สะอึก


มีบางกรณีที่อาการสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือหลายวัน กรณีเหล่านี้เกือบทั้งหมดทำให้หยุดสะอึกได้ด้วยการกลืนน้ำตาลทรายคำโตๆเพียงคำเดียว

เรื่องนี้ เป็นเรื่องหนึ่งในชุดการดูแลสุขภาพตนเอง ที่ปรับปรุงจาก

เรื่องที่เคยนำเสนอตั้งแต่ยุคต้นๆของอินเตอร์เนต


เรียนคุณหมอ 

สามีดิฉันเป็นโรคเบาหวานขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาตัว โดยกินยาตามที่หมอสั่งมาโดยตลอด น้ำตาลประมาณ 160 ค่ะ ข้อมูลส่วนตัว อายุ 65 ปีแล้วค่ะ เมื่อ 2 วันมานี้เขามีอาการสะอึกทั้งวันทั้งคืน เฉลี่ย 5 วินาทีต่อครั้ง ดิฉันไม่ทราบจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ต้องใช้เวลาในการเดินทางไกลมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ดิฉันตั้งใจว่าจะพาเขาเข้ารับการรักษาตัวที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯในขณะนี้ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือเขาในเบื้องต้น ดิฉันใคร่ขอทราบอาการสะอึกเกิดจากสาเหตุอะไรเกี่ยวเนื่องกับอาการของโรคเบาหวานหรือไม่ เวลาก้อนสะอึกขึ้นมาถึงลำคอเขาจะหายใจไม่ทัน กรุณาแนะนำด้วยค่ะว่าดิฉันควรทำอย่างไร วิธีการรักษาด้วยนะคะ

   ……..


เรียนคุณ …….

ผมบอกได้แต่ว่า

1. เรื่องสะอึกไม่เกี่ยวกับเบาหวาน (แต่คนเป็นเบาหวานมีโอกาสสะอึกมากกว่าคนอื่น)

2. ถ้าสามีคุณไม่มีอาการอื่นนอกเหนือไปจากสะอึก เช่น รับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ปวดท้อง ไม่เจ็บหน้าอก ไม่หายใจเหนื่อยหอบกว่าเคย อาการสะอึกจะเป็นเรื่องชั่วคราว

3. ถ้าสามีคุณเวลานอนหลับไม่สะอึก ก็เป็นเรื่องที่น่าจะหายได้ในเวลาอันสั้น

ทดลองรักษาง่ายๆ ดังต่อไปนี้

1. เลิกกลัวน้ำตาลทรายสัก 2-3 วัน การใช้น้ำตาลทรายสัก 2-3 วันไม่มีอันตรายกับคนเป็นเบาหวาน

2. ใช้น้ำตาลทราย ถ้ามีให้เลือก ก็เลือกประเภทที่เม็ดหยาบๆหน่อยจะดี

3. ใช้ช้อนโต๊ะ ตักน้ำตาลทราย ขนาดคำโตที่สุดที่คิดว่าจะกลืนคำเดียวได้หมด

4. อ้าปาก เทน้ำตาลทรายบนลิ้น แล้วรีบกลืนทันที ย้ำต้องกลืนทันที ก่อนที่น้ำตาลจะละลาย เจตนาต้องการให้ความหยาบของน้ำตาลทรายไปสะกิดเยื่อบุคอ

5. ถ้ากลืนได้ถูกต้อง อาการสะอึกจะหยุดทันที

6. ถ้าไม่หยุดสะอึก เว้นระยะสัก 2-3 นาที แล้วทำซ้ำอีกครั้ง พยายามใช้คำใหญ่ที่สุด กลืนเร็วที่สุด แบบครั้งเดียวหมด จะยอมแพ้ต่อเมื่อทำ 3-4 ครั้งแล้วไม่หาย

7. อาการสะอึกจะหายไปนาน ถ้าเป็นซ้ำก็กลืนซ้ำได้ ย้ำหยุดกลัวน้ำตาลทรายชั่วคราว

8. เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการสะอึก ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

- รับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ อย่าดื่มน้ำเกินกว่า 1/4 แก้ว คอยหลังอาหาร 1 ชั่วโมงไปแล้วค่อยดื่มน้ำตามใจชอบ หากมียาหลังอาหาร ให้คอยหลังอาหาร 1 ชั่วโมงจึงรับประทานยา เหตุผลคือ ต้องการให้มีของอยู่ในกระเพาะอาหารพร้อมกันไม่มากนัก ทยอยกันไป

-  หลังอาหาร ให้ลุกไปเดินเล่นสักประมาณ 10 นาที (เปิดโอกาสให้อาหารออกจากกระเพาะง่ายขึ้น) แล้วค่อยมานั่งดูทีวีหรือทำอย่างอื่น

-ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่กล่าวมา และไม่สะอึกอีกเรื่องก็จบ เท่าที่เคยเห็นมากว่าร้อยละ 95จะหยุดสะอึกและหมดเรื่องแต่ถ้ามีอาการอื่น หรืออาการสะอึกไม่หายก็ต้องไปหาหมอครับ


เรียนคุณหมอ

ดิฉันขอขอบพระคุณเป็นอย่างมากที่กรุณาให้คำแนะนำในทันที ดิฉันได้ให้สามีทำตามคำแนะนำแล้วค่ะ ตอนนี้หายสะอึกแล้วค่ะ ค่อยยังชั่วหน่อยไม่งั้นคงกังวลแย่เลย ดิฉันให้เขานึกทบทวนแล้วเป็นอย่างที่คุณหมอบอกเลยค่ะ ก่อนที่จะมีอาการสะอึกเขารับประทานมากกว่าปกติ สงสัยอาหารไม่ย่อยและดื่มน้ำมากเพราะต้องทานยาหลังอาหาร ต่อไปเขาสัญญาว่าจะทำตามที่คุณได้กรุณาแนะนำค่ะ ท้ายนี้สามีดิฉันก็ฝากอวยพร…..


ข้างต้นนี้เป็นการแนะนำกันทางอีเมล์

ประเภทที่หอบกันมาโรงพยาบาลก็มี พ่อสะอึกติดต่อกันสามวัน หาหมอที่คลินิกต่างจังหวัดมาสองแห่งแล้วไม่หาย ลูกชายจึงพาพ่อมาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ พร้อมข้าวของเครื่องใช้สำหรับนอนโรงพยาบาล เช้าวันนั้นเป็นวันเสาร์ผมออกตรวจผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลแห่งนั้นอยู่พอดี ขณะที่ลูกชายเล่าเรื่อง พ่อก็สะอึกเป็นระยะๆ ผมขอให้พยาบาลหาน้ำตาลทรายและช้อนมาให้ อธิบายวิธีกลืนน้ำตาลทรายจนคิดว่าเข้าใจดีแล้ว จึงป้อนน้ำตาลทรายให้ พ่อก็ว่าง่ายทำตามได้เป็นอย่างดี ขณะที่ลูกชายนั่งดูด้วยท่าทางงงๆ เงียบกันอยู่หลายนาที คอยว่าเมื่อไรจะสะอึกก็ไม่ยอมสะอึกอีก ผมพยายามเล่าเรื่องความไม่มีโทษของอาการสะอึกและความง่ายของการรักษาอาการสะอึกให้ฟัง ลูกชายก็ยังจะขอให้พ่อนอนโรงพยาบาล เกรงว่ากลับบ้านแล้วจะสะอึกอีก ในที่สุดตกลงกันได้ว่าจะนั่งคอยดูอาการสักพัก นั่งอยู่สองชั่วโมงก็ยังไม่ยอมสะอึกลูกชายจึงยอมแพ้พาพ่อกลับบ้านไป

อีกสักตัวอย่างก็ได้ ผมถูกตามให้ไปรักษานักท่องเที่ยวหนุ่มชาวอเมริกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพตอนตีห้า เขาเริ่มสะอึกที่พัทยาเมื่อสองวันก่อน ไม่ได้นอนมาสองคืนแล้ว มากรุงเทพก็ยังไม่ยอมหายสะอึกนอนไม่หลับอีกคืนจึงตัดสินใจตามหาหมอตั้งแต่ก่อนสว่าง ผมแวะไปที่คอฟฟี่ชอปเพื่อขอน้ำตาลทรายชนิดซองที่ใช้เติมกาแฟสองซองก่อนไปตรวจคนไข้ ผมบอกเขาว่ามีผู้รายงานวิธีการรักษาอาการสะอึกไว้ในวารสารทางการแพทย์อเมริกันเมื่อปี ค.ศ.1971 แต่ไม่เป็นที่รู้กันแพร่หลายนัก เท่าที่ผมใช้มาเกือบไม่เคยผิดหวังเลย เขาก็ฟังด้วยความสนใจพยักหน้าไปสะอึกไป และยอมทำคำแนะนำที่ฟังดูแล้วง่ายนิดเดียว ฉีกซองน้ำตาลทราย อ้าปาก เทน้ำตาลทรายทั้งซองบนกลางลิ้น กลืนคำเดียว แล้วก็ไม่สะอึกอีก ผมส่งน้ำตาลซองที่สองให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกและเผื่อจะต้องใช้อีก มีปัญหาใดๆตามผมได้ทุกเวลา ก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาอีก

อาการสะอึกเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องชั่วคราว เกิดจากกระเพาะอาหารขยายตัวโป่งพองจนไปสะกิดกระบังลม กระบังลมเป็นกล้ามเนื้อเมื่อถูกกระตุ้นก็หดตัวแบบกล้ามเนื้อกระตุก จึงเกิดอาการที่เรียกว่าสะอึก อาการสะอึกจึงมักเริ่มเป็นหลังอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อใหญ่ๆ (มื้อที่อร่อยเป็นพิเศษ) ส่วนมากไม่ต้องทำอะไรก็หายเองได้ไม่ช้าก็เร็ว บางกรณีความพยายามที่จะรักษาอาการสะอึกเสียอีก กลับทำให้สะอึกติดต่อกันนานมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีโทรศัพท์มาปรึกษา รายนี้เคยสะอึกมาก่อนและเคยได้รับคำแนะนำเรื่องกลืนน้ำตาลทรายไปแล้วหายสะอึก คราวนี้กลืนน้ำตาลทรายแล้วก็หาย แต่ไปเชื่อคำแนะนำอื่นว่า ต้องดื่มน้ำมากๆ ผลคือกลับสะอึกใหม่อีก เนื่องจากการดื่มน้ำมากๆย่อมทำให้กระเพาะอาหารโป่งพองมากยิ่งขึ้น คำแนะนำเพิ่มเติมคือ ไม่ต้องทำอะไร หากสะอึกก็กลืนน้ำตาลทรายอีก

สถิติการรักษาอาการสะอึกด้วยการกลืนน้ำตาลทรายของผมไม่ได้ผลเต็มร้อยเสียทีเดียว มีคนไข้สองคนที่ใช้ไม่ได้ผล คนแรกคนไข้เป็นเบาหวาน กลัวน้ำตาลมากชักชวนยังไงๆก็ไม่ยอมกลืนน้ำตาลทราย (ทั้งๆที่กำลังได้รับน้ำตาลกลูโคสทางหลอดเลือดอยู่เพราะสะอึกอยู่ตลอดเวลาจนไม่กล้ากินอาหาร) ขอฉีดยาดีกว่า จึงต้องรักษาด้วยการฉีดยา Metoclopramide เข้าทางหลอดเลือดจึงหายสะอึก (คนไข้เคยได้รับยาชนิดนี้ฉีดเข้ากล้ามแล้วไม่หยุดสะอึก) น่าหวาดเสียวกว่าการกลืนน้ำตาลทรายแต่คนไข้คนนี้ไม่คิดเช่นนั้น ในกรณีคนไข้ที่แนะนำทางอีเมล์ผมจึงต้องย้ำหลายครั้งเรื่องให้งดกลัวน้ำตาลทรายเป็นการชั่วคราว การกลืนน้ำตาลทรายนั้นใช้เหตุผลเดียวกับการเอามือล้วงคอ คือกระตุ้นปลายประสาทที่คอ (ซึ่งจะไปแก้เคล็ดการกระตุ้นที่กระบังลม ทำนองว่าการกระตุ้นอันใหม่มีพลังเหนือกว่าการกระตุ้นอันแรก) มีผลทำให้การสะอึกหยุดไปได้ นึกภาพดูก็น่าจะเห็นว่าวิธีนี้ศิวิไลซ์กว่าการล้วงคอมากนัก คนไข้อีกคนหนึ่งซึ่งกลืนน้ำตาลทรายแล้วไม่หาย (แม้จะพยายามอยู่หลายครั้ง) เป็นคนไข้คนเดียวที่เป็นโรคร้ายคือเป็นโรคมะเร็งตับอยู่ก่อนแล้ว ในระยะสุดท้ายของโรคมีอาการสะอึก เข้าใจว่ามะเร็งลามไปที่กระบังลมจึงกระตุ้นให้สะอึกอยู่ตลอดเวลา จึงไม่อาจทำให้หยุดสะอึกได้ด้วยการกลืนน้ำตาลทรายหรือยาอื่นๆอีกหลายขนาน

โดยสรุป อาการสะอึกที่เป็นกันบ่อยๆเป็นอาการชั่วคราว ไม่ทำอะไรก็หายได้เอง มีบางกรณีที่อาการสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือหลายวัน กรณีเหล่านี้เกือบทั้งหมดทำให้หยุดสะอึกได้ด้วยการกลืนน้ำตาลทรายคำโตๆเพียงคำเดียว จึงมีกรณีที่ต้องหาหมอน้อยมากๆ

   

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

6 กุมภาพันธ์ 2556   


หมายเลขบันทึก: 518633เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณคะ เป็นบันทึกเกี่ยวกับ อาการสะอึกที่ละเอียด นำไปแนะนำต่อได้อย่างดี

เรียนคุณหมอ....อำนาจ....

สะอึกกับการกลืนน้ำตาล  เป็นเรื่องที่ ทำได้ง่าย

ไม่ต้องหลอกล่อเล่าเรื่องบอกให้ตกใจ

คนชาวบ้านเวลาเห็นใครสะอึก มักต้องทำให้ตกใจ  แล้วจะหายสะอึก

หายมั่งไม่หายมั่ง 

แต่เป็นเรื่องที่บอกต่อทำกันมาตลอด

วันนี้โชคดีผ่านมาทางบันนี้ มัการยืนยันจากคุณหมอ แก้การสะอึกกับการกลืนน้ำตาล

ขอนำวิทยาทานนี้ไปบอกต่อ บอกเล่า 

เรื่องง่ายๆที่รักษาตนเองได้ไม่ต้องถึงมือหมอ 

"เป็นการปฎิรูปความรู้การเรียนรู้ทางด้านวิชาชีพสาธารณสุขที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย"

ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้

ด้วยขอบคุณและคารวะ


ยินดีครับ คอยติดตามตอนต่อไป

จุฑารัตน์ ประทีปะเสน

ขอบคุณคำแนะนำของคุณหมอมากค่ะ เมื่อคืนสามีสะอึกต่อเนื่องนานกว่า4-5ชั่วโมง จนเขาดูเหนื่อย เลยพาไปรพ.ตอนตี 3  หมอฉีดยาให้สักพัก 15นาที หายสะอึก  จ่ายไป 2800 บาท ตอนเช้าสะอึกใหม่ แต่หายเอง ลองถามหมอว่าต้องให้ยาอะไรมาทานเผื่อสะอึกใหม่มั๊ย? หมอบอกไม่ต้อง. ตกค่ำสะอึกใหม่ เลยลอง search หาข้อมูล โชคดีที่พบ คำแนะนำของคุณหมอ หลังทานน้ำตาลทราย ที่แถมมากับก๋วยเตี๋ยว 1ซอง ก็หายเลย  สามีอึ้ง ทึึ่ง ดีใจที่ไม่ตัองทรมานกับการสะอึก ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ดีใจด้วยครับ

หลายวันก่อน หลังอาหารเย็น หลานชายอายุสามขวบครึ่งนั่งเล่นอยู่ สะอึกเป็นระยะๆประมาณสิบครั้ง เห็นไม่หายจึงชวนให้กลืนน้ำตาลทราย บังเอิญก่อนหน้านี้ไม่นานเขาเคยขอชิมเครื่องปรุงที่วางอยู่บนโต๊ะอาหาร บอกว่าชิมได้เฉพาะน้ำตาลทรายกับน้ำปลาส่วนพริกป่นและพริกน้ำส้มชิมไม่ได้เพราะเผ็ดเขาก็ตกลง เขาชอบใจน้ำตาลทรายเป็นพิเศษเพราะปกติได้ลิ้มรสของหวานในโอกาสพิเศษๆเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหาเมื่อชวนให้กลืนน้ำตาลทราย ใช้ช้อนกาแฟตักน้ำตาลทรายหนึ่งในแปดช้อนป้อน บอกให้กลืน แล้วสะอึกก็ไม่กลับมาอีกจนถึงวันนี้

19 พค 56

เวลาสะอึกให้ลองกระแอมหรือ ไอออกมาเพราะ จะช่วยปรับการทำงานของกระบังลมให้เข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าไม่ได้ผล การจามโดยธรรมชาติออกมาแรงๆ จะทำให้หยุดสะอึกได้เร็วกว่าการพยายามกระแอมไอ

ที่มา http://www.tipsza.com/วิธีแก้สะอึก/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท