในโลกธรรม หรือตกอกตกใจหวั่นไหว เพราะความสูญสิ้นไปแห่งอำ  นาจโลกธรรม

ดังนั้น ไม่ว่าได้รับรู้ ได้รับทราบ เรื่องราวใดๆ ก็พึงอย่าแปลกใจจนเสียจิต  ให้พิจารณาว่า เป็นธรรมดา ความชั่วไม่เคยปราณีใคร หากใครๆ  นั้นยังมีอำนาจความโง่ครอบจิตอยู่ ก็ต้องประพฤติปฏิบัติบ้าๆ บอๆ  ไร้อริยวินัยให้เห็นเป็นเช่นนี้เอง




ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556

คำสำคัญ (Tags): #พระธรรมวินัย
หมายเลขบันทึก: 522035เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท