ตำนานพญาคันคาก (พญาคางคก)


ตำนานพญาคันคาก (พญาคางคก) 

 เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในการรับรู้ของชาวอีสานและล้านนามีชื่อรู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตำนานพญาคันคาก แต่บางถิ่นก็อาจเรียกชื่อว่า ตำนานพญาคางคาก ธัมม์พญาคางคาก หรือพญาคันคากชาดก ในท้องถิ่นล้านนามีชื่อว่า คันธฆาฎกะ และสุวัณณจักกวัตติราช เป็นต้น

kk001

มีข้อสังเกตว่า ตำนานพญาคันคาก เป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในภาคอีสาน และมีบันทึกในเอกสารใบลานในแทบทุกจังหวัด

ตำนานพื้นบ้านเรื่องนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นชาดกพื้นบ้าน และบางครั้งถูกจัดให้เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาในท้องถิ่นด้วย เหตุที่ชาวอีสานเชื่อว่าเป็นนิทานชาดก เนื่องจากพญาคันคากมีสถานภาพเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นคางคก เป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่พระองค์ได้ชื่อว่า “พญาคันคาก” เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติออกมาเป็นกุมารนั้น มีผิวเนื้อและรูปร่างเหมือนคางคก ซึ่งในภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า “คันคาก” แม้มีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พญาคันคากนี้ก็มีบุญญาธิการมาก มีพระอินทร์คอยช่วยเหลือ จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมือง เป็นเหตุให้ผู้คนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนโกรธ ไม่ยอมปล่อยนํ้าฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ พญาคันคากจึงอาสานำเอาไพร่พลบรรดาสัตว์ต่างๆ อาทิ ปลวก ผึ้ง ต่อ แตน งู ช้าง ม้า วัว ควาย ขึ้นไปช่วยกันรบกับพญาแถนบนเมืองฟ้าจนได้รับชัยชนะ พญาแถนจึงยอมปล่อยนํ้าฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ตามเดิม

ตำนานพญาคันคากนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของพระโพธิสัตว์คันคาก สะท้อนให้เห็นพลังศรัทธาความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่ผสมผสานกับคติความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีแถน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนา กับพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในวิถีชีวิตของชาวนาในวัฒนธรรมข้าว ที่ต้องอาศัยนํ้าฟ้านํ้าฝนในการผลิตธัญญาหาร ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ตำนานพญาคันคากเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้บ่งบอกให้เห็นชีวิตพื้นบ้านที่ดำรงอยู่ในวิถีแห่งวัฒนธรรมการเกษตรในสังคมท้องถิ่นไทยได้เป็นอย่างดี

ในท้องถิ่นอีสาน พบว่า ตำนานพญาคันคาก ยังคงมีบทบาทสำคัญและดำรงอยู่ในวิถีชีวิตอีสาน นับตั้งแต่อดีตมามีความนิยมนำตำนานพญาคันคากมาให้พระใช้เทศน์ในพิธีกรรมการขอฝน และใช้เทศน์ร่วมในพิธีจุดบั้งไฟขอฝนด้วยเหตุนี้ ตำนานพญาคันคากในมุมมองของชาวอีสานจึงถือว่าเป็นวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของประเพณีการจุดบั้งไฟในเดือนหก ซึ่งถือเป็นประเพณีอันสำคัญใน “ฮีตสิบสอง” (จารีตประเพณีสิบสองเดือน) ที่ยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

คำสำคัญ (Tags): #พญาคางคก
หมายเลขบันทึก: 520216เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท