ปักธงเครือข่ายวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน


ดีใจด้วยกับทุกคน การทำงานที่สอ.เพราะอะไรบีบบังคับผมเข้าใจ จึงเน้นที่รอรับการรักษา ไม่ได้เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างสุขภาพชุมชนเท่าที่ควร เริ่มต้นวันนี้ดีแล้ว

          เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 เวลา 17.30 น. ที่ผ่านมา ทีมงาน “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” จำนวน 20 คน (ครบตามลักษณะไตรภาคีหากพิจารณาจากมิติของสถานที่ปฏิบัติงาน คือมากจาก สอ., สสอ. และ สสจ.) ได้มาร่วมเสวนากันตามที่ได้นัดหมายไว้ ณ สวนอาหารสวนใผ่ ริมถนนสายเอเชีย ติดกับปั๊มน้ำมัน ปตท. ประเด็นการเสวนาก็เพื่อพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานชุมชนในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นสำคัญคือการปักธง “เครือข่ายวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” และผลลัพธ์ที่ได้โดยสรุป ก็เกิดกองทุนเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเครือข่ายฯ ในสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคของระบบราชการ โดยให้การขับเคลื่อนเครือข่ายดำเนินการไปได้โดยสะดวก กองทุนนี้มีชื่อว่า “วิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” วันแรกก็ได้จากการระดมทุนด้วยความสมัครใจเท่าไหร่ก็ได้ รวมเป็นเงิน 7,580 บาท รายจ่ายค่าอาหาร รวมทั้งสิ้น 2,080 บาท จึงคงเหลือ 5,500 บาท (งานนี้จะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ และงานต่อ ๆ ไปก็จะไม่มี) ที่ประชุมตกลงให้เปิดปัญชีของกองทุน และมอบให้ พี่พร พี่ทา และพี่โอ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการเงินของกองทุนฯ นี้

          ในส่วนของบรรยากาศและเนื้อหาที่ได้ วันนนั้นทุกคนดูจากสีหน้าและแววตาล้วนมีความสุข ประทับใจในความเป็นกันเองของสมาชิกเครือข่ายที่เป็น ทีมนักวิจัยหลักฯ (หมอยอร์น และผม) ในฐานะที่หมอเป็นหัวหน้าสูงสุดขององค์กร (สสจ.) ก็ไม่ปรากฏให้เห็น ทุกคนแม้แต่คนที่มาจากพื้นที่ ซึ่งเป็นหมออนามัย จะกล้าพูดในสิ่งที่ไม่น่าจะพูดได้หากเป็นการพูดกับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แต่นี่เป็นการพูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายฯ ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน
          ผมได้เล่าความเป็นไปเป็นมาให้สมาชิกได้รับทราบของโครงการ “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” (รายละเอียดตาม...) และได้เล่าถึงพื้นที่ 3 ลักษณะที่ได้ทดลองนำร่องไปบ้างแล้ว คือ ชุมชนลำกะ ชุมชนเกาะเรียน และชุมชนลานช้าง ว่าแตกต่างกัน กล่าวคือชุมชนลำกะ เป็นพื้นที่ใกล้เมือง ใกล้ตัวจังหวัด ชุมชนเพิ่งจะเริ่มรวมตัวกันตามแนวคิดไตรภาคี เป็นชุมชนในเขตชนบท (อบต.) ส่วนชุมชนลานช้างเป็นชุมชนที่เข้มแข็งด้วยตัวเองที่ผ่านมายังไม่มีนักพัฒนาฯ เข้าไปเลย อยู่ห่างจากจังหวัดพอประมาณ อยู่ติดถนนสายหลักคือถนนสายเอเชีย เป็นชุมชนในเขตชนบท (อบต.) เช่นกัน ส่วนชุมชนเกาะเรียนเกาะเรียนนั้นเป็นชุมชนในเขตเมือง (เทศบาล) ห่างจากตัวจังหวัดมากที่สุด เป็นชุมชนที่เข้มแข็งแต่เคยถูกรบกวนจากคนนอกที่เข้ามาพัฒนาฯ จนเกิดการปฏิเสธมาแล้ว ด้วยเหตุผลว่าคนนอกเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ เขาจึงมองคนนอกอย่างผมที่เข้าไปในครั้งแรกด้วยสายตาหวาดระแวง ดังถ้อยคำที่แกนนำถามผมว่า “ข้อมูลที่ได้ แผนที่พัฒนาขึ้นจะเอาไปใหน” ผมตอบไปว่า “เป็นของชุมชน เป็นของพื้นที่เอง ไม่มีใครเอาไปไหนเด็ดขาด ชุมชนต้องใช้พัฒนาตนเอง เพื่อให้พึ่งตนเองได้ ถ้าชุมชนไว้ใจเชื่อใจแล้ว ก็เอาเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา และที่คิดว่าชุมชนอยากขอความร่วมมือมาบอก เครือข่ายก็จะพิจารณาให้การสนับสนุน โดยให้ชุมชนมาดำเนินการเอาเอง 100% เราไว้ใจชุมชน ไว้ใจพื้นที่ คำหลักหรือคำสำคัญของเราคือ ไว้ใจซึ่งกันและกัน” ที่เกาะเรียนผมต้องเข้าไปถึง 3-4 ครั้ง ถึงจะได้รับความไว้วางใจในระดับเบื้องต้น (เท่านั้น)
          ทั้ง 3 พื้นที่จึงเป็น 3 ลักษณะที่แตกต่างกันและน่าสนใจต่อการศึกษา ส่วนความหมายของ “ไตรภาคีฯ” จะมีหลาย ๆ มิติ แต่คำหลักคือ “ความร่วมมือกัน” “เพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน” “ความเข้าอกเข้าใจกันและกัน” เช่น
     1) ภาคประชาชน/เอกชน ภาครัฐที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค-ส่วนกลาง และภาครัฐที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่น
     2) คนที่อยู่หรือทำงานในพื้นที่/ชุมชน คนที่อยู่ระดับอำเภอ และคนที่อยู่ระดับจังหวัด
     3) ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ปฏิบัติโดยตรง (ใช้องค์ความรู้เชิงปฏิบัติ) ผู้ที่ให้การสนับสนุนเชิงกระบวนการ หรือพี่เลี้ยงผู้ประสานงาน (ใช้องค์ความรู้ที่เป็นภาคทฤษฎี) และผู้ที่ให้การสนับสนุนเชิงอำนวยการ หรือการอำนวยความสะดวก และเป็นผู้ที่คอยผสมผสานองค์ความรู้เชิงปฏิบัติ – องค์ความรู้ที่เป็นภาคทฤษฎี เข้าด้วยกัน
     4) ภาคประชาชน/ชุมชน (เจ้าของสุขภาพ) ภาคสาธารณสุข (ช่วยจัดการด้านสุขภาพบางเรื่อง) และภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (มีผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อสุขภาพ)
     5) สุขภาพระดับพื้นที่ หรือสุขภาพชุมชน (พึ่งตนเอง) สุขภาพระดับปฐมภูมิ (พึ่งกันเอง) และสุขภาพระดับที่สูงกว่าปฐมภูมิ (พึ่งคนอื่น)
     6) ชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และชุมชนชายขอบ
     7) ตนเอง (เอกบุคคล) ชุมชน และสังคม
     8) เครือข่ายไตรภาคระดับชุมชนถึงตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด
     9) ทีมนักพัฒนาสุขภาพชุมชนในพื้นที่ ผู้มีหน้าที่ตามสามัญสำนึก ทีมนักพัฒนาสุขภาพชุมชนรอบนอก ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย และทีมนักพัฒนาสุขภาพชุมชนคนนอก ผู้ร่วมขับเคลื่อนให้สังคมสู่สุขภาวะ
          ข้างต้นคือความหมายของ “ไตรภาคีฯ” เท่าที่สรุปได้จากเวทีต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงาน ซึ่งตีความจากการพูดถึงกล่าวถึง หากจะมีต่อไปอีกก็จะนำมาเล่าให้ฟังในเวทีต่อไป
          สำหรับในห้วงเวลาต่อไปก็จะเริ่มขยายการดำเนินงานสู่พื้นที่อื่น ๆ สำหรับผลลัพธ์สุดท้ายที่มุ่งหวังคือชุมชนเข้มแข็งพึงตนเองได้อย่างยั่งยืน ทีมงานจะได้ (กำไร) จากการดำเนินงานคือการจัดการกับองค์ความรู้ และได้องค์ความรู้ ทีมงานทุกคนจะได้รับการพัฒนาส่วนขาดของตนเอง ตามแนวทางทศปฏิบัติ ที่หมอวิจารย์ฯ ได้แนะนำไว้ สำหรับช่องทางที่จะได้ติดตามเนื้อหา ความก้าวหน้าร่วมกันคือ ชุมชนวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข ประเด็น ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน


          หมอได้เสริมในส่วนที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว ด้วยการขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างเงียบ ๆ ในชุมชน มีความมุ่งมั่น และไม่เคยเห็นออกมาเอะอะโวยวาย หรือเรียกร้องอะไรเลย เข้าใจว่าทุกท่านมีเจตจำนงที่เหมือนกันคือเพื่อประชาชนจริง ๆ ก็ถือว่าวันนี้เป็นการขอบคุณทุกท่าน สำหรับโครงการนี้ในส่วนของเรา เราเดินหน้าเต็มสูบ ในส่วนที่ต้องเชื่อมต่อกับโครงการอื่น ๆ หรือหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สวรส.ภาคใต้ มอ. ก็กำลังดำเนินการอยู่ วันนี้ผมก็ได้รับหนังสือตอบกลับมาแล้ว พร้อมทั้งการวิพากษ์จากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเครือข่ายด้านบนก็เริ่มขยับขยายออกไปเรื่อง ๆ ในพื้ยที่ก็ต้องขยายออกไปด้วย
          สำหรับโครงการนี้ในส่วนที่จะเล่าให้ฟังบ้าง (ปล่อยให้ อนุชาฯ เล่ามานานแล้ว ขอเล่าบ้าง ฮา...) เดิมผมขับรถไปกับคุณอนุชาฯ เพื่อไปนำเสนอที่ สวรส.ภาคใต้ มอ. ก็ได้รับคำแนะนำให้ใช้การขับเคลื่อนผ่านแผนชุมชน เน้นที่กระบวนการ และการปฏิบัติจริง เพื่อเสาะหาองค์ความรู้ โดยใช้แนวคิดเดิมของทีมวิจัยแต่ตั้นคือการมีส่วนร่วมจาก ท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และอบจ. โดยไม่จำเป็นต้องให้นิยามของสุขภาพไปก่อนแต่ให้ใช้นิยามความหมายของชาวบ้านแทน ก็เลยนำมาปรับ และในกระบวนการก็มีการแลกกันซึ่งความรู้ที่ได้รับในแต่ละแห่ง เอาวิชาการมาจับ ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ที่สำคัญอยากเห็นทุกคนทำงานอย่างมีความสุข “ชาวบ้านได้อะไร” เป็นคำถามที่ต้องมีอยู่ในใจเสมอ และขอให้กระบวนการดำเนินไปย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของชาวบ้านด้วย และขอให้ทุกคนลองคิดดู “บริหารวิชาการ” ทำอย่างไร และทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมงานมีส่วนร่วมกับเราที่มาเดินตรงนี้ให้มากที่สุด ชักชวน พูดคุยให้ฟังบ่อย ๆ จนเขาเกิดความสนใจ แต่ละคนอาจใช้เทคนิคต่างกัน ได้ผลอย่างไรก็เอามาเล่าให้ฟังด้วย การทำงานชุมชนควรจะมีปฏิทินชุมชน มีการกำกับแผน จัดลำดับความสำคัญ มีการบันทึก และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อันนี้คิดว่าคุณอนุชาฯ คงจะได้ดำเนินการแล้วในส่วนของทีมอำนวยการ ในพื้นที่ก็ควรทำด้วย
          หลังจากนั้นก็ได้เปิดเวทีให้สมาชิกได้เล่าประสบการณ์ ความคิด และสิ่งที่จะทำต่อไปให้เวที่ฟังที่ละคนจนครบ (ในส่วนนี้ได้มอบหมายให้พี่หรอย หรือพี่อนุกูลฯ ได้สรุปมาลงไว้ใน blog ซึ่งจะนำมาลงไว้อีกทีหนึ่ง)
          ผมได้นำเสนอให้สมาชิกเครือข่ายในวันนี้ได้รับไปพิจารณาในแต่ละประเด็นหลังจากที่ได้รับฟังจากทุกคนครบแล้ว ดังนี้ ในด้านปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ต้องมีผู้นำที่มีพื้นเพหรือการอาศัยอยู่ในชุมชน มีความเข้าใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชน น่าจะใช้การเรียนรู้การต่อสู้ของชุมชนในอดีต ดึงการรวมตัวของชุมชน จากนั้นให้ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา ต้องให้ครอบครัวเข้าใจ ใช้วิกฤติเป็นแรงให้เกิดความร่วมมือ แล้วคนในชุมชนมีความร่วมมือกันอย่างอัตโนมัติ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นปกติวิสัย พัฒนาให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความผูกพันกัน ช่วยกันดึงและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ต้องมีกติการ่วมกัน และควรจะต้องพิจารณามอบหมายงานตามความถนัดของเยาวชน
          ในส่วนของกระบวนการจัดการความรู้ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง นั้นต้องใช้สร้างความรู้ใช้เอง ขยาย ถ่ายทอด ลองทำอยู่ตลอดเวลา หาความรู้จากภายนอกมาปรับใช้ในชุมชนอยู่ตลอดเวลา สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการเชื่อมโยงความรู้ของแต่ละกลุ่มในชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชนอยู่ตลอดเวลา มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน ใช้การจดบันทึกในหลาย ๆ รูปแบบ มีการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ และนำมาปรับแก้ ปรับใช้อยู่ตลอดเวลา ใช้ความรู้ชุดเล็ก ๆ เป็นตัวเดินเรื่อง ใช้ระบบพี่เลี้ยงเป็นผู้คอยช่วยเหลืออำนวยการ ลดแรงกระแทก และน่าจะมีการให้รางวัล เช่นการชมเชย หรือการไปเที่ยวด้วยกันบ้าง
          หมอก็ได้กล่าวในตอนท้ายก่อนลงมือรับประทานอาหารเย็น (ตอนดึก) ร่วมกัน สรุปได้ดังนี้ ดีใจด้วยกับทุกคน การทำงานที่สอ.เพราะอะไรบีบบังคับผมเข้าใจ จึงเน้นที่รอรับการรักษา ไม่ได้เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างสุขภาพชุมชนเท่าที่ควร เริ่มต้นวันนี้ดีแล้ว เห็นใช่ไหมว่าจะต้องเริ่มที่เจตคติก่อน เริ่มที่เราก่อน จึงไปชวนเพื่อน ทุกคนทำได้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่ บางคนทำงานหนักแต่ขาดกระบวนการ ขาดการตกผลึก ไม่ได้วางแผนและวิเคราะห์งาน เมื่อมีคนมาถามว่าพื้นที่นี้มีปัญหาหรืออยากให้ช่วยเหลืออะไรบ้างก็บอกว่าไม่มี ไม่ใช่ไม่มี ผมว่าเป็นเพราะไม่ทราบมากกว่า จัดระบบการคิด การทำงาน ปรับปรุงวิธีการ คิดนอกกรอบบ้าง และให้ถึงจุดหมายให้ได้ ที่สำคัญทุกอย่างฝึกฝนได้ ได้อะไรกันมาก็เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ
          ผม (หมอ) มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เมื่อเห็นทีมงานในวันนี้
          วันนี้ยังรอเรื่องที่สรุปจากการถอดถ้อยคำที่ได้บอกเล่าผ่านเวทีของวันที่ 21 กันยายน 2548 ที่ผ่านมาอยู่เพื่อเพิ่มเติมเข้าไป จึงไม่ขอสรุปในตอนนี้ (จบภาคส่วนนี้เท่านี้ก่อน....ใครอยากอ่านต่อยกมือขึ้น...)

หมายเลขบันทึก: 5219เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2005 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท