การจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว (aggression behavior management)


Aggression/violence

คำจำกัดความ ความก้าวร้าวและความรุนแรง (Aggression/violence)

           อเล็กซานเดอร์ (cited Finnera et al. 1994: 1089) ความก้าวร้าว (Aggression) เป็นการใช้พลังที่ไม่เหมาะสมมีการกระทำด้วยคำพูดหรือทางร่างกายที่ไม่เหมาะสมต่อบุคคลเป้าหมายที่สนใจ

           ริบพอน (cited Jones & Lyneham 2000) ความรุนแรง (Violence) เป็นพฤติกรรมโดยเจตนากระทำอันตรายโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตซึ่งผลลัพธ์จะเกิดอันตรายหรือไม่ก็ตาม สามารถเกิดจากร่างกาย คำพูด การกระทำทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมและการใช้พลังนั้นทำให้ต้องรับเคราะห์โดยตรงหรือโดยอ้อม จากการใช้อาวุธหรือไม่ได้ใช้อาวุธ โดยการแสดงความโกรธหรือไม่แสดงต่อคนหนึ่งคนใดหรือคนอื่น ๆ ความรุนแรงเป็น การแสดงถึงความไม่ยุติธรรมหรือปราศจากเหตุผลในการใช้กำลังและอำนาจ (Workplace Health & Safety Guide Qld. Gov. 1993:3)

         ความก้าวร้าวจึงเป็นพฤติกรรมการแสดงออกทั้งทางคำพูด และหรือการกระทำทางร่างกายต่อบุคคล สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ หรือวัตถุสิ่งของ และความก้าวร้าวอาจเพิ่มระดับขึ้นเป็นความรุนแรงโดยมีเจตนากระทำอันตรายโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งการกระทำโดยตรงหรือโดยอ้อม ผลลัพธ์อาจจะเกิดอันตรายหรือไม่ก็ตาม

  ความก้าวร้าวสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีต่าง ๆ เช่น

1.  การอธิบายทางด้านชีววิทยา

2.  การอธิบายทางด้านสังคม

3.  การอธิบายทางด้านสิ่งแวดล้อม

4.  การอธิบายทางด้านจิตวิทยา

1.  การอธิบายทางด้านชีววิทยา

  การใช้แอลกอฮอล์  ยาบ้า โคเคน ฮาลูซิโนเจน บาร์บิทูเรต และการใช้ยาเกินขนาดทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวและพฤติกรรมต่อต้านสังคม พฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงอาจแสดงออกเมื่อบุคคลนั้นได้รับสารนั้นในขนาดที่สูงหรืออยู่ในภาวะขาดยา

  การบกพร่องหรือถูกทำลายของโครงสร้างลิมบิค ที่ส่วนหน้า และด้านข้างของสมอง เช่น เนื้องอกที่สมองสามารถเพิ่มความหงุดหงิดฉุนเฉียว พฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง สมองถูกทำลายซึ่งเกิดจากการคลอดหรือได้รับบาดเจ็บ การติดเชื้อ

  การเจ็บปวดอย่างเรื้อรัง จะส่งผลให้มีการเสื่อมของร่างกายและความสามารถในการเคลื่อนไหว เช่น ผู้ป่วยที่ถูกตีจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์และเกิดความเครียดได้มาก

  การวิจัยพบว่า การแสดงออกทางอารมณ์ที่ก้าวร้าวมีความแตกต่างทางเพศอย่างชัดเจน ผู้ชายจะมีความก้าวร้าวมากกว่าเพศหญิง ซึ่งเชื่อมโยงถึงความแตกต่างของฮอร์โมนระหว่างเพศและอาจเป็นเพราะบทบาทของพฤติกรรมดั้งเดิม

2.  การอธิบายทางด้านสังคม

  นักทฤษฏีบางท่านให้ข้อคิดเห็นว่า พฤติกรรมก้าวร้าวเกิดจากการเรียนรู้โดยการสังเกต การลอกเลียนแบบ และการเสริมแรง (Bandura, 1973) ถ้ามีการส่งเสริมว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นสิ่งที่ดีอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวหรือถ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่เสียหายก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าไม่เหมาะสม ซึ่งอุบัติการณ์ความก้าวร้าวที่สูงมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาจากความรุนแรงที่ทีวีหรือสื่ออื่น ๆนำเสนอ

  ปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวราวเช่น

  -ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นผลให้เกิดการวางงานสูง

  -การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว (การหย่าร้าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของครอบครัว)

  -การขาดการสนับสนุนทางสังคม

  สถานการณ์ทางสังคมอาจเป็นเรื่องการสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีและบทบาททางสังคมของครอบครัว จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียความมีคุณค่าในตนเอง ความทุกข์ระทมและการควบคุมชีวิตของตนเอง ในบางครั้งอาจนำไปสู่ความก้าวร้าว การฆ่าคนอื่น ๆ และตัวเอง

 

3.  การอธิบายทางด้านสิ่งแวดล้อม

  อุบัติการณ์ความก้าวร้าวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามธรรมดาทั่วไป หรือช่วงเวลารับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีนโยบายต้องนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในสถานการณ์นี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ เช่น ในบางรายตำรวจอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความโกรธจากการถูกบังคับ (ทางอารมณ์ ร่างกาย จิตใจ) เมื่อตำรวจถอนกำลังออกไปอาจมีการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา  ในบางสถานการณ์บุคคลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในขณะรับไว้รักษาอาจมาจากมีประการณ์ทางลบอย่างมากขณะอยู่ในโรงพยาบาลหรือมีความกลัว ความวิตกกังวลที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย

  ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีความคิดว่าจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และการอำนวยความสะดวก และต้อนรับผู้ป่วยอย่างดี ให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นการวางแผนให้ความปลอดภัยและต้อนรับผู้ป่วยจะต้องพิจารณาเรื่องต่อไปนี้

-  ผู้ป่วยต้องการความเป็นส่วนตัว

-  มีสถานที่ต้อนรับ

-  มีสิ่งอำนวยความสะดวก

-  เงียบสงบ กว้างขวาง อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิเหมาะสม

-  สีที่ให้ความรู้สึกเย็นสบาย

-  ความปลอดภัย

-  ทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ พร้อมที่จะช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด

4.  การอธิบายทางด้านจิตวิทยา

    ฟรอยด์และนักทฤษฏีจิตวิเคราะห์ดั้งเดิม เชื่อว่าความก้าวร้าวเป็นแรงขับภายในซึ่งไม่อยู่ในการควบคุมตามธรรมชาติแต่จะแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการต่อสู้หรือกลไกการแก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคลเมื่อมีความวิตกกังวล

การตอบสนองต่อภาวะสับสนและวิตกกังวล

            Arthur, Dowling และ Sharkey (1992) แนะนำว่าผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพควรจะมองว่าการตอบสนองต่อภาวะสับสนและวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของความต่อเนื่องทางสังคม ในแนวทางนี้เราจะสามารถที่จะอธิบายและจัดการได้อย่างมาก โดยใช้ตัวอย่างของความหวาดระแวง

   ปรับตัวต่อการตอบสนองได้                                                                     ไม่สามารถปรับตัวต่อการตอบสนองได้

__________I_________________________________I____________________________I______

ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน                                  ความระแวงสงสัย                               ความหวาดระแวง

 

     ในรูปแบบที่แสดงนี้ ความระแวงสงสัยเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องของพฤติกรรมจากความไว้วางใจซึ่งกันและกันไปสู่ความหวาดระแวง ความระแวงสงสัยเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยบุคคลในหลากหลายเวลา ความระแวงในระดับเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ดีและมีการปรับตัวได้โดยบุคคลเชื่อมโยงไปยังความไว้วางใจอื่น ๆ ถ้าความระวงสงสัยมีเพิ่มมากขึ้นสุดขีดเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่สามารถปรับตัวต่อการตอบสนองได้

       การบาดเจ็บทางสมองความสับสน ความพิการทางจิตหรือการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ต่อเนื่องยาวนานของผู้ป่วยโรคจิตเภท เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวต่อการตอบสนองได้

         การแสดงออกโดยทั่วไปของภาวะสับสนเป็นความรุกลน ตื่นเต้นหลงผิดสมาธิไม่ดี สูญเสียความจำ สมองเสื่อม ความชรา ความคิดแตกแยกและระแวงสงสัย บุคคลที่ได้รับผลจากความสับสนจะแสดงออกในความคิด อารมณ์และพฤติกรรมที่แตกแยกอย่างรุนแรง

       นักทฤษฏีอื่น ๆ สนับสนุนสมมติฐานความคับข้องใจ ความก้าวร้าว ซึ่งเสนอว่าเมื่อบุคคลคาดการณ์ว่าตนเองจะประสบความสำเร็จตามความปรารถนา เมื่อมีความคับข้องใจเกิดขึ้นจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความโกรธ ความโกรธสามารถทำให้เกิดความก้าวร้าวซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะลดความคับข้องใจลง Berkowitz และ Lepage (cited Schaffer 1979) เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีความคับข้องใจอย่างรุนแรงแล้วจะต้องใช้กำลังรุนแรง การตอบสนองในทางก้าวร้าวขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น แนวโน้มความรุนแรงส่วนบุคคลและสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว

          นักทฤษฏีการเรียนรู้มองแตกต่างออกไปโดยอ้างถึงวิธีคิดของบุคคลต่อสถานการณ์มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก และสามารถส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ถ้าเขาไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตนเองปรารถนา  

ความก้าวร้าวและการเจ็บป่วยทางจิตเวช

         Delaney (Cited Doctor 1997:25) เห็นว่ามีความหลากหลายในเหตุผลของความรุนแรงในโรงพยาบาลจิตเวช รวมถึงการที่ผู้ป่วยไม่ยินยอมรับการรักษาบางรายต้องควบคุมมาโดยตำรวจ บางคนมีการตอบสนองต่อความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปเช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน และมีตราบาปทางสังคมเป็นผู้ป่วยจิตเวช Finnema และคณะ (1994) รายงานถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การมีอิทธิพลต่อกันในความก้าวร้าวและผู้ป่วยจิตเวช เช่น การจัดการให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมปิด บางรายมีความรู้สึกว่าเป็นสิทธิที่เขาจะไม่รับการรักษาและยึดติดกับกฎ ระเบียบของโรงพยาบาล

ระดับความก้าวร้าว

      ความก้าวร้าวในทางกฎหมายเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยจากการจู่โจมธรรมดาเช่น การใช้คำพูดล่วงเกินจนถึงทำให้เกิดความทุกข์ บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต The new South Wales Health department แบ่งระดับความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นดังนี้

Level

Type

Measurement

1

การจู่โจมแบบธรรมดา

การใช้คำพูดล่วงเกิน คุกคามและกลัวและมีการทำลายสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

2

การจู่โจมและเพิ่มมากขึ้น

เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยและต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้น คุกคามโดยใช้อาวุธปราศจากการบาดเจ็บ

3

มีการจู่โจมที่รุนแรง

มีการจู่โจมซึ่งต้องการการเฝ้าระวังทางการแพทย์

4

มีการบาดเจ็บรุนแรงหรือตาย

ข้อบ่งชี้ถึงความก้าวร้าว

     เพื่อการป้องกันความก้าวร้าว บุคคลกรจำเป็นต้อง

1.  สามารถเชื่อมโยงทฤษฏีความก้าวร้าวให้เข้ากับสถานการณ์ในที่ทำงานได้

2.  ตระหนักในสถานการณ์ซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดความก้าวร้าว

3.  รู้ถึงสมรรถนะของผู้ป่วยเมื่อมีความก้าวร้าว

4.  รู้ถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว

       ปัจจัยที่บุคลากรต้องจำแนกสำหรับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่แอบแฝง/ตามความเป็นจริง(Finnema, Dassen & Halfens, 1994) 6 ด้าน

1.  ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา

-  ความอดทนต่อความคับข้องใจต่ำ

-  ขาดการควบคุมต่อสิ่งกระตุ้น

-  สับสน

-  ตื่นตระหนก

-  หลงผิด

-  ประสาทหลอน

-  ความคิดหวาดระแวง

-  เชื่อว่าพฤติกรรมรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

-  เชื่อว่าพฤติกรรมความรุนแรงไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใคร

2.  ปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม

-  รูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยความรุนแรง

-  ชุมชนยอมรับในพฤติกรรมรุนแรง

-  ความสัมพันธ์ของบุคลิกภาพที่แข็งกร้าว

3.  ปัจจัยทางกายภาพ

-  หนุ่มวัยรุ่น

-  เนื้องอกในสมอง

-  ลมชัก

-  ขาดสารอาหาร

-  ระดับยารักษาโรคจิตในกระแสเลือดต่ำ

-  ถอนพิษยา

4.  ปัจจัยทางสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม

-  ขาดความเป็นส่วนตัว

-  ผู้ป่วยอื่นรบกวน

-  กฎข้อบังคับของหน่วย

-  การมายินยอมรับการรักษา

-  ความไม่ชัดเจนในนโยบายการจัดการกับความก้าวร้าว/รุนแรง

5.  ปัจจัยทางด้านประวัติ

-  พฤติกรรมก้าวร้าวในปัจจุบัน

-  ประวัติพฤติกรรมความรุนแรง

-  ประวัติความถี่ในพฤติกรรมรุนแรง

6.  ปัจจัยด้านปฏิสัมพันธ์

-  ไม่รับฟังผู้ป่วย ล้อมเหลวในการพบกับผู้ป่วย

-  ผู้ป่วยมีเจตนาก่อวามก้าวร้าว

-  รบกวนเพื่อผู้ป่วยอื่น

-  ไม่เข้าใจ

การจัดการและป้องกันพฤติกรรมก้าวร้าว (Prevention and Management of Aggressive Behavior)

          พฤติกรรมก้าวร้าวเกิดขึ้นได้เมื่อมีปัจจัยกระตุ้นในขนาดที่เหมาะสม ทั้งการใช้คำพูดและ/หรือการกระทำ

          ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะป้องกันก่อนเกิดความเสียหายจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทักษะที่ใช้มีทั้งวิธีการพูดคุย (Verbal skill) และไม่ใช้การพูดคุย (Non verbal skill) 

    การใช้ทักษะการพูดคุยด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย  จะสามารถช่วยให้บุคคลนั้นแสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสมในทางที่ถูกต้อง แต่เมื่อเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นแล้วควรรู้จักการจัดการโดยมีเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น

        การจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยโปรแกรมที่มีประสิทธืภาพจะช่วยลดความรุนแรง และสามารถใช้จัดการกับบุคคลที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมซึ่งไม่สามารถสื่อสารหรือจัดการกับความต้องการของตนได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอ

1.  แม้ว่าเราจะมีสิทธิตามกฎหมายในการปกป้องตนเองให้พ้นจากอันตราย แต่เราก็มีหน้าที่ตามกฎหมายในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย

2.  การควบคุมสถานการณ์เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยและตัวเองปลอดภัยคือการใช้แรงให้น้อยที่สุดใช้เท่าที่จะจำเป็น ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

3.  จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการหลีกเลี่ยงการใช้แรงกดตามจุดต่างๆ ที่ทำให้เจ็บปวด หรือหลีกเลี่ยงการล็อคข้อต่อ  เนื่องจากโดยทั่วไปเมื่อคนเราอยู่ในภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง หรือได้รับยาที่ใช้ในการรักษาบางชนิด ความรู้สึกต่อความเจ็บปวดอาจลดลงได้ ดังนั้นการทำให้เกิดความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่มีความรู้สึกและรับรู้ถึงความเจ็บปวดที่ลดลง นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้ความก้าวร้าวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 

4.  ที่สำคัญที่สุดคือการก่อให้เกิดความเจ็บปวด เสมือนเป็นเป็นการบอกให้ผู้ป่วยรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ที่จะทำร้ายคนอื่นเวลาที่เขาไม่ชอบการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นจึงอาจเป็นการก่อให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น

5.  วิธีการก่อให้เกิดความเจ็บปวดสามารถใช้ได้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น 

   การกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการป้องกันตัวเราเองจากบุคคลที่กำลังก้าวร้าวรุนแรงสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงได้

     เป็นเรื่องธรรมดาที่จะพบความรู้สึกที่ปนๆ กันระหว่างความกลัว ความกังวล และความเศร้า  ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะต้องแสดงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวผู้ป่วยนั้นให้ผู้ร่วมงานทราบเพื่อที่จะหาทางแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นและพาตนเองกลับเข้าสู่ภาวะทางอารมณ์ที่สงบ และเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

    ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่คุณ และทีมงานจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะใช้ทักษะการสื่อสารเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังมีพฤติกรรมก้าวร้าว ให้สามารถบอกหรือแสดงออกความรู้สึกของพวกเขาได้ จากนั้นควรพูดคุยกันถึงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยก้าวร้าว เพื่อนำไปสู่การใช้ทางเลือกอื่นในการจัดการกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้ในอนาคตโดยไม่ใช้ความก้าวร้าว

       ทักษะในการป้องกันตัวของไม่ได้เป็นการรับประกันว่าคุณจะไม่มีวันได้รับบาดเจ็บเลย แต่เป็นที่แน่นอนว่าหากจะเกิดความบาดเจ็บที่มีสาเหตุมาจากความพฤติกรรมก้าวร้าว ก็จะมีความเสียหายน้อยที่สุด และเมื่อได้เรียนรู้ทักษะและหลักการต่างๆ แล้ว ก็สามารถที่จะใช้วิธีการเหล่านี้ในสถานการณ์นอกเหนือไปจากที่ยกตัวอย่างมาแล้วได้

        ในทางที่ดีที่สุด การสร้างสัมพันธภาพที่ดีและความใส่ใจในตัวผู้ป่วย จะช่วยทำให้ผู้ป่วยแน่ใจว่าคุณมีเจตนาดีในการช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่วิกฤติ

  คุณสามารถที่จะใช้ทักษะทางการสื่อสารได้ไม่ว่า จะก่อนเกิดเหตุการณ์ ในช่วงเวลาระหว่างนั้น หรือหลังจากเหตุการณ์จบแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

คำสำคัญ (Tags): #Aggressive behavior
หมายเลขบันทึก: 520965เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท