บายศรีสู่ขวัญ จากใจ สู่ใจ


หากอยากให้เป็นพิธีบายศรี สู่ขวัญ จากใจ สู่ใจ จากรุ่น สู่อีกรุ่น คงต้องหาคน "สืบฮอยตา วาฮอยปู่"


" มาเด้อ....ขวัญเอ้ย..ย...ย..." 

ได้ยิน ได้ฟัง ได้เอ่ย ถ้อยคำนี้ทีไร ทำไมขนลุกซู่ทุกครั้งไปก็ไม่รู้ เป็นถ้อยคำที่คุ้นเคย คุ้นหู มานานตั้งแต่สมัยยังเด็ก ส่วนใหญ่แล้วจะทำพิธีนี้ในงานแต่งงาน งานบวช รับขวัญลูกเกิดใหม่ รับขวัญทหารใหม่ และอื่นๆ อีกมากมาย พอโตขึ้นก็ยังมีโอกาสเข้าร่วมพิธีและเอ่ยถ้อยคำ "เอิ้นขวัญ" อยู่บ่อยๆ 

วันที่ 26 มี.ค. 2556 โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เปิดการอบรมเฉพาะทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช มีบุคลากรทางสาธารณสุขจากหลากหลายหน่วยงานมาเข้าอบรม ปีนี้เป็นรุ่นที่ 6 ช่วงเย็นของวัน มีการเลี้ยงต้อนรับ พร้อมด้วยจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้กับผู้เข้าอบรมด้วย เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา 

เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี พ่อพรามณ์ในชุดปฏิบัติงานสีขาว ก็กล่าวเชิญชวนทุกคนเข้ามานั่งล้อม "พาขวัญ" ที่เป็นพานดอกไม้ทรงสูงทำจากใบตองกล้วยสด ประดับด้วยดอกไม้มงคลตาม  มีเครื่องประกอบในพานที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขนสีขาว กล้วยสุก ขนมเทียน ข้าวต้มมัด ปั้นข้าวเหนียว ไข่ไก่ต้มสุก ส่วนอื่นๆ ที่ยังไล่เรียงไม่หมดก็ตามแต่ "เปิงบ้าน" ว่าบ้านไหนมีความเชื่อมีการปฏิบัติต่อๆ กันมาอย่างไร ก็จะมีของใส่ในพาขวัยตามคติความเชื่อนั้น

จากนั้นพ่อพรามณ์ก็ทำพิธีเอิ้นขวัญตามประเพณี ถ้อยคำที่ฉันจำได้ติดหูก็คือ

 "...ขวัญเจ้าไปอยู่ไส ก็ขอให้มาเสียมื่อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่ไร่อยู่นาก็ขอให้มาเสียมื่อนี่วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่เมืองนอกเมืองนาก็ให้มาเสียมื่อนี้วันนี้...มาเด้อขวัญเอ๊ยยยย" 

พอถึงจังหวะนี้คนที่ร่วมพิธีทั้งหมดก็จะพากันขานรับและกู่ร้องเรียกขวัญด้วยเสียงอันดังพร้อมๆ กันว่า มาเด้อ ขวัญเอ๊ย ไม่ว่าขวัญจะอยู่ที่ไหนก็จะถุกเรียกมาอยู่กับเนื้อกับตัวเจ้าของทั้งหมด ความรู้สึกถึงการที่ขวัญได้มาอยู่กับเนื้อกับตัวช่างซาบซึ้ง อบอุ่น จนน้ำตาไหล

พอจบพิธีการเรียกขวัญก็ตามด้วยการผูกข้อมือด้วยด้ายฝ้ายขาว ก็เริ่มต้นด้วยการให้พ่อพรามห์ผูกให้ก่อน จากนั้นค่อยผูกกันเอง ช่วงนี้ก็เป็นอีกช่วงที่รู้สึกได้ว่าใจพองโต อิ่มเอิบใจ เพราะว่าขณะผูกข้อมือ ไม่ใช่ผูกเฉยๆ แต่จะมีถ้อยคำกล่าวอวยพรที่เป็นมงคลให้แก่กันและกันด้วย เช่น 


 " ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข"

 "ขอให้ได้สมดั่งปรารถนา"  

"ขอให้ร่ำขอให้รวย นอนหลับให้ได้เงินพัน นอนฝันให้ได้เงินหมื่น นอนตื่นให้ได้เงินแสน แบมือมาขอให้ได้แก้วมณีโชติ....." ดูเหมือนว่าใครๆ ก็ถูกใจถ้อยคำอวยพรนี้กัน ยิ้มหน้าบานกันทุกคน


ฉันอยากให้พิธีการนี้ยืนยาวไปชั่วลูกชั่วหลานจังเลย จะทำอย่างไรได้บ้างหนอ

ปีนี้พ่อพราหมณ์บอกว่า

"พ่ออายุก็มากแล้ว 80 กว่าปีแล้วนะ พ่อมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาทำพิธีสู่ขวัญที่โรงพยาบาลนี้ แต่ไม่รู้ว่าพ่อจะทำไปได้อีกกี่ปี"

สิ่งนี้เองที่เรียกว่า Tacit Knowledge ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวพ่อพราหมณ์ หากไม่มีการ ถอดบทเรียนออกมา แลกเปลี่ยนเรียน รู้เล่าสู่กันฟัง ต่อยอด สืบทอดกันไป มันก็จะยังคงอยู่แค่กับพ่อพราหมณ์เท่านั้น  

หากอยากให้เป็นพิธีบายศรี สู่ขวัญ จากใจ สู่ใจ จากรุ่น สู่อีกรุ่น คงต้องหาคน "สืบฮอยตา วาฮอยปู่" ซะแล้ว



หมายเลขบันทึก: 521052เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2013 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท