ปัญหาครู : ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย


ปัญหาครู : ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย

  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญสภาวะการแข่งขันสูงและต้องเร่งพัฒนาคนของตนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าสามารถรับมือกับสภาวะที่ท้าทายดังกล่าวได้ ดังจะเห็นได้จากการที่  ที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาของอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ได้ออกถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ถึงความจำเป็นของอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาค และสร้างอาเซียนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์อย่างเท่าเทียม (ASEAN. 2005. online)

  ด้วยเหตุนี้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงได้เร่งปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ  การเรียนการสอนซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการหล่อหลอมเยาชนให้เติบโตขึ้นเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ  ทั้งนี้ปัจจัยหลักของการปฏิรูปการศึกษาคือการพัฒนาคุณภาพครูซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ ( Reimers, 2003:12)  โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง มีความเห็นสอดคล้องกันว่าถ้าครูมีความรู้ ความสามารถ เสียสละ ตั้งใจสอนสั่งผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดี เก่ง ฉลาด มีศักยภาพ มีความสุขและสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ (รุ่ง แก้วแดง. 2544: 134)

  อย่างไรก็ตาม  การจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะในเรื่อง

ของครูผู้สอน ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติทั้งในเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน  ปัญหาครูมีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงการขาดแคลนครูสะสมโดยเฉพาะในสาขาที่สำคัญ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2545::53) ปัญหาดังกล่าวได้ลดทอนประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของเยาวชนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต สำหรับปัญหาและแนวทางการดำเนินการแก้ไขที่สำคัญๆ  มีดังนี้

    1) ปัญหาด้านคุณภาพของครู ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำคนเก่ง คนดี มีความรู้เข้าสู่วิชาชีพครู โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่เก่งที่สุดของแต่ละจังหวัดให้เข้ารับทุนเพื่อเรียนต่อด้านการฝึกหัดครู ดังนั้นครูในยุคนั้นจึงเป็นคนเก่งของประเทศ และประสบความสำเร็จทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและด้านการพัฒนานักเรียน ต่อมาประเทศไทยมีความต้องการครูสูงขึ้นจึงเร่งผลิตครูมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถึงกับสถาบันฝึกหัดครูทุกแห่งได้เปิดการเรียนการสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบ ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสาขาครูมากเกินความต้องการของตลาดแรงงานและตกงานในที่สุด ด้วยเหตุนี้เด็กรุ่นหลังจึงไม่มั่นใจโอกาสที่จะได้งานทำจึงไม่เลือกเรียนครูหรือเลือกไว้เป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งงเป็นที่กล่าวขานกันว่าเรียนอะไรไม่ได้จึงเข้าเรียนครูทำให้ภาพลักษณ์ของครู และคุณภาพการศึกษาตกต่ำลงมาก  (รุ่ง แก้วแดง. 2544.:131)

    นอกจากนี้ ดร.เลขา ปิยะอัจริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ความเห็นน่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาการครูไม่มีคุณภาพว่ามิได้เกิดจากระบบไม่ดี หากเกิดจากการที่ครูขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ไม่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง รวมถึงยังขาดการจัดการความรู้ที่ดีและมิได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ทั้งนี้ความรู้ในหลักสูตรและในหนังสือที่ประมวลมาสอนเด็กเป็นเพียงร้อยละ 20 ของความรู้ทั้งหมด แต่ความรู้ส่วนใหญ่หรืออีกร้อยละ 80 กลับถูกละเลยได้แก่ความรู้ของครูที่เกษียณอายุไป เพราะที่จริงแล้วครูเหล่านี้มีความรู้และมีประสบการณ์ที่ฝังลึก กระทรวงศึกษาธิการจึงควรนำครูเหล่านี้มาถอดแบบความรู้เพื่อที่คนทั้ง  สองรุ่นได้เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จและนำไปต่อยอดในอนาคตได้ (เลขา  ปิยะอัจฉริยะ. 2550: ออนไลน์)

  ทั้งนี้ อเล็ตตา บัวแมน ไนท์ (Knight, Arletta Buaman. 2006: online) ให้ความเห็นว่าครูที่มีความสามารถจะต้องมีองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่ความรู้ความสามารถ ความเอื้ออาทรต่อผู้เรียน และความกระตือรือล้นในการสอน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความมั่นใจและศรัทธาในครูส่งผลดต่อความสนใจในบทเรียนและเกิดการเรียนรู้ในที่สุด

  สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของครูในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการดังนี้

    1.1การปฏิรูปการผลิตครูและสถาบันผลิตครู โดยกำหนดนโยบายการผลิตครูให้ชัดเจนด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา (2547-2556) และผลิตครูแนวใหม่หลักสูตร5 ปี ใน 8 สาขา โดยเริ่มรุ่นแรกในปี 2547

    ส่วนการปฏิรูปสถาบันผลิตครู  ได้มีการปฏิรูปคุณภาพคณาจารย์ในสถาบันผลิตครู การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความเป็นเลิศทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์และการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานและประกันคุณภาพสถาบันฝึกหัดครู 

1.2การพัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดตั้งสถาบัน

พัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาครู ฯ ดำเนินการพัฒนาครู ฯ รวมถึงการยกย่องครู ฯ ที่มีผลงานดีเด่น

    1.3การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบวิชาชีพ ได้แก่การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพครู การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู  การส่งเสริม และยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2550: 3-61 - 3-90)

   2) ปัญหาหนี้สินครู ปัจจุบันมีครูมากกว่า 130,000 คน อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยเฉลี่ยหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน  มีคุณภาพชีวิตลดลง และต้องทำงานเพื่อหารายได้เสริม ทำให้การอุทิศตนต่อหน้าที่ครูเป็นไปอย่างไม่เต็มที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนลดลง (วรากรณ์ สามโกเศศ . 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้จากการเปิดเผยของโครงการติดตามสภาวการณ์ครูรายจังหวัด (Teacher Watch) พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีครูเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุดคือมหาสารคาม มีครูเป็นหนี้นอกระบบถึงร้อยละ 60  มุกดาหารร้อยละ 58  สตูลร้อยละ 57.14  ยโสธรร้อยละ 53.93 และร้อยเอ็ดร้อยละ 53.10 (อมรวิชช์ นาครทรรพ. 2550: ออนไลน์)

  สำหรับแนวทางแก้ไขเรื่องหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน

อนุมัติเงินกู้จำนวนทั้งหมด 8 พันล้านบาทเพื่อดูแลครูที่มีปัญหาวิกฤติจริงๆ และได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมดังนี้ การเปิดคลีนิคทางการเงินเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการออมเงินและการปรับสภาพหนี้ เปิดศูนย์ฮอตไลน์ 1579 เพื่อให้บริการคำแนะนำเรื่องปัญหาหนี้สินของครู จัดโครงการสัมมนาแก่ครูทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับคำถาม-ตอบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น (วรากรณ์  สามโกเศศ. 2550: ออนไลน์)

  3. ปัญหาการขาดแคลนครูสะสม  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำรวจภาวะการขาดแคลนครูในสังกัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) เมื่อต้นปี 2550 พบว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศยังขาดแคลนครูประมาณ 70,000 คน (สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์) ทั้งนี้มีสาเหตุจากหลายประการอาทิการผลิตและบรรจุครูไม่สัมพันธ์กัน นโยบายของรัฐในการจำกัดกำลังคนภาครัฐและการคืนอัตรากำลังทดแทนขาดดุลยภาพ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด การกำหนดเกณฑ์การคืนอัตรากำลังของสำนักงานข้าราชการครู ฯ กับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังคนภาครัฐไม่ตรงกัน รวมถึงนโยบายการเกลี่ยอัตรากำลังครูไม่ได้ผล ฯลฯ ทำให้ครูแต่ละคนต้องทำงานหนัก เตรียมการสอนและถ่ายทอดความรู้ได้ไม่เต็มที่ จนถึงการที่ครูไม่มีโอกาสเข้ารับการพัฒนาอย่างเต็มที่ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของไทย ตกต่ำลง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. .2548:31)

    สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูคือ การจัดทำโครงการครูสหกิจ โดยให้นักศึกษาครูในหลักสูตร 5 ปี ได้ฝึกสอนในโรงเรียนที่ขาดครูโดยมีค่าเบี้ยเลี้ยงตอบแทน  จัดให้ครูที่สอนไม่ตรงคุณวุฒิได้อบรมด้านการศึกษาเพิ่มเติม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่โดยพัฒนาการสอนในชั้นเรียนขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมนำสื่อเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เช่น  e-learning และ multi  media และนโยบายรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คนเข้าด้วยกันพื่อให้มีครูครบ 8 สาระการเรียนรู้ รวมถึงประหยัดครูและงบประมาณด้วย  (;สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. 2550: ออนไลน์)

   การแก้ไขปัญหาของครูผู้สอนเป็นประเด็นเร่งด่วนที่อยู่ในขั้นวิกฤติซึ่งภาครัฐและทุกภาคส่วนต้องประสานพลังและดำเนินการอย่างจริงจัง รอบคอบ และต่อเนื่อง ทั้งนี้มาตรการ  การแก้ไขปัญหาของครูต้องพิจารณาในลักษณะองค์รวมตั้งแต่สถานภาพครู ทิศทางการผลิตครูในอนาคต รวมถึงการประกันคุณภาพของครูเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าครูจะมีศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไปสู่เยาวชนของชาติตามเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

--------------------------------------------

 


หมายเลขบันทึก: 519593เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2013 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท