ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๕๗. สัปดาห์แห่งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ



          วันที่ ๑ ก.พ. ๕๖ เป็นวันที่ผมมีความสุขมากอีกวันหนึ่ง  เพราะได้ทั้งเรียนรู้และได้เห็นความสำเร็จ  จากการริเริ่มสร้างสรรค์ ที่ในงาน PMAC และในกิจกรรมข้างเคียง 

          เริ่มจากตอนเช้า ไปรับประทานอาหารที่ชั้น ๕๑ ก็พบ อ. หมอภิเศก กับ อ. วิม นัดกันมาหารือเตรียมประเด็นประชุมคณบดีคณะแพทยศาสตร์ พยาบาล และสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการเรียนรู้ สู่ศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งการประชุมจะมีตอนเที่ยง

          ตอนเช้า ผมเข้าฟัง Plenary Session 3 Policy and Strategies to Meet the Challenge of Emerging Disease Threat Through Prevention, Preparedness and Response  ได้เห็นว่า เรื่องการจัดการโรคติดเชื้อที่อาจระบาดใหญ่นั้น  ได้เลื่อนจากการตั้งรับ สู่การรุกไปตั้งด่านตรวจหาสัญญาณเตือนภัย และหาทางป้องกัน “ณ จุดเกิดเหตุ”  คือเมื่อเชื้อโรคเกิดการกลายพันธุ์สู่พันธุ์ที่ระบาดใหญ่ได้ 

          ๓ หน่วยงาน มาเล่าว่าตนทำอะไร อย่างไร คือ WHO, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐอเมริกา (USAID)  สหรัฐบอกว่าตนใช้ PREDICT Program  ซึ่งใช้วิธีเฝ้าระวังแบบ SMART  ส่วนสหราชอาณาจักรดำเนินการ ๔ ขั้นตอน โดยร่วมมือกันหลายฝ่าย  คือ (๑) ตรวจหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้น  (๒) ประเมินความเสี่ยงโดยเร็วที่สุด  (๓) จัดการความเสี่ยง  (๔) สื่อสารความเสี่ยง   หลักการมีอย่างนี้ แต่รายละเอียดและเคล็ดลับมีมากมาย 

          ตอนสาย ผมเข้าห้อง PS 3.7 Is Technology or Failure of the Imagination the Bigger Challenge for Disease Detection? เพราะชื่อมันท้าทายดี  และผมก็ได้ข้อสรุปว่า เทคโนโลยีก็พร้อม  คนบ้ากล้าฝันก็มีมาก  ที่ขาดคือระบบสนับสนุน  ผมได้รู้จัก Apple App ชื่อ DoctorMeที่พัฒนาโดยคนไทย  สำหรับคนทั่วไปใช้เป็นที่ปรึกษาเวลาเจ็บป่วย  ใช้ได้ทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะโรคติดเชื้อที่เสี่ยงต่อการระบาดใหญ่

          ที่น่าสนใจคือ InSTEDD Innovation Labที่ทีมงานเป็นคนเขมร  คนให้แนวความคิดคือ Larry Brilliant  

          ตอนเที่ยง ผมไปร่วมประชุมหารือเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพ  ซึ่งเมื่อการหารือดำเนินการไปเกือบจบ ผมก็ถึงบางอ้อ ว่าพวกเราตกหลุมการสอน  เรากลัวว่าถ้าไม่สอนลูกศิษย์จะไม่รู้  เราไม่เปลี่ยนความคิดว่า  ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ เราสอนน้อยๆ  ส่งเสริมให้ศิษย์เรียนโดยลงมือทำมากๆ  ศิษย์จะได้เรียนมาก  ผมแนะให้เอา innovation และ ความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละคณะ มา ลปรร. และหาทางยกระดับและขยายผล

          เดิมผมตั้งใจว่าช่วงเย็น ผมจะไปฟัง PS 4.1 Stories from the Ground  แต่เดินผ่านห้อง IPE (Inter-Professional Education) ของมหาวิทยาลัยมหิดล  ที่ท่านรองฯ วิม เป็นประธาน  ผมจึงเข้าไปนั่งฟังในฐานะกองเชียร์  ฟังแล้วเกิดความสุข เอ็นดอร์ฟินหลั่งไปทั่วร่าง  ได้ความปิติสุขจาก ๒ เรื่อง คือเรื่องคณะ champion ของการเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมี interprofessional collaboration skills  กับการได้รับรู้นวัตกรรมในการจัดการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสังคมศาสตร์การแพทย์ ที่นำโดย รศ. ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง (ซึ่งผมจะแยกไปบันทึกใน บล็อก สภามหาวิทยาลัย)

          PMAC 2013 มีนวัตกรรมทางวัฒนธรรมเสริมขึ้นมา  คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (การช่างโชติเวช) มาแสดงการทำขนมไทย  และงานศิลปะแกะสลักผลไม้ และงานช่างชาววัง  และมีไอศครีมพื้นเมืองสมุทรสงครามมาให้ชิมฟรี  ได้รับความสนใจจากคนต่างชาติมาก  เท่ากับ PMAC ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทยด้วย

          วันที่ ๒ ก.พ. ๕๖ ช่วงเช้าเป็นการสรุปโดย Lead Rapporteur ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ผู้หญิงจากอังกฤษ  นำเสนอได้ดีมากเพราะเขาเป็น content expert   เขามาร่วมงานเป็นครั้งแรก  บอกว่าเขาไม่เคยเห็นทีม rapporteur ที่เข้มแข็งเช่นนี้เลย  ทีมนี้มีคนถึง ๘๐ คน  ผมดีใจมาก ที่ PMA Youth Fellow หลายคนมาอาสาร่วมทีม rapporteur  เท่ากับเป็นการฝึกฝนความรู้ด้านระบบสุขภาพ และนโยบายสุขภาพ  หัวหน้าทีม rapporteur ฝ่ายไทย คือ ดร. วไลพร พัชรนฤมล ผู้เข้มแข็ง แห่ง IHPP

          หลังพักครึ่งชั่วโมง เป็นเวลาถาม และตอบโดยผู้รู้หลากหลายด้าน ๘ คน  ทำให้ได้ความรู้เชิงปฏิบัติเพิ่มขึ้น

          จบลงด้วยพิธีปิดที่ครึกครื้นสร้างความประทับใจเช่นเคย  โดยมีเพลง One Health ที่แต่งและบรรเลงเพื่องานนี้โดยเฉพาะ  รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา เป็น creative งานส่วนนี้และปกปิดเป็นความลับเช่นเคย

          ช่วงบ่ายเป็นการประชุม IOC ของ PMAC 2013 เพื่อดูผลการประเมิน  และประชุมเตรียมการณ์ PMAC 2014  ตกลงกันว่า ชื่อการประชุมคือ Transformative Learning for Health Equity  โดยมี theme หลักของการประชุม 3 theme คือ

1.  Professional Education : Instructional & Institutional Reform

2.  Health Systems and Social Determinants of Health

3.  Labor Market


          ในการประชุม IOC นี้ ผมมีตำแหน่งเป็นประธาน  แต่ผมมอบให้ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ทำหน้าที่ดำเนินการประชุมแทน  โดยถือหลักว่า เป็นการแบ่งงานกันทำ  ให้คนที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีที่สุดเป็นผู้ทำ   


วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 520755เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2013 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2013 08:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท