ตำนานบทละครเรื่องอุณรุท


ตำนานบทละครเรื่อง " อุณรุท "

ละครเรื่องอุณรุท มีปรากฎเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 คู่กันมากับบทละครเรื่อง รามเกียรติ์และอิเหนา มีคำกลอนกล่าวอ้างไว้ท้ายเรื่องอุณรุทว่า

อันพระราชนิพนธ์อุณรุท           สมมุติไม่มีแก่นสาร

ทรงไว้ตามเรื่องโบราณ                สำหรับการเฉลิมพระนคร

ให้รำร้องครื้นเครงบรรเลงเล่น         เป็นที่แสนสุขสโมสร

แก่หญิงชายไพร่ฟ้าประชากร          ก็ถาวรเสร็จสิ้นบริบูรณ์

 

เรื่องอนิรุทธที่นำมาแต่งเป็นบทสำหรับเล่นละครดำเนินเรื่องแตกต่างไปจากอนิรุทธคำฉันท์ แม้ชื่ออนิรุทธก็เพี้ยนไปเป็นอุณรุท เนื้อเรื่องที่ต่างออกไปเนื่องจากแต่งให้เหมาะแก่การเล่นละครตามที่นิยมกัน และในบทพระราชนิพนธ์ซึ่งนำมาไว้ข้างต้นว่า " ทรงไว้ตามเรื่องโบราณ " แสดงว่าเรื่องบทละครเรื่อง อุณรุทเคยมีมาก่อนรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสันนิษฐานว่าคงจะเกิดขึ้นภายหลังจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมาในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ดังปรากฏในบุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาควัดท่าทราย คราวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จประพาสและสมโภชพระพุทธบาทมีว่า

                              ละครก็ฟ้อนร้อง สุรศัพทขับขาน             ฉับฉ่ำที่ดำนาน อนิรุทธกินรี

ที่กล่าวว่า " อนิรุทธกินรี " ในคำฉันท์นั้น เพราะในเรื่องที่เป็นกลอนบทละครมีกล่าวไว้ว่าพระอนิรุทธเสด็จประพาสไพรไปพบพวกนางกินนรก็ทรงพิศวาส จึงทรงไล่ต้อนพวกนางกินนร แต่ก็ยังเรียกว่า อนิรุทธ ไม่เรียกอุณรุท เหมือนในบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 มาในสมัยกรุงธนบุรี ไม่พบหลักฐานว่าได้มีการแต่งบทละครเรื่องอุณรุท หากมีการแสดงละครเรื่องนี้บ้าง ก็คงจะใช้บทครั้งกรุงเก่าเท่าที่เหลือมา และหากันได้ในเวลานั้น ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ราวต้นรัชกาลที่ 1 กล่าวกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้านภาลัยยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรและประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ได้โปรดให้ฝึกละครผู้หญิงขึ้นในพระราชวังชุดหนึ่ง ใช้บทละครเรื่อง อุณรุทครั้งกรุงเก่า แต่เอามาตัดให้เหมาะสมแก่การแสดงละครในครั้งนั้น ( บทที่ตัดนั้นยังมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นหนังสือ 15 เล่ม สมุดไทย แต่ต้นฉบับที่มีอยู่ไม่ครบ ) ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงกริ้วจนต้องเลิก เพราะมีกฎห้ามไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มิให้เอกชนนอกจากพระเจ้าแผ่นดินมีหรือฝึกหัดละครผู้หญิงไว้ในสำนัก เมื่อครั้งมีงานสมโภชพระแก้วมรกตในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ปรากฎว่ามีเล่นละครเรื่องอุณรุทสมโภชด้วย แต่คงเรียก  อนิรุทธ   เช่นที่กล่าวว่า

มโหรสพทุกสิ่งเหล้น       ฉลองพุทธ พิมพ์พ่อ

เล็งละครอนิรุท                รุ่นร้อย

พิลาศพิไลยสุด                 จักรำ รำนา

แต่งแง่งามอ่อนชัย             เฉิดชี้โฉมสวรรค์ ฯ

บางทีการเล่นละครเรื่อง อุณรุท ในคราวสมัยสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนั้นคงจะเป็นคณะละครของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ( พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ) ก็เป็นได้ และคงเล่นบทตามกรุงเก่า เพราะฉบับกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่ได้แต่งขึ้น ต่อล่วงมาอีก 8 ปี จึงได้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่อง อุณรุทขึ้นมีกล่าวไว้ว่า " ศุภมัสดุ จุลศักราช 1149 ปี มะแม นพศกจตุรมาส สัตตมกาฬปักษ์ดิถีพุทธวาร บริจเฉทะ ( กาล ) กำหนดสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว อันเสด็จสวัสดิ์ปราบดาภิรมย์ ที่นั่งอัมรินทราภิเษกพิมาน ทรงพระราชนิพนธ์รจนา เรื่องอุณรุทเสร็จ แต่ ณ วันขึ้น 3 ค่ำ ปีมะแม นพศก คิดรายวันได้ 5 เดือน กับ 10 วันบริบูรณ์ "

แต่บางตอนไปปรากฎอยู่ในฉบับที่เป็นสำนวนความทรงตรัสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เข้าใจว่าอาลักษณ์คงเขียนสับสนกันในเวลาใดเวลาหนึ่งมีข้อควรสังเกตคือ " เจตรมาศ สัตตมกาฬปักขดิถีพุธวาร " ซึ่งแปลว่า เดือน 5 แรม 7 ค่ำ วันนั้นในปฏิทินเป็นวันจันทร์ นับแต่เดือน 5 แรม 7 มาถึง วันพุธขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย ไม่ใช่ 5 เดือน กับ 10 วัน แต่ที่ถูกคือ 7 เดือนกับ 10 วันพอดี ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ในปี พ.ศ. 2330 คือปีที่ 6 ในรัชกาลที่ 1 นั้น มีอยู่ 18 เล่มสมุดไทย เคยมีผู้นำออกตีพิมพ์จำหน่ายแล้ว เท่าที่เคยพบฉบับตีพิมพ์ ปรากฎว่าตั้งแต่ เล่ม 1 ถึงหน้า 252 ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นายเทพ สกุลสุนันทาลัย เมื่อ ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ตั้งแต่เล่ม 9 ถึงเล่ม 12 สมุดไทย หรือตั้งแต่หน้า 253 ถึงหน้า 321 ตีพิมพ์ที่ โรงพิมพ์หมอสนิท บางคอแหลม เมื่อ จ.ศ. 1236 ( พ.ศ. 2417 ) และตั้งแต่เล่ม 13 ถึงเล่ม 18 สมุดไทย หรือ ตั้งแต่หน้า 377 ถึงหน้า 522 ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์นายเทพ แสดงว่าได้ตีพิมพ์มาแล้ว 2 ครั้ง

เมื่อเทียบกับบทละคร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ด้วย เช่น อิเหนา และรามเกียรติ์ แล้วนับว่า บทพระราชนิพนธ์ เรื่องอุณรุท แต่งก่อนเรื่องอื่น สำนวนโวหารการร้อยกรอง ตลอดจนราชประเพณี เช่น บทกลอนช้าลูกหลวง และอื่นๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นบทกลอนในสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 521589เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท