ชีวิตที่พอเพียง : 1755. สัปดาห์แห่งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ



          สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมของทุกปี  เป็นช่วงชีวิตที่จัดไว้รับใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ  “เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ”  ตามรอยสมเด็จพระบรมราชชนก 

          ปีนี้มีกิจกรรมพิเศษ คือ PMA YPC (Prince Mahidol Award Youth Program Conference) เพิ่มเข้ามาเป็นปีแรก และจะจัดต่อเนื่องทุกปี เป็น satellite meeting ของ PMAC ก่อนวันพระราชทานรางวัล  ปีนี้ PMA YPC 2013 จัดวันอังคารที่ ๒๙ ม.ค. ๕๖  ผมไปฟังครึ่งวันเช้า อย่างมีความสุข  ว่าโครงการทุนเยาวชน ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ได้ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ  จะเป็นโครงการที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทย และแก่มนุษยชาติ ได้อย่างดี 

          ในการประชุม ผู้ได้รับพระราชทานทุนที่กลับมาแล้ว ๗ คน มานำเสนอผลการดำเนินงานในช่วง ๑ ปี ที่ไปต่างประเทศ  และแผนงานที่จะทำต่อไป  มี mentor จากต่างประเทศ และในประเทศ มาร่วม และแสดงความเห็น  เราได้เห็นความริเริ่มสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว ที่น่าชื่นใจมาก   ผู้ได้รับพระราชทานทุนบางคนมีโจทย์แปลกใหม่ ที่เมื่อเสนอต่อ mentor ต่างประเทศแล้วท่านพอใจมาก เพราะท่านก็นึกไม่ถึง  และเมื่อดำเนินการออกมาแล้วมีคุณค่ามาก คือเรื่อง เครื่องมือทดสอบด้าน neuropsychological ในผู้ป่วยขี้หลงขี้ลืม (amnestic mild cognitive impairment) ที่ไม่รู้หนังสือ  โดย นพ. ภรัณยู จูละยานนท์  โดยมี mentor คือ Dr. Zaid S. Nasreddine, (CEDRA – Centre for Diagnosis and Research in Alzheimer’s Disease), Canada 

          เรามองเห็นโอกาสที่จะใช้ mentor จากต่างประเทศ  มาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของเรา  นี่คือข้อเสนอของ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์  

          ผมสังเกตว่า ผู้ได้รับพระราชทานทุนเยาวชนฯ สนใจทำงานใน ๒ ขั้วตรงกันข้าม  คือกลุ่มหนึ่งสนใจงานวิจัย biomedical ลงลึกเพื่อหาความรู้ใหม่  ซึ่งวันนี้ stem cells เป็นดารา  เช่น พญ. จุฑาภรณ์ อัศวชนานนท์ ไปเข้าร่วมทีมวิจัยกับมหาวิทยาลัยโตเกียว  ศึกษาวิธีปลูกจอตาใหม่ ในกรณีจอตาเสื่อม  โดยทดลองในหนู  ผลการทดลองก้าวหน้าอย่างน่าชื่นชม  คือปลูกจอตาในจานแก้วได้ และปลูกถ่ายเข้าไปในตาที่จอตาเสื่อม ทำท่าว่าจะได้ 

          อีกกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่องเชิงระบบ  หาวิธีจัดการเชิงระบบเพื่อทำให้ระบบบริการดีขึ้น  ได้แก่เรื่อง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย  เรื่องผู้ป่วยฉุกเฉิน  เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  เรื่องสุขภาพทางเพศในวัยรุ่น เป็นต้น 

          มี นศ. แพทย์ และอาจารย์ จากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมงาน และช่วยงาน อย่างคึกคัก  ทำให้ได้เห็นผลการสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน จากโครงการเยาวชนฯ  ผมมีโอกาสไปยุยงส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์ที่ไม่เคยได้รับทุนนี้  ส่ง นศ. สมัครเข้ารับทุน 

          ก่อนหน้านั้น ในวันจันทร์ที่ ๒๘ ม.ค. ๕๖ ตอนเช้าผมไปฟังการบรรยายโดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๕๕ คือ Sir Michael Rawlins   เรื่อง  Optimizing Heealthcare in the UK National Health Service : Balancing Quality and Efficiency  ทำให้ได้พบ partner ของท่าน คือ Prof.Nancy S. Wexlerผู้ค้นพบยีนของโรค Huntington  คือค้นพบ marker ในปี ค.ศ. ๑๙๘๓  และค้นพบยีนในปี ๑๙๙๓  โดยที่ตัวท่านเองอยู่ในครอบครัวที่เป็นโรค  และเวลานี้ท่านเองก็เป็นโรคนี้ อ่านเรื่องราวของท่านได้ที่นี่  ในฐานะนักพันธุศาสตร์เก่า  ผมไม่นึกว่าในชีวิตของตนเองจะได้พบกับท่านผู้นี้  รู้สึกเป็นบุญอย่างยิ่ง 

          การได้ฟัง Professor Sir Michael Rawlins เล่าเรื่อง NICEและการทำงานต่อสู้เพื่อนำวิชาการไปรับใช้สังคม  เป็นเรื่องที่ประทับใจผมมาก  ที่นักการเมืองอังกฤษ (Tony Blair) รู้จักใช้วิชาการเพื่อประโยชน์ของประเทศ  โดยการเมืองไม่เข้าไปบงการ  Sir Mike เล่าว่า เมื่อ NICE เสนอการตัดสินใจที่ไม่ถูกใจกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม  กลุ่มนั้นก็ไปบีบนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ ให้เปลี่ยนการตัดสินใจ  โทนี่แบลร์ ตอบว่า ท่านตั้งหน่วยงานนี้เพื่อให้เขาทำงานด้วยข้อมูลหลักฐานอย่างเป็นอิสระ  ดังนั้นตนเองจะไม่เข้าไปยุ่งกับการตัดสินใจ  แต่จะให้ NICE (ซึ่งก็คือ เซอร์ ไมเคิล) ไปตอบคำถามในทีวี (คือไปต่อสู้กันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ)  ซึ่ง เซอร์ไมค์บอกว่า หลายครั้ง เจ็บปวดมาก  และได้ศัตรูมากด้วย  แต่ผมว่า ได้มิตรมากกว่าศัตรู 

          ตอนบ่ายผมไปร่วมประชุม satellite meeting เรื่อง Regional Network on Global Health  จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล  โดยมีท่านอธิการบดี ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นประธาน  มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก ๑๐ ประเทศ  ผู้ดำเนินการประชุมคือ ผอ. ของ MUGH (Mahidol University Global Health) รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา  ฟังแล้วผมบอกตัวเองว่า  ยุทธศาสตร์การดำเนินการ Global Health มีหลายแบบ ได้แก่ (๑) แบบประเทศให้ทุนสนับสนุน เช่น ญี่ปุ่น  (๒) ​แบบประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ  และ (๓) แบบที่ต้องการใช้กิจกรรม GH ขยายโลกทัศน์ของคนในวิชาชีพสุขภาพ (และของพลเมือง) ให้คิดออกไปนอกขอบขัณฑสีมาของตน (เช่น ไทย)

          ในที่ประชุม มีการพูดกันว่า  ความเป็นจริงในอนาคตคือโลกจะแคบลงไปมาก หรือถึงกันหมด  การคิดอยู่ในเขตแดนประเทศจะไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป 

          และเรื่อง สุขภาวะ จะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ และโลก  ความร่วมมือกันเพื่อยกระดับสุขภาวะซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆ จึงจำเป็นยิ่ง 

          ผมใช้ยุทธศาสตร์การดำรงชีวิตของตนเองให้เกิดคุณค่าที่สุดต่อมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ  คือจำกัดการเข้าร่วมงานของตนเองเท่าที่จำเป็นจริงๆ  ออมแรงและออมสมองเอาไว้ทำกิจกรรมที่จะช่วยให้ทำงาน ร่วมยกระดับคุณภาพและคุณค่าของมูลนิธิขึ้นไปอีก  ลดงานด้านพิธีกรรมลงไป  และใช้ช่วงเวลานี้ทำ AAR กับตนเองให้มากที่สุด   


วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 520221เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท