ทฤษฎีการบริหารการศึกษา


ทฤษฎี : การบริหารการศึกษา

มีผู้ให้คำนิยามไว้ว่า ทฤษฎี หมายถึง ชุดของแนวคิด (Concepts) คติฐานหรือข้อสันนิษฐษน (Assumption) และข้อยุติโดยทั่วไป (Generalization) ที่อธิบายพฤติกรรมขององค์การ อย่างเป็นระบบ และมีความสัมพันธ์ต่อกัน

  แต่สำหรับข้อสมมติฐาน (Hypothesis) หมายถึง การตั้งข้อกำหนด หรือข้อสมมติที่คิดหรือคาดว่าน่าจะเป็นขึ้นมา แล้วพยายามศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อหาข้อสรุปมาพิสูจน์ให้จงได้ว่า ข้อสมมติฐานที่ตั้งไว้นั้น จริงหรือไม่จริง

พัฒนการของทฤษฎีในการบริหารการศึกษา

  ความเกี่ยวข้องของทฤษฎีที่เข้ามาสัมพันธ์กับการบริหารการศึกษานั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านสังคมศาสตร์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เชสเตอร์ ไอ บาร์นาร์ด,เอลตัน มาโย และเอฟ เจ รอธลิสเบอร์เกอร์ได้เปิดทัศนะใหม่แห่งการศึกษาการบริหาร แต่สงครามได้ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์สังคมหันเหไปจากการทดลองในห้องปฏิบัติการไประยะหนึ่ง ในระยะนั้น นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา และนักมานุษยวิทยาก็ต้องเข้าจัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามา เมื่อสงครามสิ้นสุด นักค้นคว้าเหล่านี้ก็หันมาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

  ในปี 1947 มีการประชุมแห่งชาติของศาสตราจารย์แห่งการบริหารการศึกษา (National Conference of  Professors of Educational Administration NCPEA)  ซึ่งการประชุมในครั้งนั้น ที่ประชุมได้ตระหนึกถึงการพัฒนาทางด้านสังคมศาสตร์ และในปี 1950 มีโครงการร่วมมือระหว่างกันในการบริหารการศึกษา (Cooperative Program in Eductational Administration CPEA) เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการบริหารการศึกษา แต่การปฏิบัติงานในครั้งกระนั้นก็มิได้ค้นพบอะไรที่เกี่ยวกับทฤษฏีการบริหารมากนัก

  ต่อมา บรรดาสมาชิก NCPEA เสนอแนะให้ที่ประชุมสนัสนุนการเขียนหนังสือที่รายงานผลการวิจัยสิ่งที่ค้นพบเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา และในปี 1954 โรอัลด์ แคมป์เบล และเกร๊ก รัสเซลได้ร่วมกันเป็นบรรณาธิการหนังสือชื่อ Administrative Behavior in Education  แต่ปรากฎว่า ในบรรดาผู้เขียนจำนวน 14 คน ที่เขียนเรื่องลงหนังสือเล่มนี้ ได้พบว่า หนังสือเล่มนี้ยังขาดทฤษฎีการบริหาร ทำให้เกิดช่องว่างใหญ่โตในระหว่างความรู้เกี่ยวกับการวิจัยด้านพฤติกรรมการบริหาร (ฮัลปิน,1968 : xii)

  อิทธิพลลำดับที่สามที่มีต่อการบริหารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ได้แก่การที่มีการก่อตั้งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยที่ดูลแลด้านการบริหารการศึกษา (The University Council for Educational Administration UCEA) ขึ้นในปี 1956 คณะกรรมการชุดนี้ได้ร่วมมือกับ Educational Testing Service and Teachers College  ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยในโครงการขนาดใหญ่ ที่มุ่งออกแบบเพื่อพัฒนามาตรการสำหรับการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียน ในช่วงนี้เอง ที่มีการเขียนหนังสือดัง ๆ ออกมาหลายเล่ม ได้แก่

  1. The Use of Theory in Educational Administration แต่งโดยโคลาดาร์ซี และ เกตเซล ในปี 1955 เน้นบูรณาการของทฤษฎีและการปฏิบัติ

  2. Uneasy  Profession แต่งโดยกรอส กล่าวถึงอาชีพนักบริหารการศึกษาว่าเป็นอาชีพที่มิใช่ของง่าย ๆ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า จะต้องมีทฤษฎีเข้ามาเกี่ยวข้องว่าผู้นิเทศการศึกษาจะต้องปฏิบัติอย่างไร มิใช่ว่า “ควรจะปฏิบัติอย่างไร”

  3. Studies in School Administration แต่งโดยมัวร์ ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้บริหารโรงเรียนอเมริกัน (American  Association of  School  Administrators) มัวร์ได้ทบทวนเรื่องราวที่มีผู้เขียนบทความให้แก่ศูนย์ CPEA 9 ศูนย์ แล้วพบว่า บทความเหล่านี้มีน้อนมากที่กล่าวถึงทฤษฎีการบริหารการศึกษา

  4. Administration Behavior in Education แต่งโดยแคมป์เบลและเกร็ก ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NCPEA และก็เช่นเดียวกันก็พบว่า งานเขียนส่วนใหญ่ขาดการวิจัยที่มุ่งค้นคว้าด้านทฤษฎี (ฮัลปิน, 1968 :3)

ลักษณะสำคัญของทฤษฎีการบริหารการศึกษา

1.  ทฤษฎีประกอบด้วยแนวคิด คติฐาน และข้อยุติทั่วไปอย่างมีเหตุผล

2.  ทฤษฎีมุ่งอธิบายและคาดการณ์กฎต่าง ๆ ของพฤติกรรม อย่างมีระบบ

3.  เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของวิธีการทดลองที่กระตุ้น และนี้นำให้มีการพัฒนาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่อง 

  นั้น ๆ ให้ล้ำลึกยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป

ความสำคัญของทฤษฎี

  ทฤษฎีบริหารการศึกษา มีบทบาทสำคัญคือ

1.  ทำหน้าที่ให้ข้อยุติทั่วไป (Generalization)

2.  ก่อให้เกิดการวิจัยทางด้านบริหารการศึกษา มีการทดสอบความเป็นไปได้ของทฤษฏี และเมื่อตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมาได้แล้ว ก็เป็นเครื่องช่วยชี้นำในการปฏิบัติงาน หรือก่อให้เกิดการพัฒนางานใหม่ ๆ ขึ้นมา

3.  การมีทฤษฎีบริหารการศึกษาขึ้นมาใช้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ศึกษา ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องไปจดจำข้อมูล หรือข้อความต่าง ๆ มากมาย เพียงแต่จำหลักการหรือทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว

  ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษาทั้งหลาย จะต้องเป็นนักปฏิบัติที่สนใจปัญหาและเหตุการณ์อย่างเฉพาเจาะจงที่เกิดขึ้นในองค์การ ต้องตีความ วิเคราะห์ ประยุกต์เอาหลักการและทฤษฏีต่าง ๆ ทางการบริหารการศึกษา มาใช้ในการปฏิบัติ มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอาศัยหลักการ และทฤษฎีบริหารการศึกษาที่ได้มีผู้ศึกษาค้นคว้าเอาไว้อย่างละเอียดรอบคอบแล้วนั้น เป็นแนวทางในการดำเนินการ เพื่อความถูกต้อง และเหมาะสม

ความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับแนวปฏิบัติทางการบริหารการศึกษา

  การบริหารงานใด ๆ ก็ตาม จำเป็นจะต้องมีทฤษฎีเป็นพื้นฐาน การบริหารการศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากนักบริหารการศึกษาบริหารงานไป โดยมิได้ใช้ทฤษฎีเข้ามาช่วยในการคิดและตัดสินใจ ก็หมายความว่า เขาดำเนินการไปโดยอาศัยประสบการณ์ดั้งเดิม อาศัยสามัญสำนึก ที่เรียกว่า Common sense  หรือที่เรียกว่า ใช้กฎแห่งนิ้วหัวแม่มือ (Rule of Thumb) ลองเดา ๆ ดู ว่าหากทำอย่างนี้แล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร หากถูกต้องก็ดีไป หากผิด ก็ถือว่า ผิดเป็นครู แล้วลองทำใหม่ โดยไม่ยอมทำผิดซ้ำในลักษณะเดิมอีก เป็นต้น นี่เป็นการลองผิดลองถูก (Trial and Error) นั่นเอง การคิดและแก้ไขปัญหาด้วยสามัญสำนึกเช่นนี้ เป็นการกระทำอย่างไม่มีหลักการ เป็นการมองในแง่มุมแคบ ๆ หรือผูกติดอยู่กับแนวทางใดแนวทางหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้โดยง่าย

  ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริหารการศึกษาบริหารงานโดยอาศัยหลักการและทฤษฎีการบริหาร (การบริหารการศึกษา) เป็นหลักหรือเป็นพื้นฐานในการคิด พิจารณาและตัดสินใจแล้ว ก็จะทำให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีทิศทางที่ตรงแน่วไปในทางใดทางหนึ่งที่พึงประสงค์ ไม่สะเปะสะปะ เมื่อจะตัดสินใจ ก็มีหลักการ และทฤษฎีเข้ามาสนับสนุน ว่าสิ่งที่จะตัดสินใจกระทำลงไปนั้น ได้เคยมีผู้ปฏิบัติและกระทำซ้ำ ๆ ในลักษณะเดียวกันนั้นมาแล้วมากมาย และเขาก็ทำได้ถูกต้องและเป็นผลดีด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อเราปฏิบัติ หรือตัดสินใจในลักษณะอย่างเดียวกันนั้นบ้าง ก็น่าจะได้รับผลดีหรือทำได้ถูกต้องเช่นเดียวกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ

  การบริหารงานนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ดังได้เคยกล่าวไว้แล้ว ดังนั้น นักบริหารการศึกษาจะต้องบริหารงานในภารกิจหน้าที่ที่ตนกระทำอยู่ อย่างชาญฉลาด มีความแนบเนียนในการปฏิบัติ ให้งานนั้นดำเนินไปได้โดยราบรื่น สามารถขจัดปัดเป่าอุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมีปัญหา ก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีเสมอ

  ทฤษฎีกับการปฏิบัตินั้น มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันใน 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. ทฤษฎีวางกรอบความคิดแก่ผู้ปฏิบัติ

  ทฤษฎีช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีเครื่องมือใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาที่ประสบ นักบริหารการศึกษาที่มีความสามารถนั้น จะต้องมีความสามารถสูงในการใช้ความคิด (Conceptual Skill) โดยรู้จักตีความ และนำเอาทฤษฎีการบริหารการศึกษามาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่มีขีดจำกัด และมีทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเวลา กำลังคน หรือทรัพย์สินเงินทอง อย่างจำกัดด้วยเช่นกัน

  2. การนำเอาทฤษฏีมาใช้ ช่วยให้แนวทางวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

  การที่ผู้บริหารนำทางเลือกต่าง ๆ มาพิจารณา และตัดสินใจดำเนินการลงไป โดยอาศัยทฤษฎีการบริหารมาประยุกต์ใช้ เพื่อประกอบเป็นเหตุผลในการตัดสินใจวินิจฉัยสั่งการ อันเนื่องมาจากความมีประสบการณ์สูงของนักบริหารการศึกษาเท่านั้น

3. ทฤษฏีช่วยในการตัดสินใจ

ทฤษฎีช่วยให้ข้อมูลพื้นฐานแก่การตัดสินใจ การตัดสินใจที่ดีนั้น จะต้องประกอบไปด้วยกรอบความคิดที่แน่นอนชัดเจน หากปราศจากกรอบความคิดเสียแล้ว การตัดสินใจก็อาจจะไม่ถูกต้อง ไม่บังเกิดผลดี ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมาข้อมูลนั้น บางครั้งอาจไม่ชัดเจน ต้องมีการตีความเสียก่อน การมีพื้นฐานของทฤษฏีที่ดีจะช่วยให้นักบริหารการศึกษาสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว มีความั่นใจในการตัดสินใจนั้น และผลลัพธ์ที่ได้รับนั้น มักจะถูกต้อง และบังเกิดผลดีต่อองค์การเสมอ

ทฤษฏีประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา

  จากที่ได้มีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมาทางด้านการบริหาร และบ่อเกิดแห่งทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร และการบริหารการศึกษาแล้ว ทำให้สามารถแยกทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษาออกได้เป็น 3 จำพวก ดังต่อไปนี้

1.  ทฤษฎีภาวะผู้นำ

2.  ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์

3.  ทฤษฏีองค์การ

4.  ทฤษฏีการบริหาร

5.  ทฤษฏีการบริหารการศึกษา

ทฤษฏีภาวะผู้นำ

  แยกออกได้เป็น

ทฤษฏีผู้นำตามคุณลักษณะ  ผู้นำต้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมแก่การเป็นผู้นำ

ทฤษฏีผู้นำตามตัวแบบของวรูม เยตตัน และแจโก มุ่งวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ด้านสถานการณ์ ว่ามีผล

  กระทบต่อระดับความร่วมมือของพนักงานมากน้อยเพียงไร

ทฤษฏีภาวะผู้นำ ทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำ แยกได้เป็นทฤษฎีคุณลักษณะผู้นำ ทฤษฏีพฤติกรรมผุ้นำ

  และทฤษฏีตามสถานการณ์

  ทฤษฏีภาวะผู้นำตามพฤติกรรม แยกประเภทผู้นำตามพฤติกรรมที่เขาปฏิบัติ เช่น มุ่งงาน มุ่งความสัมพันธ์

ทฤษฏีความเป็นไปได้ของฟีดเลอร์

ทฤษฏีความเป็นไปได้ของภาวะผู้นำ  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฏีตามสถานการณ์

ทฤษฏีผู้นำตามสถานการณ์ ของเฮอร์ชีและบลังชาร์ด การใช้วิธีการในการนำนั้น ผู้นำจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะ

  สมกับความพร้อมของลูกน้อง และสถานการณ์

ทฤษฏี X และ Y ของแมคเกรเกอร์ เป็นการมุ่งแก้ไขพฤติกรรมของหัวหน้างานให้เลิกมองลูกน้องในแง่ร้าย แต่ให้

  มองในแง่ดี ทฤษฏี X เป็นการมองลูกน้องในแง่ร้าย และทฤษฎี Y เป็นการมองลูกน้องในแง่ดี

ทฤษฏีแนวทาง – เป้าประสงค์ หัวหน้างานต้องสร้างแรงจูงใจแก่ลูกน้อง เพื่อให้เขามีพฤติกรรมที่พึงปรารถนาไปสู่การทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

ทฤษฏีมนุษยสัมพันธ์และแรงจูงใจ

มีอยู่มากมาย อาทิ

ทฤษฏีความต้องการ  5 ขั้นของอับราฮัม มาสโลว์ ได้แก่ ความต้องการด้านกายภาพ ความปลอดภัย ความต้องการ

  ด้านสังคม ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือ และความต้องการสำเร็จสมหวังในชีวิต

ทฤษฏีความต้องการ 5 ขั้นของอีริค  ฟรอมม์ มนุษย์มีความต้องการ 5 ประการ ได้แก่ มีสัมพันธภาพ สร้างสรรค์ มี

  สังกัด มีเอกลักษณ์แห่งตน และมีหลักยึดเหนี่ยว

ทฤษฏีความต้องการความสัมฤทธิ์ผลของแมคเคลแลนด์ มนุษย์มีความต้องการ 3 ด้าน ได้แก่ ความสำเร็จ อำนาจ

  และความต้องการทางสังคม

ทฤษฏีการเสริมแรงของสกินเนอร์ การเสริมแรงของมนุษย์มีพื้นฐานอยู่บนปัจจัย 3 ประการ ได้แก่  มนุษย์จะมี

พฤติกรรมตามการเสริมแรงที่เกิดขึ้นกับตนและการทำงานของตน เป็นพฤติกรรมที่สามารถวัดหรือสังเกตได้ และการเสริมแรงที่เหมาะสมนั้นจะทำให้พฤติกรรมที่เป็นที่ต้องการมีเพิ่มขึ้น และที่ไม่ต้องการมีลดน้อยลงไป แบ่งเป็น การเสริมแรงทางบวก คือ การให้รางวัลในผลลัพธ์จากการกระทำที่ต้องการหรือปรับปรุงพฤติกรรม และการเสริมแรงทางลบ คือ การให้รางวัลจากการสามารถขจัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกไปได้

ทฤษฏีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ โครงสร้างบุคลิกภาพของมนุษย์ ประกอบไปด้วยพลัง 3 ประการ ได้แก่  Id Ego

  และ Superego

ทฤษฏีสององค์ประกอบของเฟรเดอริค เฮอร์ซเบิร์ก แรงจูงใจของมนุษย์เกิดขึ้นจากปัจจัยสองอย่าง ได้แก่ สิ่งทำ

  ให้เกิดความไม่พอใจและสิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจ

ทฤษฏีแห่งบทบาท สมาชิกในสังคมต่างมีตำแหน่ง มีบทบาท ต่างก็ต้องแสดงบทบาทของตนไป ในกลุ่มต้องมีผู้นำ

  และผู้นำต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกลุ่มด้วย มนุษย์มีบทบาท 3 อย่าง ได้แก่ บทบาทที่พอดี บทบาที่ขาดไป

  และบทบาทที่ล้นเกิน

ทฤษฏีบุคลิกภาพของเชลดอน บุคลิกภาพของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับรูปร่างที่ปรากฎของบุคคลนั้น บุคคลิกภาพของ

  มนุษย์แยกเป็นสามประเภท 1) ผู้มีรูปร่างอ้วนกลม ป้อม ชอบความสบาย การสังคมดี 2) ผู้มีรูปร่างสูง

  ใหญ่ กล้ามเนื้อแข็งแรง ชอบออกกำลังกาย จิตใจเป็นนักกีฬา 3) ผู้มีรูปร่างบอบบาง อ่อนแอ ไม่ชอบออก

  สังคม

ทฤษฏีการจูงใจของเรนซิส ลิเคอร์ท ในการปฏิบัติงาน ฝ่ายบริหารจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากทรัพยากรบุคคล

  ต่อเมื่อแต่ละคนในองค์กรได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

ทฤษฏีERG ของอัลเดอร์เฟอร์ มนุษย์มีความต้องการ 3 ขั้น ได้แก่ ต้องการมีชีวิตอยู่ ต้องการมีความสัมพันธ์ และ

  ต้องการมีความงอกงาม

ทฤษฏีการจูงใจของเมอร์เรย์ เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจไว้ 20 ประการ ได้แก่ ความนอบน้อมถ่อมตน

ความสำเร็จ ความต้องการมีเพื่อน ความก้าวร้าว ความีอิสรภาพ การมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่มุ่งแก้ไขพฤติกรรมตนเอง การป้องกันตนเองจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น การกระทำตนให้เป็นที่ประทับใจของผู้อื่น การหลีกเลี่ยงอันตราย การหลีกเลี่ยงความละอาย การทนุถนอมสิ่งที่น่าเอ็นดู ความมีระเบียบ การเล่น การปฏิเสธคนบางคนและพฤติกรรมบางอย่าง ความสนุกสนานชื่นบาน ความต้องการทางเพศ การให้ความช่วยเหลือ และจงรักภักดีต่อผู้มีอำนาจเหนือตน และการเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ

ทฤษฏีแรงจูงใจของพอร์เตอร์และลอว์เลอร์ ปริมาณของความพยายามขึ้นอยู่กับค่าของรางวัล บวกกับจำนวนพลัง

งานที่บุคคลมีความเชื่อ และความน่าจะเป็นของการได้รับรางวัล การปฏิบัติงานนำไปสู่รางวัลภายในและภายนอก และรางวัลนำไปสู่ความพึงพอใจ

ทฤษฏีการจูงใจของเอลตัน มาโย ปัจจัยทางสังคมและจิตวิทยา มีความสำคัญต่อความพึงพอใจของมนุษย์มากกว่า

  สภาพแวดล้อมในการทำงาน

ทฤษฏีหน้าต่างสี่บานของโจฮารี มีชื่อเรียกว่า “ทฤษฎีหน้าต่างดวงใจ” บ่งบอกว่า ลักษณะจิตใจมนุษย์ ประดุจห้อง

  4 ห้อง หรือมีหน้าต่างดวงใจอยู่ 4 บาน ได้แก่ ส่วนที่เปิดเผย จุดบอด ส่วนที่ซ่อนเร้น และก้นบึ้งที่ล้ำลึก

ทฤษฏีอารมณ์ขัน แยกออกได้เป็น 8 ทฤษฏี ได้แก่ทฤษฏีจิตวิทยาและวิวัฒนาการ ทฤษฎีความเหนือกว่า ทฤษฎี

ความไม่ลงรอยกัน ทฤษฏีความประหลาดใจ ทฤษฏีความขัดแย้งกันในตัวเอง ทฤษฏีการปลดปล่อยและการผ่อนคลาย ทฤษฏีการศึกษา พฤติกรรมส่วนรวมของมนุษย์ และทฤษฎีจิตวิเคราะห์

  ทฤษฏีวุฒิภาวะของคริส อากิริส มนุษย์มีวุฒิภาวะ และบางส่วนก็ไม่มีวุฒิภาวะ

ทฤษฏีความคาดหวังของวรูม การจูงใจของคนเพื่อกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะถูกกำหนดโดยคุณค่าของผลลัพธ์ที่

  ได้จากความพยายาม คูณกับความเชื่อมั่นที่ว่าความพยายามนั้นช่วยให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ทฤษฏีต้นไม้จริยธรรมของดวงเดือน พันธุมนาวิน มนุษย์มีจิตใจและภูมิธรรมที่แตกต่างกัน แยกได้เป็นมนุษย์ที่มี

  จิตใจเป็นสัตว์ มนุษย์ที่มีจิตใจเป็นคน และมนุษย์ที่มีจิตใจเป็นเทวดา

ทฤษฏีต่างตอบแทนของแชปแมน การจูงใจกันและกันของบุคคลสองกลุ่ม เช่น นายกับลูกน้อง เพื่อนกับเพื่อน

  ต่างฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์จากกันและกัน


อ้างอิง : ปราชญา  กล้าผจัญ และสมศักดิ์  คงเที่ยง.2542. หลักและทฤษฎีการบริหารการศึกษา. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.


หมายเลขบันทึก: 521119เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2013 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2013 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

A very comprehensive literature review, can we see a one sentence summary and how do we make use of this information?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท