story telling รพ.แคนดง บุรีรัมย์



เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่  โดย ส.อ.ยุทธนา เสาเวียง

ผมเป็นนักวิชาการสาธารณสุข เริ่มทำงานที่คลินิกจิตเวชของโรงพยาบาลกระสังได้ 3 เดือน ต่อมาท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านให้ผมมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแคนดง เนื่องจากท่านเป็นผู้อำนวยการทั้งสองโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลกระสัง และโรงพยาบาลแคนดง เมื่อผมเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแคนดง ในกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน หัวหน้าได้มอบหมายงานยาเสพติด และคลินิกบุหรี่ สุรา ให้ผมรับผิดชอบ เนื่องจากผู้รับผิดชอบเดิมย้ายไปโรงพยาบาลอื่น ต่อมามีพี่พยาบาลมารับงานต่อได้ 6 เดือน และย้ายไปปฏิบัติงานที่แผนกอื่น และยังไม่มีผู้ดำเนินงานต่อ ในการมาทำงานยาเสพติดครั้งนี้ ผมก็มีความกังวลว่าจะทำได้ไหม เนื่องจากเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคยผ่านการอบรมตามหลักสูตร ทำให้ขาดทักษะการสร้างแรงจูงใจ แต่ผมก็จะทดลองดู โดยตั้งใจทำงานพยายามศึกษางานและเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะว่าผมได้อ่านบทความบทหนึ่งเขาเขียนไว้ว่า“เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต  เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือวิธีที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต” บทความบทนี้ จุดประกายความหวังและเป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจในการทำงานใหม่ๆ ให้สำเร็จต่อไป 

โรงพยาบาลแคนดงยังไม่มีคลินิกอดบุหรี่ และจากโครงการของ สปสช. เน้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สูบบุหรี่ตระหนักถึงสารที่อยู่ในบุหรี่มีผลทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งผมได้ประชาสัมพันธ์การให้บริการไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้เปิดบริการทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. ผลการดำเนินงานในปี 2555 เป็นในเชิงปริมาณมากกว่า การบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนยังไม่สมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ และในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ผมมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานยาเสพติดที่โรงพยาบาลพุทไธสงซึ่งเป็นโอกาสในพัฒนาในปีต่อไป 

Case ที่ทำให้รู้สึกประทับใจและมีแรงบันดาลใจในการทำงานโดยไม่รู้สึกย่อท้อคือ มีผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากคลินิกจิตเวช 1 ราย เพื่อเข้ารับการบำบัดการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ชาย อายุ 57 ปี เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี สาเหตุที่สูบ เพราะเพื่อนชักชวน และสูบวันละ 20 มวล เคยหยุดสูบมาแล้ว 2 ครั้ง หยุดได้นาน 4 วัน สาเหตุที่ทำให้กลับมาสูบซ้ำคือ ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิด Case นี้ผมได้ให้คำปรึกษาในการเลิกสูบบุหรี่และแนะนำการกินมะนาวเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ โดยวิธีการกินมะนาวช่วยเลิกบุหรี่ ต้องหั่นมะนาวเป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีเปลือกติดมาด้วย ขนาดเท่าหัวแม่โป้ง หรือพอคำ เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ให้กินมะนาวแทน โดยอมแล้วค่อยดูดความเปรี้ยว จากนั้นเคี้ยวเปลือกอย่างช้าๆ นาน 3-5 นาที จะมีผลทำให้ลิ้นข่ม เฝื่อน จากนั้นดื่มน้ำ 1 อึก นอกจากช่วยลดความอยากนิโคตินแล้ว เมื่อสูบบุหรี่จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนเป็นขมจนไม่อยากสูบ และสามารถกินมะนาว หรือผลไม้ชนิดอื่นที่มีความเปรี้ยวมากๆ ได้ทุกครั้งที่เกิดความอยากบุหรี่  และนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการอีกในเดือนถัดไป

การเลิกบุหรี่ด้วยการกินมะนาวส่วนใหญ่จะเลิกบุหรี่ได้ใน 2 สัปดาห์ และไม่อยากบุหรี่อีก ถือว่าชนะนิโคตินได้ แต่แม้อาการทางกาย คือความอยากจะหมดไป แต่อาการทางใจบางครั้งยังมีอยู่ เช่น เศร้า หงุดหงิดเหมือนคนอกหัก คนรอบข้างต้องให้กำลังใจ และตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาด จะสามารถเลิกได้อย่างแน่นอน


หมายเลขบันทึก: 520980เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท