เข้าใจอาเซียน ตอน: ควรเรียกพม่าหรือเมียนมาร์


เข้าใจอาเซียน ตอน: ควรเรียกพม่าหรือเมียนมาร์

7 กุมภาพันธ์ 2013

ชาญชัย

http://www.chanchaivision.com/2013/02/asean130207.html

  หากย้อนอ่านตำราเรียนเมื่อหลายๆ ปีก่อน นักเรียนจะได้เรียนรู้จัก “ประเทศพม่า” หรือ “สหภาพพม่า” ทุกวันนี้สื่อละครโทรทัศน์ รายการวิทยุหลายแห่ง รวมทั้งคนไทยหลายคนยังติดปากกับคำว่า “พม่า” ไม่คุ้นกับชื่อใหม่ “เมียนมาร์”

  กระทรวงการต่างประเทศไทยให้ข้อมูลว่าประเทศเมียนมาร์มีชื่อเต็มว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” หรือ “Republic of the Union of Myanmar” ชื่อนี้เกิดขึ้นหลังการประชุมรัฐสภาเมียนมาร์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554

  แม้ชื่อประเทศจะเปลี่ยนถึงสองปีแล้วหลายคนยังเรียกด้วยชื่อเดิมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป กรณีที่ควรเอ่ยถึงคือนางออง ซาน ซูจียืนกรานเรียกชื่อเดิมแม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะเตือนให้ใช้ชื่อใหม่ นางให้เหตุผลว่ารัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศโดยไม่สอบถามความเห็นของประชาชนก่อน การปฏิเสธเรียกชื่อใหม่ส่อเจตนาต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่มีรากเหง้าจากการรัฐประหารยึดอำนาจ ในขณะที่รัฐบาลชี้แจงว่าชื่อเดิมสะท้อนการเป็น “อดีตอาณานิคมอังกฤษ” ส่วนชื่อใหม่แสดงให้เห็นถึงประเทศที่มีเอกภาพ

  กรณีที่น่าสนใจต่อมาคือกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกายังใช้ชื่อ “Burma” นายมาร์ค เมมม็อท ผู้สื่อข่าว NPR ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่กับเอกสารของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังใช้ชื่อเดิมไม่ใช่เพราะด้วยความเคยชินแต่เป็น “นโยบาย”

  เรื่องน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามาใช้ทั้งสองชื่อ

  นายเบน โรดส์ ผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงอธิบายเหตุที่ประธานาธิบดีใช้คำว่า “Myanmar” เพื่อแสดง “มารยาท” ทางการทูต สอดคล้องกับคำอธิบายของนายสก็อต ฮอร์สลีย์ ผู้สื่อข่าว NPR ที่ติดตามทำข่าวประธานาธิบดีอยู่เสมอเล่าว่าท่านประธานาธิบดี “ใช้คำว่าเมียนมาร์เมื่อพบปะกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และใช้คำว่าพม่าในการกล่าวสุนทรพจน์ร่วมกับผู้นำฝ่ายค้านออง ซาน ซูจี”

  การเรียกชื่อประเทศจึงถูกโยงเข้ากับเรื่องการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ

  ด้านรัฐบาลไทยปัจจุบันใช้คำว่า “เมียนมาร์” อย่างชัดเจน เว็บไซต์ “รัฐบาลไทย” ที่จัดทำโดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพาดหัวข่าวว่า “นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” เช่นเดียวกับเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยพาดหัวข่าว “เครื่องบินสายการบินแอร์บากันของเมียนมาร์ลงจอดฉุกเฉิน”

  สหประชาชาติกับสมาคมอาเซียนเรียกด้วยชื่อใหม่เช่นกัน

  การเรียกชื่อประเทศ “พม่า” หรือ “เมียนมาร์” ด้วยชื่อเก่าหรือใหม่จึงสามารถคิดแบบ “ซับซ้อน” หรือ “ธรรมดา”

  สำหรับคนไทยทั่วไปการจะเรียกด้วยชื่อใหม่หรือเก่าย่อมถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่พึงมี แต่ควรใช้ชื่อใหม่ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า “เป็นธรรมดาที่ทุกคนย่อมอยากให้ผู้อื่นเรียกชื่อตนอย่างถูกต้อง”

  การเรียกชื่ออย่างถูกต้องไม่ได้ส่อความหมายว่ารู้จักประเทศนี้อย่างลึกซึ้ง และการเรียกชื่อเดิมก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้จักประเทศนี้เลย แต่การเรียกชื่ออย่างถูกต้องสะท้อนว่าผู้พูดรู้ว่าประเทศนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สะท้อนถึงการให้เกียรติ โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน

-----------------

เข้าใจอาเซียน ตอน: ควรเรียกพม่าหรือเมียนมาร์


หมายเลขบันทึก: 518769เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท