ถึง คนพิการ ฉบับที่ 4


“งานช่วยคนพิการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้พิการไม่ได้เป็นผู้อยากพิการ ถ้าไม่ช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จึงทำให้เกิดสิ่งที่หนักแก่ครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำคือ ช่วยให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พุทธศักราช 2517

     ต่อจาก ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 1
     ต่อจาก ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 2
     ต่อจาก ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 3

     ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 4

     สืบเนื่องจากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเพื่อพัฒนาชุดโครงการวิจัยสร้างความรู้ เรื่องภูมิปัญญาและทางเลือกในการดูแลคนพิการ ณ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งจัดโดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) และได้นำเสนอในส่วนของจังหวัดพัทลุง คือ การพัฒนาหมอนวดแผนไทย เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพฯคนพิการ ตามหลักเวชศาสตร์ฟื้นฟู จว.พัทลุงมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ และได้รับบริการฟื้นฟูฯ ด้วยการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมให้คนพิการ เข้าถึงสิทธิโดยมีบริการนวดฯ จากหมอพื้นบ้าน เป็นทางเลือก เป้าหมายของโครงการคือการพัฒนาหมอนวดฯ 4 รุ่น รุ่นละ ~12 คน รวม 44 คน ซึ่งเคยผ่านการอบรมขั้นพื้นฐานมาก่อนแล้ว ใช้หลักสูตรรุ่นละ 10 วัน 60 ชั่วโมง (เชี่ยวชาญด้านการนวดเพื่อฟื้นฟูฯคนพิการ) ทีมวิทยากรคือ แพทย์ฯศัลยกรรม, แพทย์ฯ เวชศาสตร์ฟื้นฟู, นักกายภาพบำบัด, หมอหลักสูตรแพทย์แผนไทย (2 ปี), นักประเมินผล ทั้งนี้จะประเมินจาก ภาวะความพิการ, ความพึงพอใจ, การรับรู้จากอาการที่ดีขึ้น-ไม่ดี, คุณภาพชีวิต, การรับรู้จากญาติ, การประเมินตนเองจากหมอนวดฯ
     ผลได้จากแผนงาน/โครงการนี้ จะทำให้คนพิการได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ภายใต้ความขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขสาขานี้ คนพิการจะได้รับในด้านร่างกายโดยการนวด ด้านจิตใจโดยการสื่อสารจากหมอนวดฯ ด้านสังคมโดยการเชื่อมกับเครือข่าย จนท.สธ., ญาติ, หมอนวดฯ, กลุ่มคนพิการด้วยกัน และด้านจิตวิญญาณโดยได้รับจากพิธีการของหมอนวดฯ, ความเชื่อที่หมอนวดฯเข้าใจร่วมกันกับคนพิการ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาไทย ผลจาการพัฒนาหลักสูตรจะสามารถขยายการพัฒนาหมอนวดฯได้อีก 78 คน (มีอยู่ 122 คน) ในเครือข่าย จว.พัทลุง โดยใช้งบฯ ของ CUP เป็นการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดความยากจนของคนในชนบท หลักสูตรฯเมื่อที่ผ่านการยอมรับ ก็สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ คนพิการได้รับบริการฯ ประมาณปีละ 1,584 คน ในปีแรก และสุดท้ายเกิดความยอมรับร่วมกัน ระหว่างหมอนวดแผนไทย กับระบบแพทย์กระแสหลัก คำสำคัญที่เป็นสิ่งมุ่งหวังของการดำเนินงานคือ “การส่งเสริมให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูฯ” ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของคนพิการ ซึ่งมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากโครงการนำร่องที่ อ.เขาชัยสน เพราะค่าใช้จ่ายจากบริการหากไม่อยู่ในระบบจะแพงมาก หมอพื้นบ้านนิยมจะไปนวดให้คนรวยในเมือง แต่จะปฏิเสธคนที่ไม่มีกำลังจ่าย พูดง่าย ๆ ก็คือการนวดเป็น need ของคนพิการ แต่เป็นwant ของคนรวย need จึงแพ้ want เพราะ need ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้
     ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในมุมมองที่กลับด้าน (จากผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วน นักวิชาการหมอพื้นบ้านและหมอพื้นบ้านที่เข้าร่วมประชุมบางส่วนเท่านั้น) คือแผนงาน/โครงการนี้จะไปทำลายภูมิปัญญาไทย การนวดแบบราชสำนัก ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้จากหมอพื้นบ้าน เป็นการกดขี่ศักดิ์ศรีของหมอพื้นบ้านให้จำใจเข้ามาในระบบการแพทย์กระแสหลัก มุมมองที่กลับกันนี้กลับมองให้ไปสร้างการยอมรับจากแพทย์กระแสหลักให้ยอมรับแพทย์พื้นบ้านจะดีกว่า หรือเป็นเพราะแพทย์แผนปัจจุบันไม่ยอมรับนี่แหละถึงทำให้คนพิการไม่ได้รับบริการ ก็ทำให้แพทย์ยอมรับเสียไม่ง่ายกว่าเหรอ และอีกหลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ประเด็นที่พูดถึงหลักสูตรบ้าง การตรวจสอบหลักสูตรจากแพทย์บ้าง ถึงขนาดกับมีคำพูดในเวทีโดยแพทย์ท่านหนึ่งว่าผู้นำเสนอน่าจะไม่เข้าใจการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยเลย (เรียกว่างานนี้ผมไปผิดเวที...ฮา) ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้นแผนงาน/โครงการนี้เป็นหน่อ เป็นกอมาได้จากเครือข่ายหมอนวดแผนไทย์ของจังหวัดคิดขึ้น พูดคุยกัน และตกผลีก จากโจทย์ “ทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะทำให้คนพิการบ้านเราเข้าถึงบริการฟื้นฟูฯ ตามสิทธิที่เขามีอยู่”

     ผมเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วที่ในส่วนครึ่งแรกที่ เวทีแห่งปัญญา และผมเข้าใจ เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดครับ แต่สิ่งที่ผมในฐานะคนที่พยายามเชื่อมต่อแผนไทย ให้เข้ากับแผนปัจจุบันที่เป็นกระแสหลัก ไม่เข้าใจเลยก็คือ ทำไมในเมื่ออดีตเราได้ทำลายการแพทย์แผนไทยลงไปเอง แล้วชื่นชมกับการแพทย์กระแสหลักจนลืมหูลืมตา วันนี้เราจะต้องทำลายการแพทย์กระแสหลัก เพื่อชื่นชมกับการแพทย์แผนไทยเพื่อเอาคืนเลยหรือ ผมคิดเห็นว่าการพยายามปรับเข้าหากัน และไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่างค่อยเป็นค่อย ๆ ไปน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ส่วนสิ่งที่ท่านได้เสนอให้ทีมผมกลับไปทำโครงการเพื่อปรับทัศนคติของแพทย์นะ (ในขณะที่ท่านก็เป็นแพทย์ด้วย) น่าจะรู้ว่ายากอย่างไร ไม่งั้นท่านก็คงทำสำเร็จไปนานแล้ว นี่ขนาดท่านอยู่ส่วนกลางนะครับ ผมอยู่ภูธร อยู่ชายขอบ เป็นแค่หมออนามัย จะมีปัญญาอะไร ผมคิดถึงนายคเณฯ (นามสมมติ) คนพิการที่ร้องเรียนมายังผมว่า หมอนวดคนที่แพทย์โรงพยาบาลสั่งให้ไปนวด แล้วค่อยเบิกเงินจากโรงพยาบาลที่หลัง (เดือนละครั้ง) นั้นยังไม่ได้ไปนวดให้ที่บ้านตามที่ตกลงกันไว้ เพราะกลัวว่านวดไปแล้วจะไม่รู้เอาเงินที่ใคร จนผมต้องไปการันตีต่อหน้า (หมอนวด นายคเณฯ และจนท.สอ.) ว่าหากเบิกที่ไหนไม่ได้ผมจะหามาจ่ายเอง (ตอนนี้ก็ได้นวดแล้ว) แต่นายคเณฯ มีแผลกดทับมากขึ้นจนเริ่มมีกลิ่น (นายคเณฯ เป็นคนพิการที่ประสบอุบัติเหตุเคลื่อนไหวตัวเองไม่ได้เลย แต่รับรู้ได้ทุกอย่าง)
     หมอนวดแผนไทยที่ราชการได้พัฒนาขึ้นนั้น ทุกวันนี้มีจำนวนมากถึง 122 คน ทั้งจังหวัด แต่ที่เหลือเพื่อคนชายขอบมีเพียงไม่กี่คน นอกนั้นไปนวดในเมือง นวดคนรวย และนวดในโรงพยาบาลที่ปิดกั้นสิทธิบัตรทอง เลือกให้บริการเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่เบิกได้ แล้วแนวคิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพหายไปไหนหมดแล้วครับ หรือแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์นี้ ถ้าไม่งั้นก็แสดงว่าผมไปผิดเวทีเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเวทีนี้เป็น เวทีแห่งปัญญา ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน

หมายเลขบันทึก: 5212เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท