กรณีซีเอ็นเอ็น-กรณี(สื่อ)ไทย


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

กลับเมืองไทยเที่ยวนี้ ผมมีโอกาสเจอคุณกิตติมา ณ ถลาง แห่งฝ่ายข่าวต่างประเทศของช่อง 9 อ.ส.ม.ท.หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี ในฐานะมิตรเก่าแก่ที่ไม่ได้เจอกันมานานเป็นเวลาร่วม 10 ปีพอดี นับแต่เธอเดินทางไปทำข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาที่แคลิ ฟอร์เนีย(ลอสแองเจลิส-ซานฟรานซิสโก) เมื่อปี 2000 คู่ชิงตำแหน่งระหว่างจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากรีพับลิกัน กับอัล กอร์ จากเดโมแครต

  นอกเหนือจากการรื้อฟื้นความหลังครั้งก่อนเกี่ยวกับเดินทาง และอุปสรรคในการทำงานของเธอที่อเมริกาในคราวโน้น(ซึ่งผมรับหน้าที่เป็น พขร.และประสานงานอะไรๆนิดๆหน่อยๆ)แล้ว เราได้คุยแลกเปลี่ยนกันถึงระบบและการทำงานของสื่อมวลชนไทยทั่วไป ในยามที่ต้องไปปฏิบัติภาระกิจทำงานในต่างประเทศ

  ว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า และมีปัญหาอย่างไรบ้าง

  ซึ่งหมายถึงการวางแผนในการทำงานหรือทำข่าว อย่างมีประสิทธิผล มากกว่าปล่อยให้เป็นไปอย่างฉาบฉวย เหมือนคณะสื่อต่างๆที่ติดตามไปทำข่าวการเดินทางไปเยือนต่างประเทศของ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล หรือสื่อที่ติดตามนักการเมือง บุคคลสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนจากเมืองไทย  ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาศัยข่าวจากแหล่งข่าวฝ่ายไทยกันเองเสียส่วนใหญ่

  ข่าวจากแหล่งข่าวของต่างประเทศหรือคู่เจรจาของไทยนั้นมีน้อยหรือแทบไม่มี

  โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงการนำเสนอข่าวเชิงลึก ที่สื่อมวลชนต้องอาศัยองค์ประกอบ อันได้แก่ ความรู้และการเตรียมการที่ดี แหละที่สำคัญคือ สายสัมพันธ์กับแหล่งข่าว ในฐานะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ

  ประสบการณ์ในการทำข่าว จึงสำคัญยิ่ง เท่ากับที่คนทำข่าว ต้องเข้าถึงและเข้าใจต่อสภาพการณ์ อันเป็นข้อเท็จจริง และประชาชนของแต่ละประเทศนั้นๆ

  การวิพากษ์ต่อการทำงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น(ของอเมริกา) ต่อการทำงานในเมืองไทยในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ ผ่าน เป็นเรื่องน่าคิดว่า เราได้วิพากษ์ต่อการทำงานของสื่อไทยกันเองกี่มากน้อย และเพียงพอหรือยัง?

  ในเมื่อวิพากษ์ถึงมาตรฐานการทำงานของซีเอ็นเอ็นในเมืองไทย หากแต่เราเข้าใจระบบและการทำงานของสื่ออเมริกัน รวมทั้งระบบการจัดการด้านสื่อของรัฐบาลอเมริกันกันมากน้อยขนาดไหน?

  ที่สำคัญ คือ การวิพากษ์ดังกล่าวนี้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจต่อการทำงานของสื่ออเมริกันมากน้อยเพียงใด

  กับเหตุผลง่ายๆที่ว่าสื่ออเมริกันอย่างซีเอ็นเอ็น ไม่เข้าใจวัฒนธรรมด้านต่างๆของไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการเมืองนั้น ออกจะเป็นเรื่องที่สรุปกันง่ายดายเกินไป โดยไม่ได้ดูถึงกระบวนการทำงานของสำนักข่าวแห่งนี้และแม้กระทั่งสำนักข่าวโดย ทั่วไปของอเมริกัน

  เพราะค่าและมาตรฐาน ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบของสื่ออเมริกันเหล่านี้มีค่อนข้างสูง ผูกพันกับข้อกฎหมายที่เข้มงวดในประเทศ(อเมริกา)แม้ทั้งหมดจะตั้งอยู่บนพื้น ฐานสิทธิเสรีภาพแห่งการนำเสนอของสื่อก็ตาม

  การทำงานของสำนักข่าวใหญ่และนานชาติหลายแห่งในอเมริกาเสมือนองค์กรข้อมูล ขนาดใหญ่ ที่มีแขนขาเชื่อมโยงทั่วโลก เชื่อมทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยเหตุของความจำเป็นในการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และที่สำคัญ ก็คือ การแข่งขันด้านข่าวสารที่รุนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา ตลอดถึงทุกวันนี้

  อย่าง ซีเอ็นเอ็น พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเอง จากสื่อกระแสรองขึ้นมาเป็นสื่อกระแสหลัก ด้วยการทำงานที่อยู่ในขั้น “มืออาชีพ” มีการฝัง “บุคลากรทางการข่าว”ไว้ทั่วโลก สามารถบริหารจัดการหรือนำออกมาใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆอย่างทันท่วงที หากจะสังเกตกันให้ดีๆ

  ความเข้าใจที่ว่า คนในประเทศนั้นๆ หรือคนเจ้าของประเทศเท่านั้น ที่รู้เรื่องและเข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์ของประเทศของตัวเองดีที่สุด จึงน่าจะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยจะถูกต้องมากนักในโลกยุคปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น สื่อต่างประเทศหลายสำนัก สามารถมองหรือวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ในเมืองไทยได้ดีกว่า สื่อไทยเองเสียด้วยซ้ำ ด้วยระบบข้อมูลและประสบการณ์ที่มากกว่า

ที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่จะยกย่อง สื่ออเมริกันหรือสื่อต่างประเทศจนออกหน้า แต่หากมองถึงประเด็น “อคติ”ในยามที่ “อคติครองเมือง”กันอยู่ในเวลานี้แล้ว สื่อต่างประเทศมี “อคติ”เชื่อมโยงถึงผลประโยชน์จากเมืองไทยหรือจากคนไทยกันกี่มากน้อย

ซึ่งคำตอบก็คงพอจะทราบกันดีว่า เป็นฝ่ายสื่อไทยหรือฝ่ายสื่อต่างประเทศ!

ทั้งในแง่มุมของการปฏิรูปสื่อไทย ที่กำลังถกเถียงหารือกันอยู่ในเวลานี้ ก็เป็นเรื่องที่น่านำมาพิจารณา กรณีว่าด้วย กระบวนการในการนำเสนอและการวิพากษ์ของสื่อไทยว่าตั้งอยู่บนค่ามาตรฐานและ คุณภาพมากน้อยขนาดไหน ก่อให้เกิดการวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงประเทศในเชิงบวกได้อย่างไร

เพราะในขณะเดียวกัน สื่อก็เป็นเครื่องสะท้อน และสามารถเปลี่ยนประเทศได้

ที่ขาดเสียไม่ได้คือ  การพัฒนาคุณภาพคนทำสื่อ องค์ความรู้ การทำการบ้านและประสบการณ์งานสนาม ที่จะนำไปสู่การนำเสนอ และวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ

เพราะเมื่อดูจากภาพรวมในเวลานี้ สื่อไทยโดยเฉพาะช่องทีวีต่างๆยังคงมีการนำเสนอข่าว “แบบย้อมแมว” หรือ “แบบการแสดงโชว์” ต่อหน้าคนชมอยู่

ไม่ว่าจะเป็นกรณีการส่งทีมข่าวไปทำงานในต่างประเทศ อย่างเช่น ทีมของทีวีช่องหนึ่งลงทุนเดินทางไปทำข่าวสิ่งแวดล้อมโลกในประเทศแถบสแกนดิเน เวีย แต่เข้าไปรายงานข่าวจากในที่ประชุมไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่เตรียมตัว และไม่เข้าใจถึงระเบียบปฏิบัติที่รัฐบาลของประเทศนั้นมีต่อสื่อ ที่เชื่อมโยงถึงระบบการรักษาความปลอดภัยของโลกตะวันตก และอีกหลายๆเรื่อง  

“แบบการแสดงโชว์รายงานข่าว” อีกตัวอย่าง เช่น การส่งทีมเดินทางไปทำข่าวการเลือกตั้งในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอน สิ่งที่ได้มา คือ บรรยากาศหน้าสถานที่เลือกตั้งหรือหน้าคูหานั่นเอง การสัมภาษณ์คนที่ไปใช้สิทธิ์ ส่วนข้อมูลอื่นที่ได้มา ส่วนใหญ่ จะมาจากการสัมภาษณ์คนทำสื่อด้วยกันเอง ไม่ก็หาแปลเอาจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ

“แบบการโชว์” (เพื่อโชว์ว่า ช่องทีวีของฉันได้ส่งทีมข่าวโกอินเตอร์)เช่นนี้ จึงหวังข้อมูลเชิงลึก ที่เรียกว่า “ข่าวเจาะ” อะไรมากไม่ได้ เพราะคนทำสื่อเองก็เดินทางไปแบบฉาบฉวย ไม่มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งอะไรกับแหล่งข่าวในท้องถิ่นนั้นๆ

สะท้อนให้เห็นว่า สื่อไทยยังนิยมลงทุนด้านข่าว “เพื่อการโชว์”อยู่มาก เพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ได้พัฒนาไปสู่การทำงานที่เป็นสากลในอนุภูมิภาค หรือในเวทีนานาชาติได้แล้ว

เพียงแค่นี้หากเปรียบเทียบบริบทการทำงานของซีเอ็นเอ็น ที่ฝังทั้งคนทำข่าวและมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข่าวในแต่ละท้องถิ่นรอบด้าน อย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมแตกต่างกันอย่างยิ่ง

ยังไม่รวมถึง “มาตรการจัดการที่รัดกุม”ด้านการนำเสนอข่าว ของแต่ละช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ตลอดถึงอย่างยิ่งรัฐบาลยุคปัจจุบัน

เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ผมบ่นเล่าให้คุณกิตติมาเธอฟังในวันนั้น….


หมายเลขบันทึก: 522029เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท