Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วิธีวิจัยแบบ Action Research on Problem and Area Based : คืออะไร ? ดีอย่างไร ?


--------------------------------------------------------------------------------------

วิธีวิจัยแบบ Action Research on Problem and Area Based  : คืออะไร ?

--------------------------------------------------------------------------------------

วิธีวิจัยแบบนี้ เป็นรูปแบบของการวิจัยที่มีลักษณะเด่น ๓ ประการ ก็คือ 

(๑) “Action หรือปฏิบัติการ” ก็คือ การลงมือลงตัวสัมผัสกับวัตถุแห่งการวิจัย ไม่สัมผัสวัตถุแห่งการวิจัยผ่านการเล่าของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเล่าโดยเอกสารหรือเป็นเล่าโดยวาจา 

(๒) “Problem based หรือบนพื้นฐานของปัญหา” ก็คือ การวิจัยต้องเริ่มต้นนับหนึ่งการศึกษาจากเจ้าของปัญหา มิใช่จากคนนอกปัญหา และการศึกษาย่อมจะต้องพยายามรู้จักข้อเท็จจริงที่เป็นสาเหตุของปัญหา และศึกษากระบวนการคลี่คลายหรือเติบโตของปัญหา ทั้งนี้ เพื่อที่จะทดลองจัดการปัญหานั้น และ 

(๓) “Area based หรือบนพื้นฐานของพื้นที่ที่ชัดเจน” ก็คือ การศึกษาจะทำบนสัมพันธภาพระหว่าง Action และ Problem บนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ชัดเจน อันจะทำให้การสร้าง “ต้นแบบความรู้” เป็นไปได้ 

ผู้บันทึกเชื่อว่า องค์ความรู้ที่ผสมผสานจากการวิจัย ๓ ลักษณะนี้จะทำให้องค์ความรู้อันเป็นผลลัพธ์มีลักษณะที่กินได้มากที่สุด

--------------------------------------------------------------------------------------

วิธีวิจัยแบบ Action Research on Problem and Area Based  : ดีอย่างไร ?

--------------------------------------------------------------------------------------

ผู้บันทึกเห็นผลที่งดงามของวิธีวิจัยแบบ Action Research onProblem and Area Based ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

ในประการแรก การวิจัยในลักษณะนี้จะทำให้เห็น มนุษย์ที่ประสบปัญหา” และหากผู้วิจัยเลือกมนุษย์ดังกล่าวเอามาเป็นกรณีศึกษา และการตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงรอบตัวมนุษย์ดังกล่าว น่าจะนำไปสู่ “การทดลองทางสังคม” เพื่อจัดการปัญหา การลงคลุกกับเจ้าของปัญหามักจะทำให้นักวิจัยเห็นว่า ปัญหาที่เกิดนั้นมาจากตัวเจ้าของปัญหาเอง หรือมาจากองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแก่เจ้าของปัญหา ซึ่งองค์กรดังกล่าว อาจจะเป็นภาคราชการ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน หรือชุมชนที่แวดล้อมตัวเจ้าของปัญหาอยู่ ดังนั้น วิธีวิจัยที่นำโดย “การทำกรณีศึกษา” จึงให้ประโยชน์อย่างน้อย ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) งานวิจัยย่อมสร้างความรู้อย่างลึกซึ้งในสภาพปัญหาที่มนุษย์คนหนึ่งในสังคมไทยกำลังประสบ และ  (๒) งานวิจัยย่อมชี้ให้เห็นสาเหตุของปัญหาซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ที่จะจัดการปัญหาที่สาเหตุ มิใช่ปลายเหตุ ดังนั้น เจ้าของปัญหารวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแก่กรณีศึกษาจึงสามารถนำผลการศึกษาวิจัยไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้

ในประการที่สอง การวิจัยในลักษณะนี้จะนำไปสู่ ข้อมูลและข้อค้นพบ” ซึ่งสามารถนำมา “บูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน” และอาจนำไปสู่ “การเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของคนที่สนใจศึกษาในเรื่องเดียวกัน” และพื้นที่การเรียนรู้นี้อาจจะนำไปสู่ความพยายามที่จะจัดการปัญหา และความพยายามที่จะแก้ปัญหา การวิจัยจึงสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ อันทำให้เกิดประโยชน์แก่วงวิชาการและสังคมตั้งแต่วันแรกของการทำงาน โดยไม่ต้องรอวันรายงานผลสุดท้ายของการวิจัย

ในประการที่สาม การวิจัยในลักษณะนี้จะนำไปสู่ จึงนำมาซึ่ง “สูตรสำเร็จ (สิ่งที่ควรทำ)” และ “สูตรไม่สำเร็จ (สิ่งที่ไม่ควรทำ)” อันจะทำให้การต่อยอดการทำงานไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกัน การถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงปฏิบัตินี้อาจนำไปสู่การสร้าง “โครงการฝึกอบรม” ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมวิชาการที่มหาวิทยาลัยควรทำ


หมายเลขบันทึก: 521109เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท