ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

การออกเสียงและการพัฒนาพลังเสียงในการพูด


การออกเสียงและการพัฒนาพลังเสียงในการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

  เสียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพูด การเป็นนักพูดไม่จำเป็นจะต้องมีเสียงที่ก้อง กังวาน หวานเหมือนกับเสียงของนักร้อง แต่การใช้เสียงในการพูด ผู้พูดควรเปล่งเสียงออกไปด้วยความมั่นใจ มีพลัง มีชีวิตชีวา อีกทั้งการใช้เสียงที่ดีจะสามารถตรึงผู้ฟังให้ตั้งใจฟังผู้พูดได้

  การใช้เสียงในการพูดต่อหน้าที่ชุมชนที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้

  1.มีความชัดเจนและมีความถูกต้อง สามารถสื่อสารให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้

  2.ไม่พูดเร็วหรือช้าจนเกินไป การพูดเร็วจะทำให้ผู้ฟังฟังไม่ทัน แต่การพูดช้าจนเกินไปก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่เกิดความกระตือรือร้นในการฟัง

  3.เสียงดังหรือเสียงเบาจนเกินไป การพูดเสียงดังตลอดเวลาในขณะที่พูดจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเครียด รู้สึกเหนื่อย ไม่อยากที่จะฟัง และการพูดเสียงเบาจนเกินไป ก็จะทำให้ผู้ฟังคุยกันและไม่สนใจในเรื่องที่ผู้พูดพูด

  4.ไม่พูดเสียงต่ำหรือเสียงสูงตลอดเวลา การพูดเสียงต่ำจะทำให้พูดฟังเกิดอาการง่วงนอน แต่การพูดเสียงสูงตลอดเวลา ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญขึ้นมาได้

  5.ไม่พูดเหมือนกับการอ่านหนังสือ เพราะจะทำให้ขาดรสชาติในการฟัง ฟังแล้วไม่เป็นธรรมชาติ

  6.ไม่พูดเสียงราบเรียบระดับเดียวกันตลอดการพูด เพราะจะทำให้ผู้ฟังขาดความสนใจในเรื่องที่ผู้พูดพูด

  7.ไม่ควรใช้คำฟุ่มเฟือยมากจนเกินไป เช่นคำว่า นะครับ นะค่ะ ครับ ค่ะ เอ้อ อ้า จนทำให้ผู้ฟังเกิดความรำคาญในการฟัง

  แต่การออกเสียงและพัฒนาพลังเสียงที่ดีในการพูด ผู้พูดควรพูดออกมาด้วยความรู้สึกที่จริงใจ  เสียงดัง ฟังชัด มีความกระตือรือร้นในการพูด เสียงไม่ควรจะราบเรียบระดับเดียวกันตลอดการพูด ควรมีเสียงดังบ้าง เบาบ้าง เสียงสูงบ้าง เสียงต่ำบ้าง เสียงแหลมบ้าง เสียงทุ้มบ้าง พูดเร็วบ้าง พูดช้าบ้าง ให้มีความเป็นธรรมชาติของผู้พูดแต่ละคน แต่ไม่ใช่ใช้เสียงถึงขนาดเป็นการดัดเสียงให้เหมือนกับนักพากย์หนัง  อีกทั้งไม่ควรท่องจำหรือใช้วิธีพูดเหมือนกับการอ่านหนังสือ

  สำหรับวิธีการปรับปรุงและพัฒนาพลังเสียงในการพูด

  1.ควรหัดอ่านหนังสือ โดยการอ่านออกเสียง เพื่อทำให้เกิดการพูดหรือการออกเสียงเกิดความคล่องยิ่งขึ้น และถ้ามีบทสนทนาผู้ฝึกก็ควรหัดออกเสียง เหมือนกับมีบุคคลสองคนหรือสามคนสนทนากัน

  2.ควรซ้อมพูดบ่อยๆ หากไม่มีเวที ก็ควรฝึกฝนด้วยตนเอง นักพูดในอดีตซ้อมการพูดในขณะเดินทางโดยการซ้อมพูดในขณะที่อยู่บนหลังม้า บางท่านก็ซ้อมพูดด้วยการออกเสียงดัง ในขณะทำสวน บางคนฝึกหัดซ้อมการพูด การใช้เสียงในขณะเดินอยู่ที่ริมทะเล เป็นต้น

  3.ควรมีอุปกรณ์ช่วย เช่น ควรหาเครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพยนตร์ บันทึกในขณะที่เราพูด เพราะจะทำให้เราสามารถตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงการใช้เสียงของเราให้ดีขึ้น 

  โดยสรุป การออกเสียงและการพัฒนาพลังเสียงในการพูดเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพูดต่อหน้าที่ชุมชน การใช้เสียงจะทำให้การพูดน่าฟัง การพูดน่าเชื่อถือ การพูดมีรสชาติ อีกทั้งผู้ฟังเกิดความสนใจและสามารถตรึงอารมณ์ของผู้ฟังได้อีกด้วย

               


หมายเลขบันทึก: 521114เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 .....เสียง..... จะทำให้การพูดน่าฟัง .... การพูดน่าเชื่อถือ ....การพูดมีรสชาติ อีกทั้งผู้ฟังเกิดความสนใจ และสามารถตรึงอารมณ์ของผู้ฟัง โอ๋..เยี่ยมค่ะ .... ได้รับความรู้ใหม่ นี้  ดีจังเลยค่ะ .... ขอบคุณมากค่ะ 

   

                  .. 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท