จากอาจารย์ถึงศิษย์


 

                                                                                                                           นัทธี  จิตสว่าง


              ผมเป็นศิษย์มีอาจารย์
              ผมเป็นผมทุกวันนี้ เป็นนักอาชญาวิทยา เป็นนักการราชทัณฑ์เพราะได้รับความรู้และการถ่ายทอดจากอาจารย์
              อาจารย์ผมมีอยู่หลายท่าน แต่มีท่านหนึ่งที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมหันมาสนใจงานราชทัณฑ์ หันเหชีวิตจากนักกฎหมายมาสู่นักการราชทัณฑ์


             

               ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ณ ห้องเรียนภาควิชานิติศาสตร์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ผู้อำนวยการกองหนุ่มนักเรียนนอกท่านหนึ่งจากกรมราชทัณฑ์ เดินเข้าไปในห้องเรียนนิสิตชั้นปีที่ 4 ของภาควิชานิติศาสตร์ เพื่อที่จะแนะนำตัวว่าจะมาเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษในวิชาหลักทัณฑวิทยา


              สำหรับนิสิตที่เรียนวิชากฎหมายแล้ว ทราบกันว่าเกือบทุกคนมุ่งที่จะเอาดีในวิชากฎหมายเพื่อไปประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมาย ไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ
              แต่ด้วยลีลาการสอนที่จริงจังและจริงใจแต่สนุก ประกอบกับความรอบรู้ในทุกอณูของเรือนจำ ได้ทำให้นิสิตบางส่วนซึ่งรวมทั้งผมด้วยคนหนึ่งเริ่มที่จะสนใจในวิชานี้ และ ...... อยากที่จะทำงานด้านนี้


             เพราะความที่สนใจและชอบในวิชานี้ จากการถ่ายทอดของอาจารย์ท่านนี้ ทำให้ผมทำคะแนนในวิชานี้ได้ดีและทำให้ผมสามารถสอบชิงทุน ก.พ. ไปเรียนต่อในสาขาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ณ Florida State University เพื่อกลับมารับราชการใช้ทุนที่กรมราชทัณฑ์ ......  เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากนักกฎหมาย มาสู่นักการราชทัณฑ์นับแต่นั้นมา


            ผมจึงไม่อาจลืมสมุดเล็คเชอร์เล่มเก่งที่จดบันทึกการสอนของอาจารย์ท่านนี้ไว้ในสมัยที่เรียนในครั้งนั้น ..... และยังคงเก็บรักษาอยู่จนถึงบัดนี้
            แม้วันเวลาจะผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่มี 2 สิ่ง ที่ผมพบ ทุกครั้งที่นำเล็คเชอร์เล่มนี้มาเปิดอ่าน
           

            สิ่งแรกคือ เนื้อหาและหลักการที่ท่านสอน ไม่เคยเก่า ยังคงสามารถนำมาประยุกต์ได้จนถึงปัจจุบัน


            สิ่งที่สอง คือ หลายประเด็นในเล็คเชอร์เล่มนี้ ผมได้นำมาประยุกต์ต่อยอด และพัฒนาขึ้นมาเป็นบทความ เป็นตำรา ก็หลายเรื่อง
            ขอยกตัวอย่างการสอนของท่าน ในเรื่องการกำหนดโทษเพื่อการแก้ไข ซึ่งผมได้นำมาต่อยอดมาพัฒนาทฤษฎีบัว 3 เหล่า ของผู้กระทำผิดเพื่อใช้อธิบายแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ดังนี้


                            .........................................................................................

             ท่านอาจารย์เริ่มเกริ่นตั้งแต่วัตถุประสงค์ในการลงโทษนั้น ซึ่งมีอยู่หลายประการ ทั้งลงโทษเพื่อการแก้แค้นทดแทน การลงโทษเพื่อการยับยั้ง การลงโทษเพื่อตัดออกจากสังคม และการลงโทษเพื่อการแก้ไข


             แต่ถ้าสังคมจะเน้นการลงโทษเพื่อการแก้ไขแล้ว การลงโทษหรือการกำหนดโทษจะต้องคำนึงถึง “ตัวผู้กระทำผิด” หรือภูมิหลังของผู้กระทำผิด มากกว่าหรือเท่าๆ กับ “การกระทำผิด” คนที่ทำความผิดร้ายแรงเหมือนกันแต่อาจมีภูมิหลังหรือที่มาของการกระทำผิดนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น การลงโทษเพื่อการแก้ไขจึงควรลงโทษด้วยวิธีการหรือระยะเวลาที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดแต่ละคน


             เช่นโทษจำคุก อาจจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการใช้เป็นวิธีการแก้ไขคนที่ทำผิดให้กลับตัวกลับเข้าสู่สังคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้กระทำผิดแต่ละประเภท

             อาจารย์ได้แบ่งผู้กระทำผิดเป็นประเภทๆ ออกตามรูปดังนี้

 

               ผู้กระทำผิดประเภท ก. เป็นพวกทำผิดโดยพลั้งพลาด ไม่ได้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร
               ผู้กระทำผิดประเภท ข. คือพวกที่แก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ ยากต่อการแก้ไข
               ผู้กระทำผิดประเภท ค. คือผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ซึ่งสามารถแก้ไขได้ แต่จะต้องทำใน 2 ปี
 

               ทำไมจึงต้อง 2 ปี อาจารย์กล่าวว่า “2 ปี เป็นคำพิเศษของกระบวนการลงโทษเพื่อการแก้ไข ประการแรกคือ ผู้ที่จะแก้ไขได้นั้น จะต้องแก้ไขภายใน 2 ปี เมื่อพ้น 2 ปีไปแล้วถ้าแก้ไขไม่ได้ก็แปลว่าไม่มีทางแก้ไข ถ้าจะแก้ไขได้ก็ต้องภายใน 2 ปี แต่ถ้าคนคนนั้นยังต้องอยู่ในคุกเลยกว่า 2 ปีขึ้นไปก็อาจกลับไปทำชั่วได้อีก เพราะไปเรียนรู้จากพวกผู้ต้องขังที่เป็นคนชั่ว (จากการศึกษาของ Professor S.&E. Glueck ของ Harvard University โดยศึกษาผู้ต้องขัง 500 คน)


               “ถ้าถือหลัก 2 ปี เป็นมาตรฐาน เราจะยากในการแก้ไข เพราะลำบากในการที่จะปรับให้เข้ากับระยะเวลาการกำหนดโทษและการลงโทษในกฎหมาย ซึ่งถ้าไม่สั้นไปก็มักจะยาวไปและผู้กำหนดโทษก็ไม่ได้ร่วมในกระบวนการแก้ไขด้วย คือ ลงโทษโดยคำนึงถึง “การกระทำผิด” หรือ “ความร้ายแรงของการกระทำ” เป็นหลัก โดยดูภูมิหลังของผู้กระทำผิดเพียงเล็กน้อย”
               (รายละเอียดของแนวคิดนี้ สามารถอ่านได้จากบทความเรื่อง กำหนดโทษจำคุกเพื่อการอบรมแก้ไข ในวารสารสังคมศาสตร์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนมีนาคม 2505)

              

               จากแนวความคิดของท่านอาจารย์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้ผมได้นำมาใช้ในการต่อยอด และพัฒนาทฤษฎีบัว 3 เหล่า ขึ้นมา คือ การเปรียบและจำแนกผู้กระทำผิดออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้กระทำผิดที่เสมือนบัวพ้นน้ำ ผู้กระทำผิดที่เปรียบเสมือนบัวในน้ำ และผู้กระทำผิดที่เปรียบเสมือนบัวในโคลนตม ผู้กระทำผิดประเภทบัวพ้นน้ำเป็นพวกที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาด ทำผิดในคดีไม่ร้ายแรง ไม่กระทำผิดซ้ำซาก ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมและโอกาสที่จะทำผิดซ้ำมีน้อย พวกนี้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการจำคุกในเรือนจำ การนำคนเหล่านี้มาไว้ในเรือนจำจะทำให้ยากต่อการแก้ไขเพราะจะเกิดความเคยชิน การเรียนรู้ และการตีตรา ส่วนพวกที่เปรียบเสมือนบัวในตมเป็นพวกที่ยากต่อการแก้ไขเพราะถูกขัดเกลา เลี้ยงดู เติบโตมาในสภาพแวดล้อม เหลวแหลก หล่อหลอมเขาขึ้นมาตั้งแต่เด็กเป็นเวลาหลายปี การจะหวังให้มาแก้ไขเพียงในคุกเพียง 2 – 3 ปี เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้สังคมยังไม่ยอมรับคนเหล่านี้ ดังนั้น คนเหล่านี้จึงเป็นอันตรายสังคมยังไม่ยอมรับคนเหล่านี้ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงเป็นอันตรายต่อสังคมเพราะจะกระทำผิดซ้ำซาก จึงควรใช้มาตรการจำคุกในเรือนจำให้นานๆ เพื่อให้ความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรม ส่วนประเภทสุดท้ายคือบัวในน้ำ เป็นพวกที่อยู่ตรงกลาง จำเป็นที่จะต้องแก้ไขให้เต็มที่

 

               ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้กระทำผิดแต่ละประเภท และแยกปฏิบัติให้เหมาะสมกับผู้กระทำผิดแต่ละประเภท 


               ปัญหาก็คือว่า กระบวนการยุติธรรมของไทย ขาดระบบการกรองคน  หรือไม่สามารถแยกปฏิบัติต่อคนทั้งสามประเภทนี้ จึงทำให้ผู้กระทำผิดทั้งสามประเภทได้รับการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก (ไม่สามารถแยกผู้ร้ายออกจากคนพลั้งพลาดหรือคนที่เป็นผู้ร้ายกับคนที่ทำผิดโดยพลั้งพลาดได้รับการลงโทษที่ไม่แตกต่างกัน) ทฤษฎีนี้จึงเสนอให้มีการปฏิรูป 3 แนวทาง คือ

                1  ปฏิรูปวิธีการลงโทษ ให้มีวิธีการลงโทษหรือการปฏิบัติต่อคนที่ทำผิดที่หลากหลายเป็นทางเลือกในการลงโทษต่อผู้กระทำผิดมากขึ้น เช่น การใช้มาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในชุมชนแทนการใช้มาตรการจำคุก ซึ่งเป็นโทษยอดนิยมมากขึ้น
                2  ปฏิรูประบบการกำหนดโทษ ให้มีการนำภูมิหลังของผู้กระทำผิดมาประกอบในการกำหนดโทษมากขึ้น เพื่อให้ผู้ร้ายที่ทำผิดเบาแต่กระทำผิดซ้ำซากมีโอกาสที่จะได้รับโทษหนัก และคนพลั้งพลาดที่ทำผิดร้ายแรงได้รับโทษเบา
                3  ปฏิรูประบบการลดโทษ เพราะผู้ร้ายกับคนทำผิดโดยพลั้งพลาดได้รับการลดโทษไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลดโทษคำนึงถึงพฤติกรรม ขณะอยู่ในเรือนจำเป็นหลักแต่พฤติกรรมก่อนเข้าเรือนจำและพฤติกรรมในอนาคตเป็นลำดับรองลงมา

                (แนวทางทั้ง 3 นี้ อธิบายในหนังสือหลักทัณฑวิทยา บทที่ 7)
                                ...........................................................................

               แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไปเป็นเวลานาน แต่แนวคิดจากอาจารย์ถึงศิษย์ ยังคงดำรงอยู่
               “คุณต้องแยกปฏิบัติต่อผู้ร้ายและคนพลั้งพลาดให้ได้”


               เป็นแนวคิดที่ไม่เพียงแต่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนกฎหมายหนุ่มคนหนึ่งเปลี่ยนใจจากวิชาชีพกฎหมายมาสู่งานราชทัณฑ์
               เป็นแนวคิดที่ไม่เพียงแต่จะทำให้นักกฎหมายหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาสู่งานราชทัณฑ์ แต่ยังทำให้ได้มีโอกาสต่อยอดองค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์ไปอย่างต่อเนื่อง


               ในวันนี้ วันที่อดีตนักเรียนกฎหมายหนุ่มคนนั้นได้มายืนอยู่หน้าชั้นเรียน บรรยายให้นิสิต นักศึกษา ในวิชาทัณฑวิทยาให้กับนิสิต นักศึกษา ในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้แต่หวังว่า ....... คงจะมีโอกาสสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ สักคนหนึ่งได้หันมาสู่วิชาชีพราชทัณฑ์ แล้วสืบทอด พัฒนาต่อยอดความรู้ต่อไป  รุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่จบสิ้น เป็นวัฏจักร


                แต่วัฏจักรจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีอาจารย์คนที่ชื่อ ทวี  ชูทรัพย์  อดีตผู้อำนวยการกองระบบอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้เป็นอาจารย์ของผม ทั้งในห้องเรียนและชีวิตการทำงาน ผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ “จากอาจารย์ถึงศิษย์” ในเรื่องนี้...

                                                   -------------------------------------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 521094เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์เขียนชัดเจนมาก ๆ ครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

ในไทยปฏิรูป3แนวทางข้างต้นได้ ผู้ควบคุมก็ไม่ต้องเสี่ยงมาก

 

ท่านจดเล็คเชอร์ละเอียด ดีจังค่ะ ^__^

เยี่ยมยอดทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์เลยค่

อาจารย์บรรยายได้กินใจมากกๆค่ะ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้ง 2 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท