Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

องค์ความรู้เรื่องคนไทยพลัดถิ่น : ความจำเป็นที่สังคมไทยต้องมี จึงต้องนิยมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง - คำนิยมเพื่อหนังสือเกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต


เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้รับหน้าที่ให้ทำคำนิยมเพื่อหนังสือเกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง (๑) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ SWIT (SWIT Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand) (๒) มูลนิธิเอเซีย และ (๓) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำหรับผู้ทำคำนิยมแล้ว แนวคิดเพื่อเขียนคำนิยมนั้นย่อมต้องมาการสรุปความคิดและอารมณ์ที่มีต่องานเขียนและคนเขียน ตลอดจนเรื่องราวที่เขียน  ครั้งนี้ ก็เช่นกัน ผู้ทำคำนิยมจมอยู่นานกับต้นฉบับทั้งหมด อ่านแล้วอ่านอีก เพื่อที่จะจับความนิยมที่เกิดขึ้นจริงต่องานเขียนทั้งหมดเกี่ยวกับคนไทยพลัดถิ่น ไม่ค่อยง่ายนักที่จะเขียนคำนิยมต่อคณะผู้เขียน โดยเฉพาะ อาจารย์วีนัส สีสุข และอาจารย์ด๋าว ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล รวมตลอดถึงคุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว บรรณาธิการ ซึ่งผู้ทำคำนิยมได้มีโอกาสเขียนคำนิยมให้หลายครั้ง ในผลงานของท่านทั้งหลายที่ผ่านมาในอดีต การเขียนคำนิยมก็เป็นข้อท้าทายอย่างมาก คำนิยมของเราคงจะไม่มีค่าหากว่า จะเป็นการเขียนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างใดเลยกับเนื้อหาในหนังสือหรือคนเขียนหนังสือหรือคนสนับสนุนทุนจัดพิมพ์หนังสือหรืออาจรวมไปถึงคนอ่านหนังสือ ก็อาจจะเป็นได้

ข้อนิยมในเนื้อหาของหนังสือ : เรื่องของคนไทยพลัดถิ่น เรื่องของอดีต เรื่องของปัจจุบัน เรื่องของอนาคต

  ผู้ทำคำนิยมขอให้คำนิยมต่อเนื้อหาในหนังสือนี้เป็นเรื่องราวของคนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  เป็นที่แน่นอนว่า คนไทยพลัดถิ่น ก็คือ คนที่มีสองลักษณะในตัวเอง กล่าวคือ (๑) เป็นคนไทย และ (๒) เป็นคนพลัดถิ่น และเมื่อสองลักษณะนี้มารวมกันในความเป็นจริง มันก็สร้างทั้งโอกาสและปัญหาให้แก่คนที่มีทวิลักษณะนี้ โอกาสและปัญหาของคนดังกล่าวจะมีที่มาจากการตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของ ๒ รัฐเป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจทำให้ตกเป็น “คนหลายรัฐหลายสัญชาติ” หากรัฐที่เกี่ยวข้องพากันแย่งแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือคนดังกล่าว แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็อาจตกเป็น “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” หากรัฐที่เกี่ยวข้องต่างพากันละทิ้งพวกเขา ความซับซ้อนมากไปกว่าก็คือความเอาใจใส่หรือความหมางเมินของรัฐที่เกี่ยวข้องนั้นไม่คงที่ ในช่วงเวลาหนึ่ง ก็มีท่าทีอย่างหนึ่ง แต่ในอีกช่วงเวลาหนึ่งก็จะมีท่าทีอีกอย่างหนึ่ง ความไม่ชัดเจนของเรื่องอาจจะมาจากรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐที่เกี่ยวข้องรัฐหนึ่ง ซึ่งมีความเข้าใจที่คลุมเครือมากในเรื่อง “ความเป็นคนไทย (Being thai people)” เราจะเห็นจากท่าทีของรัฐไทยในการหันกลับมายอมรับสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตของคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕[1] แต่ก็ให้คำนิยามคำว่า “คนไทยพลัดถิ่น” ที่ทรงสิทธิในสัญชาติไทยนี้อย่างแปลกประหลาดทีเดียว จะว่าแคบไป ก็ไม่ใช่ทีเดียว จะว่ากว้างไป ก็ไม่ใช่ทีเดียว สรุป ก็คือ คลุมเครือมากที่จะถูกตีความโดยผู้บังคับใช้กฎหมายให้กว้างหรือแคบมากน้อยก็คงทำได้ แต่ถ้าเราเข้าใจบรรยากาศทางความคิดทีปะทะกันในรัฐสภาในขณะที่มีการนิติบัญญัติ เราก็คงจะเข้าใจ เราเห็นการชุมชุมประท้วงของคนไทยพลัดถิ่นตลอดเวลาตั้งแต่ช่วงที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติจนมาถึงการพิจารณาร่างและมาจนถึงช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน  โดยนิยามของพระราชบัญญัติที่รัฐสภายอมรับ[2] “คนไทยพลัดถิ่น” หมายความว่า  ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”  ซึ่งเราคาดเดาได้ว่า คนที่ไม่รู้ที่มาที่ไปมาอ่านดู ก็คงจะไม่ชัดเจนนั้นว่า คำนี้หมายความอย่างไร ? และถึงจะพอเข้าใจบ้าง ก็คงจะมีหลายคำถามมารอที่ปากทีเดียว แต่หากจะอธิบายจากผู้ทำคำนิยมซึ่งมีโอกาสข้องเกี่ยวอยู่ไม่น้อยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คนไทยพลัดถิ่นที่ทรงสิทธิในสัญชาติไทยดั่งบุพการีที่รัฐไทยยอมคืนให้นี้ย่อมมีอยู่ ๓ กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ

  สำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่กลับมาสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตกลุ่มหนึ่ง ก็คือ คนเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เคยเป็นของรัฐไทยและเมื่ออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นได้เปลี่ยนมือไปจากประเทศไทย พวกเขาจึงเสียสัญชาติไทยเพราะพวกเขามิได้อพยพกลับประเทศไทยในวินาทีนั้น คนในสถานการณ์นี้คงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องราวใน ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ท่านศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนไทยถิ่นพลัด” ขอให้สังเกตว่า กฎหมายสัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๕๕ มิได้คืนสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนในกลุ่มนี้ทุกคน กฎหมายนี้ยอมคืนให้เฉพาะแก่คนเชื้อสายไทยในดินแดนที่เสียไป “ซึ่งบุตรหลานที่ตกเป็นคนต่างด้าวตามบุพการีไปด้วยนั้นได้อพยพกลับมาในแผ่นดินไทยในเวลาต่อมาและมีข้อเท็จจริงอื่นที่กฎหมายกำหนด”  คนในกลุ่มนี้จึงเป็น “คนในอดีต” ที่ได้รับการเล่าถึงอีกครั้งหนึ่งในหนังสือที่กำลังทำคำนิยมนี้นั่นเอง

  สำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่กลับมาสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตกลุ่มสอง  ก็คือ คนที่สืบสันดานจากคนเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เคยเป็นของรัฐไทย แต่ตกเป็นคนต่างด้าวสำหรับประเทศไทยเพราะเกิดในขณะที่บุพการีเสียสัญชาติไทยเพราะเสียดินแดนไปแล้ว ขอให้สังเกตอีกเช่นกันว่า กฎหมายสัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๕๕ ก็มิได้คืนสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนในกลุ่มนี้ทุกคน กฎหมายนี้ยอมคืนให้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานที่ได้อพยพกลับมาในแผ่นดินไทยในเวลาต่อมา และจะต้องมีข้อเท็จจริงอีกหลายประการที่กฎหมายกำหนด[3]  คนในกลุ่มนี้จึงเป็น “คนในปัจจุบัน” ที่ได้รับการเล่าถึงอีกครั้งหนึ่งในหนังสือที่กำลังทำคำนิยมนี้อีกเช่นกัน ที่อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตในที่นี้ การอพยพกลับมาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๑๐ – ๒๕๓๐ จากพม่าและกัมพูชานั้น ก็เพราะเหตุที่มีความไม่สงบในประเทศดังกล่าวในลักษณะที่มีการใช้กำลังจนเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย จึงทำให้คนเชื้อสายไทยดังกล่าวมีสภาพการหนีภัยไม่ต่างไปจาก “ผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน” อื่นๆ ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน เพียงแต่พวกเขาเป็นคนที่พูดภาษาไทยได้ ความไร้อำนาจอธิปไตยที่มั่นคงในประเทศพม่าและกัมพูชาทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐต้นทางหายไปจากเขา ในขณะเดียวกันที่ความเป็นต่างด้าวในประเทศไทย ก็ทำให้รัฐไทยมีข้อจำกัดในการรับรองสิทธิต่างๆ ให้แก่พวกเขา พวกเขาเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาวะคนไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่นานทีเดียว ในช่วงที่ผู้ปกครองรัฐไทยในช่วงต้นๆ ยังมีการจัดการองค์ความรู้ที่เหมาะสมในการจัดการสิทธิของพวกเขา การยอมรับคืนสิทธิในสัญชาติไทยดั่งบุพการีจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดฉากโศกนาฏกรรมที่พวกเขาได้รับบนแผ่นดินไทยซึ่งเป็นแผ่นดินแม่ แต่หากผู้บังคับใช้กฎหมาย กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ก็คือ คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น[4] ไม่ตระหนักในเจตนารมย์ของกฎหมายและไม่เอาปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นเป็นเป้าหมายของการทำงาน ความเสมือนไร้รัฐไร้สัญชาติก็จะดำเนินต่อไป และสร้างโศกนาฏกรรมต่อพวกเขาต่อไป แม้พวกเขาจะมีเชื้อสายไทยก็ตาม ผู้ทำคำนิยมอยากที่จะเตือนสติของเหล่าบุคคลที่มาทำหน้าที่บังคับการตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๕๕ ว่า หากท่านทั้งหลายเหล่านั้นคำนึงถึงพระปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงจะพยายามจัดการทั้งดินแดนและคนในดินแดนที่เสียไปอย่างดีที่สุด ก็ขอให้ท่านพยายามที่สุดที่จะรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้แก่พวกเขาอย่างเร็วที่สุดและทำงานบนปัญหาจริงของคนไทยพลัดถิ่นผู้ทรงสิทธิทั้งหมด มิใช่เพียงตัวเลขที่ฝ่ายความมั่นคงสำรวจและยอมรับเมื่อหลายปีก่อนในยุคที่ทัศนคติปิดยังครอบงำรัฐบาลไทย

  สำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่กลับมาสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตกลุ่มสาม  ก็คือผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕  ถ้อยคำนี้มีความหมายถึง “ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น” เช่นกัน “แต่ด้วยสาเหตุอันไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต”  ซึ่งในขณะที่มีการยกร่างคำนิยามนี้ ผู้ทำคำนิยมและ “ครูแดง” ท่านอาจารย์เตือนใจ ดีเทศน์ ได้พบท่านศาสตราจารย์ มีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ เพื่อถามถึงความหมายของถ้อยคำนี้ ท่านถามเรากลับมาว่า “พวกเราไม่คิดถึงคนสัญชาติไทยที่อพยพไปในต่างประเทศและจำต้องสละสัญชาติไทยด้วยสาเหตุต่างๆ และในวันหนึ่งที่พวกเขากลับคืนมายังประเทศไทย พวกเขาจะต้องมายอมรับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ[5] ซึ่งไร้สิทธิในการเข้าร่วมเป็นผู้แทนทางการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง” ท่านยังบอกให้พวกเราจำทางออกนี้ไว้สำหรับ “คนในอนาคตซึ่งต้องการกลับมีสัญชาติไทยดั่งบุพการี” เป็นที่แน่นอนที่กฎกระทรวงตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ จะยังไม่มีความจำเป็นในช่วงปัจจุบัน กฎหมายจึงไม่เร่งร้อนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผลักดันเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมที่เห็นความจำเป็นของเหล่าคนเชื้อสายไทยที่กลายเป็นคนต่างด้าวในต่างประเทศอาจจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นสู่รัฐมนตรีดังกล่าวเพื่อทำกฎกระทรวงเพื่อรับรองความเป็น “คนไทยพลัดถิ่น” ให้แก่คนกลุ่มที่สามนี้ได้ พวกเขาย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิในอนาคตที่มีประตูสู่สิทธิอยู่ในกฎหมายที่มีผลในปัจจุบัน

  มาถึงจุดนี้ ผู้ทำคำนิยมจึงขอแสดงความนิยมต่อเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ที่จะเป็น (๑) ประตูสู่ความรู้ในข้อเท็จจริงของอดีต กล่าวโดยชัดแจ้ง ก็คือ เป็นโอกาสที่เราจะรู้จักคนไทยถิ่นพลัดเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา (๒) ประตูสู่การจัดการปัญหาของคนไทยถิ่นในปัจจุบันในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสถานะเป็นราษฎรไทยไร้สัญชาติ และอีกหนึ่งยังประสบความไร้รัฐด้วยไม่ถูกรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก และ (๓) ประตูสู่อนาคตในโอกาสที่รัฐไทยจะต้องยอมรับคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพไปในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

ข้อนิยมในคณะผู้สร้างสรรค์หนังสือ : พวกท่านเป็นคนของประชาชน เพราะท่านยืนอยู่ข้างประชาชน

  ผู้ทำคำนิยมขอให้คำนิยมต่อบรรณาธิการและคณะผู้เขียนหนังสือ ซึ่งหนังสือนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า ท่านอุทิศชีวิตการทำงานของท่านเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง  ผู้ทำคำนิยมรู้จักคณะผู้สร้างสรรค์ทุกท่านมายาวนาน และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้วยวาจาและตัวหนังสือ มีโอกาสได้เห็นน้ำตาหรือเกือบเห็นน้ำตาของหลายท่านที่ถูกกดดันให้หันหลังต่อประชาชนผู้ยากไร้ แต่แล้วท่านก็ตัดสินใจที่จะยืนใกล้ๆ ประชาชนยากไร้ต่อไป

  เหล่าคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะผู้สร้างสรรค์หนังสือนี้ทั้ง ๔ ท่าน เป็นผู้ร่วมทางให้การต่อสู้เพื่อกฎหมายไทยว่าด้วยการคืนสิทธิในสัญชาติไทยดั่งบุพการีแก่คนไทยพลัดถิ่น

  โดยเฉพาะอาจารย์วีนัส สีสุข ซึ่งทำงานอย่างหนักตั้งแต่ในการทำงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา โดยมี “ครูหยุย” อาจารย์วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน ตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๕๔๕ และในวันนี้ที่ท่านทำหน้าที่อาจารย์ในวิทยาลัยการปกครอง ท่านไม่หยุดที่จะค้นคว้าเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ที่ดีที่สุดในการจัดการประชากรที่ประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย เราแอบเห็นว่า ท่านมีใจอย่างมากมายต่อคนไทยพลัดถิ่น ผู้ทำคำนิยมยังจำได้ถึงแววตาที่กังวลมากต่อความทุกข์เวทนาผู้เฒ่าไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติแห่งบ้านหินช้างที่เป็นอัมพฤต ความกังวลดังกล่าวจึงแปลเปลี่ยนมาเป็นการความรักความเอื้ออาทรต่อคนไทยพลัดถิ่นในทุกสถานการณ์แห่งชีวิต ผู้ทำคำนิยมอยากส่งกำลังใจอย่างมากที่สุดเพื่ออาจารย์วีนัสในระหว่างการเผชิญหน้ากับทุกอุปสรรคที่ขวางกั้นมิให้ยืนอยู่ข้างความดีและความถูกต้อง

  สำหรับอาจารย์ ด๋าว ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่มีชีวิตที่ใกล้ชิดกับผู้ทำคำนิยมอย่างยิ่ง ผู้ทำคำนิยมจึงมีโอกาสเห็นความคิดและอารมณ์ของท่านผู้นี้อย่างใกล้ชิด ท่านเป็นนักวิชาการที่เข้าคลุกกับเจ้าของปัญหา โดยไม่ละทิ้งการศึกษาเชิงทฤษฎีความบนหอคอยงาช้าง ท่านเป็นนักกฎหมายที่สนใจนิติศาสตร์โดยข้อเท็จจริง โดยไม่ละทิ้งนิติศาสตร์โดยแท้ ท่านจึงเป็นมือเขียนคำฟ้องที่ภาคราชการที่ไม่รักษาสิทธิของคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลฯ หวาดกลัวอย่างยิ่ง ท่านจึงเป็นคนเบื้องหลังของหลายคดีดัง แต่ไม่ยอมเปิดตัวในพื้นที่สื่อสาธารณะ เมื่ออาจารย์ด๋าวปรากฏตัว ณ บ้านของคนไร้รัฐไร้สัญชาติผู้ใด แสงสว่างไม่มากก็น้อยย่อมมาถึงบ้านหลังนั้น เมื่อวานนี้ เธอทำวิทยานิพนธ์ในระดับนิติศาสตร์มหาบัณฑิตเรื่องสิทธิในเอกสารพิสูจน์ตัวบุคคลของมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่แนวคิดในการจัดทำ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ และในวันนี้ เธอกำลังวิทยานิพนธ์ในระดับนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเรื่องการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งคณาจารย์ผู้ดูแลก็เห็นว่า สิ่งที่เธอค้นพบแล้วและน่าจะค้นพบต่อไป น่าจะนำไปสู่ “ความเข้าใจของสังคม” และ “สูตรสำเร็จ” สำหรับการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่จำเป็นสำหรับคนในปัจจุบันที่ยังมีปัญหา และคนในอนาคตที่อาจมีปัญหา ผู้ทำคำนิยมอยากส่งกำลังใจอย่างมากต่อการเดินทางของอาจารย์ด๋าวระหว่างหอคอยงาช้างทางวิชาการและสถานการณ์จริงของประชาชน

  สำหรับ “ชมพู่” คุณกรกนก วัฒนภูมิ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่มีชีวิตที่ใกล้ชิดกับผู้ทำคำนิยมอีกเช่นกัน ผู้ทำคำนิยมจึงมีโอกาสเห็นความคิดและอารมณ์ของท่านผู้นี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน ท่านเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ติดดินอย่างมากมาย โดยเคียงข้างกับอาจารย์ด๋าว ท่านเข้าคลุกกับเจ้าของปัญหาในทุกสถานการณ์ที่ต้องสอบข้อเท็จจริง เป็นคนรุ่นเยาว์ที่เห็นความสำคัญของการทำงานหนัก  ท่านคงเดินตามอาจารย์ด๋าว ซึ่งเป็นครูฝึกวิชาชีพกฎหมายให้แก่ท่าน โดยเฉพาะงานด้านการจัดการประชากร ท่านจึงเป็นนักกฎหมายที่สนใจทั้งนิติศาสตร์โดยข้อเท็จจริงและทิ้งนิติศาสตร์โดยแท้ ท่านเริ่มมีผลงานเขียนตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านคิดเป็น และกล้าคิดออกนอกกรอบของกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่ยุติธรรม แต่ละปีที่ผ่านไป ท่านมีความเติบโตในความคิดกฎหมายทั้งทางวิชาการและวิชาชีพ ท่านเริ่มปรากฏตัวเป็นคนเบื้องหลังในหลายคดีเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่สำคัญ สำหรับงานเพื่อคนไทยพลัดถิ่น เราจึงเห็นชมพู่ติดตามและจ้องมองทุกอุปสรรคที่เกิดแก่คนไทยพลัดถิ่น และทำหน้าที่รวบรวมปัญหาและแสวงหาทางออกทางกฎหมายเพื่อคอยสนับสนุนทุกปัญหากฎหมายที่ถูกถามมาจากพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น จัดเป็นนักกฎหมายเพื่อประชาชนยากไร้อีกท่านหนึ่ง ท่านเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐเช่นกัน ในปัจจุบัน ท่านกำลังฝึกงานในสถาบันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญของโลก อันได้แก่ Asian Human Rights Commission ผู้ทำคำนิยมอยากส่งกำลังใจอย่างมากเพื่อ “เจ้าพู่ของอาจารย์แหวว” ในระหว่างการสร้างความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและภาษาอังกฤษ ความยากก็คือความยาก แต่เราจัดการได้ หากเรามีความมุ่งมั่นและกำลังใจ

  สำหรับ “แก้ว” คุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว คุณแม่ลูกสอง ซึ่งเริ่มต้นรู้จักกับผู้ทำคำนิยมตั้งแต่ยังทำงานให้สภาทนายความเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ทำคำนิยมก็มีโอกาสเห็นความคิดและอารมณ์ของท่านผู้น้ไม่น้อยเช่นกัน ยังจำวันที่ท่านอุ้มท้องและซ้อนมอเตอร์”ซค์ไปประชุมทำหนังสือเพื่อส่งองค์ความรู้ให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ติดตา  เป็นคนที่มีหัวใจเดียวกับอาจารย์ด๋าวเช่นกัน รักงานพื้นที่ มีประวัติศาสตร์ของงานคลุกกับเจ้าของปัญหาที่เจ็บหนักหลายพื้นที่ เป็นบรรณาธิการฝีมือดีที่ทุกคนยอมรับ  ก็เธอเป็นนักข่าวประชาไทเก่า ประสบการณ์ของการเปลี่ยนเรื่องจริงเป็นตัวอักษรจึงมีสูงมาก ในปัจจุบัน ท่านถอยไปฝังตัวอยู่ที่จังหวัดตาก แต่ก็แอบลงพื้นที่บ้าง ตามความว่างที่มีภารกิจต่อครอบครัว ผู้ทำคำนิยมอยากส่งกำลังใจอย่างมากที่สุดถึงแก้ว ซึ่งกำลังจัดการชีวิตให้มีสมดุลย์ ในยามที่ลูกยังเล็ก พวกเขาต้องการเรามาก และเราก็มีโอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้แก่พวกเขา แต่เมื่อพวกเขาโต เราก็จะต้องดูแลเขาด้วยการสร้างแบบอย่างที่ดี ความฝันของเธอจะเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก มนุษย์จะต้องมีความฝัน และความฝันจะทำให้มนุษย์มุ่งมั่นและอดทน ไม่รู้แพ้ในทุกสถานการณ์อุปสรรคที่เผชิญ

  มาถึงจุดนี้ ผู้ทำคำนิยมจึงขอแสดงความนิยมต่อคณะผู้สร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้ทุกท่าน การยืนอยู่ข้างประชาชน เป็นทางเลือกที่ยากลำบากกว่า การยืนข้างผู้ถืออำนาจรัฐ แต่ความรักของประชาชนนั้นยั่งยืนกว่าความรักของผู้มีอำนาจของรัฐ ผู้ทำคำนิยมขอยืนยันด้วยประสบการณ์ของตนเอง

ข้อนิยมในคนสนับสนุนทุนจัดพิมพ์หนังสือ : (๑) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ SWIT (SWIT Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand) (๒) มูลนิธิเอเซีย และ (๓) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

  ผู้ทำคำนิยมขอให้คำนิยมต่อองค์กรทั้งสาม  ซึ่งสนับสนุนทุนการจัดทำหนังสือเพื่อประชาชนไร้รัฐไร้สัญชาติเสมอมา  ผู้ทำคำนิยมรู้จักทั้งสามองค์กรมายาวนาน อยากมีคำนิยมในแต่ละองค์กรมากกว่านี้ แต่ด้วยความผิดของผู้ทำคำนิยมซึ่งคิดไม่ออกว่า จะเขียนคำนิยมอย่างไร มานึกออก ก็ดูเหมือนว่า จะหมดเวลาส่งต้นฉบับเสียแล้ว ในโอกาสต่อไป ผู้ทำคำนิยมคงมีโอกาสแสดงความนิยมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง ด้วยเวลาที่จำกัด ก็ขอขอบคุณที่ท่านเห็นความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ที่ไม่มีนักลงทุนใดสนใจนัก แถมนักการเมืองก็อาจไม่สนใจจริงจัง ขอขอบคุณอีกครั้งจากใจ

ข้อนิยมในคนอ่านหนังสือ : ใครก็ตามที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นเปิดอ่าน

  ผู้ทำคำนิยมขอให้คำนิยมต่อคนอ่านที่กำลังอ่าน ไม่ว่าท่านจะอ่านเพราะอะไร ผู้ทำคำนิยมขอแนะนำให้ท่านอ่านและใช้ประโยชน์ให้ได้ตามเป้าหมายของชีวิตของท่าน การค้นคว้าเพื่อหาองค์ความรู้ที่ดีที่สุดยังไม่แล้วเสร็จ ท่านจะเห็นว่า หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลดิบๆ มากมาย จงอยากนึกตำหนิในใจ จงอย่าตัดสินใจง่ายๆ จงตระหนักในบริบทของเวลาที่หนังสือเล่มนี้ปรากฏตัว ก็คือ ต้น พ.ศ.๒๕๕๖  ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการคืนสิทธิในสัญชาติไทยดั่งบุพการีมีบทบาทในการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ อย่างมาก และการทดลองใช้กฎหมายนี้โดยเจ้าของปัญหาเพิ่งเริ่มต้น นอกจากนั้น คนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ทรงสิทธิในสัญชาติไทยนี้ก็ยังถูกละเลย พวกเขาเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยธรรมชาติของเขา แม้รัฐไทยจะปิดตาต่อความมีอยู่ของเขา อีกทั้งยังมีคนไทยถิ่นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยนี้ แต่เลือกที่จะถือสัญชาติของรัฐอื่นต่อไป หรือเลือกใช้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ซึ่งเปิดโอกาสให้ถือได้สองสัญชาติ ในวินาทีของคนอ่านอาจเป็นใน พ.ศ.๒๕๗๖ กล่าวคือ ๑๐ ปีในอนาคต ผู้ทำคำนิยมก็ขอนิยมท่านที่มาอ่าน และขอให้ปรุงแต่งความยุติธรรมทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและตามกฎหมายธรรมชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่นในยุคปัจจุบันและอนาคตของท่าน จึงอย่าลังเลที่จะแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ ให้เหมาะสมกับยุคสมัยของท่าน

  ผู้ทำคำนิยมรู้สึกสบายใจที่เขียนมาถึงจุดนี้ เพราะคงได้ทำคำนิยมที่มีคุณภาพตามสมควร ขออภัยคณะบรรณาธิการที่ส่งต้นฉบับช้าและทำให้ลำบาก หวังในความเข้าใจของท่านที่เกี่ยวข้อง



[1]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๒๘ ก/หน้า ๑/๒๑ มีนาคม ๒๕๕๕

[2]มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕

[3]กล่าวคือ (๑) ปัจจุบัน ผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น (๒) ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง (๓) มีวิถีชีวิตเป็นคนไทย (๔) ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

[4]ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา ๙/๑ และมาตรา ๙/๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕)พ.ศ.๒๕๕๕

มาตรา ๙/๑ ให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ประกอบด้วย

(๑) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ

(๒) ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือ  กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมการปกครองแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองอีกสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา ๙/๒  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่ง  คราวละสองปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน”

[5]โปรดดูมาตรา ๑๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งบัญญัติว่า บทบัญญัติในมาตรา ๑๐ (๔) และ (๕) มิให้นำมาใช้บังคับถ้าผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ..... (๓) เป็นผู้ได้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน


หมายเลขบันทึก: 521120เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2013 02:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2013 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท