ประชุมวิชาการ APN 2556 “การเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”


ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทสำคัญในการให้การบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นผู้นำด้านการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง

สมาคมผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (ประเทศไทย) ได้จัดประชุมวิชาการ “การเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”  ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2556 ณ โรงแรม ดิ เอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร



เป็นเวทีลดช่องว่างของพยาบาลกลุ่มนักวิชาการ นักปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้หารือเพื่อปรับแนวความคิดร่วมกัน เป็นที่น่าชื่นชม สร้างความภาคภูมิใจในตนเองและวิชาชีพไม่น้อย

นายกสภาการพยาบาล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ กล่าวถึงความสำคัญของผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ที่ถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทสำคัญในการให้การบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นผู้นำด้านการจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง



ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ประธานวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย บรรยายเรื่อง “Update การดำเนินงานเรื่อง APN ในประเทศไทย” โดยกล่าวถึงบันไดความก้าวหน้าเดิมของการปฏิบัติพยาบาลและการศึกษา ที่พบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในวิชาชีพ เป็นที่มาของการบูรณาการอย่างใหญ่หลวงเพื่อให้เราหาทางออกร่วมกัน

ที่กล่าวมา ผู้เขียนมองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทางวิทยาลัยฯ กำลังพยายามจะนำเพื่อนพยาบาลไปสู่ทางออกที่ดีต่อไปในอนาคต




เนื่องจากหลักสูตรวุฒิบัตร (เทียบเท่า ป.เอก ทางคลินิก : Doctor of Nursing Practice) ที่ได้จัดทำเป็นหลักสูตรเตรียมผู้นำทางการพยาบาลในการใช้ evidence-based practice ซึ่งมีเป้าหมายผลักดันความก้าวหน้าในการปฏิบัติการพยาบาลและปรับปรุงผลลัพธ์ของการบริการสุขภาพ อาจารย์แนะนำสมรรถนะที่จำเป็นของผู้นำทางคลินิกที่ประกอบด้วย

1.  การปฏิบัติ : ที่คำนึงถึงระบบการจัดการและนโยบาย

2.  การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ : ที่หมายถึงการใช้ความรู้จากแหล่งต่างๆเพื่อ ประกอบการพัฒนาและการประเมินการปฏิบัติ

3.  ความเป็นผู้นำ : เป็นสิ่งจำเป็นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง

4.  ความรู้ความสามารถเชิงระบบ : ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมขององค์กร การจัดการโครงการ ความโปร่งใส ระบบการเงินการคลัง คุณภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

5.  ความรู้ความสามารถเชิงนโยบาย : ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อหาความเข้าใจที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐศาสตร์สุขภาพ กลไกการควบคุมกำกับ กฎหมาย จริยธรรม การตัดสินใจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการเป็นตัวแทนผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดนโยบายทางสุขภาพที่มีความยุติธรรม ความเท่าเทียม สามารถชี้นำความถูกต้องและสื่อความคิดที่ดีงามด้านสุขภาพให้กับสังคม

...

มีรายละเอียดเนื้อหาการบรรยายของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล เรื่อง การออกหนังสืออนุมัติบัตรและวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพพยาบาลและผดุงครรภ์ที่นี่ค่ะ



จะอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงที่พยาบาลขั้นสูงได้พยายามปฏิบัติ ก็หนีไม่พ้นการตั้งคำถามตามมาว่า “ทำแล้วได้อะไร?”  “เงินเพิ่ม?”  “ตำแหน่งเพิ่ม?”

เป็นที่มาของการ “Update การขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งและความก้าวหน้าในงาน ของ APN ในระบบสุขภาพ” ที่ ดร.กฤษดา แสวงดี นำมาบรรยายให้ได้รับทราบทั่วกัน ซึ่งคำตอบที่มีปรากฏมิได้เบ็ดเสร็จในปัจจุบัน แต่กลับวกมาที่วิกฤติของสถานการณ์ต่าง ๆ  กลุ่มพยาบาล APN จึงเป็นที่คาดหวังจากหลายฝ่ายว่าต้องนำพาวิชาชีพสู่อาเซียนแม้ในปัจจุบันจะยังมิได้ผูกพ่วงกับค่าตอบแทนใด ๆ ก็ตาม  หลายคนให้ความเห็นว่ายังคงมีความต่างจากกลุ่มพยาบาลบางกลุ่มที่มีค่าตอบแทนประจำตำแหน่งโดยแท้




สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน  APN ในระบบสุขภาพยังคงต้องรับรู้และไวต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องทราบสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยและอื่น ๆ ด้วย เพราะพยาบาลจัดอยู่ในกลุ่ม service provider ต้องรับรู้ว่าระบบสุขภาพที่เข้มแข็งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักที่สำคัญ ที่เรียกว่า Six Building Blocks ที่กำหนดขึ้นโดย WHO เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และปลอดภัยอย่างทั่วถึง และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงศูนย์ประกันสุขภาพต่าง ๆ




ส่วนเรื่องการกำหนดตำแหน่งและความก้าวหน้าในงานตามกติกาที่กำหนดขึ้นในปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์งานที่ปฏิบัติ สิ่งที่อาจารย์พบคือ “...พยาบาลเขียนมาก เขียนละเอียดจนแยกแยะไม่ได้...”

ก.พ. ชี้แจงว่า การกำหนดตำแหน่งจะมีขึ้นลอย ๆ ไม่ได้ ต้องบอกว่ามีคนเหล่านี้ที่มีคุณสมบัติตามตำแหน่งที่ขออยู่จริง APN ที่ได้มาเพียงแค่มีคุณสมบัติที่ผ่านเกณฑ์ แต่ยังไม่ได้กำหนดตำแหน่ง

ดังนั้น สิ่งที่ APN พึงกระทำ คือ

-  APN ต้องตอบคำถาม (สังคม) ว่า เราแตกต่างจากพยาบาลที่ไม่ใช่ APN อย่างไร?

-  ถึงเวลาแล้วที่ APN ต้องคิดแบบนักยุทธศาสตร์ เรากำลังอยู่บนการเปลี่ยนแปลงที่เกิด... อาจเร็ว หรือช้า...

-  APN ต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เป็นพยาบาลผู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (จริง)




การเพิ่มขีดสมรรถนะของการปฏิบัติการพยาบาลให้สูงขึ้นตามบทบาทของ APN ดังที่กล่าวมาข้างต้นสุ่มเสี่ยงต่อการล่วงเข้าไปการกระทำเกินเลยขอบเขตที่ควร จนอาจก้าวล่วงไปในงานของสาขาวิชาชีพอื่น APN จึงควรทราบว่า “กฎหมายที่ APN ควรรู้” เป็นอย่างไร ซึ่งบรรยายโดย คุณวารุณี สุรนิวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมายของสภาการพยาบาล

คุณวารุณี สุรนิวงศ์ได้กรุณายกตัวอย่างและนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นอุทาหรณ์ เตือนให้ระมัดระวังการกระทำที่เกิดจากความไม่รู้ หรือความหวังดีจนเกินขอบเขต 

“...ฟังกฎหมายแล้วหดหู่... แต่...ไม่ฟังกฎหมายแล้วติดคุก...”

“...หน้าที่ของเราคือ เอากฎหมายที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ แล้วกำหนดกรอบใช้เป็นแนวปฏิบัติงาน ส่วนของการขอตำแหน่งควรให้เป็นเรื่องของผู้บริหาร...” คุณวารุณี สุรนิวงศ์ กล่าวเน้น


 


 เมื่อมีข้อจำกัดหลายประเด็น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสมาคมผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (ประเทศไทย) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.  สนับสนุนการสร้างความรู้ และนวัตกรรมสาขาพยาบาลศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติการพยาบาล

2.  ส่งเสริมและควบคุมคุณภาพของผู้ปฏิบัติและการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง

3.  สนับสนุนการสอบวุฒิบัตร เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาล และการผดุงครรภ์ในสาขาต่างๆ

4.  สนับสนุนการพัฒนานโยบายสุขภาพเพื่อการมีสุขภาวะของประชาชนไทยและประชาคมโลก

5.  เผยแพร่ความรู้และนวัตกรรมของการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ในระดับชาติและนานาชาติ

6.  ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง และผดุงเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพพยาบาล

7.  ร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพและหน่วยงานของรัฐในการพัฒนาสุขภาพประชาชน และกิจการสาธารณประโยชน์

8.  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมมือ และสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ

9.  ส่งเสริมความก้าวหน้าในการพัฒนาผู้ปฏิบัติและการพยาบาลขั้นสูง




นอกจากนี้ การจัดประชุมคราวนี้ทางสมาคมฯ จัดให้ APN ได้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญซึ่งใช้เป็นเครื่องมือที่ดี สามารถปรับใช้เพื่อการทำงานที่มีคุณภาพมากขึ้นได้ ได้แก่

-  Skill Building on Media Advocacy : กลยุทธ์การถ่ายทอดผลงานสู่สาธารณะ

-  Skill Building on Political Skill and Policy Formulation : กลยุทธ์การผลักดันเชิงนโยบาย

-  Skill Building on Multidisciplinary Collaboration : กลยุทธ์การทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ

-  Skill Building on Outcome Management and Evaluation : Clinical and Cost Outcomes




ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเนื้อหาการประชุมที่ เว็ปไซต์ APN ที่นี่ค่ะ

ขอขอบคุณคณะกรรมการอำนวยการสมาคมผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (ประเทศไทย) มา ณ โอกาสนี้ค่ะ

...

สามารถอ่านบันทึกเพื่มเติมได้ที่ บันทึกของ คุณอุบล จ๋วงพานิช ที่นี่ http://www.gotoknow.org/posts/519711

 และที่นี่ http://www.gotoknow.org/posts/519866 ค่ะ

...

พบกันใหม่ปีหน้านะคะ



หมายเลขบันทึก: 519885เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2014 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แวะมาชื่นชมกิจกรรมดีๆ ค่ะ 

มีหลายท่านที่คุ้นหน้านะคะ คุณกฤษณา คุณอุบล .. ค่ะ

เป็นกำลังใจให้กันคะคะ

ขอบคุณ คุณ Bright Lily มากๆนะคะ

กำลังใจจากคุณทำให้พยาบาลคนนี้มีพลังเกิดขึ้นอยู่เสมอค่ะ

บันทึกนี้เติมเต็มการประชุมประจำปีนี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอบคุณแทนชาวพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ค่ะ


ละเอียดมากค่ะพี่ติ๋ว เยี่ยม ขอ save  รูปนะคะ ;-)

พี่แก้ว

ขอบคุณค่ะ... ติ๋วขออนุญาตนำบันทึกของพี่แก้ว ลิงค์เพิ่มเติมไว้ในท้ายบันทึกนี้ด้วยนะคะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท